“พื้นที่สีเขียว” ศัพท์ที่เริ่มสับสนในหมู่คนอนุรักษ์

“พื้นที่สีเขียว” ศัพท์ที่เริ่มสับสนในหมู่คนอนุรักษ์

มาทำความเข้าใจ"พื้นที่สีเขียว"ให้ชัด แม้จะเขียวมีต้นไม้เหมือนกัน แต่จำแนกต่างกัน...เขียวในเมืองไม่ใช่เขียวจากความเป็นป่าธรรมชาติจริงๆ ซึ่งคำๆ นี้ถูกนำมาใช้อย่างคลุมเครือ

ศัพท์คำว่า “พื้นที่สีเขียว” ที่ใช้กันอยู่เริ่มขยายความหมายออกไป จากคำพื้นๆ ที่ใครๆ ฟังแล้วน่าจะเข้าใจในทันที กลายเป็นว่าต้องมาถามซ้ำว่าที่พูดน่ะเขียวตรงไหนแค่ไหน ต้องไปดูบริบทความหมายให้ชัดขึ้นอีก เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นคนละพื้นที่สีเขียวไปซะ

พื้นที่สีเขียว เป็นศัพท์เทคนิคมาจาก green space ใช้ในวงการผังเมืองพัฒนาเมือง หมายถึงพื้นที่มีดินมีพืชผัก ต้นไม้ ธรรมชาติ รวมไปถึงดิน หิน ทราย ธารน้ำ อันแตกต่างจากคอนกรีตอาคาร ให้ชัดเจนขึ้นพื้นที่เขียวที่ว่าก็คือเขียวในเขตเมือง หรือ urban green space

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา EPA นิยามคำว่า Green Space ไว้ว่า land that is partly or completely covered with grass, trees, shrubs, or other vegetation includes parks, community gardens, and cemeteries. ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เปิดสาธารณะหรือ Open Space สำหรับคนเมือง

พื้นที่สีเขียว แต่แรกเป็นศัพท์ที่ใช้สำหรับบริบทเมือง คำนี้ถูกใช้ในวิชาการผังเมือง การออกแบบเมือง ในทางการอนุรักษ์มักจะมีคำพูดว่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ก็หมายถึงการปลูกต้นไม้ทำให้เมืองมีสีเขียวของธรรมชาติมากขึ้น

“พื้นที่สีเขียว” ศัพท์ที่เริ่มสับสนในหมู่คนอนุรักษ์

พื้นที่สีเขียวกับพื้นที่ป่า

พื้นที่สีเขียว Green Space จึงเป็นคนละความหมายแยกส่วนกับพื้นที่ป่า Forest Area ทั้งๆ ที่เป็นสีเขียวมีต้นไม้เหมือนกัน แต่ก็จำแนกให้ต่างกันตรงที่เขียวในเมือง มันไม่ใช่เขียวจากความเป็นป่าธรรมชาติจริงๆ

อังกฤษเขาจำแนกให้พื้นที่ชุ่มน้ำ Wetlands และป่าชุมชนหรือ Community woodlands เป็นพื้นที่สีเขียวด้วย เพราะไม่ใช่ป่าในความหมายของเขา

พื้นที่สีเขียว กับ พื้นที่ป่า แม้จะเขียวเหมือนกัน แต่ก็ชัดเจนว่าคนละพื้นที่ เพราะมีหน้าที่และคุณลักษณ์แตกต่างกันอย่างชัดเจน

สำหรับประเทศไทย หน่วยราชการได้ขยายความศัพท์คำว่าพื้นที่สีเขียวใช้ในความหมายกว้างขวางขึ้น ระยะหลังจึงเกิดความคลุมเครือในเส้นแบ่งระหว่างเขียวสองเขียวที่ว่า..บางบริบทราชการใช้คำว่าพื้นที่สีเขียวที่หมายรวมไปถึงพื้นที่ป่าไม้ของประเทศทั้งหมดด้วย

ขอยกตัวอย่าง –

ข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกระทรวงเอง 21พ.ค.2563 / พลเอก ประวิตร นำร่องรวมใจไทย ปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ รับฟังประชุมถอดบทเรียน AAR เน้น 7 ข้อ แก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่ยั่งยืน

กิจกรรมดังกล่าวรองนายกฯ ประวิตรเดินไปเป็นประธานปลูกต้นไม้ที่เชิงดอยสุเทพ โดยใช้ชื่องานว่าปลูกป่า เอกสารข่าวเผยแพร่ใช้คำว่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ

ก็จริงของท่านล่ะครับ ป่าก็คือพื้นที่สีเขียวของประเทศ แต่ทันทีที่ใช้ศัพท์คำนี้แทนพื้นที่ป่าแล้ว มันได้เหมาคลุมกิจกรรมการปลูกเพื่อฟื้นฟูป่าจริงๆ

