จีนโค่นแชมป์เก่าสหรัฐ! ผงาดประเทศที่มีร้านกาแฟมากสุดในโลก
ผลวิจัยระบุตัวเลขร้านกาแฟมีแบรนด์ในจีน พุ่งลิ่ว 58% เป็นเกือบ 50,000 แห่งในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ขึ้นแท่นประเทศที่มีร้านกาแฟมากที่สุดในโลก
จีนเป็นประเทศดื่มชามาแต่โบร่ำโบราณ ส่วนเครื่องดื่มกาแฟเพิ่งได้รับความนิยมเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ทว่ากระแสความชื่นชอบนี้กำลังถั่งโถมอย่างรุนแรงประดุจคลื่นยักษ์
ประจักษ์พยานหนึ่งที่สะท้อนได้ชัดเจนก็คือ ร้านกาแฟของแบรนด์ต่าง ๆ ในจีน รวมทั้งแบรนด์ต่างประเทศและท้องถิ่น เพิ่มจำนวนขึ้นเกือบ 60% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นประเทศที่มี 'ร้านกาแฟมีแบรนด์' มากที่สุดในโลก ตอกย้ำความเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมกาแฟระดับโลกของมังกรจีน
สหรัฐอเมริกาครองแชมป์โลกประเทศที่มีจำนวนร้านกาแฟมีแบรนด์ (branded coffee shops) สูงสุดมาอย่างยาวนาน หลังการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเชนกาแฟใหญ่ 'สตาร์บัคส์' (Starbucks) ที่เปิดร้านแรกในซีแอตเทิลเมื่อปีค.ศ.1971 จากนั้นก็ปูพรมร้านสาขาทั่วแดนพญาอินทรี จนมีจำนวนสาขาประมาณ 16,370 แห่ง ณ วันนี้ ขณะที่ 'ดังกิ้น' (Dunkin) และ 'เจเอบี คอฟฟี่' (JAB Coffee) ก็มีจำนวนสาขาเป็นอันดับ 2 และ 3 รองลงมาในจำนวนหลักพัน
แต่งานวิจัยล่าสุดของ 'เวิลด์ คอฟฟี่ พอร์ทัล' ในหัวข้อเรื่องตลาดร้านกาแฟมีแบรนด์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกประจำปีค.ศ. 2024 ที่เผยแพร่เมื่อกลางเดือนธันวาคม ระบุว่า จีน 'โค่น' แชมป์เก่าอย่างสหรัฐอเมริกาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กลายเป็นประเทศที่มีจำนวนร้านกาแฟมีแบรนด์มากที่สุดในโลกแทน
สาขาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของลัคอิน คอฟฟี่ มีส่วนทำให้จีนแซงหน้าสหรัฐ ในฐานะประเทศที่มีร้านกาแฟมีแบรนด์มากที่สุดในโลก (ภาพ : P. L. on Unsplash)
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวพิจารณาจากตัวเลขการเพิ่มขึ้นของร้านกาแฟมีแบรนด์ในจีนเองและประเทศเอเชียตะวันออกอื่น ๆ ในรอบ 12 เดือนซึ่งสิ้นสุด ณ เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
จำนวนร้านกาแฟมีแบรนด์ในจีนเพิ่มขึ้นร้อนแรงในอัตรา 58% เป็นจำนวน 49,691 แห่ง ถือว่าเป็นตัวเลข 'สูงสุด' เป็นประวัติการณ์ เทียบกับฝั่งสหรัฐที่มีตัวเลขขยับขึ้นเพียง 4% ทำให้จำนวนร้านกาแฟมีแบรนด์ยืนอยู่ที่ 40,062 แห่ง ต่ำว่าจีนราว ๆ เกือบหมื่นแห่ง
เวิลด์ คอฟฟี่ พอร์ทัล เป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการตลาดในธุรกิจกาแฟที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง จัดทำงานวิจัยมาเป็นปีที่ 24 แล้ว โดยสหรัฐครองตำแหน่งตลาดร้านกาแฟมีแบรนด์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมาตลอด มาเสียแชมป์เอาก็ในปีนี้เอง
สตาร์บัคส์ แม้จำนวนสาขาเป็นอันดับสองในตลาดจีน แต่ก็ยังครองอันดับหนึ่งในตลาดเอเชียตะวันออก (ภาพ : Alex from pexels.com)
