'โหรฟองสนาน' เผยดวงการเมือง - รัฐบาล - ฝ่ายค้านประหลาด ชวนอึ้ง

'โหรฟองสนาน' เผยดวงการเมือง - รัฐบาล - ฝ่ายค้านประหลาด ชวนอึ้ง

"โหรฟองสนาน" เผยคำทำนายการเมืองหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 อาการเมืองที่มีแนวโน้มการเลือกตั้ง - รัฐบาลผสม - ฝ่ายค้านร่วมแบบแปลกประหลาด - สุดขั้ว - ชวนอึ้ง

"โหรฟองสนาน" เปิดเผยคำทำนายผ่านบทความ แม่หมอสมัครเล่นตอนที่ 481 โดยฟองสนาน จามรจันทร์ การเมือง-รัฐบาล-ฝ่ายค้านประหลาด-ชวนอึ้ง

ผู้เขียนเป็นคนคิดช้า-หัวช้า ดูเกณฑ์โหรก็มักจะมีอะไรตกๆหล่นๆ อย่างตอนที่แล้วที่ทำนายการเมืองหลังเลือกตั้ง ก็ไม่ครบเพราะตกเกณฑ์สำคัญไปอย่างไม่น่าจะเป็น คือ อาการเมืองที่มีแนวโน้มการเลือกตั้ง-รัฐบาลผสม-ฝ่ายค้านร่วมแบบแปลกประหลาด-สุดขั้ว-ชวนอึ้ง

ก่อนอื่นขอย้อนกลับไปที่คำทำนายถึงการเมืองหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ทำนายไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้วคือหลังเลือกตั้งการเมืองคงวุ่นวายขายกระจาด-ขัดแย้ง-ประลองกำลัง-ประลองยุทธ์กันไปเรื่อยๆ ต้องอาศัยประชาชนที่มีสติ (หรือพระจันทร์ 2 ที่กำลังศรีจร) ช่วยปะทะปะทังไปก่อนจนกว่าการเมืองจะเริ่มคลี่คลายช้อทแรก คือ 18 ตุลาคม 66 คลี่คลายช้อทที่สองเริ่มวันเกิดเมืองที่ 21 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

และยังยืนยันเหมือนเดิมไม่ว่าการเมืองจะวุ่นวายแค่ไหน แต่ใครเป็นรัฐบาลก็จะโชคดีไม่แบกภาระหนักเหมือนช่วงโควิด-19 โดยกลุ่มรัฐบาลเก่ากลับไปสู้หรือรวมกันแล้วมีโอกาสได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่อาจจะได้มิตรใหม่เพิ่มขึ้นขณะที่ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายค้านก็จะดีกว่าที่ผ่านมาที่ก่อนหน้านี้

\'โหรฟองสนาน\' เผยดวงการเมือง - รัฐบาล - ฝ่ายค้านประหลาด ชวนอึ้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

ส่วนการตั้งรัฐบาลในที่สุดก็ได้นายกรัฐมนตรีนั้นคาดจะเป็นประมาณ 15 มิถุนายน - 15 กรกฎาคม 2566

ทีนี้มาว่าเรื่องที่อยากเพิ่มเติม คือ เรื่องแปลกประหลาดที่จะเกิดในการเมืองที่ผู้เขียนโพสต์เฟสบุ๊ค ไว้ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2566 ด้วยเพิ่งนึกเกณฑ์โหรออกหลังจากส่งต้นฉบับไทยโพสต์แล้วคือ.. เราคงจะได้เห็นรัฐบาลผสมแปลกๆ ชวนอัศจรรย์ใจและความแปลกนี้คงมีไปถึงฝ่ายค้านร่วมด้วย

โดยขออธิบายปรากฎการณ์ทางโหรเพื่อเป็นฐานให้พิจารณาคือ

1.มฤตยูจร(0) หนึ่งในดาวบาปเคราะห์ เป็นเจ้าของภัยอาเพศ-หรือเกิดขึ้นเองแบบไม่นึกฝันและอาการแปลกประหลาดสุดขั้วหรือเหตุร้ายรุนแรงที่สะสมพลังของการปฎิวัติหรือเปลี่ยนแปลงใหญ่แล้วกวาดล้างสิ่งเก่าสถาปนาสิ่งใหม่หรือการพลัดพรากผลัดเปลี่ยนหรือการปฏิวัติที่ไม่คาดฝัน และกิจการมหาชนฯลฯ กำลังเดินอยู่ในราศีพฤษภ และจะเดินอยู่ที่นี่ไปถึง 18 กฎาคม 2572

2.ที่ราศีพฤษภนี้เป็นภพที่สอง-กดุมภะ-การทำมาหาได้ และเศรษฐกิจของเมือง ที่มีพระศุกร์(๖) เป็นเจ้าของบ้านเดิมครองอาณาจักรอยู่ (เกษตราธิบดี)

3.พระศุกร์(๖) นี้ยังถือเป็นเจ้าของบ้านเดิม (เกษตราธิบดี) ที่ราศีตุลย์อีกหนึ่งราศีด้วย ซึ่งที่ราศีตุลย์นี้เป็นดินแดนของภพที่เจ็ด-ปัตนิ ซึ่งหนึ่งในความหมาย คือ ผู้มีส่วนได้เสียของเมืองรัตนโกสินทร์ หากเป็นรัฐบาลก็พรรคร่วมรัฐบาลของเมือง หากเป็นฝ่ายค้านคือพรรคร่วมฝ่ายค้านของเมือง

4.เมื่อขณะนี้มฤตยูจรกำลังเดินอยู่ในราศีพฤษภ จึงส่งกระแสแฝงความแปลกประหลาดสุดขั้วมาที่ราศีตุลย์ประมาณร้อยละสามสิบห้า จึงอย่างไรก็คาดว่าจะส่งผลให้เมืองได้พรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคร่วมฝ่ายค้านแปลกประหลาดชวนอึ้ง
 

ส่วนปูมโหรในอดีตเหตุการณ์เหมือน-คล้ายของกระแสทั้งแฝง (มฤตยูจรเดินในราศีพฤษภ-ส่งกระแสถึงราศีตุลย์) และกระแสตรง (มฤตยูจรเดินในราศีตุลย์ที่มีผลต่อรัฐบาล และฝ่ายค้านซึ่งต่างเป็นหุ้นส่วนชีวิตของเมืองด้วยกันทั้งนั้นแบบแปลกประหลาดที่เคยเกิดในเมือง คือ

ก.มฤตยูจร ที่ราศีพฤษภส่งกระแสแฝงถึงตุลย์ คือการเลือกตั้งครั้งที่4ของประเทศเมื่อ 6 มกราคม 2489 ขณะมฤตยูจร(0) เดินอยู่ในราศีพฤษภ เป็นการเลือกตั้งหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาด้วย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชนายกรัฐมนตรีไดยุบสภาที่อยู่มายาวนาน คล้ายๆพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่เป็นนายกฯอยู่มายาวนานกว่าแปดปีก็ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

ความแปลกในการเลือกตั้งขณะนั้นคือเกิดการแข่งขันกันเองระหว่างหุ้นส่วนของเมืองกลุ่มเดียวกันคือ ระหว่างพันตรีควง อภัยวงศ์ กับนายวิลาส โอสถานนท์ ซึ่งเป็นเสรีไทยสายพลเรือนด้วยกัน จนมีสโลแกนหาเสียงคือ.. เหล็กวิลาสหรือจะสู้ตะปูควง.. ผลคือพันตรีควงชนะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่เป็นได้ไม่นาน

ข.มฤตยูที่ตุลย์ส่งกระแสตรงคือการเลือกตั้งครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 พรรคกิจสังคมซึ่งได้ส.ส.18 ที่นั่ง ตั้งรัฐบาลได้ หัวหน้าพรรคม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชๆได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส.มากที่สุด 72 ที่นั่งกลับเป็นฝ่ายค้าน

ค.มฤตยูที่ตุลย์ส่งกระแสตรงการเลือกตั้งครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2519 พรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส.ทั้งหมด 114 ที่นั่งยึดกรุงเทพฯขณะที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชหัวหน้าพรรคกิจสังคม อดีตนายกรัฐมนตรีแพ้การเลือกตั้งให้กับคุณสมัคร สุนทรเวช ดาวรุ่งพรรคประชาธิปัตย์ในเขตดุสิต

ง.มฤตยูที่ตุลย์ส่งกระแสตรงการเลือกครั้งที่ 14 เมื่อ 22 เมษายน 2522 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พรรคประชากรไทยของคุณสมัคร สุนทรเวช ได้ส.ส.ในกรุงเทพฯ 29 ที่นั่งจาก 32 ที่นั่งในกรุงเทพฯ

ปรากฎการณ์ความสำเร็จของคุณสมัคร สุนทรเวชครั้งนั้นสร้างความตกตะลึงทั้งวงการเมือง ผู้เขียนจำได้เลาๆว่าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษขณะนั้นไม่บางกอกโพสต์ ก็เดอะเนชั่น พาดหัวข่าวว่า …Believe it or not, its SAMAK.

พรรคประชากรไทยเหลือที่นั่งส.ส.ในกรุงเทพฯให้พรรคอื่นเพียงสามท่านคือพันเอกถนัด คอมันต์ พรรคประชาธิปัตย์-ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ จากพรรคกิจสังคมเท่านั้น แล้วพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง

ดังนั้น เมื่อผลการเลือกตั้ง คราวนี้ออกมาแปลกประหลาดช้อคบรรดาฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งหลายคือก้าวไกลกับเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส.เป็นอันดันหนึ่ง-สองแล้ว

คาดว่ามฤตยูจรแม้จะเพียงกระแสแฝงเราคงจะเห็นการได้รัฐบาล และฝ่ายค้านแปลกๆแบบที่เคยเกิดมาแล้วจากการเลือกตั้งในอดีตสี่ครั้ง ดังที่เริ่มแล้วที่หลังเลือกตั้งพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มประชาธิปไตยต่างเชิดฉิ่ง-รำมวยใส่กันเต็มที่ ขณะที่หาความลงตัวเพื่อเป็นรัฐบาล ที่ยังไม่รู้ว่าจะออกหน้าไหน จะมีใครเป็นตาอยู่หรือไม่

ปรากฎการณ์แปลกๆ ในวงการเมืองนี้จะกินเวลายาวนานไปอีกถึงประมาณกลางกรกฎาคม 2572

ฟองสนาน จามรจันทร์
26 พฤษภาคม 2566