ฟู้ดฟอร์กู๊ด จับมือ ‘เชฟฟาง’ จัดดินเนอร์ฟีลกู๊ดที่ ‘รายาเฮอริเทจ’ เชียงใหม่

ฟีลกู๊ดไปกับมื้อค่ำการกุศลครั้งแรกของโครงการ ’ฟู้ดฟอร์กู๊ด’ ที่เชิญ ‘เชฟฟาง’ ณัฐพงศ์ หน่อชูเวช มาร่วมสร้างสรรค์เมนูอาหารเหนือในสไตล์ไฟน์ไดนิ่ง ที่ห้องอาหารคุข้าว โรงแรมรายาเฮอริเทจ ‘เชียงใหม่’ รายได้ 100% นำไปขจัดปัญหาเด็กทุพโภชนาการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ยังประทับใจกับการจับคู่อาหารกับจานสวยใน Craft & Cuisine ที่ทางรายาเฮอริเทจชวน ชิ-จิรวงศ์ วงษ์ตระหง่าน เจ้าของ อินเคลย์ สตูดิโอ (InClay Studio) มาออกแบบภาชนะดินเผาให้เข้ากับเมนูอาหารของ เชฟสมยศ ปกป้อง เมื่อปีที่แล้วได้อย่างไม่ลืมเลือน
ได้กลับมาเยือน รายาเฮอริเทจ ในช่วงปลายฝนต้นหนาวในเดือนตุลาคมนี้ มีความอิ่มใจเพิ่มเติมเข้าไปอีก เมื่อโครงการฟู้ดฟอร์กู๊ด (FOOD FOR GOOD) โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ชวน ‘เชฟฟาง’ ณัฐพงศ์ หน่อชูเวช มารังสรรค์เมนูอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ในงานดินเนอร์การกุศล เพื่อนำรายได้ไปใช้ในการแก้ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กไทยอย่างยั่งยืน
หลายคนคงสงสัยว่าการแก้ปัญหาทุพโภชนาในเด็กซึ่งสถิติจากกรมอนามัยระบุว่า 1 ใน 10 ของเด็กปฐมวัยไทยมีภาวะเตี้ยหรืออ้วนอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
คุณทิพย์ชยา พงศธร ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการฟู้ดฟอร์กู๊ด
คุณ ทิพย์ชยา พงศธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการฟู้ดฟอร์กู๊ด กล่าวว่าการให้ทุนเพื่อจัดซื้ออาหารเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฟู๊ดฟอร์กู๊ดจึงทำหน้าที่เป็นกลไกการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน
ด้วยการเสริมความรู้ด้านโภชนาการให้กับครูให้สามารถจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนได้อย่างถูกต้อง โดยนำนักโภชนาการ เชฟ เข้าไปจัดอบรมให้กับครูในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ สนับสนุนการปลูกผักปลอดภัยเพื่อนำมาปรุงอาหาร เช่น โรงเพาะเห็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ตลอดจนติดตามภาวะโภชนาการเด็กอย่างใกล้ชิด
คุณครูสุพิชชา ปันศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่วาก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับเชิญให้มาร่วมเป็นแขกพิเศษในงานนี้ ได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ทางฟู้ดฟอร์กู๊ดได้เข้าไปช่วยอบรมแนะนำการจัดการอาหารให้ครบคุณค่าทางโภชนาการทุกมื้อว่า เด็กนักเรียนมีความตื่นเต้นและรอคอยว่าจะได้พบกับเมนูอาหารอะไรในแต่ละมื้อ
“โรงเรียนของเรามีครู 5 คน นักเรียน 28 คน ส่วนมากเป็นชนเผ่าที่บ้านอยู่ไกลจากโรงเรียน บางคนครูต้องขับรถไปรับถึงออมก๋อย เด็กส่วนใหญ่จึงพักอยู่ที่โรงเรียนจะได้กลับบ้านปีละครั้ง ครูจะไปรับและไปส่ง อยู่กันเหมือนครอบครัวค่ะ
นอกจากสอนหนังสือแล้ว ครูก็ช่วยกันทำอาหารด้วยเมื่อก่อนทำอาหารพื้นบ้าน มีสารอาหารครบ 5 หมู่บ้าง ไม่ครบบ้าง พอได้รับความรู้จากนักโภชนาการและเชฟที่เข้ามาช่วย ตอนนี้เด็กๆมีความสุขมากขึ้นและอยากมาเรียนหนังสือทุกวันค่ะ”
คุณ ทิพย์ชยา พงศธร กล่าวเสริมถึงความตั้งใจในการจัดงานครั้งนี้ว่า “ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กอาจไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนของประเทศแต่เป็นปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมทำให้คุณภาพของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อาจจะไม่ดีเท่าที่ควร การที่ได้ทำงานร่วมกับเชฟที่มีชื่อเสียงอย่างเชฟฟาง เราเชื่อว่าจะช่วยเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารให้ได้รับรู้ถึงปัญหานี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น”
คราวนี้มาคุยกับ ‘เชฟฟาง’ ณัฐพงศ์ หน่อชูเวช กันบ้างว่าจะนำวัตถุดิบพื้นบ้านของเชียงใหม่มารังสรรค์เป็นเมนูอาหารตามสไตล์ถนัดกันอย่างไร
“ผมทำเมนูร่วมกับ เชฟสมยศ ปกป้อง ของรายาเฮอริเทจ คุยกันว่าจะใช้วัตถุดิบพื้นเมืองให้มากที่สุด เป็นเมนูที่ทุกคนรู้จักกันแล้วแต่เราอยากใส่มิติมันทางอาหารเพิ่มเข้าไปอีก ผมเรียนมาทางด้านอาหารฝรั่งเศส ก็จะใช้วิธีการทำอาหารแบบฝรั่งเศสมาใช้ในการทำอาหารไทย”
ทอดมันข้าวโพด อาหารเรียกน้ำย่อยเสิร์ฟมาในถาดหลุมขนาดจิ๋ว
ดังนั้นอาหารเรียกน้ำย่อยจานแรกจึงเสิร์ฟมาในถาดหลุมขนาดจิ๋วแบ่งออกเป็น 3 ช่อง ประกอบไปด้วย ทอดมันข้าวโพด น้ำจิ้ม และแตงกวาขูดเป็นเส้น เป็นเมนูคำน้อยที่คุณครูเห็นปุ๊บบอกได้ไอเดียนำไปต่อยอดให้เด็กๆได้ชิมกันได้ไม่ยากเพราะบนดอยมีข้าวโพดอยู่แล้ว
จานต่อไปเป็น สลัดเห็ดถั่ว หรือ Grilled Season Mushroom Salad จานนี้เชฟฟางเลือกใช้เห็ดถั่วที่มีเฉพาะในฤดูกาลนี้นำมาย่าง เสิร์ฟคู่กับไข่ออนเซ็น เพิ่มความเผ็ดด้วยน้ำมันพริกกระเหรี่ยง
ตามด้วย ลาบคั่วปลาบู่ (Green Onion & Ginger Sand Goby Larb Kua) ในรูปแบบที่ลืมได้เลยว่าลาบคั่วที่คุ้นชินหน้าตาเป็นเช่นไร เพราะเชฟฟางนำเนื้อปลาบู่ไปปรุงสุกด้วยการกงฟีในน้ำมันและสมุนไพร (Confit – การนำเนื้อสัตว์ไปตุ๋นในน้ำมันด้วยความร้อนต่ำ) แล้วมาทำเป็นลาบวางบนชิ้นแคบหมูที่ดูแล้วดูอีกก็ไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่า จนได้คำตอบจากเชฟว่าเป็นวิธีการทำแบบเม็กซิกัน ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ดูแปลกตาไปมาก
ซุปอ่อม (Consomme Omm)
มาถึง ซุปอ่อม (Consomme Omm) เมนูนี้น่าสนใจใครจะเชื่อว่าซุปใสๆที่มีเนื้อไก่กงฟีเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะได้รสชาติของแกงอ่อม เชฟฟางทำให้เราสนุกไปกับการเดินทางของรสชาติได้อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว
กุ้งแม่น้ำรีซ็อตโต้ (River Prawn Risotto)
จากอ่อมก็มาถึงน้ำพริกหนุ่มในเมนู กุ้งแม่น้ำรีซ็อตโต้ (River Prawn Risotto) กุ้งแม่น้ำย่างกำลังดีมันกุ้งสีส้มสวยชวนรับประทาน เสิร์ฟมาคู่กับข้าวหุงสไตล์อิตาเลี่ยนและน้ำพริกหนุ่ม รสชาติทุกอย่างเกื้อหนุนกันเป็นอย่างดี
ฮังเล
อาหารจานหลักจานสุดท้าย คือ ฮังเล (Braised Beef Cheek Hungley หรือ Lamb Shank Hungley) เลือกได้ว่าจะกินเนื้อแก้มวัวหรือว่าจะเป็นแกะ ราดด้วยซอสฮังเลที่ปรุงในแบบบราวน์ซอส เป็นอีกจานที่หลายคนร้องว้าว
Choco’ Tam
ปิดคอร์สด้วยของหวาน Choco’ Tam ที่นำรสเปรี้ยวของคาราเมลมะขามมาตัดกับความเข้มข้นของช็อกโกแลตได้อย่างสวยงาม
แม้ว่าดินเนอร์การกุศลครั้งนี้จะจัดขึ้นเพียงวันเดียวในวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา หาก "การให้ไม่จบแค่มื้ออาหาร" เราทุกคนสามารถติดตามและให้กำลังใจการทำงานของโครงการฟู้ดฟอร์กู๊ดได้ทาง www.foodforgood.or.th และ www.facebook.com/foodforgoodth
นับเป็นอีกหนึ่งค่ำคืนที่น่าประทับใจในการมาเยือนรายาเฮอริเทจ เชียงใหม่อีกครั้ง
(ภาพ : Food For Good)