สำหรับเซ็กเมนท์ตลาดร้านกาแฟมีแบรนด์ของ 18 ประเทศในเอเชียตะวันออกนั้น งานวิจัยให้ข้อมูลว่า โดยภาพรวมมีอัตราการเติบโต 24% มีจำนวนร้านกาแฟเพิ่มขึ้นเป็น 119,221 แห่ง ซึ่งจีนประเทศเดียวครองสัดส่วนเกือบ 42% โดย 6 ใน 10 ประเทศตลาดกาแฟขนาดใหญ่ที่สุด มีอัตราขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลัก ผลจาก 'ยอดขาย' เครื่องดื่มกาแฟที่เพิ่มขึ้นและตลาดธุรกิจร้านกาแฟมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี
ขณะที่ท็อปทรีของเชนร้านกาแฟในภูมิภาคนี้เมื่อพิจารณาตามจำนวนสาขา ได้แก่ 'สตาร์บัคส์' (Starbucks), 'ลัคอิน คอฟฟี่' (Luckin Coffee) และ 'คอตติ คอฟฟี่' (Cotti Coffee) ซึ่งสองรายหลังนี้เป็นเชนกาแฟสัญชาติจีน
เฉพาะในเอเชียตะวันออก จีน มีร้านกาแฟมากที่สุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 49,691 แห่ง ตามด้วยอันดับ 2 เกาหลีใต้ จำนวน 31,130 และ ไทย จำนวน 8,353 แห่ง รั้งอยู่ในอันดับ 3
ในข้อมูลตลาดร้านกาแฟมีแบรนด์ใหญ่สุด 3 อันดับแรกของภูมิภาคนี้ ผู้เขียนเห็นแล้วนึกสงสัยว่า ญี่ปุ่น หายไปไหน ทำไมไม่ติดอยู่ใน 3 อันดับแรก ทั้ง ๆ ที่เชนกาแฟต่างประเทศและท้องถิ่นญี่ปุ่นก็เปิดสาขาใหม่ ๆ กันไม่น้อยทีเดียว ถ้าอยากเคลียร์ข้อสงสัยคงต้องไปจ่ายเงินเพื่อดาวน์โหลดงานวิจัยนี้ เพราะข้อมูลที่ปล่อยออกมาในเว็บของผู้จัดทำ เป็นข้อมูลในเบื้องต้นเท่านั้น
ส่วนหนึ่งของกราฟฟิกจากงานวิจัยล่าสุดของ เวิลด์ คอฟฟี่ พอร์ทัล ในหัวข้อตลาดธุรกิจร้านกาแฟเอเชียตะวันออก (ภาพ : World Coffee Portal)
เจฟฟรีย์ หย่ง ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร เวิลด์ คอฟฟี่ พอร์ทัล บอกว่า ตลาดธุรกิจร้านกาแฟในเอเชียตะวันออกกำลังเติบโตรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด นำโดยการปูพรมขยายสาขาอย่าง 'มหัศจรรย์' ในประเทศจีน จนกระทั่งประเทศนี้กลายเป็นมหาอำนาจของอุตสาหกรรมกาแฟระดับโลกไปแล้ว
จำนวนสาขาร้านกาแฟมีแบรนด์ในจีนที่ขยายตัวเกือบ 60% รอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยหลัก ๆ มาจากการเปิดร้านใหม่เป็นจำนวนมากของลัคอิน คอฟฟี่ กับคอตติ คอฟฟี่ ในสัดส่วน 5,059 แห่ง และ 6,004 แห่ง ตามลำดับ ทั้งสองแบรนด์กาแฟสัญชาติจีนนี้เน้นรูปแบบร้าน 'ขนาดเล็ก' และบริการ 'เดลิเวอรี่'
ส่วนสตาร์บัคส์ เปิดสาขาใหม่ในจีนช่วงเดียวกัน 785 แห่ง เพิ่มจำนวนสาขาเป็นกว่า 6,806 แห่ง ตกไปเป็นอันดับ 2 รองจากเบอร์หนึ่งอย่างลัคอิน คอฟฟี่ ที่มีสาขา 13,273 แห่ง
คอตติ คอฟฟี่ แบรนด์ร้านกาแฟน้องใหม่แต่พุ่งแรงสุดๆของจีน ล่าสุดประกาศเปิดสาขาในไทยและมาเลเซีย (ภาพ : instagram.com/cotticoffee.official)
'ลัคอิน คอฟฟี่' เปิดกิจการในปีค.ศ. 2017 เป็นแบรนด์กาแฟสัญชาติจีนที่เติบโตแบบพรวดพราดกระทั่งเกิดเคสตกแต่งตัวเลขบัญชี จนถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ และอยู่ในภาวะล้มละลาย จนเมื่อ 2 ปีผ่านมาเริ่ม 'ฟื้นฟู' กิจการ จนสามารถเปิดสาขาที่ 10,000 ในจีนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ปัจจุบัน ลัคอิน คอฟฟี่ สามารถแซงหน้าสตาร์บัคส์เป็นแบรนด์ร้านกาแฟใหญ่สุดในจีน เมื่อพิจารณาจากจำนวนสาขา
ส่วน 'คอตติ คอฟฟี่' ดาวรุ่งพุ่งแรงรายล่าสุดในเซ็กเมนท์ร้านกาแฟแดนมังกร เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วมานี้เอง ผู้ก่อตั้งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นอดีตผู้บริหารจากลัคอิน คอฟฟี่ เน้นกลยุทธ์การตลาดแบบหั่นราคา และสร้างความสะดวกสบายให้ลูกค้าด้วยการเปิดแอพพลิเคชั่นแบบครบวงจรทั้งสั่งซื้อ, ชำระเงิน และบริการเดลิเวอรี่ เรียกว่า ครบจบในแอพเดียว
