จับกระแส 7 เมกะเทรนด์ เขย่าตลาดกาแฟปี 2025

จับกระแส 7 เมกะเทรนด์ เขย่าตลาดกาแฟปี 2025

จับตาเทรนด์ใหญ่มาแรงที่พร้อมเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจกาแฟปี 2025 ตั้งแต่ราคากาแฟตลาดโลกพุ่งทำสถิติสูงสุด สงครามกาแฟจีนลุกเป็นไฟ ไปจนถึงยักษ์สตาร์บัคส์เร่งพลิกฟื้นยอดขาย

แนวโน้มธุรกิจกาแฟปีหน้า อะไรมาแรง?

ตลาดกาแฟยังคงเป็นตลาดที่น่าจับตามองและมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสถานการณ์ใหญ่ระดับ 'บิ๊กนิวส์' ที่ส้่นสะเทือนไปทั่ววงการในปี 2024 ที่คาดว่าจะมีผลกระทบผูกพันต่อเนื่องในระดับ 'เมกะเทรนด์' ไปถึงปี 2025 ด้วย เช่น ราคากาแฟตลาดโลก, สงครามกาแฟในตลาดจีน, พฤติกรรมผู้บริโภค, เทคโนโลยี AI, กฎระเบียบ EUDR และสตาร์บัคส์จัดทัพธุรกิจใหม่

1. ราคากาแฟตลาดโลกพุ่งทะลุเพดาน

คงต้องจับตามองกันอย่างลุ้นระทึกใจว่า ราคากาแฟตลาดโลกในปี 2025 จะซ้ำรอยปรากฏการณ์ในปี 2024 อีกหรือไม่ หลังจากผลผลิตกาแฟในแหล่งปลูกใหญ่ ๆ อย่าง 'บราซิล' และ 'เวียดนาม' เผชิญหน้ากับปัญหาอากาศแปรปรวนทั้งภัยแล้งและฝนถล่มหนัก ทำเอาส่งออกกาแฟได้น้อยลง จนกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ส่งผลให้ราคากาแฟในตลาดทะยานเปรี้ยงปร้างแบบไม่เกรงใจใคร จนสร้างสถิติระดับราคาสูงสุดในช่วงปลายปี

ในปี 2024 ราคากาแฟ 'อาราบิก้า' ในตลาดล่วงหน้าระหว่างประเทศ (ICE) พุ่งขึ้นไปแล้วมากกว่า 80% ทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 50 ปีไว้เมื่อต้นเดือนธันวาคม ในระดับราคา 3.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์  ส่วนราคากาแฟ 'โรบัสต้า' ในตลาดล่วงหน้า ICE  ทะยานขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว มาทำสถิติสูงสุดไว้ที่ระดับ 5,694 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน

จับกระแส 7 เมกะเทรนด์ เขย่าตลาดกาแฟปี 2025

ราคากาแฟตลาดโลกทั้งอาราบิก้าและโรบัสต้า จะเพิ่มขึ้นต่อในปี 2025 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลกร้อนที่ผันผวนแปรปรวนขึ้นทุกขณะ  (ภาพ : Charlie Waradee)

หากว่าทั้งบราซิลและเวียดนามกลับมาผลิตกาแฟป้อนตลาดโลกได้ตามปกติ สถานการณ์ของราคากาแฟก็น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่หวือหวาเหมือนปี 2024 อาจจะทรงตัวหรือลดลงด้วยซ้ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยลบอย่าง 'สถานการณ์โลกร้อน' ด้วยว่าจะเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นในแหล่งปลูกกาแฟขนาดใหญ่อีกหรือไม่

ติดตามสถานการณ์ของผู้ผลิตอันดับต้น ๆ ของโลกกันได้เลยชนิดห้ามกะพริบตา ไม่ว่าจะเป็น บราซิล, เวียดนาม, โคลอมเบีย, อินโดนิเซีย และเอธิโอเปีย

2. ศึกกาแฟแดนมังกรลุกเป็นไฟ

สถานการณ์ตลาดร้านกาแฟในจีน ถือว่าแข่งขันกันดุเดือดเลือดพล่านอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ชนิดใครพลาดเป็นล้มต้องกระเด็นอกนอกสนามไป เมื่อก่อนแข่งดุกันอยู่ 2 เจ้าใหญ่ระหว่าง 'สตาร์บัคส์' (Starbucks) แบรนด์ยักษ์อเมริกัน กับ 'ลัคอิน คอฟฟี่' (Luckin Coffee) แบรนด์ดังสัญชาติจีน ล่าสุดอัพเดตมาเป็นศึก 3 เส้า เมื่อ 'คอตติ คอฟฟี่' (Cotti Coffee)  แบรนด์น้องใหม่มาแรงแดนมังกรอีกราย สอดแทรกเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญ หลังขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ผ่านทางกลยุทธ์ขายตัดราคาเช่นเดียวกับรุ่นพี่ลัคอิน คอฟฟี่

ลัคอิน คอฟฟี่ เคยใช้ 'สงครามตัดราคา' ไล่บี้สตาร์บัคส์จนเสียกระบวนท่ามาแล้ว ก่อนปาดหน้าขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในทำเนียบเชนร้านกาแฟจีนในแง่จำนวนสาขา ขณะที่คอตติ คอฟฟี่ ก็ย้อนเกล็ดเล่นงานลัคอิน คอฟฟี่ เข้าบ้าง โดยขายกาแฟในราคาต่ำกว่า 10 หยวนต่อแก้วเป็นเจ้าแรก ถือเป็นจุดชนวนระเบิดสงครามราคารอบใหม่

จับกระแส 7 เมกะเทรนด์ เขย่าตลาดกาแฟปี 2025

คอตติ คอฟฟี่ แบรนด์ร้านกาแฟน้องใหม่มาแรงแดนมังกร ใช้กลยุทธ์การขายแบบตัดราคาคู่แข่ง เช่นเดียวกับลัคอิน คอฟฟี่  (ภาพ : commons.wikimedia.org/Windmemories)

แข่งเดือดในจีนคงก็ไม่พอ แบรนด์กาแฟมังกรจีนทั้ง 2 รายยังเร่งรุกเข้าสู่ตลาดกาแฟต่างประะทศ เน้นปูพรมเปิดสาขาใหม่ ๆ ในเอเชีย รวมไปถึงตลาดผู้บริโภคใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐและยุโรป ล่าสุด ลัคอิน คอฟฟี่ เปิดสาขาใหม่ในฮ่องกง ซึ่งมีการมองกันว่าคือศึกท้าชนสตาร์บัคส์อีกคำรบ ส่วนคอตติ คอฟฟี่ เปิดสาขาแรกในไทยและมาเลเซียไปเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

3. อียูเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย EUDR

กฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟมากที่สุดในช่วงเวลานี้ เห็นจะไม่มีใดเกิน 'EUDR' หรือกฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation) ที่ทำเอาเกษตรกรรายย่อยและพ่อค้ากาแฟรายใหญ่ต้องปรับตัวรับมือไปตาม ๆ กัน

กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า ครอบคลุมการส่งออกและนำเข้าสินค้า 7 กลุ่ม ได้แก่ กาแฟ, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, วัว, ไม้, โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ เช่น ถุงมือยาง กระดาษ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ตั้งเงื่อนไขสำคัญ 3 ข้อ คือ เป็นสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า , มาจากกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับการตรวจสอบและประเมินสินค้าตามขั้นตอนที่อียูกำหนดไว้

จับกระแส 7 เมกะเทรนด์ เขย่าตลาดกาแฟปี 2025

อียูตัดสินใจเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย EUDR ออกไปอีก 1 ปี จากกำหนดเดิมในสิ้นปี 2024 ไปเป็นช่วงสิ้นปี 2025  (ภาพ : Charlie Waradee)

เดิมทีนั้น EUDR จะมีผลบังคับใช้ในช่วงสิ้นปี 2024  ทว่าเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน รัฐสภายุโรปลงมติ 'เลื่อน' บังคับใช้ออกไปเป็นช่วงสิ้นปี 2025 ทำเอาบรรดาบริษัทค้ากาแฟระดับบิ๊กเนมของยุโรปดีใจกันยกใหญ่ ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าเกิดมีการล็อบบี้กันในสภายุโรปเพื่อให้เลื่อน EUDR ออกไปก่อน

ยิ่งกว่านั้น ยังมีรายงานข่าวด้วยว่ากลุ่มการเมืองฝ่ายขวากำลังเสนอให้ลดทอนเนื้อหาอันเข้มข้นของกฎหมายฉบับนี้ลงไปบ้าง

4. เมนูกาแฟเย็นยังร้อนแรง

เมื่อก่อนดื่มกาแฟร้อนกันมาก ยุคนี้กาแฟเย็นกลับมีคนดื่มมากกว่า โดยเฉพาะ 'อเมริกาโน่เย็น' (Iced Americano) ที่กลายเป็นเมนูยอดฮิตของเอเชีย รวมถึงบ้านเราด้วย

เว็บไซต์ฟอร์จูน บิสซิเนส อินไซด์ ให้ข้อมูลว่า ตลาดกาแฟเย็นทั่วโลก ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำเรียกทั้ง cold coffee และ iced coffee จะมีมูลค่าตลาดราว 3,160 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 16,220  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2032  อัตราเติบโตเฉลี่ย 22% ต่อปี มีเซ็กเมนท์ 'กาแฟพร้อมดื่ม' (RTD) ขยายตัวสูงที่สุด

จับกระแส 7 เมกะเทรนด์ เขย่าตลาดกาแฟปี 2025

ตลาดกาแฟเย็นที่มีอัตราเติบโตสูง โดยเฉพาะกาแฟพร้อมดื่ม RTD กลายเป็นขุมทองของธุรกิจกาแฟในทุกๆเซกเมนต์  (ภาพ : Charlie Waradee)

มี 2 ปัจจัยบวกหลัก ๆ ที่ทำให้กาแฟเย็นกลายเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี แน่นอนคงไม่พ้นไปจากความหลากหลายของรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เมื่อก่อนกาแฟเย็นมีจำหน่ายเฉพาะตามหน้าร้าน แต่ปัจจุบันมีกาแฟพร้อมดื่มแบบบรรจุขวด, กระป๋อง และบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ เข้ามาเสริม เพิ่มช่องทางการขาย

นอกจากนั้นแล้ว คอกาแฟในกลุ่มประชากรเจนเอ็กซ์ และเจนวาย ให้การตอบรับเมนูเย็นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกาแฟคุณภาพสูงที่จำหน่ายตามหน้าร้านและแบบกาแฟพร้อมดื่ม

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาดื่มกาแฟเย็นกันมากขึ้น ถือเป็น 'ขุมทอง' ของบริษัทในธุรกิจกาแฟในทุก ๆ เซ็กเมนท์ทั้งหน้าเก่า/หน้าใหม่ และรายเล็ก/รายใหญ่ ต่างเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา เป็นกาแฟพร้อมดื่มสูตรต่าง ๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของตลาด เมนูที่ได้รับความนิยมสูง ๆ ก็ได้แก่ โคลด์บรูว์, ลาเต้เย็น และเอสเพรสโซ่เย็น

5. ปีแห่งการดิ้นรนของสตาร์บัคส์

นับจากเปิดดำเนินการครั้งแรกในปี 1971 ไม่เคยมีครั้งไหนที่ 'สตาร์บัคส์' (Starbucks) ตกอยู่ในสถานการณ์ระส่ำระส่ายเช่นนี้มาก่อน ในปี 2024 ถือว่าเป็นปีที่ต้องดิ้นรนอย่างหนักของเชนร้านกาแฟหมายเลขหนึ่งของโลก มีการประกาศเปลี่ยนแม่ทัพคุมบริษัทในเดือนสิงหาคม หลังปลด 'ลักษมัณ นรสีหาญ' ออกจากตำแหน่งซีอีโอ รับผิดชอบยอดขายโดยรวมตกลงโดยเฉพาะตลาดอเมริกาเหนือและจีน ก่อนดึง 'ไบรอัน นิคโคล' มือทองธุรกิจฟาสต์ฟู้ด นำทัพแทนในเดือนกันยายน

จับกระแส 7 เมกะเทรนด์ เขย่าตลาดกาแฟปี 2025

2025 เป็นปีที่สำคัญยิ่งของสตาร์บัคส์ หลังบอสใหม่ประกาศแผนหวนคืนสู่ธุรกิจหลักร้านกาแฟ หวังฟื้นยอดขายที่ลดลงหลายไตรมาสติดต่อกัน  (ภาพ : Jasmin Schuler on Unsplash)

บอสใหม่ใช้เวลา 2 เดือนสแกนขุมข่ายธุรกิจทุกจุด เสร็จสรรพก็ประกาศแผน 'Back to Starbucks'  หวนคืนสู่ธุรกิจหลักร้านกาแฟ ลดรูปแบบร้านฟาสต์ฟู้ดลง หวังกลับมามีสถานะร้านกาแฟที่เป็นพื้นที่แห่งที่ 3 (third place) ดังเดิม พร้อมเดินหน้ากำจัดจุดอ่อน ทั้งราคาสูง, เมนูซับซ้อน และบริการล่าช้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเข้าร้านน้อยลงและยอดขายตกลงหลายไตรมาส

ทว่านี่คือกลยุทธ์เรียกคืนลูกค้าในตลาดอเมริกาเหนือ ยังเหลือศึกหนักอย่างตลาดกาแฟจีน ที่บอสใหม่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอะไรออกมา ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่าสตาร์บัคส์กำลังมองหา 'พาร์ทเนอร์' ทางธุรกิจในตลาดจีน รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการ 'ขายหุ้น' ของบริษัทให้กับพันธมิตรท้องถิ่นด้วย

นี่ยังไม่นับรวมถึงเรื่องชวนปวดหัวให้ต้องเร่งรีบสะสางแก้ไขอย่างกรณีสหภาพแรงงานสตาร์บัคส์ประมาณ 170 สาขาทั่วสหรัฐ นัดหยุดงานประท้วงในวันคริสต์มาสอีฟ ขอปรับขึ้นค่าแรง, เพิ่มจำนวนพนักงาน และลดตารางทำงาน

6. ปานามา เกอิชา แพงสุดโหด

สำหรับตลาดกาแฟพิเศษ (specialty coffee) ต้องยกให้ 'ปานามา เกอิชา' (Panama Geisha) เป็นแชมป์กาแฟที่ทำสถิติราคาต่อกิโลกรัมสูงสุดของโลกประจำปี 2024 หลังประมูลซื้อกันไปในราคากว่า 13,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งกิโลกรัม แค่กิโลเดียวก็ปาเข้าไปเกือบ ๆ ครึ่งล้านบาทแล้ว

จับกระแส 7 เมกะเทรนด์ เขย่าตลาดกาแฟปี 2025

กาแฟปานามา เกอิชา สร้างสถิติแพงสูงสุดของโลกในปี 2024 ด้วยราคาประมูลสุดท้ายที่ 13,518 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม  (ภาพ : instagram.com/lamastusfamilyestates)