กิจกรรมปลูกป่าในเมือง กิจกรรมปลูกต้นไม้ทั่วไป และกิจกรรมสร้างพื้นที่สวนเพื่อหย่อนใจในเมือง ฯลฯ ซึ่งมันเป็นคนละเรื่อง มาขยำเป็นเรื่องเดียวกัน

การขยายความหมายของพื้นที่สีเขียว ก็คล้ายๆ กับคำว่ากิจกรรมปลูกป่านั่นล่ะครับ ราชการเองไถดินโล่งเตรียมพื้นที่ปลูกต้นไม้เป็นแถวๆ เรียงหน้ากระดานเป็นตอนๆ ไว้ให้ผู้หลักผู้ใหญ่มาปลูก แล้วป่าวประกาศว่านี่คือกิจกรรมปลูกป่า ปลูกแบบนี้มันไม่ใช่ป่าจริงนะ แถวๆ แบบนี้มันก็แค่เป็นสวนป่า forest park หรือแค่ garden ในเมืองเท่านั้น

“พื้นที่สีเขียว” ศัพท์ที่เริ่มสับสนในหมู่คนอนุรักษ์

นิยามคำว่า พื้นที่สีเขียว

เว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลการบริหารกิจกรรมปลูกป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเจ้าเดิม https://green-mnre.forest.go.th/ เป็นอีกตัวอย่างที่ใช้ศัพท์คำว่าพื้นที่สีเขียวกับกิจกรรมปลูกต้นไม้ในป่า ไม่ว่าจะเป็นป่าชนิดไหนท่านใช้เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปทั้งหมด

ที่ยกตัวอย่างมานี่ก็เพื่อจะบอกว่า การขยายความหมายศัพท์คำว่า “พื้นที่สีเขียว” ให้คลุมไปถึงพื้นที่ป่าและอะไรต่อมิอะไรที่เป็นธรรมชาติทั้งหมดนั้น เมื่อทำไปเรื่อยๆ ที่สุดก็จะเปลี่ยนนิยามความหมายของ “พื้นที่สีเขียว” ไปโดยปริยาย

ซึ่งเวลาลงมือปฏิบัติจริงศัพท์ที่เหมาคลุมแบบกว้างๆ ศัพท์นี้ มันก็สร้างความสับสนให้ผู้คนอยู่ทีเดียวนะครับ

เช่นมีผู้เสนออยากจะแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันภาคเหนือ ด้วยการเสนอโครงการรณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อสู้ฝุ่น ! ฟังดูมันดีมากเลย เพราะการปลูกต้นไม้ยังไงก็ดีกว่าไม่ปลูก

แต่เอ๊ะ จะรณรงค์ที่ไหน ให้ใครกลุ่มใด ตรงไหน อย่างไร ล่ะครับ ? จะใช้คำว่าปลูกป่าแบบราชการนิยมด้วยหรือเปล่า ?

คำง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยากซับซ้อนโดยไม่จำเป็น !

นั่นเพราะว่าหากเป็นการปลูกต้นไม้ในเขตเมืองเพิ่มสีเขียว เพื่อป้องกันลดและบรรเทาฝุ่นควันพอเข้าใจได้อยู่

แต่เมื่อใช้คำนี้รณรงค์ทั่วไปให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในภาคเหนือเพื่อแก้ปัญหามลพิษ ฝุ่น...ทำนองว่าภาคเหนือยังขาดสีเขียว ช่วยกันเพิ่มสีเขียวเพื่อแก้ปัญหากัน ! ที่สุดมันจะไม่ได้แก้ปัญหานะครับ

ยกตัวอย่าง แม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ป่าไม้ 86% มากสุดในประเทศจะให้ไปเพิ่มสีเขียวตรงไหนอีกล่ะ ที่เขียวๆ แต่เดิมมันคือต้นเหตุปัญหาด้วยซ้ำไป เพราะป่าทางเหนือเป็นป่าผลัดใบ เมื่อถึงหน้าแล้งจะทิ้งใบเป็นเชื้อเพลิงไฟไหม้

ยิ่งเพิ่มพื้นที่ป่าไม่ยิ่งเพิ่มพื้นที่ปัญหาให้จัดการด้วยซ้ำไป ลำปาง เชียงใหม่ ตาก ที่มีป่าเยอะๆ ก็เช่นกัน การรณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตรอบนอกต่างอำเภอเป็นอะไรที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาใดๆ เลย

ที่สุดแล้วคำว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวต้องกลับมาใช้ในบริบทดั้งเดิมคือ urban green spaces ในเมืองเท่านั้น จึงจะชัดเจน ตรงเป้า

ส่วนการไปเพิ่มสีเขียวป่า ถ้าหลีกเลี่ยงได้อย่าใช้คำนี้เลยครับ ... ใช้คำว่าเพิ่มพื้นที่ป่า หรือกิจกรรมปลูกซ่อมป่า แยกกันให้ชัดเจนจะชัดเจนกว่า ศัพท์ราชการไม่ควรกำกวมสร้างความสับสนให้ผู้คน