นอกจากเร่งโหมเปิดสาขาในจีนแล้ว คอตติ คอฟฟี่ ยังขยับขยายเข้าสู่ตลาดต่างประเทศด้วย ทั้งในเกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เวียดนาม และฮ่องกง ล่าสุดเมื่อกลางเดือนธันวาคม คอตติ คอฟฟี่ ประกาศเปิดตัวสาขาแรกในไทยและมาเลเซีย พร้อมเจาะเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ในปีหน้า
เวิลด์ คอฟฟี่ พอร์ทัล ระบุไทยมีร้านกาแฟมีแบรนด์ จำนวน 8,353 แห่ง รั้งอยู่ในอันดับ 3 ของตลาดเอเชียตะวันออก (ภาพ : Pavel Danilyuk from pexels.com)
แวบมาดูข้อมูลจากผลสำรวจตลาดร้านกาแฟมีแบรนด์ในจีนกันสักนิด เวิลด์ คอฟฟี่ พอร์ทัล ระบุว่า ผู้บริโภคที่ใช้บริการร้านกาแฟมากกว่า 90% ดื่มกาแฟร้อนทุกสัปดาห์ ขณะที่ 64% ดื่มกาแฟเย็นอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง บ่งชี้ถึงบทบาทของร้านกาแฟในการขับเคลื่อนการบริโภค นอกจากนั้น 89% ของผู้บริโภคแวะไปซื้อหรือสั่งออร์เดอร์จากร้านกาแฟอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยหนึ่งในห้าของผู้บริโภคทำแบบนี้ทุกวัน
รูปแบบร้านกาแฟขนาดเล็กที่เน้นความ 'สะดวกสบาย' กำลังเป็นที่แพร่หลายในตลาดร้านกาแฟมีแบรนด์ของจีน ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่า 85% สั่งซื้อแบบพรีออร์เดอร์และซื้อผ่านเดลิเวอรี่จากร้านกาแฟภายใน 12 เดือนที่ผ่านมา โดย 57% ใช้บริการเดลิเวอรี่มากกว่าไปที่ร้านกาแฟ
สถานการณ์ในจีน ตลาดร้านกาแฟมีแบรนด์ได้กลายเป็น 'ศึก 3 เส้า' ระหว่างลัคอิน คอฟฟี่ และคอตติ คอฟฟี่ สองแบรนด์สัญชาติจีน กับสตาร์บัคส์ แบรนด์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ที่ขณะนี้ดูจะเป็นรองลัคอิน คอฟฟี่ ในแง่ของจำนวนเครือข่ายสาขา ส่วนสองแบรนด์แดนมังกรก็เปิดศึกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างมีนัยสำคัญ ในแบบที่กลยุทธ์แทบจะเหมือนกันเป๊ะ ๆ
เซ็กเมนท์ร้านกาแฟมีแบรนด์ในเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มเติบโตสูง จากผลของยอดขายและการขยายสาขา (ภาพ : Pema Lama on Unsplash)
อย่างไรก็ตาม ในตลาดเอเชียตะวันออกแล้ว สตาร์บัคส์ยังคงเป็นแบรนด์ร้านกาแฟ 'ใหญ่ที่สุด' ในภูมิภาค
สตาร์บัคส์ เปิดสาขาใหม่ทั้งสิ้น 1,223 แห่งในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีสาขารวม 13,524 แห่งใน 15 ตลาดเอเชียตะวันออก
กระนั้นก็ตาม เวิลด์ คอฟฟี่ พอร์ทัล บอกว่า แบรนด์ร้านกาแฟท้องถิ่นเอเชียอย่าง 'เมก้า คอฟฟี่' (Mega Coffee) ของเกาหลีใต้, 'โทโมโร่ คอฟฟี่' (Tomoro Coffee) และ 'ซุส คอฟฟี่' (Zus Coffee) ของมาเลเซีย กำลังท้าทายยักษ์ใหญ่สตาร์บัคส์ ในเรื่องส่วนแบ่งตลาดที่แบรนด์ท้องถิ่นเริ่มมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เวิลด์ คอฟฟี่ พอร์ทัล ยังคาดการณ์ว่า เซ็กเมนท์ร้านกาแฟมีแบรนด์ในเอเชียตะวันออกยังมีแนวโน้มเติบโตในระดับสูง มีสองปัจจัยหลักเป็นตัวขับเคลื่อน คือ การเพิ่มขึ้นของยอดขายและการขยายตัวของเครือข่ายสาขา
พร้อมทำนายว่า ร้านกาแฟมีแบรนด์ในภูมิภาคนี้จะมีจำนวนสาขาเกินกว่า 136,500 แห่งภายในเดือนพฤศจิกายน 2024 และเพิ่มเป็น 181,500 แห่ง ภายในปี 2028 โดยมีอัตราขยายตัวช่วง 5 ปี เฉลี่ยที่ 8.8%
................................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี