รอบรู้เรื่อง‘ผ้าไหม’กับเสรี กันทาใจ ทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์

รอบรู้เรื่อง‘ผ้าไหม’กับเสรี กันทาใจ  ทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์

เปิดใจ เสรี กันทาใจ เจ้าของกลุ่มรักไหมสุรินทร์ บนเส้นทาง"ทูตวัฒนธรรม"ผู้ส่งเสริมการแต่งกายด้วย"ผ้าไหมสุรินทร์"ที่เริ่มต้นด้วยการถูกหลอก จนกลายมาเป็นผู้รอบรู้และหลงรักผ้าไหมสุรินทร์ในท้ายที่สุด

เป็นคนเชียงรายโดยกำเนิดแต่เกิดไปหลงรักผ้าไหมสุรินทร์ได้อย่างไร...

เสรี กันทาใจ ผู้ก่อตั้ง WTH Academy วิทยากรพัฒนาธุรกิจและที่ปรึกษาการปรับปรุงคุณภาพการบริการ บอกกับเราว่า ผ้าทอเชียงรายเป็นงานหัตถกรรมที่มีเสน่ห์ ส่วนมากจะเป็นผ้านุ่งสำหรับผู้หญิงมากกว่า ในขณะที่ผ้าไหมสุรินทร์เป็นผ้านุ่งที่ผู้ชายนุ่งได้ทั้งแบบลำลอง เช่น โสร่ง รวมไปถึงนุ่งเป็นโจงกระเบนออกงานเป็นทางการได้

ส่วนที่มาของความสนใจในเรื่องผ้าไหมสุรินทร์นั้น มีที่มาจากการเป็นจิตอาสาในการทำค่ายภาษาอังกฤษในนามของสมาคมนักเรียนเก่าเอเฟเอสประเทศไทย ให้กับ สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว

“กลุ่มที่มาเรียนเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น หมู่บ้านช้างที่ท่าตูม วัดป่าอาเจียง (อาเจียง ภาษากุยหมายถึงช้าง) มีทั้งพ่อค้า แม่ค้า นักธุรกิจ ราว 50 คน

รอบรู้เรื่อง‘ผ้าไหม’กับเสรี กันทาใจ  ทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์ (เสรี กันทาใจ ทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์)

รอบรู้เรื่อง‘ผ้าไหม’กับเสรี กันทาใจ  ทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์ (ผ้าลายสายฝน เกิดจากการเก็บเอาหลอดหมี่ที่เป็นเศษเหลือจาการทอจากลายต่าง ๆ ที่ทอจบผืนแล้วแต่ยังเหลือหลอดหมี่อยู่บ้างเพราะใช้ไม่หมด จึงเก็บสะสมไว้ปน ๆ กันโดยไม่ต้องเรียงหลอดตามลายหมี่ เมื่อมีจำนวนมากพอแล้วก็มาทอต่อ ๆ กันให้เต็มผืนจนเห็นเป็นขีดสีต่าง ๆ ปะปนกันตามทางเส้นพุ่ง อุปมาดั่งสายฝนที่พร่างพรมลงมา)

การสอนวันแรกเป็นการสร้างความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษให้เขา โดยไม่ต้องไปสนใจแกรมม่า เขียนได้หรือไม่ได้ ไม่เป็นไร ให้กล้าคุย รู้เท่าที่รู้นั้น แต่จะดีกว่า ถ้ารู้คำศัพท์ ยิ่งเยอะยิ่งดี วันรุ่งขึ้นวิทยากรจะแปลงร่างเป็นนักท่องเที่ยว ให้ผู้เข้าอบรมนำเที่ยวด้วยภาษาอังกฤษที่ช่วยกันระดมหาคำศัพท์กันในวันแรก”

เส้นไหมก็เหมือนเส้นผม

เสรี เล่าว่าระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปกับนักเรียนที่ต่างช่วยกันเล่าถึงประวัติศาสตร์ของสุรินทร์จนมาถึงเรื่องของ ‘ผ้าไหม’ มีบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึก “กระตุกขึ้นมาในความคิด” โดยอธิบายว่า

“ตั้งแต่มาถึงสุรินทร์ เราเห็นคนใส่ผ้าไหมกันเยอะมาก แม้แต่คุณย่าคุณยายในชนบทก็นุ่งผ้าไหม เลยถามนักเรียนว่าใส่ผ้าไหมกันอย่างนี้ดูแลรักษากันอย่างไร เขาบอกว่าง่ายมากเลยอาจารย์ แค่ซักน้ำก็ใช้ได้แล้ว เขาบอกว่าเส้นไหมก็เหมือนเส้นผมเรา มันไม่อมสิ่งสกปรก 

รอบรู้เรื่อง‘ผ้าไหม’กับเสรี กันทาใจ  ทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์ ผ้าสมปักปูมจากสุรินทร์ ทอยกดอกพิกุล ท้องผ้ากลางสังเวียนเป็นลายชื่อเขมรว่าปันลีญบ็อด(ไพล/เหง้าไพลที่ไข้วกันไปมา) มีลายสวัสดิกะอันเป็นเครื่องหมายแห่งพลังวัตรแทรกอยู่ด้วย

ไม่เหมือนผ้าฝ้ายหรือผ้าอื่นๆ ถ้าอาจารย์ไม่มั่นใจ ก็หยดแชมพูไปซักหยด 2 หยด ยกเว้นว่าถ้าอาจารย์ไปเย็บแบบปูผ้ากาว ก็ต้องซักแห้ง เพราะซักมือ เดี๋ยวผ้ากาว มันจะเสีย หรือผ้าไหมมันจะแยกจากตัวผ้ากาว ตรงนี้คือจุดที่กระตุกความคิดเรา มันง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ” ช่างแตกต่างจากการรับรู้ที่เชื่อมั่นมาตลอด

“ผู้ใหญ่บอกต้องซักน้ำมะพร้าว ซักเสร็จแล้ว ผึ่งให้หมาดนำเข้าช่องฟรีซก่อน ค่อยนำมารีดด้วยไฟอ่อนที่สุด ใช้ไฟแรงไม่ได้เดี๋ยวไหมกรอบ เล่าให้นักเรียนฟัง เขาบอกว่าซักน้ำเปล่า ผึ่งให้หมาด อย่าให้โดนแดด รีดไฟแรงได้เลย ผ้าไหมจะนิ่มมาก เราก็แปลกใจว่าทำอย่างนั้นได้ด้วยเหรอ เขาก็บอกว่าไม่เชื่ออาจารย์ลองไปทำดู”

เรื่องผ้าไหม ยิ่งค้นคว้ายิ่งสนุก

ความรู้ใหม่ประกอบกับการได้ไปเยี่ยมชม หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองจันทร์โสมา กลุ่มที่มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ โดยมี อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นแกนนำ

“ทุกอย่างที่เราไปสัมผัสวันนั้น มันตรึงตราตรึงใจมาก ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตจริงๆ ของคนชนบท เด็กๆ พอเริ่มรู้ความ ก็ต้องรู้จักเก็บใบหม่อนมาเลี้ยงไหม พอโตหน่อย แม่กับยายก็จะสอนให้สาวไหม สอนวิธีมัดหมี่อย่างเคี่ยวกรำ เพราะมีคติความเชื่อว่าถ้าผู้หญิงโตมาทอผ้าไหมไม่เป็น ก็จะออกเรือนไม่ได้

รอบรู้เรื่อง‘ผ้าไหม’กับเสรี กันทาใจ  ทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์

 

รอบรู้เรื่อง‘ผ้าไหม’กับเสรี กันทาใจ  ทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์ (ผ้าลายคดกริช เป็นลายผ้านุ่งของผู้ชาย พอใส่เครื่อง(คั่นลาย)แทรกลงไปแล้วจะได้ผ้านุ่งที่เป็นของผู้หญิงเรียก โฮลเสร็ยผ้าลายนี้มีความยุ่งยากอยู่ที่จะต้องมีการดึงเส้นพุ่งให้ลายเรียงเฉียงไปเฉียงมาซิกเซ็กเหมือนการคดของกริช)

แม้ว่าปัจจุบันจะเปลี่ยนไปเยอะ แต่วิถีนี้ยังเกิดขึ้นอยู่ในชนบทของสุรินทร์ บางคนบอกว่าเป็นช่วงวัยเด็กที่ลำเค็ญ เพราะไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน แต่โตมา เขาก็ต้องขอบคุณช่วงเวลานั้นที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่เคี่ยวเข็ญ ทำให้เขามีอาชีพ เพราะทุกวันนี้คนที่ทอผ้าได้ทำผ้าเป็นไม่อดตาย”

ยิ่งค้นคว้ายิ่งสนุก แถมยังได้เรียนภาษาเขมรจากชื่อของผ้าไหมของคนสุรินทร์ที่เป็นคนไทยเชื้อสายเขมร ยิ่งทำให้อินไปกับความรู้ใหม่ๆ เช่น ผ้าโฮล หมายถึง ผ้ามัดหมี่ , ผ้าโฮลเปราะฮ์ เป็นผ้ามัดหมี่สำหรับผู้ชายใช้เป็นผ้านุ่งโจงกระเบนสมัยโบราณเรียกว่า ผ้าปูมเขมร รวมไปถึงชื่อเรียกลาย ผ้าปกากะตึม หมายถึงดอกทับทิม ปกากต๊อบ คือ ดอกมะเขือ ส่วน ระเบิ๊ด หมายถึง ส่องแสง เป็นต้น

“ยิ่งลงลึกขอบเขตความรู้ในมุมกว้างที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องประวัติศาสตร์ จากที่เคยเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ในคณะโบราณคดี เริ่มสนใจประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ส่วนตัวผูกพันกับปราสาทหินทางอีสาน พอเริ่มสนใจเรื่องผ้า เวลาไปปราสาทพนมรุ้งก็จะเริ่มเห็นสไตล์ของการนุ่งผ้าบนภาพจำหลักหินและเปรียบเทียบกับผ้านุ่งของชาวบ้านมันก็เลยยิ่งอินเข้าไปใหญ่

รอบรู้เรื่อง‘ผ้าไหม’กับเสรี กันทาใจ  ทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์ (ผ้าอันลูญสมอ หรือ “สะมอ” ในสำเนียงเขมรสูงในแถบอีสานใต้เป็นผ้าที่มีโครงสร้างเป็นตารางสี่เหลี่ยมจตุรัสเล็ก ๆ ที่เกิดจากการระนวงเส้นยืนและพุ่งเส้นสีเหลืองตัดกันบนพื้นสีเขียวเข้มเกือบดำทั่งผืนผ้า ถ้าพื้นสีดำสนิทเลยจะเรียกว่าสะมอคะเมา หรือสมอดำ ถ้าพื้นผ้าเป็นสีเขียวสดก็จะเรียกว่าตรุยสะแน๊ค หรือผ้ายอดถั่ว)

ตอนหลังเวลาที่สมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอสฯ จัดทริปท่องเที่ยว เราเลยกลายเป็นมัคคุเทศก์ไปโดยปริยาย เพราะชอบชวนคุยเรื่องประวัติศาสตร์ ความเชื่อ วิถีชีวิต รวมไปถึงเส้นทางของผ้าไหม ต่อมาใครอยากซื้อผ้าจะมาปรึกษาให้ช่วยพาไปสุรินทร์หน่อย

จัดกรุ๊ปไปบ่อยจนนักเรียนที่เราเคยสอนภาษาอังกฤษ พาไปตระเวนตามหมู่บ้านตามแหล่งทอผ้าต่างๆ เพราะเห็นแล้วว่าอาจารย์นี่มันบ้าจริงแท้”

เสรีเล่าว่า ช่วงที่เป็นมือใหม่หัดซื้อผ้าไหมสุรินทร์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค ก็โชคร้ายไปเจอเพจหลอกลวง ได้ลูกศิษย์ที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวสุรินทร์ช่วยเหลือตามไปทวงเงินคืนถึงบ้านคนโกง 

จากนั้นก็มาเปิดกลุ่ม “รักไหมสุรินทร์”ในเฟซบุ๊คที่มีกติกาเข้มข้นในการห้ามมิให้ซื้อขาย เน้นในการให้ความรู้เรื่องผ้าไหมสุรินทร์และการแบ่งปันภาพสวยๆและเรื่องเล่าสู่กันฟัง

ทูตวัฒนธรรมสุรินทร์ ปี64

จากการเผยแพร่ความรู้เรื่องวัฒนธรรมของคนสุรินทร์ที่ผูกพันกับผ้าไหม ประกอบกับการจัดทริปท่องเที่ยวเส้นทางสายไหมของสุรินทร์ รวมไปถึงนำผ้าไหมสุรินทร์มาใช้ในการแต่งกายในชีวิตประจำวันได้อย่างร่วมสมัย เป็นเหตุผลที่ทางสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ เสนอชื่อ เสรี กันทาใจ ได้รับการยกย่องให้เป็นทูตวัฒนธรรมสุรินทร์ ปี 2564

เมื่อถามถึงเสน่ห์ของผ้าไหมสุรินทร์ที่ครองใจเสรีไม่ให้เปลี่ยนใจไปที่ไหน เจ้าตัวกล่าวว่า สิ่งที่เหนือกว่าฝีมืออันประณีตและงดงามแล้ว ความจริงใจที่เขาได้รับจากชาวบ้าน คือ ที่สุดของความประทับใจ

“ช่างทอผ้าที่สุรินทร์ เขาจะรักเราเหมือนคนในครอบครัวเลย ถ้าเราชอบงานของเขา ทุกวันนี้เราได้รับข้าวหอมมะลิจากสุรินทร์มากินทุกปี แต่ละปีไม่เคยกินหมด ได้มาต้องรีบแบ่งแล้วแจกให้เพื่อนฝูง บางครั้งเมื่อไปถึงที่บ้านเขา ไม่ว่าเราจะซื้อผ้าหรือไม่ซื้อเขาก็จะเตรียมข้าวให้รับประทาน บางทีส่งผ้าไหมมาให้ถึงบ้านจะให้เงินยังไง ก็ไม่รับบอกว่าอยากให้เฉยๆ

เวลาที่เราจัดกรุ๊ปทัวร์ไปซื้อผ้าในกรณีที่ซื้อตรงกับช่างทอเลย จะขอร้องว่า ถ้าเขาเรียกเท่าไหร่ ก็คือเท่านั้น อย่าต่อ ซื้อได้ก็ซื้อ ซื้อไม่ได้ก็อย่าซื้อ เพราะกว่าที่ผ้าแต่ละผืนจะทอออกมาได้นั้น ผ่านกระบวนการมากมายหลายขั้นตอน และหลายๆ ครั้ง ช่างทอแทบจะไม่ได้ใส่ค่าแรงในการทอลงไปในราคานั้นเลย”

เส้นทางสายไหมสุรินทร์ กับ เสรี กันทาใจ ยังมีเรื่องราวของผู้คนที่น่าประทับใจ และความงดงามของผ้าไหมสุรินทร์ที่มีอัตลักษณ์ ติดตามไปอ่านกันต่อได้ในกลุ่มรักผ้าไหมสุรินทร์ ทางช่องทางเฟซบุ๊ค

รอบรู้เรื่อง‘ผ้าไหม’กับเสรี กันทาใจ  ทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์ ผ้ามัดหมี่ลายช้าง

 

รอบรู้เรื่อง‘ผ้าไหม’กับเสรี กันทาใจ  ทูตวัฒนธรรม จ.สุรินทร์                        (เสรี กันทาใจ กับผ้าขาวม้าคู่กายเป็นผ้าขิดไหมทอยกดอก 8 ตะกอ )