'Kopi Joss' กาแฟใส่ถ่านร้อน ๆ โดนสั่ง 'ห้ามขาย' ในมาเลเซีย
สาธารณสุขมาเลเซียสั่งผู้ประกอบการห้ามขาย โกปี๊ จอส กาแฟซิกเนเจอร์ของเมืองยอร์คยาการ์ต้า ในอินโดนีเซีย ชี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค
'Kopi Joss' หรือโกปี๊ จอส เป็นเครื่องดื่มกาแฟที่ว่ากันว่าจัดอยู่ในระดับซิกเนเจอร์ของยอร์คยาการ์ต้า เมืองท่องเที่ยวสำคัญบนเกาะชวาของอินโดนิเซีย ซึ่งผู้เขียนตั้งใจจะนำเสนอมาหลายเพลาแล้ว แต่ไม่มีโอกาสสักที มาวันนี้พอดีมีข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นกับกาแฟโกปี๊ จอส จึงขอหยิบมาเล่าสู่กันฟัง คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุก ๆ ภาคส่วนในแวดวงธุรกิจกาแฟไทยอยู่บ้าง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีประกาศจากทางการมาเลเซียว่า ผู้ประกอบการรายใดที่จำหน่ายกาแฟ 'โกปี๊ จอส' จะมีความผิดตามกฎหมายด้านอาหารปี 1985 และหากพบว่ากระทำความผิดจริงอาจถูกลงโทษทั้งจำทั้งปรับ หลังจากที่ร้านค้าแห่งหนึ่งของมาเลเซียได้เสิร์ฟกาแฟโกปี๊ จอส ให้ลูกค้า จนกลายเป็นคลิปไวรัลขึ้นในแดนเสือเหลือง ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงกันบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า "ดื่มเข้าไปแล้วปลอดภัยหรือไม่"
โกปี๊ จอส นั้น มีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกันในเว็บไซต์โซเชียลมีเดียบ้านเรา กาแฟถ่านบ้าง กาแฟใส่ถ่านร้อนบ้าง กาแฟใส่ถ่านไม้ติดไฟบ้าง กระทั่งกาแฟถ่านชาร์โคลก็มี พร้อมพาดหัวเรื่องทำนองว่า เป็นเครื่องดื่ม 'สุดแปลก' จากอินโดนีเซีย เคยลองดื่มกันหรือยัง
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ากาแฟเมนูนี้ที่ผู้เขียนขอเรียกว่า 'กาแฟใส่ถ่านร้อน' เป็นเครื่องดื่มกาแฟดำที่นำถ่านไม้ติดไฟจนแดงวูบวาบ ใส่ลงไปในแก้วกาแฟ ตรงตามชื่อที่บ่งบอกทุกประการ สูตรการชงก็คือ ใช้กาแฟคั่วบดชงเป็นกาแฟดำแล้วเติมน้ำตาลทรายลงไป 3-4 ช้อนชา จากนั้นก็ถึงช่วงไฮไลท์คือ การคีบถ่านไม้ร้อน ๆ ลงไปในแก้ว จะใช้ 1-2 ก้อนก็ขึ้นอยู่กับขนาดถ่านและไซส์แก้ว ส่วนวิธีการดื่มคือรอให้ถ่านหายร้อนเสียก่อนแล้วจึงคีบออก พร้อมเป่าขี้เถ้าให้เหลือน้อยที่สุด แล้วยกแก้วกาแฟขึ้นแตะริมฝีปาก
โฉมหน้า โกปี๊ จอส เครื่องดื่มกาแฟระดับซิกเนเจอร์ของเมืองยอร์คยาการ์ต้า บนเกาะชวา (ภาพ : wikimedia.org/Ivan_Lanin)
แน่นอนว่า คงเป็นรสชาติกาแฟที่ไม่ซ้ำแบบใครหรือกาแฟแก้วไหน ๆ บนโลกใบนี้ ถ้าเป็นผู้ขายก็คงบอกว่ารสชาติดีมีเอกลักษณ์อะไรทำนองนั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่เคยดื่มโกปี๊ จอส มาก่อน จึงได้แต่ไปหาข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง ได้ความว่า เป็นเครื่องดื่มกาแฟที่ให้กลิ่นคล้าย 'คาราเมล' คล้าย 'น้ำตาลไหม้' เขาว่ากันไว้อย่างนี้แหละ
