จาก “ผู้ว่าฯหมูป่า” ถึง “ผู้ว่าฯเซมเบ้” : พัฒนาการสื่อสารของผู้ว่าฯยุคใหม่
เป็น"ผู้ว่าฯ"ยุคใหม่ ต้องรู้จักสื่อสารกับประชาชน ดูจาก"ผู้ว่าฯหมูป่า"ที่ทำให้คนรู้จักทั่วประเทศ หรือภาพลักษณ์เรียบง่ายของอดีตผู้ว่าฯจังหวัดเลย และล่าสุด"ผู้ว่าฯเซมเบ้" แก้ปัญหาทันอกทันใจชาวเมืองเชียงใหม่
ปกติแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตำแหน่งที่ไม่มีสีสันในเชิงข่าวสารสังคมมากนัก วัฒนธรรมมหาดไทยแต่เดิมผู้ว่าฯ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นเบอร์ 1 ผู้หลักผู้ใหญ่ฐานะประมุขของจังหวัด
ข่าวสารมักจะกล่าวถึงผู้ว่าฯ เป็นประธาน หรือเป็นถ้อยคำนโยบายคำสั่งการ ภาพลักษณ์ที่สื่อสารออกไปยังสังคมเน้นความเป็นทางการ ไม่ใคร่จะเปิดปูมเบื้องหลังแบบคนที่มีชีวิตชีวาสักเท่าใดนัก
อาจเพราะเกรงว่าหากเล่นหัวเกินไปจะส่งต่อความเป็นผู้ใหญ่ ผู้ปกครองที่มีอำนาจ สังคมไทยยกให้ผู้ว่าฯ เป็นพ่อเมืองควรจะดำรงตนให้สมฐานะพ่อเมือง นี่คือภาพรวมทั่วไปของภาพลักษณ์ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผ่านๆ มา
ผู้ว่าหมูป่าจากโลว์โปรไฟล์
ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีข่าวผ่านสื่อ ได้รับการยกย่องส่งเสริมสถานภาพของผู้ว่าฯ ผ่านสื่อสังคมที่โดดเด่นในรอบ 5 ปีมานี้
คงไม่พ้นจาก “ผู้ว่าหมูป่า” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร จากเหตุการณ์ช่วยเหลือเด็กๆ ทีมหมูป่าติดถ้ำ ที่จริงผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์เป็นคนโลว์โปรไฟล์ เคร่งครัดระเบียบ ไม่ชอบออกสื่อมาก่อน
แต่จากเหตุการณ์นั้นกระแสสังคมหนุนเสริมกลายเป็นแรงเชียร์ ณรงค์ศักดิ์ถูกคำสั่งโยกย้ายจากเชียงรายไปพะเยาที่เล็กกว่า สังคมวิจารณ์มหาดไทยในเชิงลบ จนมีคำสั่งย้ายไปลำปาง-ปทุมธานี จังหวัดใหญ่ในเวลาถัดมา
ผู้ว่าหมูป่า” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ภาพจากสำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.ปทุมธานี
แรงเชียร์จากสื่อสังคมส่งให้ผู้ว่าฯหมูป่า มีชื่อที่คนอยากให้เป็นแคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย
กรณีของณรงค์ศักดิ์แสดงให้เห็นอิทธิพลของสื่อสารสังคมในโลกสื่อสารยุคใหม่ ถึงขนาดสามารถกดดันกระทรวงต้นสังกัดในเรื่องการโยกย้าย ในส่วนที่เป็นภาพบวกต่อมหาดไทยก็มีเช่นกัน เพราะเป็นตัวส่งเสริมความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคมต่อตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในยุคที่เริ่มมีกระแสอยากให้มีการกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯเองดังขึ้นมา
ผู้ว่าฯหมูป่าไม่ได้ใช้สื่อด้วยตัวเอง หากสื่อหนุนเสริมตามทำนองสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ แต่อย่างไรก็ตามมันก็เป็นกรณีศึกษาให้กับสถาบันผู้ปกครอง/มหาดไทยในยุคสื่อสารสังคมยุคใหม่ได้ไม่น้อย
ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ปัจจุบันเป็นรองปลัดกระทรวง
ภาพลักษณ์"ชัยวัฒน์" อดีตผู้ว่าฯเลย
ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ที่ปัจจุบันเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นตัวอย่างของการสื่อสารสังคมและสร้างภาพลักษณ์ให้กับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่โดดเด่นมาก
ข่าวแรกๆ ที่ปรากฏเป็นไวรัลก็คือ ภาพการปั่นจักรยานไปทำงานที่ศาลากลางจังหวัด ควบคู่กับการเล่าประวัติของเด็กยากจน ต้องเรียน กศน. บากบั่นขวนขวายจนจบรัฐศาสตร์จุฬาฯ กลับมาเป็นผู้ว่าที่เลยบ้านเกิด
ชัยวัฒน์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ใช้สื่อได้เก่งและแนบเนียน นำเสนอบทบาทของผู้ว่าฯ ในแง่มุมที่สังคมสนใจ เช่น ไปไถ่เครื่องมือทำมาหากินจากโรงรับจำนำในยุคข้าวยากหมากแพงโควิดระบาด การใช้สื่อของชัยวัฒน์ส่งเสริมภาพลักษณ์ของทั้งตัวเองและความน่าเชื่อถือศรัทธาของตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด
จนล่าสุดรองปลัดกระทรวงคนนี้ ยังได้รับบทบาทเป็นโฆษกกระทรวงมหาดไทยควบอีกตำแหน่ง
สื่อสารให้ปัง ต้องรู้วิธี
ผู้ว่าราชการจังหวัดอีกหลายคนที่สื่อสารกับสังคมได้ดีเกิดเป็นภาพบวกต่อตัวเองและต่อตำแหน่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนจะสามารถสื่อสารสังคมได้ดีเท่าเทียมกัน เพราะต่อให้สั่งการสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดให้ทำเพจเฟซบุ๊คชื่อของตนเองขึ้นมา นอกเหนือจากช่องปกติก็อาจจะไม่ “ปัง” อย่างที่หวัง เป็นแค่อีกช่องทางข่าวสารของงานประชาพันธ์จังหวัด ที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์วงกว้างกับสาธารณะ
มีตัวอย่างของผู้ว่าฯที่ล้มเหลวในการสื่อสารสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เมื่อมีการโพสต์ข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมใดๆ ของผู้ว่าฯ แทนที่จะได้ผลบวก กลายเป็นมีคอมเมนท์สะท้อนภาพลบมาแทน
ในยุคโซเชียลมีเดียที่คนในสังคมสามารถสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อผู้ปกครองจังหวัดได้ การสื่อสารต่อสาธารณะ ยิ่งทวีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการบ้านเมือง 4-5 ปีก่อนเคยมีกรณีประชาชนลงชื่อขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ผ่าน change.org เนื่องจากไม่พอใจที่ไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันไฟ
ผู้ว่าเซมเบ้ ทำงาน 2 วัน 26 โพสต์
มีกรณีน่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการสื่อสารสังคมของผู้ว่าราชการจังหวัด+มหาดไทยล่าสุดที่เพิ่งเกิดหยกๆ กรณีนี้เกิดที่เชียงใหม่ผ่าน นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดคนล่าสุดที่เพิ่งย้ายมารับตำแหน่งเช้าวันที่ 1 ตุลาคม ภายในเวลาแค่ 2-3 วัน
คลิป แบนเนอร์ และ ข่าวของผู้ว่าฯใหม่ได้เผยแพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย กลุ่มไลน์ กลุ่มเพจเฟซบุ๊คในจังหวัดอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว นับดูจำนวนโพสต์บนเฟซบุ๊คระยะ 2 วันแค่ระหว่าง 1-2 ตุลาคม นับได้ 26 โพสต์ - ขยันมาก !
วิธีการออกแบบการสื่อสารสังคมของผู้ว่าเชียงใหม่คนล่าสุดเป็นการสื่อสารที่แปลกแหวกไปจากผู้ว่าคนก่อนหน้าทั้งหมด เพราะได้ใช้เทคนิคการสื่อสารสังคมสมัยใหม่ ออกแบบแบนเนอร์ที่มีสีสันและฟอนต์ทันสมัยฉีกออกจากรูปแบบรายงานเข้มขรึมแบบราชการ
เริ่มจากพนมมือไหว้แนะนำตัว ยังมีแจ้งเหตุดินถล่ม น้ำท่วม สื่อสารเรื่องราวทุกชนิดในนามผู้ว่าฯ ยังมีคลิปสื่อสาร/สัมภาษณ์เอง และนอกจากเฟซบุ๊คเพจนิรัตน์ พงษ์สิทธิ์ถาวรแล้ว ยังมีช่องทวิตเตอร์ @niratphongsitt1 อีกช่องทาง ทั้งยังออกแบบสร้างโลโก้ “ผู้ว่าฯเซมเบ้” แปะไว้ทุกคลิปวิดีโอสื่อสาร
กรณีการสร้างโลโก้ “ผู้ว่าฯเซมเบ้” นี่ต้องลงรายละเอียด เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่พอสมควรสำหรับวงการผู้ปกครองมหาดไทย
โลโก้ที่ว่าออกแบบโดยใช้ฟอนต์แบบสนุกสนานไม่เป็นราชการ ทั้งชื่อเซมเบ้ เจ้าตัวก็บอกว่ามาจากชื่อเล่น “เบ้” ของตนเอง แสดงถึงเจตนาจะสร้างวลีชื่อนี้ให้ติดปากแทนชื่อ นิรัตน์ที่เป็นทางการ ยังมีแท็ก #ผู้ว่าฯเซมเบ้ ในแทบทุกโพสต์
ภาษาการตลาดเรียกว่า นายนิรัตน์ ได้แบรนดิ้งโลโก้ “ผู้ว่าฯเซมเบ้” ขึ้นในสำหรับการสื่อสารสังคม ทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ของตนให้ลงมาเป็นคนธรรมดาติดดิน ชื่อเล่นเรียกง่าย ไม่เคร่งขรึม
การให้สัมภาษณ์วิทยุกรมประชาสัมพันธ์เชียงใหม่ของนิรัตน์บ่งบอกว่า ผู้ว่าฯใหม่คนนี้ให้น้ำหนักความสำคัญของการสื่อสารสังคมไว้เป็นลำดับต้น
ในช่วงนั้นมีสถานการณ์แม่น้ำปิงล้นฝั่งจากพายุโนรูการลงพื้นที่มีสื่อติดตามและถ่ายทอดเป็นระยะรวมถึงระหว่างกลางดึกที่ไปเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำที่สำนักงานชลประทานที่ 1 ก็มีภาพข่าวสื่อสารออกมาในดึกคืนนั้นเลย
การสื่อสารเชิงรุกของผู้ว่าฯเซมเบ้ที่เชียงใหม่ สร้างภาพลักษณ์กระฉับกระเฉงกระตือรือร้นของผู้ว่ามหาดไทยได้ค่อนข้างดีในยกเปิดตัว เมื่อเทียบกับตุลาคมปีก่อนหน้าที่มีกระแสจากชาวเชียงใหม่ไม่พอใจกระทรวงมหาดไทยที่โยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดใกล้เกษียณมาดำรงตำแหน่ง
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมากระแสสังคมบนโซเชียลมีเดียมีท่าทีด้านลบต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นโจทย์ให้กับมหาดไทยในระดับสำคัญ เพราะจังหวัดเชียงใหม่มีกลุ่มผู้เรียกร้องการกระจายอำนาจและเคยมีการเสนอร่างกฎหมายจังหวัดจัดการตนเอง (ร่างพรบ.เชียงใหม่มหานคร) มาก่อน
การมาถึงของนิรัตน์ ผู้เป็นผู้บริหารหนุ่มและด้วยกลยุทธ์การสื่อสารยุคใหม่เป็นเรื่องที่น่าจับตา เพราะการสื่อสารสังคมของศาลากลางจังหวัดเป็นจุดอ่อนของมหาดไทยมาตลอดหลายปี