วิธีไหว้ "ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ" อย่างไร ให้งานปัง สะเดาะเคราะห์ เสริมดวง
วิธีการไหว้ "ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ" จะมีอยู่ 5 จุด ที่ต้องสักการะ แล้วจะต้องไหว้อย่างไร จึงจะทำให้งานปัง สะเดาะเคราะห์ เสริมชะตา ต้องติดตามกับ อาจารย์ มนัสกวิญ ชางประยูร
เชื่อกันว่าหากไหว้ "ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ" ถูกต้องตามลำดับครบทุกจุดแล้ว ก็จะช่วย เสริมดวง ให้ผู้ไหว้นั้นมีความเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดปลอดภัย และมีโชคลาภ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ใกล้ๆ กับกระทรวงกลาโหม พระราชพิธียกเสาหลักเมือง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.45 น. เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่อยู่คู่กรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน
ปัจจุบัน ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ มีเสาหลักเมือง 2 เสา นั่นคือ เสาหลักเมืองสมัยรัชกาลที่ 1 และเสาหลักเมืองสมัยรัชกาลที่ 4 และผูกดวงชะตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลายประสบความเจริญรุ่งเรืองถาวรยิ่งขึ้น และศาลหลักเมืองได้รับการปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้งในปี พ.ศ.2523 เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี ทำให้ศาลหลักเมืองได้รับการบูรณะอย่างสวยงาม นอกจากเสาหลักเมืองแล้ว ภายในศาลหลักเมืองยังสร้าง ศาลเทพารักษ์ ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และ เจ้าหอกลอง รวมถึงยังมีอาคารหอพระพุทธรูป เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
การไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
ที่ถูกต้องนั้น จะมีอยู่ 5 จุด โดยเริ่มต้นแนะนำให้ซื้อเครื่องบูชาที่บริเวณด้านในของ ศาลหลักเมือง ซึ่งเครื่องบูชานั้นจะประกอบไปด้วย ดอกบัว, พวงมาลัยดาวเรือง, ธูปเทียน, ทองคำเปลว, ผ้าแพรสามสี และน้ำมันสำหรับเติมตะเกียง 1 ขวด เมื่อได้เครื่องบูชาครบแล้ว หลังจากนั้นก็ไปไหว้ตามจุดทั้ง 5 จุด โดยเรียงตามลำดับ ดังนี้
- จุดที่ 1 หอพระพุทธรูป
- จุดที่ 2 องค์พระหลักเมืองจำลอง
- จุดที่ 3 องค์พระหลักเมืององค์จริง
- จุดที่ 4 หอเทพารักษ์ทั้ง 5
- จุดที่ 5 เติมน้ำมันพระประจำวันเกิด และสะเดาะเคราะห์
แนะนำการไหว้ศาลหลังเมือง ทั้ง 5 จุด โดยละเอียด
จุดที่ 1 : หอพระพุทธรูป
ในหอนี้จะมี พระพุทธรัตนศรีนครบพิตร เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ สักการะจุดนี้ให้ถวายดอกบัว
บทบูชา
(นะโม 3 จบ)
อะหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ อิเมหิ สักกาเรหิ สักกัจจัง อะภิปูชะยามิ
ข้าแต่ พระพุทธรัตนศรีนครบพิตร ข้าพเจ้า..(บอกชื่อ นามสกุล)..ขอบูชาพระองค์ด้วยธูปเทียนและดอกไม้อันประเสริฐเหล่านี้ และขอให้การบูชานี้จงเป็นผลนำมาซึ่งประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าสิ้นกาลนานเทอญ
หลังจากนั้นใส่บาตรพระพุทธรูปประจำวันเกิด เพื่อเสริมมงคลให้ผู้ไหว้ ส่วนใครที่อยากเสริมกำลังดาวเกิดสามารถใส่บาตรเหรียญแก่พระประจำวันเกิดตามกำลังวันได้ดังนี้ วันอาทิตย์กำลัง 6, วันจันทร์กำลัง 15, วันอังคารกำลัง 8, วันพุธกลางวันกำลัง 17, วันพุธกลางคืนกำลัง 12, วันพฤหัสบดีกำลัง 19, วันศุกร์กำลัง 21, วันเสาร์กำลัง 10 สำหรับคนที่ไม่รู้วันเกิดตัวเอง (พระเกตุ) กำลัง 9
จุดที่ 2 : องค์พระหลักเมืองจำลอง
จุดนี้มีเสาหลักเมืองจำลอง 4 เสา วิธีการไหว้ให้กล่าวคำอธิษฐาน ดังนี้
พระคาถาบูชาสักการะองค์พระหลักเมือง
(นะโม 3 จบ)
ศรีโรเม เทพเทวานัง พระหลักเมืองเทวานัง พระภูมิเทวานัง ทีปธูปจะบุปผัง สักการะวันทนัง สูปพยัญชนะ สัมปันนัง สารีนัง อุททะกัง วะรัง เตปิตุม เห อานุรักษ์ขันตุ อาโรขเยนะ สุเขนะจะ
หลังจากอธิษฐานขอพรแล้ววางธูปเทียนบนพาน แล้วนำทองคำเปลวมาปิดสิ่งศักด์สิทธิ์ตามที่ผู้ไหว้เคารพบูชาในศาลา อาทิ พระพิฆเนศ, หลวงพ่อโสธร, พระสยามเทวาธิราช และพระคลังมหาสมบัติ
คาถาบูชาหลวงพ่อโสธร
(นะโม 3 จบ)
กาเยนะ วาจายะ เจตสา วา โสธะรัง นามะ อิทธิ ปะฏิหาริ กะรัง พุทธะรูปัง อะหัง วันทามิสัพพะโสฯ นะ ทรงฟ้า โม ทรงดิน พุทธ ทรงสินธุ์ ธา ทรงสมุทร ยะ ทรงอากาศ พุทธังแคล้วคลาด ธัมมังแคล้วคลาด สังฆังแคล้วคลาด ศัตรูพาลวินาศสันติ นะกาโร กุกกุสันโธ สิโรมัชเฌ โมกาโร โกนาคะมะโน นานาจิตเต พุทธกาโร กัสสะโป พุทโธ จะ ทะเวเนเต ธา กาโร ศรีศากกะยะมุนี โคตะโม ยะกันเน ยะกาโร อะริยะ เมตตรัยโย ชิวหาทีเต ปัญจะพุทธา นะมามิหัง พุทธะบูชา มะหาเตชะวันโต ธัมมะบูชา มะหาปัญโญ สังฆะบูชา มะหาโภคะวะโห อะระหังพุทโธ อิติปิโสภะคะวา นะมามิหัง
คาถาบูชาพระพิฆเนศ
(นะโม 3 จบ)
โองการ พินธุ นาถัง อุปปันนัง พรหมมะ โนจะ อินโธ
พิฆฆะเนศโต มหาเทโว อะหัง วันทามิ สัพพะทา สิทธิ กิจจัง
สิทธิ กัมมัง สิทธิ การิยัง ประสิทธิ เม
โอม ศรีคะเนศา ยะ นะ มะ ชะยะคะเณศะ ชะยะคะเณศะ ชายะคะเณศะ
เทวา มาตา ชากี ปะระ วะตี ปิตามะหา เทวา ละฑุวัน กา โกคะ ละเค สันตะ กะเร เสวา เอก ทันตะ
ทะยาวันดะ จาระ ภุชา ธารี มาเถ สินทูระ เสเห มูเส กี อะสะวารี อันธะนะ โก อางขะ เทตะ
โก กายา พามณะนะ โก กุตรร เทตะ โกทินะ นิระทะนะ มายาฯ
คาถาบูชาพระสยามเทวาธิราช
(นะโม 3 จบ)
สยามะเทวาธิราชา เทวาติเทวา มหิทธิกา เทยยะรัตฐัง อนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะจะ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ สุวัตถิ โหตุ สัพพะทา สยามะเทวานุภาเวนะ สยามะเทวะเตขะสา ทุกขะโรคะภะยาเวรา โสกาสัตตุ จุปัททะวา อะเนกาอันตะรายาปิ วินัสสันตุ อะเสสะโต ชะยะสิทธิธะนัง ลาภัง โสตถิภาคะยัง สุขังพะลัง สิริอายุจะวัณโณจะ โภคัง วุฑฒี จะยะสะวา สะตะวัสสา จะ อายุจะ ชีวะสิทธี ภวันตุเม
คาถาบูชาพระคลังมหาสมบัติ
(นะโม 3 จบ)
มุนินทะ วะทะนัมพุชะ คัพภะ สัมภะวะ สุนทรี ปาณีนัง สะระนังวาณี มัยหัง ปิณะยะตัง มะนัง
นะโม เม พระภูมิ เทวานัง ธูปะทีปะจะปุบผัง สักการะ
วันทะนัง สูปะพยัญชะสัมปันนัง โภชะนา สาลีนัง อุทะกังวะรัง อาคัจฉันตุ ปริภุญชันตุ หิตายะ
สุขายะ นะมามิ สิรสานาโค ปัตถะวิยัง ปริภุญชันตุ เทหิเม สุขสัมปัตติ สัพพะทา สัพพะทุกขา วินาสสันติ
สัพพะภะยา วินาสสันติ สัพพะโรคา วินาสสันติ พุทธะเตเชนะ ธัมมะเตเชนะ สังฆเตเชนะ
อินทเตเชนะ เทวเตเชนะ ทิวาตะปะติ อาทิจโจ รัตติมาภาติ จันทิมา สันนัทโธ ขัตติโยตะปะติ
สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง สิทธิการิยะ ตถาคะโต สิทธิลาโภ นิรันตรัง สัพพะเคราะห์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย
สัพพะเสนียดจัญไร วินาศสันติ
จากนั้นนำผ้า 3 สี ไปผูกที่เสาหลักเมืองจำลอง สามารถทำเพียงหลักใดหลักหนึ่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องผูกทุกเสา
จุดที่ 3 : องค์พระหลักเมืององค์จริง
จุดนี้สามารถนำพวงมาลัยมาถวายได้ 1 พวง และเข้าไปสักการะ ศาลหลักเมือง แล้วทำสมาธิ ให้พรที่ขอนั้นสำเร็จ
พระคาถาบูชาสักการะองค์พระหลักเมือง
(นะโม 3 จบ)
ศรีโรเม เทพเทวานัง พระหลักเมือง เทวานัง พระภูมิ เทวานัง ทีปธูปจะบุปผัง สักการะนัง เตปิตุมเห อานุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะจะฯ
ข้าพเจ้า..(ชื่อ นามสกุล)..ขอถวายเครื่องสักการะและสิ่งต่างๆ แด่องค์พระหลักเมือง ขององค์พระหลักเมืองจงรับเครื่องสักการะและสิ่งต่างๆ ของข้าพเจ้า ขอบารมีองค์พระหลักเมืองและเทพเทพารักษ์ที่สถิตย์อยู่ ณ ที่นี้ จงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าทำการสิ่งใดได้สำเร็จ สมปณิธานที่ปรารถนาทุกประการ ขอให้ข้าพเจ้าและครอบครัว บริวาร ตลอดจนญาติสนิท มิตรสหาย จงแคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งปวง ปราศจากโรคาพยาธิ และจงมีแต่ความสุขความเจริญ ตลอดกาลนานเทอญ
จุดที่ 4 : หอเทพารักษ์ทั้ง 5
จุดนี้สามารถนำพวงมาลัย 5 พวงถวายแด่เทพารักษ์ทั้ง 5 โดยเทพารักษ์ทั้ง 5 มีหน้าที่ดังนี้
พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์คุ้มครองป้องกันภัยทั้งทางบกและทางน้ำ คุมไพร่พลรักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากศัตรู
พระทรงเมือง เป็นเทพารักษ์มีหน้าที่ปกป้องดูแลทุกข์สุขของราษฎรทั้งแผ่นดิน และดูแลความผาสุกของบ้านเมือง มี "ปู่เจ้าเขาเขียว" และ "ปู่เจ้าสมิงพราย" เป็นบริวาร
พระกาฬไชยศรี เป็นเทพารักษ์ที่เป็นบริวาร "พระยม" มีหน้าที่ป้องมิให้ผู้ใดทำความชั่ว สอดส่องดูแลบุคคลอันธพาลในยามวิกาล
เจ้าพ่อหอกลอง เป็นเทพารักษ์ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดิน
เจ้าเจตคุปต์ เป็นเทพารักษ์ที่เป็นบริวารแห่งพระยม มีหน้าที่จดความชั่วร้ายของมนุษย์เพื่อรายงานพระยมเมื่อตายไป
คาถาบูชา พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง
(นะโม 3 จบ)
ศรีโรเม เทพเทวานัง พระหลักเมือง เทวานัง พระภูมิ เทวานัง ทีปธูปจะบุปผัง
สักการะนัง เตปิตุมเห อานุรักขันตุอาโรคะเยนะสุ เขนะจะฯ
คาถาบูชาพระกาฬไชยศรี
(นะโม 3 จบ)
โอม ทักขิณะทิสะ ยะมะเทวะตา สะหะคะณะปริวารา
อาคุจฉันตุ ปริภุญชันตุ สะวาสะหายะฯ
โอมสัพพะอุปาทะวะ สัพพะทุกขะ สัพพะโศกะ สัพพะโรคะ วินาสายะ สัพพะศัตรู ปะมุจจะติฯ
โอม ยะมะเทวตา สะตะรักขันตุ สะวาหะสะวาหา สะวาสะหายะฯ
คาถาบูชาเจ้าพ่อหอกลอง
(นะโม 3 จบ)
พุทธังวันทนานัง พรหมนังอะหังวันทามิ ธัมมังวันทนานัง อินทรทริยังอะหังวันทามิ
สังฆังวันทนานัง เจ้าพ่อหอกลอง อะหัง วันทามิ สาธุกัง มุนิวะระจะนังนะมัสสะ
สักการิยะเทวะโสถี ภวันตุเม
คาถาบูชาเจ้าพ่อเจตคุปต์
(นะโม 3 จบ)
โอม พะยามะราชะ อุปาทะวะตายะ มะหิสสะ พาหะนายะ ทักขิณะทิสะ ฐิตายะ อาคัจฉัญภุญชะตุ ขิปปะยะตุ วิปปะยะตุ สะวาหะ สะวาหะยะ สัพพะ อุปาทะวะ วินาสายะ สัพพะ อันตะรายะ วินาสายะ สุขขะวัฑฒะโก โหตุ อายุ วัณณะ สุขะ พะลัง อัมหากัง รักขันตุ สะวาหะ สะวาหายะ
จุดที่ 5 : เติมน้ำมันพระประจำวันเกิด และสะเดาะเคราะห์
ตรงนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายใน ศาลหลักเมือง คือ ให้เติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิดครึ่งขวด เพื่อความสว่างไสวในชีวิต มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนที่เหลือให้นำไปเติมที่ตะเกียงสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีทุกข์โศกโรคภัยออกไปจากชีวิต
การแต่งกายในการเข้าชมศาลหลักเมือง
- ผู้ชาย : ควรสวมเสื้อสีสุภาพ กางเกงขายาว หลีกเลี่ยง เสื้อกล้าม เสื้อแขนกุด
- ผู้หญิง : ควรแต่งกายมิดชิด สวมเสื้อมีแขน กระโปรงหรือกางเกงคลุมเข่า หลีกเลี่ยง เสื้อกล้าม เสื้อแขนกุด กางเกงสั้น กระโปรงสั้น และชุดรัดรูป
ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ พิกัด เปิดให้เข้าชม : 06.30-18.00 น. (เปิดให้เข้าชมตลอดคืนในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ และเทศกาลตรุษจีน)