ท่านผู้อ่านบางท่านคงทราบเป็นอย่างดีว่า กาแฟใส่ถ่านร้อนนั้นมีขายกันเป็นปกติและดาษดื่นตามร้านค้าแผงลอยเล็ก ๆ ในเมืองยอร์คยาการ์ต้า ขายกันในราคาแก้วละ 4,000 รูเปียห์อินโดนีเซีย หรือราว 10 บาท แล้วคนท้องถิ่นที่นี่ก็นิยมดื่มกัน บรรดานักรีวิวเครื่องดื่มก็มักอ้างสรรพคุณเอาไว้ว่า ถ่านไม้สีดำ ๆ นั้นมีประโยชน์ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและขับถ่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ถ่านไม้ร้อน ๆยังช่วยดูดซับเอาคาเฟอีนออกไปจำนวนหนึ่งอีกด้วย
อ้อ...เกือบลืม สาเหตุที่เรียกว่า โกปี๊ จอส นั้น จอส (joss) มาจากการเลียนเสียงตอนที่ก้อนถ่านร้อน ๆ สีแดงถูกหย่อนลงไปกระทบน้ำกาแฟในแก้ว ซึ่งก็แปลกเหมือนกันครับ เพราะผู้เขียนลองฟังดูแล้ว ออกไปทางโทนเสียง ชี่ ๆ ๆ มากกว่า
เมื่อคนท้องถิ่นพื้นเพนิยมกันเยอะ นักท่องเที่ยวก็อยากทดลองดื่มดูบ้าง จนกลายเป็นกาแฟที่นักรีวิวต่างชาติหลาย ๆ คนระบุว่าเป็นเมนู 'ห้ามพลาด' เด็ดขาด เมื่อมีโอกาสไปเยือนยอร์คยาการ์ต้า บนเกาะชวา
กระทรวงสาธารณสุขมาเซียสั่งห้ามผู้ประกอบการห้ามจำหน่ายกาแฟโกปี๊ จอส เป็นข่าวใหญ่ในสื่อทุกแขนง (ภาพ : theborneopost.com)
มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านบางท่านอาจตั้งคำถามเอาว่า กินได้จริง ๆ หรือ? มีอันตรายต่อสุขภาพหรือเปล่าทั้งถ่านไม้กับขี้เถ้าที่ลอยอยู่ในกาแฟ ก็เป็น 'ข้อสงสัย' ที่ถามกันหนักมาก แบบว่าเสิร์ชในกูเกิ้ลเมื่อไหร่ก็เจอเมื่อนั้น
และก็มักได้รับคำตอบจากเจ้าของร้านโกปี๊ จอส และบรรดานักรีวิวส่วนใหญ่ว่า ถ่านไม้หรือชาร์โคลนั้นกินได้ ไม่อันตราย กลับมีประโยชน์เสียอีก แต่ก็มีบางรายเห็นว่าที่น่าห่วงก็เรื่องขี้เถ้าที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ขณะที่สาธารณสุขอินโดนีเซียก็ไม่ได้ห้ามปรามแต่อย่างใด เพราะเห็นขายกันตามปกติ แล้วกาแฟใส่ถ่านร้อนของเมืองยอร์คยาการ์ต้านี้ ตามบันทึกบอกว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกราวทศวรรษ 1960 โน่น หรือขายกันมานานกว่า 60 ปีเข้าไปแล้ว
จู่ๆด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบชัด กาแฟโกปี๊ จอส หรือกาแฟถ่านไม้ร้อนนี้ เกิดกลายเป็นกระแส 'ไวรัล' ขึ้นในมาเลเซียเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีร้านอาหารแห่งหนึ่งชงกาแฟสไตล์นี้ออกมาขาย แล้วมีลูกค้าถ่ายคลิปวิธีชงแล้วโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดการถกเถียงกันสนั่นในคอมเมนต์ใต้คลิปว่า ดื่มได้จริงหรือ แล้วปลอดภัยไหม
จนสำนักข่าวเบอร์นามาของทางการมาเลเซียได้ 'เปิดประเด็น' ด้วยการนำเสนอข่าวนี้ออกไป พร้อมทั้งไปสอบถามจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน เพื่อเคลียร์กันให้ชัด ๆ ไปเลย
สำนักข่าวเบอร์นามา ระบุว่า แม้มีคำกล่าวอ้างหรือเคลมกันว่ากาแฟโกปี๊ จอส ซึ่งเป็นที่รู้จักในอินโดนีเซีย มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง และว่ากันว่าสามารถล้างพิษในร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของมาเลเซียได้แสดงความวิตกกังวลต่อเรื่องนี้ พร้อมชี้ว่าการบริโภคกาแฟชนิดนี้อาจทำให้เกิด 'ปัญหาสุขภาพ' ขึ้นหลายประการ เช่น อาการท้องอืด, ท้องร่วง และไส้ติ่งอักเสบ ตามด้วยความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งและลำไส้อุดตันด้วย หากบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน
อินโฟกราฟิก ของสำนักข่าวเบอร์นามา แสดงไทม์ไลน์และรายละเอียดของข่าวกาแฟโกปี๊ จอส ไว้อย่างครบถ้วน (ภาพ : instagram.com/bernamaofficial/)
ดร.อึ้ง คิม ฟ่ง ที่ปรึกษาด้านโรคหัวใจและอายุรศาสตร์จากโรงพยาบาลสุลต่าน อามีนาห์ ในรัฐยะโฮร์บาห์รู ให้ความเห็นผ่านทางสำนักข่าวเบอร์นามาว่า ประชาชนไม่ควรตื่นเต้นไปกับกระแสหรือเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ในโลกโซเชียลโดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงต่อสุขภาพ เพราะไม่ได้หมายความว่าเราต้องลองทุกอย่างที่แปลกใหม่ สิ่งสำคัญคือ อาหารและเครื่องดื่มควรปลอดภัยและปราศจากเชื้อโรค
ด้านดร.นูร์ฮาชิม ฮารอน ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักจากโรงพยาบาลเคพีแอล ตาวัคคัล ในกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า ร้านค้าที่เสิร์ฟเครื่องดื่มดังกล่าว ควรมีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยทางสุขภาพของผู้บริโภคให้มากขึ้น
สิ่งที่ผู้เขียนชอบใจและขอคารวะต่อสำนักข่าวเบอร์นามาก็คือ มีการทำ 'อินโฟกราฟฟิก' อธิบายอย่างละเอียดว่าการดื่มกาแฟใส่ถ่านร้อนอาจมีอันตรายต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ทำเป็นทั้งภาษาท้องถิ่นมาเลย์และภาษาอังกฤษ อ่านแล้วเข้าใจง่าย เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคจริง ๆ
นี่แหละครับคือลักษณะของสื่อคุณภาพ ไม่ใช่หวังทำข่าวเพื่อสร้างกระแส หรือหวังปั่นเรตติ้งกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา สังคมจะเป็นเช่นไร ไม่สนใจใด ๆ ทั้งสิ้น
สูตรกาแฟโกปี๊ จอส คือชงกาแฟดำแล้วเติมน้ำตาลทรายลงไป จากนั้นคีบถ่านไม้ร้อนๆ ลงไปในแก้ว รอให้ถ่านเย็นลงแล้วเป้าขี้เถ้าออกไป (ภาพ : facebook.com/sabahfoodparadise)
หลังจากนั้นประเด็นนี้ก็เข้าหูรัฐบาลมาเลเซีย อีกราว 10 วันต่อมากระทรวงสาธารณสุขก็ออกแถลงการณ์ที่สื่อทุกประเภทพร้อมใจกันนำไปเสนอให้ผู้บริโภครับรู้ ประเด็นหลัก ๆ ก็คือ การเสิร์ฟกาแฟใส่ถ่านไม้ มีความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายด้านอาหารปี 1985 ซึ่งกฎหมายนี้อนุญาตให้ใช้น้ำตาล, เดกซ์โทรส, กลูโคส, น้ำผึ้ง, นม, ครีม, อาหารอื่น ๆ และสารแต่งกลิ่นที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนถ่านไม้ไม่จัดอยู่ในประเภทของอาหาร
กระทรวงสาธารณสุขย้ำว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ถูกพบว่าเสิร์ฟกาแฟโดยใช้ถ่านหรือกาแฟโกปี๊ จอส อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุด 10,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 74,000 บาท) หรือมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี
ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ฉบับนี้ กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียอธิบายว่า ถ่านไม้ติดไฟที่เติมลงในกาแฟโดยตรงนั้น แตกต่างจาก 'ถ่านกัมมันต์' (activated charcoal) ที่ใช้กันทั่วไปในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากถ่านกัมมันต์ต้องผ่านกระบวนการแปรรูปและทำให้บริสุทธิ์ จนปลอดภัยต่อการบริโภค พร้อมกับเสริมด้วยว่า การเติมถ่านร้อนลงในกาแฟโดยตรงนั้น ไม่สามารถระบุได้ว่าผ่านกระบวนการแปรรูปอย่างถูกต้องหรือเหมาะสมสำหรับการบริโภคหรือไม่ เนื่องจากอาจมีสารแปลกปลอมหรือส่วนประกอบที่เป็นพิษอื่น ๆ