เดือนกันยายนปีนี้เอง กาแฟพันธุ์ปานามา เกอิชา แบบฮันนี่โพรเซส ของ 'เอลิด้า เอสเตท' ไร่กาแฟของครอบครัวลามาสตัส สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้านราคาประมูลเอาไว้ ในรายการประมูลแบบไพรเวทที่จัดขึ้นเองโดยครอบครัวลามาสตัสเอง โดยมีร้านกาแฟเกาหลีใต้ 'เดอะ คิปปิ้ง โพสต์' (The Cupping Post) ชนะประมูลไปในราคา 13,518 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม รวมล็อตนี้ทั้งหมด 3 กิโลกรัม เป็นเงิน 40,554 ดอลลาร์สหรัฐ

มีรายงานข่าวว่า ร้านเดอะ คิปปิ้ง โพสต์ นำกาแฟที่ประมูลได้ทั้งหมด ชงขายเป็นกาแฟดริปจำนวน 150 ชุด ใช้กาแฟ 20 กรัมต่อหนึ่งดริป ตั้งราคาไว้ที่ 270  ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9,000 บาท ขาดอีกพันเดียวก็ครบหมื่น

7. เปิดตัวกาแฟ AI ครั้งแรกของโลก

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา 'เทคโนโลยี AI' มีบทบาทในอุตสาหกรรมกาแฟยุคใหม่หลายด้านด้วยกัน ในฐานะเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น บริหารจัดการร้านกาแฟ, ดีไซน์ร้านกาแฟ, ควบคุมคุณภาพของเครื่องดื่ม, ใช้หุ่นยนต์สมองกลทำหน้าที่ชงและเสิร์ฟแทนมนุษย์, แนะนำเมนูที่เหมาะสมให้กับลูกค้า, ออกแบบการแปรรูปกาแฟ, การคัดแยกเมล็ดกาแฟ และอื่นๆ แต่นึกไม่ถึงมาก่อนเลยว่าจะมีใครกล้านำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการเบลนด์กาแฟและเฟ้นหารสชาติกาแฟใหม่ ๆ

จับกระแส 7 เมกะเทรนด์ เขย่าตลาดกาแฟปี 2025

AI เริ่มมีบทบาทในอุตสาหกรรมกาแฟหลายด้านด้วยกัน โรงคั่วกาแฟในฟินแลนด์ นำมาใช้ออกแบบกาแฟเบลนด์ หวังให้ถูกรสนิยมคนดื่ม  (ภาพ  : Charlie Waradee)

เดือนเมษายน 2024 'คัฟฟา โรสเตอรี่'  (Kaffa Roastery) โรงคั่วกาแฟในฟินแลนด์ เปิดตัวกาแฟ AI ชื่อรุ่น 'เอไอ โคนิค' (AI-conic) ใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยพัฒนากาแฟเบลนด์เป็นครั้งแรกของโลก ผ่านทางการใช้โปรแกรมแชตจีพีที กับโคไพลอต เจ้าของโรงคั่วตั้งเป้าต้องการออกแบบกาแฟเบลนด์สไตล์ใหม่ ๆ ที่เหมาะกับรสนิยมของผู้ดื่มกาแฟ ก้าวข้ามรสชาติแบบเดิม ๆ และก็ได้ให้ข้อมูลเมล็ดกาแฟทุกประเภทที่โรงคั่วมีอยู่ พร้อมโปรไฟล์รสชาติ ป้อนเข้าสู่โปรแกรม AI ทั้งหมด

 AI กับการออกแบบกาแฟที่ฟินแลนด์ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยทีเดียว แล้วก็ต่างพร้อมใจกันพาดหัวข่าวว่า เกิดมี AI Coffee หรือ กาแฟเอไอ ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก   

ในปี 2025 คาดว่า เทคโนโลยี AI จะเข้าไปมีบทบาทในธุรกิจกาแฟมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับธุรกิจหลายประเภททั่วโลก

...................................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี