อยากชวนเธอมาเป็น "เจ้าของกิจการพื้นที่สร้างสรรค์"
Prototype Testing Learning Space อีกหนึ่งกิจกรรมทดลองไอเดีย ชวนมาเป็น "เจ้าของกิจการพื้นที่สร้างสรรค์" มุ่งขยายผล สร้างความยั่งยืน เพิ่มพื้นที่เรียนรู้ให้เกิดขึ้นใกล้ๆ บ้านของเด็กๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ Youth Survey 2022 โดย คิด for คิดส์ มีการสำรวจเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี เกือบ 20,000 คน เกี่ยวกับพฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนไทย พบว่า กลุ่มที่มีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ทั้งพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ โรงหนัง/คอนเสิร์ต สวนสัตว์ มักเป็นกลุ่มที่ครัวเรือนมีฐานะยากจน หรืออยู่ในจังหวัดขนาดเล็ก อุปสรรคใหญ่คือ ระยะทางและค่าเดินทาง ชี้ให้เห็นว่า แม้พวกเขาจะอยากเล่น อยากรู้ แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า แหล่งเรียนรู้ในไทยมีน้อย อีกทั้งกระจุกตัวอยู่ตามแหล่งเจริญของผู้มีกำลังซื้อเท่านั้น
เมื่อไม่มีทางเลือก เด็กจึงหันใช้เวลาว่างนอกห้องเรียน ไปห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด บ้านเพื่อน และบ้านญาติ ไม่นับรวมการมีชีวิตติดมือถือและเกมส์โดยส่วนใหญ่ ซึ่งคงจะดีกว่า หากเราสามารถสร้างพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้นใกล้ๆ กับบ้านของเด็กๆ หรืออยู่ในชุมชนที่เด็กสามารถเดินทางไปได้สะดวกและปลอดภัยได้ทั่วประเทศ
- ความจำเป็นของการต้องมี "พื้นที่เรียนรู้"
"ถ้าเราอยากเห็นปัญหาประเทศลดลงในอีกสิบปีข้างหน้า ต้องเริ่มต้นที่การดูแลเด็กรุ่นใหม่ตอนนี้ให้ถูกวิธี" ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ่ยเปิดประเด็น
ณัฐยา กล่าวต่อว่า มีข้อมูลวิชาการอยู่จำนวนมากเลยว่า การจับให้เด็กเล็กไปอยู่ในระบบห้องเรียน ไม่เหมาะกับธรรมชาติของเด็กเล็ก ที่จริงเขาควรได้วิ่งเล่น การเรียนในห้องเรียนทำให้เขาเกิดความเครียด ที่ผู้ใหญ่อย่างเราอาจมองไม่ค่อยเห็น แต่จริงๆ แล้วมันแฝงอยู่ข้างใน ซึ่งจะทำให้เขามีพื้นฐานจิตใจที่ไม่แข็งแรง เติบโต ไปเขาก็จะติดอะไรได้ง่าย ขณะที่เด็กโตเองการเรียนรู้ในรูปแบบโปรเจกต์เบสที่เขามีโอกาสได้สร้างสรรค์ ใช้วิธีคิด วิเคราะห์ ได้ระดมสมองการทำงานเป็นทีม ลงมือทำ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนมีงานวิจัยที่พิสูจน์วัดผลว่า เด็กแต่ละวัยที่ผ่านกิจกรรมเล่นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร
แต่หากมองสถานการณ์อนาคต ประเทศไทยเรากำลังเป็นสังคมเด็กเกิดน้อย ขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งถ้าเจาะลึกไปถึงสถานภาพครอบครัว จะพบว่า เด็กของเราอยู่ในครอบครัวในฐานะเกือบจนมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 10,000 บาท ถึง 60% และส่วนใหญ่มีอัตราการย้ายถิ่น พ่อแม่ต้องมาทำงาน ทิ้งลูกไว้กับตายาย ซึ่งไม่สามารถให้ความรู้เด็กที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่นี้แล้ว ซึ่งด้วย "ข้อจำกัด" เรื่องการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ที่แม้กระทั่งเด็กในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ที่ถูกมองว่ามีจำนวนแหล่งเรียนรู้มากกว่า แต่ก็ไม่เพียงพอทั้งจำนวนและความหลากหลาย ทำให้เด็กจำนวนมากใช้เวลาว่างนอกเวลาเรียนไปกับหน้าจอมือถือ ขาดโอกาสเรียนรู้ผ่านการเล่นหรือการลงมือทำงานสร้างสรรค์ เพื่อเสริมพัฒนาการที่ครบมิติให้แก่เด็กไทยที่เป็นอนาคตของชาติ ทางออกที่เป็นไปได้ของวันนี้ คือควรทำให้ทุกพื้นที่ควรมีแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน
"กรณีที่ฐานะทางบ้านดีอยู่กลุ่ม 30% ที่พอเอาตัวรอดได้ เราให้ความรู้แล้วเขาไปต่อยอดเองได้ แต่กลุ่มที่ฐานะยากจนกว่า 60% ให้แค่ความรู้ไม่พอ เรามองว่า การมีพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ที่ฝังตัวในชุมชนจะเป็นจุดคานงัดสำคัญในเรื่องนี้" ณัฐยาเอ่ย
- พื้นที่เรียนรู้ พวกหนูอยู่ไหน?
ณัฐยา กล่าวต่อ การมีพื้นที่เรียนรู้ไม่ได้หมายถึง มีแค่ห้องๆ หนึ่งที่มีของเล่น หรือเป็นนิทรรศการแห้งๆ เท่านั้น แต่ยังต้องมีคนนำพาเขาไปเล่น สร้างกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สร้างพัฒนาการตามช่วงวัย
"มันต่อเนื่องจากการที่ สสส. มีการทำสำรวจ เราพบว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กๆ พอมีวันหยุด วันว่างในช่วงปิดเทอมแล้วไปเล่นแต่มือถือ เพราะเขาไม่มีอะไรจะทำ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเพราะแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์มันอยู่ไกลบ้านเขา การเดินทางเป็นอุปสรรค ขณะเดียวกันเราอาจคิดว่าเด็กในเมืองใหญ่อย่างในกรุงเทพฯ จะเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ แต่ปรากฏว่า 40% ก็บอกว่าไม่ได้ไปเพราะไกลบ้าน เดินทางลำบาก หากมองลึกในระดับพื้นที่ แหล่งเรียนรู้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่แถวกลางเมือง ศูนย์เยาวชนมีแค่ 9 แห่ง แต่กรุงเทพฯ มีตั้ง 50 เขต ดังนั้น การมีแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านที่เด็กสามารถเดินไปหรือขี่จักรยานไปได้เพียง 5-10 นาทีจะทำให้เด็กใช้เวลาว่าง อย่างสร้างสรรค์" ณัฐยา กล่าว
"ผู้ประกอบการพื้นที่เรียนรู้" เหล่านี้ จึงไม่ต่างจากเจ้าของกิจการที่มีสินค้าและบริการที่คนต้องการ และยอมจ่ายเช่นกัน แต่แค่อยู่ในชุมชน
ในมุมนี้ ณัฐยา สะท้อนว่า มีแค่พื้นที่เด็ก เขาไม่ได้เรียนรู้อะไร ต้องมีคนที่มีความเข้าใจ มีทักษะ มีความสามารถในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันเรารู้ดีว่า ภาครัฐ แม้แต่ระดับท้องถิ่นไม่ได้มีบุคลากรด้านนี้ นโยบายการปฏิรูปราชการก็มีเป้าหมายลดคน ดังนั้น ทำไมเราไม่มองอีกมุมว่า นี่อาจเป็นโอกาสในการพัฒนาวิสาหกิจหรือธุรกิจชุมชนแนวใหม่ ที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้เช่นกัน ประเด็นคือ คนที่จะเปิดบ้านมาทำพื้นที่สร้างสรรค์ เขาคือใคร และเราจำเป็นต้องสร้างช่องทางสนับสนุนให้กับคนกลุ่มนี้
- ปั้นเราเป็นผู้ประกอบการพื้นที่เล่น
เพื่อเพิ่มพื้นที่เรียนรู้ให้เพิ่มมากขึ้นให้อนาคต จึงเป็นที่มาของการนำร่อง กิจกรรม "Prototype Testing Learning Space : ทดลองไอเดียสร้างความยั่งยืนพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน" ที่ สสส. ร่วมกับ School of Changemakers และ TK Park จัดขึ้น ซึ่งตั้งเป้าบ่มเพาะผู้ประกอบการพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบ โดยเริ่มจาก 11 หน่วยงานที่จะเป็นต้นแบบที่ทำงานสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ทั่วประเทศ
"คนกลุ่มนี้คือ คนที่เคยลงมือทำเองมาก่อน เรามาสนับสนุนให้เขาพัฒนาตัวเองเป็นโค้ช เพื่อทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับพื้นที่ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต เราเอาคนที่เคยทำพื้นที่เรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จมาถอดให้ดูว่า strategy เขาคืออะไร barrier หรืออุปสรรคที่เขาเจอคืออะไร แล้วทำเป็นหลักสูตรที่ถ้าใครหน้าใหม่ที่เข้ามา อยากทำพื้นที่เรียนรู้ในพื้นที่ของเขา เขาก็ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์อีกแล้ว ที่มาวันนี้เรามีสองกลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ทำมานานแล้ว ซึ่งเราส่งเสริมให้เขาขยับไปสู่โมเดลความยั่งยืนและการขยายผลได้ คือเขาสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพากลุ่มทุน และเป็นโค้ชได้ในอนาคต อีกกลุ่มคือ เพิ่งเริ่มทำได้ไม่นาน เขายังต้องผ่านกระบวนการที่พิสูจน์ว่าสินค้าหรือบริการที่เขาจะทำมีกลุ่มเป้าหมายจริงๆ และไปต่อได้" ณัฐยา กล่าว
- โมเดลระดับอำเภอ
ณัฐยา ยังกล่าวต่อว่า อีกโมเดลที่กำลังปั้นคือ การนำร่องโครงการที่อำเภอเชียงดาว ที่นั่นมีองค์ประกอบมีโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และมีเอกชนไปเปิดกิจการเป็นพื้นที่เรียนรู้หลายแห่ง เราสนับสนุนให้เขาคุยกันว่า 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์เด็กเขาใช้ชีวิตอยู่อย่างไหนบ้าง แล้วเรามาจัดการกระบวนการขึ้นมาเพื่อให้เด็กแต่ละกลุ่มมีกิจกรรมวันว่างอยู่ในเชียงดาวด้วย learning station ซึ่งในอนาคตโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กอาจได้คำตอบว่าระหว่างการมีพื้นที่เรียนรู้รูปแบบนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ซึ่งหากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จ เธอมองว่า กระทรวงศึกษาธิการหรือโรงเรียนไม่ต้องปวดหัวว่าจะคิดสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กได้อย่างไร เพียงลดเวลาเรียนลง แล้วมาเพิ่มเวลาให้เด็กออกไปเล่นใน เลิร์นนิ่ง สเตชัน ในพื้นที่ของเขาแทน
ณัฐยา ยังเล่าถึงเป้าหมายปลายทางของ สสส. ว่า อยากเห็นทุกตำบลทั่วไทยกว่า 8,000 ตำบล มีพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์อย่างน้อยที่ละหนึ่งแห่ง ในเมื่อเรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบแปดพันตำบล อย่างน้อยทุกท้องถิ่นที่มีเอกชนลุกขึ้นทำเราก็จะมีพื้นที่เรียนรู้ได้ถึงแปดพันแห่ง ซึ่งจริงๆ แล้ว ในหนึ่งตำบลสำหรับบางที่ก็ถือว่าใหญ่นะ ห่างกันหลายกิโลเมตร การมีพื้นที่สร้างสรรค์อย่างน้อยหนึ่งที่ยังนับว่าน้อยเลย
- ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร
"เราอยากชวนเขาไปให้ไกลกว่าเดิม" เสียงจาก พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers เปิดใจถึงสิ่งที่เธอมุ่งหมายในใจที่มีให้กับโครงการนี้
จากบทบาทการทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์แก่ผู้ประกอบการสังคมมามากมาย เธอเล่าให้ฟังว่า ผู้ประกอบการเพื่อสังคมส่วนใหญ่มีความปรารถนาอยากจะขยายผล แต่ปัญหาสำคัญคือ "ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร"
"ที่เราสนใจเรื่องนี้ เพราะมองว่าการทำงานแก้ปัญหาสังคมบ้านเรายังไม่ค่อยถูกขยายผล เชื่อว่ามีหลายคนที่เห็นปัญหาในสังคม แล้วอยากช่วย อยากลุกขึ้นมาแก้ไข แต่พอแก้ได้แล้วเขาไม่มีทางไปต่อ หรือมันไม่ถูกต่อยอดให้เป็นความยั่งยืนได้ ปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการสังคมส่วนใหญ่คือ หลายคนอยากทำ อยากแก้ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง หรือคนที่ทำงานมานานแล้วไม่รู้จะขยายผลอย่างไร เราเชื่อว่าคนที่ทำงานได้ตรงนี้มา10-20 ปี มันพิสูจน์แล้วล่ะ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเด็ก เยาวชน การสร้างพื้นที่เรียนรู้ เป็นเรื่องที่ทำงานยากมาก แต่หากสิ่งที่เขาทำ มันได้อิมแพคแค่พื้นที่เล็กๆ หรือคนกลุ่มเล็กๆ ก็น่าเสียดาย"
ฉะนั้น เป้าหมายของกิจกรรมนี้คือ อยากให้เกิดการขยายผล และสร้างทัศนคติให้ผู้ประกอบการสังคมเหล่านี้มองเห็นเป็นอันดับแรกว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นไม่ใช่แค่ก็ดีที่มี แต่มันจำเป็นต้องมีในสังคม
"ถ้าคุณทำให้คนมองว่าการเล่น ไม่ใช่แค่เล่นไปวันๆ แต่มันแก้ปัญหาสังคมด้วย ใครๆ ก็อยากลงทุนด้วยใช่ไหม ซึ่งอย่างที่บอกทักษะการทำพื้นที่เรียนรู้ที่เดียว กับการทำทักษะพื้นที่เรียนรู้ในขนาด 20 ศูนย์ มันก็คนละทักษะ ต้องมีการวางแผน ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าวันนี้ฉันคิดอยากทำแล้วลุกมาทำเลย คุณต้องหาพาร์ทเนอร์ให้เป็น ฝึกคุยกับคนอื่นได้ เป็นต้น ส่วนคนที่อยากเริ่มต้น ถ้ามีการเก็บข้อมูลก่อน เข้าใจอินไซต์ สามารถดีไซน์ให้มันตรงกลุ่มเป้าหมาย ให้ตรงกับ pain ของเขา มันก็จะโดนใจเขา เป็นสิ่งที่เขารอมานานหรือหามานานแล้ว เพราะการคิดแล้วทำเลยมันอาจจะไม่ได้แก้ pain ใด ๆ แล้วกลายเป็นการบังคับเด็กอีก มองว่า ทำไมชั้นทำหวังดีกับเธอแล้วยังไม่เอาอีก แต่ส่วนใหญ่พอถามว่ากิจกรรมที่ทำให้เด็กไปนั้น ช่วยเด็กเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนอย่างไร จะไม่ค่อยมีใครวัดผล แต่ต้องยอมรับว่าในการติดตามผล มันไม่ใช่แค่หนึ่งเดือน แต่อาจเป็นหลายเดือนหรือเป็นปี หรือหลายปีด้วยซ้ำ" พรจรรย์ กล่าว
- Pain Point เด็กไทยไม่อยากเรียน
พรจรรย์ กล่าวต่อว่า การจะรู้ว่าเด็กเยาวชนมีปัญหาอะไร เราต้องดู pain เขาจริงๆ ซึ่งจากการที่เราทำเรื่องเด็กมาเยอะ เราไปเห็นข้อมูลอินไซต์ที่เกินคาดคิดหลายเรื่องมาก เช่น ปัญหาเรื่องเด็กเข้าไม่ถึงทุนการศึกษา ความเป็นจริงยังมีน้อยมาก การที่เด็กไม่เรียน ประเด็นปัญหาแท้จริงไม่ใช่เรื่องเงิน เราพบว่า มีพ่อแม่ที่ยากจนไม่น้อย บอกว่า ถ้าลูกอยากเรียนเขายินดีจะส่งให้เรียน ยอมกู้หนี้ยืมสินมา แต่ปัญหาคือเด็กไม่อยากเรียนเองเพราะโรงเรียนไม่ตอบโจทย์เขา บางคนคิดว่าทุกวันนี้เขาขับแกร็บได้วันละ 500 บาท แล้วทำไมต้องเรียน แต่เราอยากบอกว่า 10 ปี หลังจากนี้คุณก็ได้แค่นั้นนะ ถ้าคุณไม่มีความรู้ไม่ได้เรียนหนังสือ ส่วนเด็กที่อยู่ในระบบตอนนี้ก็ใช้ว่าจะโอเค โควิด-19 มันแย่กว่าที่เราคิด
"ปัญหาไม่ใช่เรียนออนไลน์แล้วได้ความรู้ไม่ครบนะ แต่ที่เห็นชัดคือ เด็กมีคอมฟอร์ทโซนของตัวเองที่ชอบอยู่กับโลกเล็กๆ ของตัวเอง แอบเล่นเกมคนเดียวก็ได้ง่ายดี ปิดกล้องเรียนก็ได้ พอให้เขาคุยกับเพื่อนใหม่ไม่อยากคุยแล้ว ให้ไปไหนไม่อยากไป ทำอะไรเรื่องใหม่ๆ ไม่เอาแล้ว เพราะรู้สึกว่ามันยาก เรามองว่านี่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นหนักมากเป็นทั้งเด็กรวยเด็กจน เด็กเรียนดี เด็กเรียนไม่ดี ซึ่งหน้าที่ผู้ใหญ่จะช่วย" พรจรรย์ กล่าว
- เสริมพี่เลี้ยงผู้ช่วยขยาย
"กิจกรรมที่เราเห็นในวันนี้คือ ทุกโต๊ะจะมีโคชหรืออินคิวเบเตอร์ของตัวเองที่คอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและช่วยเทรนนิ่งให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ พอเรารู้ว่าประเทศเราขาดอินคิวเบเตอร์ สิ่งที่เราทำคือต้องซัพพอร์ทผู้ประกอบการสังคมเหล่านี้ไปพร้อมกับสร้างอินคิวเบเตอร์ด้วยเลย"
พรจรรย์อธิบาย และบอกต่อไปว่า Incubator คือ คนที่คอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยฟูมฟักผู้ประกอบการระยะตั้งไข่ให้สามารถกะเทาะเปลือกออกมาแล้วก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง แต่อีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้สังคมไทยยังมีผู้ประกอบการหรือนักกิจการเพื่อสังคมน้อย เนื่องจากขาดกลไกที่เป็นเสมือนอินคิวเบเตอร์นี้
เธอเล่าว่า ที่ผ่านมา อินคิวเบเตอร์ที่บ้านเราส่วนใหญ่จะอยู่ในฝั่งธุรกิจ เอสเอ็มอี เรามีเอสเอ็มอีแบงค์ อยากเรียนเอ็มบีเอ มีหลักสูตรมีโคชเต็มไปหมด ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรามี สวทช. หรือเนคเทค ที่ทำมานานและทำได้เยอะอยู่แล้ว แต่ฝั่งสังคมน้อยมาก ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมการมีอินคิวเบเตอร์ถึงมีความจำเป็น เธอบอกว่า ถ้าเราอยากสร้างนวัตกรรมจริงทุกวงการต้องการอินคิวเบเตอร์ การมีอินคิวเบเตอร์จะช่วยเราสเกลได้ ถ้าลองดูประเทศอื่นๆ เขามองกลุ่มคนที่เป็นผู้ประกอบการสังคมเหล่านี้ ไม่ต่างจากเอสเอ็มอี ในอังกฤษมีการถูกตั้งเป็นกระทรวงดูแลเลย เพราะเขารู้ว่าคนกลุ่มนี้แหละที่จะเข้ามาแก้ปัญหาสังคมได้ แต่บ้านเราเมื่อไม่มีใครส่งเสริมเหมือนคนกลุ่มนี้ก็เลยน้อย ทำให้มองไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหาสังคม
- ต่อยอด "โรงเล่น" สู่ความยั่งยืน
"โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้" เป็นเลิร์นนิ่ง สเปซ ของเล่นพื้นบ้านที่ทำผลิตภัณฑ์ไม้ ของเล่นนวัตกรรม มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กมาเรียนรู้ และมีนิทรรศการเล่นได้ ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 24 ปีในชื่อกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ 5 ปีที่แล้ว
วีรวรรณ กังวาลนวกุล ตัวแทนของทีมโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ กล่าวว่า ทุกเสาร์อาทิตย์โรงเล่นฯ จะเปิดพื้นที่ให้เด็กเข้ามาเล่นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สิบโมงเช้าถึงสี่โมงครึ่ง มีทั้งเด็กในชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยวในละแวก แวะมาเล่น พื้นที่ใกล้เคียงก็ตั้งใจมาเล่นที่นี่
"ในส่วนหารายได้ เรามีร้านช้อปปิ้งออลไลน์ มีเพจ มีเวิร์คช็อปของเล่นต่างๆ อีกส่วนเราได้ทุน จาก สสส. ซึ่งตอน สสส.มาชวน เราก็มีการคุยกันกับทีมสนใจไหม สู้กันไหม เพราะเราต้องการหาความยั่งยืนในอนาคต ความยั่งยืนที่เราต้องการคือ สามารถมีสภาพคล่องเลี้ยงตัวเอง เพื่อให้เราสามารถเปิดพื้นที่เล่นในชุมชนเพื่อให้เราเปิดฟรีได้ตลอด เพราะเด็กควรมีพื้นที่สร้างสรรค์ สนุก ปลอดภัย เข้าถึงได้ใกล้บ้านที่เล่นได้ เขาไม่ควรถูกตัดโอกาสเพียงเพราะเป็นเด็กในชนบท" วีรวรรณกล่าว
นอกจากนี้ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ยังทำงานกับโรงเรียนรอบๆ ชุมชน ในเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการ การส่งต่อของเล่น ส่งเสริมให้ครูออกแบบ ชั่วโมงเล่นในโรงเรียน และทำงานกับกลไกในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดนิเวศน์ดูแลเด็ก
"มาที่นี่เราสนุก ตื่นเต้นกับไอเดีย เพราะเวลาเราคิดกันภายใน บางทีเราอยู่ในพื้นที่เยอะ เราอินกับเรื่องที่เราทำ แต่มันยังมีมุมมองที่เราไม่ได้คิด แต่คนอื่นเขามองเข้ามาก็มีเรื่องที่แนบนำให้เราต้องนำมาทบทวน เพื่อปรับปรุงพัฒนา ยิ่งวันนี้เราเจอภาคธุรกิจตัวจริง เขาก็ให้ความเห็นนำเสนอเรื่องใหม่ๆ การได้ต่อเน็ตเวิร์คออกไปได้เห็นภาพใหญ่ขึ้น ชัดเจนมากขึ้น เมื่อก่อนก็คิดว่าการเป็นเลิร์นนิ่งสเปซในชนบทอย่างเราจะหาลู่ทางจากไหน ถ้าไม่ได้มีคนที่จะเป็นปลั๊กเชื่อมต่อให้ เราได้เจอผู้คนเร็วขึ้น" วีรวรรณ ทิ้งท้าย
สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่เว็บไซต์ schoolofchangemakers