‘อาร์มายัค’ 'บรั่นดีโฮมเมด' ของฝรั่งเศส ของแท้แพงและหายากกว่า 'คอนยัค'
‘อาร์มายัค’ เป็น ‘บรั่นดี’ หรือ โอ เดอ วี (Eau de vie) ประเภทหนึ่งที่ได้จากการกลั่นน้ำองุ่น เป็นเหล้ากลั่นที่อายุยืนยาวที่สุดในโลก ประวัติเล่าว่ากลั่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1411 ก่อน 'คอนยัค' ประมาณ 200 ปี ของแท้แพงและหายากเพราะผลิตน้อยมาก
เมืองไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเป็นการช่วงชิงตลาดของ บรั่นดี (Brandy) ราคาย่อมเยา เพื่อทดแทนความต้องการของคอ รีเจนซี บรั่นดีไทย ที่มีมูลค่ามหาศาล และเจอปัญหาใหญ่คือ ขาดตลาดและปลอม
บางรายบอกว่า ของปลอม นำมาจาก แคว้นอาร์มายัค ถ้าเป็น คอนยัค ไม่ว่ากัน แต่ถ้า อาร์มายัค โอกาสที่จะเป็นไปได้แทบจะเป็นศูนย์ หรือไม่ก็ซื้อมา 1 ขวด ผสมโน่นเติมนี้ได้เป็น 100 ขวด อะไรทำนองนั้น
ถังบ่มใหม่ของอาร์มายัค
เพราะ บรั่นดีไทย รีเจนซี มักจะขาดตลาดในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ฯลฯ ด้วยสาเหตุใหญ่คือการกักตุนของพ่อค้า ควบคู่มากับ การปลอมแปลง ซึ่งมีมาตลอด
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีผู้นำเข้าหลายราย นำบรั่นดีราคาย่อมเยาเข้ามาเพื่อช่วงชิงการตลาดจากรีเจนซี่
บรั่นดี ราคาย่อมเยา ดังกล่าว ส่วนใหญ่ใช้วิธีสั่งเป็นถังขนาดใหญ่มาจากฝรั่งเศสหรือชาติอื่น แล้วนำมาบรรจุขวดที่ชาติเพื่อนบ้าน มากที่สุดคือเวียดนาม แล้วนำเข้ามาเมืองไทย ด้วยข้อตกลงทางการค้าทำให้ภาษีถูกกว่าสั่งมาจากฝรั่งเศสโดยตรง ซึ่งไทยไม่มีข้อตกลงทางการค้าด้วย
การขนส่งอาร์มายัคที่ท่าเรือในสมัยโบราณ
นอกจากราคาที่สูสีหรือแพงกว่ารีเจนซีเล็กน้อย สิ่งที่บรั่นดีเหล่านี้ใช้เป็นจุดขายคือการเป็น ของนอก แท้
กรรมวิธีและแท็กติกของ ”ของนอก” เหล่านี้ยังมีอีกเยอะที่งัดออกมาสู้กัน ทั้งจริงบ้าง จริงบางส่วน ปิดบังบางส่วน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนนำมาซึ่งรสชาติ
การทดสอบและตรวจสอบคุณภาพของอาร์มายัค
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้ยินมาแล้วไม่ค่อยแน่ใจนัก และไม่ค่อยสบายใจนักก็คือบางรายมีการบอกว่านำมาจาก แคว้นอาร์มายัค ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ยาก
การจุ่มครั่งที่ฝาขวดบรั่นดีโฮมเมด
ถ้าเปรียบเทียบกันง่าย ๆ คอนยัค คือโรงงานอุตสาหกรรม ทำการตลาดเต็มระบบ ขณะที่ อาร์มายัคเป็นโฮมเมด การตลาดน้อยนิด อยากซื้อต้องมาที่โรงกลั่น อะไรทำนองนั้น
ต้องบอกก่อนว่าสุดยอดบรั่นดีมาจาก 2 แหล่งสำคัญในประเทศฝรั่งเศสคือ คอนยัค (Cognac) ซึ่งผลผลิตมากมาย และ อาร์มายัค (Armagnac) ซึ่งผลผลิตน้อยกว่า
ดินของเขตต่าง ๆ ในอาร์มายัค
ถิ่นกำเนิดของ อาร์มายัค คือ แคว้นกาสกอญหรือกาสโกนี (Gascony) ได้รับ AOC (Appellation d'Origine Controlee) ในปี 1936
อาร์มายัค ควบคุมคุณภาพโดย 2 หน่วยงานของรัฐคือ Institut National de l'Origine et de la Qualité (INAO) ที่ควบคุมคุณภาพไวน์ของฝรั่งเศสด้วย และ The Bureau National Interprofessionel de l'Armagnac (BNIA) ขณะที่คอนยัคควบคุมโดย INAO แห่งเดียว
ตีตราลงบนขวด
ปิดฉลากด้วยมือ
แคว้นกาสกอญ อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส หรืออยู่ทางใต้ของเมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) “เมกกะแห่งไวน์ของฝรั่งเศส” ประมาณ 150 กม. เคยใช้เป็นฉากของวรรณกรรมชิ้นสำคัญของโลกคือ สามทหารเสือ โดย อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ มาแล้ว
เขตผลิตอาร์มายัค
อาร์มายัค มีพื้นที่ปลูกองุ่นประมาณ 160 ตารางกิโลเมตร องุ่นที่ใช้มี 4 พันธุ์หลัก ๆ คือ อูญี บลอง (Ugni Blanc หรือ Saint-Emilion), บาโก (Baco หรือ Baco 22A), ฟอลล์ บลองเช (Folle Blanche) และโคลอมบาร์ด (Colombard) นอกนั้นเป็นองุ่นพื้นเมืองที่หายากอีกประมาณ 7-8 พันธุ์ ขณะที่ คอนยัคใช้องุ่น อูญี บลอง เป็นหลัก
องุ่น Baco
อาร์มายัค แบ่งเขตการผลิตเป็น 3 เขตคือ
1 บาส์ ซาร์มาญยัค (Bas Armagnac) ตั้งอยู่ทางตะวันตกของอาร์มายัค มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดแกร์ (Gers) บางส่วนอยู่ในจังหวัดลองด์ (Landes) เป็นเขตที่มีชื่อเสียงและผลิตอาร์มายัคได้เยี่ยมที่สุด ดินส่วนใหญ่เป็นดินทรายผสมดินร่วน อุดมด้วยธาตุโปแตสเซียมและแร่ธาตุอื่น ๆ มากมาย รสชาตินุ่มนวล มีกลิ่นพลัมเป็นเอกลักษณ์สำคัญ ตามด้วยพรุน กลิ่นดิน และกลิ่นแร่ธาตุ ผลผลิต 67% ของอาร์มายัคที่ผลิตได้ทั้งหมด
ดินของเขตบาส์ ซาร์มาญยัค
2 เตนาเฮรเซ (Tenarèze) เป็นเขตขนาดกลางอยู่ระหว่างเขตบาส์ ซาร์มาญยัค (Bas Armagnac) และโอต์ ตาร์มาญยัค (Haut Armagnac) ดินเป็นประเภทชอล์ค (Chalky Soil) ที่มีส่วนผสมของหินปูน ทำให้มีกลิ่นหอมของดอกไม้นานาพันธุ์ รสชาติค่อนข้างฟูลบอดี้ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นเขตที่แคแรกเตอร์คล้าย คอนยัคที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 2 เขต ผลผลิต 32% ของอาร์มายัคที่ผลิตได้ทั้งหมด
ชิมเพื่อทดสอบรสชาติ
3 โอต์ ตาร์มาญยัค (Haut Armagnac) ตั้งอยู่ทางตะวันออกของ อาร์มายัค ดินส่วนใหญ่คือชอล์ค แต่รสชาติไม่ค่อยนุ่มนวล ออกไปทางหยาบ ๆ กระด้าง ๆ เป็นเขตใหญ่แต่ผลผลิตน้อยคือประมาณ 1% ของอาร์มายัคที่ผลิตได้ทั้งหมด
องุ่น Ugni Blanc
อาร์มายัค มีทั้งความเหมือนและข้อแตกต่างจากคอนยัค โดยเหมือนในเรื่องของการใช้พันธุ์องุ่น ขณะที่ความแตกต่างกันมีอยู่หลายอย่าง เช่น แหล่งผลิต โดยคอนยัคต้องผลิตใน 2 ดีพาร์ตเมนต์คือ ชารองต์ (Charente) และชาลองต์ มารีไทม์ (Charente-Maritime) ตอนเหนือของเมืองบอร์กโดซ์
แผนภูมิการกลั่นอาร์มายัค
ในเรื่องของ การกลั่น อาร์มายัคจะกลั่นครั้งเดียว ทำให้รสชาติหนักแน่น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาร์มายัคจะต้องบ่มนาน คอนยัคจะกลั่นทับซ้อนกัน 2-3 ครั้ง (Pot Still) ได้แอลกอฮอล์ประมาณ 72% ขณะที่อาร์มายัคกลั่นแบบต่อเนื่อง (Column Still) ได้แอลกอฮอล์ประมาณ 53 – 60%
หลังจากกลั่นแล้วเมื่อนำมาบ่มในถังไม้โอ๊ค อาร์มายัคใช้ถังไม้โอ๊คที่มาจากป่ามงเลอซัง (Monlezun) ในเขตบาส์ ซาร์มายัค (Bas Armagnac)
การบ่มอาร์มายัค
มีบางคำที่เกี่ยวข้องกับการบ่มอาร์มายัคที่ควรทราบคือ
VS (Very Special) "XXX" : ผสมผสานจากอาร์มายัคจากเขตต่าง ๆ แล้วบ่มในถังโอ๊คอย่างน้อย 1 ปี
VSOP (Very Superior Old Pale) หรือ Réserve : ต้องบ่มอย่างน้อย 4 ปี
XO, Napoléon, Extra, Vieille Réserve : ต้องบ่มอย่างน้อย 5 ปี
Hors d'âge : ต้องบ่มอย่างน้อย 10 ปี
อดีตที่ผ่านมา อาร์มายัค เป็นที่โปรดปรานของเหล่าคนดังมากมาย เช่น นโปเลียนมหาราช และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งทั้งคู่ได้ชื่อว่าเป็นนักดื่มระดับคลาสสิกของโลก ขณะที่พระเจ้า อองรี ที่ 4 สะสมแต่อาร์มายัคอย่างเดียว
ไวเนอรีในแคว้นแกสโกนี (Cr.thegoodlifefrance.com)
ในเมืองไทยมีคนนำเข้าอาร์มายัคมากว่า 20 ปีแล้ว แต่มีไม่กี่ยี่ห้อเพราะแทบขายไม่ได้เนื่องจากคนไม่รู้จัก และส่วนใหญ่ยึดติดอยู่กับคอนยัค ที่สำคัญคือผลิตไม่มาก ไม่มีโควต้าให้กับประเทศเล็ก ๆ และบริโภคน้อย ปัจจุบันเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ
ผู้นำอาร์มายัคมากที่สุดในเมืองไทยคือ บริษัท Exquisite Elixir Co.,Ltd. มีหลายแบรนด์และแต่ละแบรนด์มีหลายรุ่น หลายวินเทจ สอบถามโทร.085 183 8891