ชาร์โคล ลาเต้ เครื่องดื่มที่มีถ่านกัมมันต์เป็นส่วนผสม ร้านกาแฟหลายแห่งยกให้เป็นหนึ่งในเมนูเพื่อสุขภาพ (ภาพ : instagram.com/redbaycoffee)
ก็อย่างที่กระทรวงสาธารณแดนเสือเหลืองบอกนั่นแหละครับ ถ่านกัมมันต์นั้นใช้กันทั่วไปในอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ใช่ชนิดเดียวกับถ่านฟืนที่ใช้ในการหุงต้ม แล้วในธุรกิจกาแฟมีการนำไปใส่ในกาแฟลาเต้ เรียกว่า 'ชาร์โคล ลาเต้' (Charcoal Latte) ที่เนื้อน้ำกาแฟออกเป็นสีดำตัดด้วยลายลาเต้อาร์ตสีขาวจากนม ถือเป็นเทรนด์หนึ่งของเครื่องดื่มที่ว่ากันว่าเพื่อสุขภาพที่ร้านกาแฟในหลายทวีปทั่วโลกคิดค้นสูตรกันขึ้นมาหลายปีแล้ว
ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีที่มีคนเรียกชื่อกาแฟโกปี๊ จอส ว่ากาแฟชาร์โคลนั้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดความ 'สับสน' ขึ้นว่าหมายถึงกาแฟตัวไหนกันแน่ ระหว่างกาแฟใส่ถ่านกัมมันต์ กับกาแฟใส่ถ่านไม้ติดไฟเหมือนของอินโดนีเซีย ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้บริโภคจึงต้องทำความเข้าในเรื่องนี้ให้ชัดเจน
ในญี่ปุ่นมีวิธีคั่วกาแฟสไตล์หนึ่งเรียกว่า 'สุมิยากิ โรสติ้ง' (sumiyaki roasting) หรือ 'ชาร์โคล โรสติ้ง' (charcoal roasting) เป็นเทคนิคการคั่วโดยใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงในการคั่วสารกาแฟ โดยคำว่าสุมินั้น แปลว่า ถ่านที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่าชาร์โคล ส่วนยากิ แปลว่า ปิ้งหรือย่างนั่นเอง
ยูซีซี อูเอะชิม่า กับผลิตภัณฑ์กาแฟสุมิยากิ คอฟฟี่ ใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงในการคั่วสารกาแฟ (ภาพ : UCC Ueshima Coffee Singapore)
มือคั่วกาแฟชาวญี่ปุ่นถือว่าเชี่ยวชาญมาก ๆ สำหรับรูปแบบการคั่วกาแฟเช่นนี้ มีผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟหลายรายนำไปจำหน่ายเป็นกาแฟคั่วบดและกาแฟอินสแตนท์ รวมไปถึงแบรนด์ใหญ่อย่าง 'ยูซีซี อูเอะชิม่า' (UCC Ueshima)
ที่ผู้เขียนหยิบยกกรณีมาเลเซียกับกาแฟกาแฟโกปี๊ จอส หรือกาแฟใส่ถ่านไม่ร้อนนั้น มาเล่าสู่กันฟังนั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์ไปในทำนองว่าต้องการห้ามหรือไม่ให้ดื่มนะครับ เพียงต้องการนำเสนอในอีกมุมหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันนั่นคือประเด็นสุขภาพ แล้วเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพให้ห่างไกลโรคนั้น แม้สำคัญก็จริงอยู่ แต่จะไปบังคับขืนใจกันนั้นไม่ได้ สุขภาพของใครก็ต้องดูแลกันเองครับ
แต่ถ้ามีคนถามผู้เขียนว่า อยากชิมโกปี๊ จอส ไหม? ก็ขอตอบทันทีโดยไม่ลังเลว่า ขอคิดดูก่อน(นานๆ)ครับ!
..............................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี