"ญี่ปุ่น"ปรับโฟกัสเน้น“ท่องเที่ยวผจญภัย”ฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

"ญี่ปุ่น"ปรับโฟกัสเน้น“ท่องเที่ยวผจญภัย”ฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

ปีนี้และปีต่อไป ญี่ปุ่นขอเน้น“ท่องเที่ยวเชิงผจญภัย” มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อาทิ จังหวัดนากาโนะ เกาะฮอกไกโด มีรถไฟจากโตเกียวมาถึง ส่วนการท่องเที่ยวตามฤดูกาล เที่ยววัด ก็ยังเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ

นับเป็นเวลานานกว่า 2 ปี กว่าที่ภาพคุ้นตาของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลกันมาที่สนามบินนาริตะจะหวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา  

ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 นักท่องเที่ยวจำนวน 31.8 ล้านคนเดินทางมาเยือนประเทศญี่ปุ่นในปี 2019 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวกลับลดลงเหลือเพียง 250,000 คนในปี 2021

เจ้าหน้าที่ของรัฐและคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยอมรับว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวครั้งใหม่นี้คงดำเนินไปอย่างช้าๆ  โดยคาดว่า กว่าที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 คงต้องรอถึงปี 2025  

อย่างไรก็ตาม การเปิดพรมแดนของญี่ปุ่นอีกครั้ง ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยหรือการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษที่นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวแล้วได้รับความสนุกสนานตื่นเต้น หวาดเสียว ผจญภัย มีความทรงจำ และปลอดภัย และได้ประสบการณ์ใหม่ๆ และยังให้นักท่องเที่ยวได้มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนหรือคนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับเมืองและธุรกิจทั่วประเทศ 

ดีเร็ค ยามาชิตะ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัททัวร์ The Hidden Japan กล่าวถึง โทโฮคุซึ่งเป็นภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นว่า  คนมีความกังวลว่าชุมชนท้องถิ่นของญี่ปุ่นจะรับมือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ หรือไม่เข้าใจธรรมเนียมของคนในภูมิภาคโทโฮคุ 

“แต่ไกด์ทัวร์ท้องถิ่นก็มีการสร้างงาน เพิ่มมูลค่าของภูมิภาค เปิดให้นักเดินทางได้สัมผัสหรือมีประสบการณ์กับสิ่งต่างๆ ราวกับเป็นคนในท้องถิ่น และช่วยลดช่องว่างทางวัฒนธรรม ทำให้คนท้องถิ่นสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้” ยามาชิตะ กล่าว 

\"ญี่ปุ่น\"ปรับโฟกัสเน้น“ท่องเที่ยวผจญภัย”ฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  ทุ่งลาเวนเดอร์ในฮอกไกโด (ภาพรอยเตอร์)   

 

  • ญี่ปุ่นเน้นท่องเที่ยวเชิงผจญภัย 

องค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น (JNTO) กำลังโฟกัสไปที่รูปแบบการท่องเที่ยว 3 ประเภทเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั่นคือ การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย การท่องเที่ยวแบบหรูหราและการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

โดยทั้ง 3 รูปแบบจะเน้นย้ำการสร้างประโยชน์ให้กลับคืนสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นยุคหลังโควิด-19 ให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยที่หมายถึงการท่องเที่ยวอย่างไม่เร่งรีบและมีส่วนร่วมกับธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น 

“นักท่องเที่ยวเชิงผจญภัยกำลังมองหาการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมและต้องการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นในเชิงลึก” เคอิ โฮโซอิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ JNTO กล่าวและยกตัวอย่างทัวร์ การเดินทัวร์กับเชฟในหมู่บ้านเล็กๆ หรือการเดินป่าชมธรรมชาติ หรือการผสมผสานระหว่างธรรมชาติ วัฒนธรรม และการทำกิจกรรมทางกายภาพ 

ในปี 2023 ฮอกไกโด กำลังจะเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยที่จัดโดยสมาคมการค้าท่องเที่ยวเชิงผจญภัยหรือ Adventure Travel Trade Association ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวมาประชุมมากกว่า 750 คน องค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น

ถือโอกาสนี้ปักหมุดให้การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวแบบมวลชน หรือการท่องเที่ยวที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่เดียวกัน พักโรงแรมในระดับเดียวกันและทำกิจกรรมการท่องเที่ยวอื่นๆ ในแบบเดียวกัน  

\"ญี่ปุ่น\"ปรับโฟกัสเน้น“ท่องเที่ยวผจญภัย”ฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

วัดเซ็นโซจิคราคร่ำไปด้วยผู้คน (ภาพรอยเตอร์)   

  • ญี่ปุ่นเล็งนักท่องเที่ยวอิสระ 

แดเนียล มัวร์ ผู้ก่อตั้งและมัคคุเทศก์ของบริษัทท่องเที่ยว Active Travel Japan คาดการณ์ว่า การกลับมาครั้งใหม่ของนักท่องเที่ยวครั้งนี้ น่าจะเป็นพวก “FITs” หรือนักท่องเที่ยวอิสระที่แสวงหาประสบการณ์อย่างญี่ปุ่นที่แท้จริงมากกว่ากรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่ 

เขาระบุว่า นักท่องเที่ยวอิสระเป็นตลาดระดับไฮเอนด์ที่มีเงินใช้จ่ายมากกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด 

“นักท่องเที่ยวยังคงลังเลเล็กน้อยเกี่ยวกับการเดินทางเป็นกลุ่ม และพวกเขาได้จัดลำดับความสำคัญใหม่ ผมคิดว่ารูปแบบการเดินทางในอนาคตจะเปลี่ยนไป คนจะเป็นนักเดินทางมากกว่านักท่องเที่ยว และจะเที่ยวแบบช้าๆ เพื่อซึมซับประสบการณ์ให้มากที่สุด” มัวร์กล่าว 

นักท่องเที่ยวประเภทที่มัวร์กำลังพูดถึงนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ตรงกับคำจำกัดความของการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย 

“นักท่องเที่ยวที่ชอบการผจญภัยจะไม่ทำให้รถติด ไม่สร้างมลพิษ หรือไม่ทิ้งขยะไปทุกที่” มัวร์กล่าว เขายังบอกด้วยว่า นักท่องเที่ยวเหล่านั้นไม่สนใจเที่ยวในเมืองที่มีผู้คนแออัด  

ธุรกิจในท้องถิ่นญี่ปุ่นได้ประโยชน์ 

ข้อมูลจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยเผยให้เห็นถึง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของการท่องเที่ยวประเภทนี้

ข้อมูลระบุว่า การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยทำให้รายได้ร้อยละ 65 ยังคงอยู่ในประเทศ ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวมวลชนจะอยู่ในประเทศเพียงแค่ร้อยละ 14 และต้องใช้จำนวนนักท่องเที่ยวมวลชนเป็นสองเท่าของนักท่องเที่ยวเชิงผจญภัยเพื่อสร้างรายได้ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับท้องถิ่น

ตัวเลขดังกล่าวมีความเป็นไปได้เพราะนักท่องเที่ยวเชิงผจญภัยมีการใช้จ่ายเงินกับธุรกิจขนาดเล็กหรือของคนท้องถิ่น (ซึ่งรวมถึงที่พัก ร้านอาหารและมัคคุเทศก์) มากกว่าจ่ายให้ผู้ประกอบรายใหญ่หรือบริษัทข้ามชาติ  

“บริษัทรถบัสไม่ใช่ตัวสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจท้องถิ่น เพราะนักท่องเที่ยวที่มาเป็นหมู่คณะมักจะพักที่โรงแรมขนาดใหญ่ พวกเขาไม่ซื้อของในร้านของคนท้องถิ่นด้วย” มัวร์กล่าว  

ข้อมูลการวิเคราะห์การท่องเที่ยวชนบทในเมืองโนโตะ จังหวัดอิชิกาว่าในปี 2018 ของมหาวิทยาลัยเรียวเคียวพบว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ผลการวิจัยเน้นย้ำถึงคำเตือนที่สำคัญนั่นคือความจำเป็นในการจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน 

“นักท่องเที่ยวนำความมีชีวิตชีวามาสู่หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล (ความเจริญ) เหล่านี้  แต่การขาดแคลนประชากรอายุน้อยที่จะสืบทอดธุรกิจฟาร์มสเตย์เหล่านี้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต” รายงานดังกล่าวระบุ 

องค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่นวางแผนที่จะใช้การประชุมสุดยอดการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยในปีหน้ามาโปรโมทgเสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยในหมู่มัคคุเทศก์และบริษัทท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่มาร่วมประชุม โดยใช้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลกมาเป็นตัวส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวที่ชอบผจญภัยเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่น  

  • เทรนด์ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นเปลี่ยน

ยามาชิตะบอกว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เห็นเสน่ห์ของการการท่องเที่ยวที่เน้นแหล่งธรรมชาติหรือสถานที่ที่ห่างไกลจากผู้คนมากขึ้น และมันง่ายขึ้นในการดึงดูดคนให้ไปเที่ยวในชนบทหรือหมู่บ้านเล็กๆ ปีนเขาและสำรวจ วัฒนธรรมและประสบการณ์แบบท้องถิ่น  

“เรากำลังมองหานักท่องเที่ยวที่เปิดกว้างมากขึ้น  ดูเหมือนว่านี่จะเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปหลังจากโควิด” ยามาชิตะกล่าว     

ความสนใจท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติมากขึ้นมาได้ถูกจังหวะสำหรับหมู่บ้านในชนบทของญี่ปุ่น จำนวนประชากรที่ลดลงได้ส่งผลกระทบต่อชนบทของญี่ปุ่นอย่างหนัก โดยมีหมู่บ้านเกือบครึ่งหนึ่งมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไปภายในปี 2040  ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ ไกด์ทัวร์หรือรัฐบาลญี่ปุ่นเองต่างก็มองเห็นถึงศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยที่จะช่วยรักษาชุมชนในชนบท          

ไมอิ โกโตะ ผู้ก่อตั้ง Yamadera Guided Tour ซึ่งเป็นทัวร์ภาษาอังกฤษของวัดริสชากุจิ หรือที่รู้จักในชื่อ Yamadera ในจังหวัดยามากาตะ มองเห็นมุมบวกของการท่องเที่ยว  

“การท่องเที่ยวช่วยฟื้นฟูสถานที่ เราพึ่งพานักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เราตั้งตารอชาวต่างชาติให้มาเยือน” โกโตะกล่าว   

โกโตะบอกว่า ผู้คนที่วัดตื่นเต้นกับการกลับมาเปิดพรมแดนอีกครั้ง แม้ว่าพวกเขาจะพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง แต่พวกเขาชอบที่จะพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก 

ในปี 2020 ญี่ปุ่นติดอันดับที่ 17 ของดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย ซึ่งวัดจากปัจจัย 10 ประการรวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน สุขภาพและความปลอดภัย ทรัพยากรเชิงผจญภัยและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและการเตรียมพร้อม

ในขณะที่ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรองจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย บรรดามัคคุเทศก์ต่างเห็นว่าปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งญี่ปุ่นไว้คือ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของญี่ปุ่นมีคนหนาแน่นมากเกินไป บุคลากรไม่เพียงพอ และคนท้องถิ่นที่พูดภาษาอังกฤษคล่องยังมีน้อย   

  • นากาโนะ เกาะฮอกไกโด แหล่งท่องเที่ยวใหม่ญี่ปุ่น 

เกาะฮอกไกโด ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในญี่ปุ่นสำหรับการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย เพราะมีพื้นที่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยากมาสำรวจ แต่จุดหมายปลายทางใหม่ที่กำลังอยู่ในเรดาร์ของ JNTO คือ จังหวัดนากาโนะซึ่งแตกต่างจากฮอกไกโดตรงที่มีรถไฟวิ่งตรงจากโตเกียว 

“นากาโนะเป็นจังหวัดที่มีภูเขามากที่สุดและสูงที่สุด” มัวร์ซึ่งโฟกัสไปที่การท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้กล่าว  

“ที่นั่นมีบ่อน้ำพุร้อน แม่น้ำ น้ำตก หิมะนุ่มขาวเนียนอย่างกับแป้ง และยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาและจิตวิญญาณที่อยู่ใกล้ธรรมชาติด้วย” มัวร์กล่าว 

นากาโนะยังอนุรักษ์นากาเซ็นโด ถนนสายเก่าที่เจ้าเมืองในสมัยเอโดะ (1603-1868) ใช้เป็นประจำทุกปีเวลาเดินทางไปเมืองหลวง ถนนเส้นนี้ทอดผ่านภูเขาและมีโรงแรมเก่าอายุ 200 ปีตั้งอยู่ประปราย 

การเดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางเช่นนี้ ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการผจญภัยมากกว่าการพักผ่อนอย่างแท้จริง น่าจะให้ประสบการณ์ที่ต่างไปจากเดิมๆ กับนักท่องเที่ยวไม่มากก็น้อย        

...........

ที่มา เว็บไซต์เจแปนไทมส์        

\"ญี่ปุ่น\"ปรับโฟกัสเน้น“ท่องเที่ยวผจญภัย”ฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  ธรรมชาติที่สวยงามดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากมาสำรวจสถานที่ทางธรรมชาติของญี่ปุ่น (ภาพรอยเตอร์)