“รวมสาส์น 1977” นักทำ "พจนานุกรม" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ
ฟัง “สำนักพิมพ์รวมสาส์น 1977” ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำพจนานุกรม เล่าถึงความทรงจำของการผลิตพจนานุกรม ดิกชันเนอรี และหนังสือค้นหาความหมายหลายภาษา หมวดหนังสืออ้างอิงที่ครั้งหนึ่งนักเรียนไทยต้องมีทุกบ้าน กับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและยุคสมัย
ถ้าคุณอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป คุณน่าจะจำความรู้สึกนี้ได้ วันที่ครูสอนภาษาแนะนำให้ค้นหาความหมายของคำศัพท์ และเราก็หยิบพจนานุกรมขึ้นมา ไล่เรียงตามตัวอักษรข้างหน้า ก่อนหยุดพิจารณาตรงคำที่เป็นเป็นเป้าหมาย
หรืออย่างตอนที่เลือกซื้อหนังสือใหม่ตอนรับการเปิดเทอม เราก็มักไม่ลืมที่จะหยิบหนังสืออ้างอิงอย่าง “ดิกชันเนอรี” ลงสู่ตะกร้า จะเป็นสายภาษาอย่างพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย, ฝรั่งเศส-ไทย, จีน-ไทย, เยอรมัน-ไทย หรือเน้นคำศัพท์เฉพาะทางอย่างกฎหมาย, แพทย, วิศวกรรม และอีก ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นชื่อหนังสือที่เราน่าจะผ่านตากันมาสักครั้ง
พจนานุกรม คือประเภทหนังสือแรกๆ ที่หลายคนจดจำได้ แต่ไม่ว่าความทรงจำจะชัดเจนเพียงไรเราก็ต่างรู้ดีว่า ภูมิทัศน์ของหนังสือประเภทนี้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการมาของ Google , แอพพลิเคชั่นดิกชันเนอรีออนไลน์ รวมถึงการสแกนแปลคำศัพท์เพียงการเปิดกล้อง
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อใด และความทรงจำว่าด้วยหนังสืออย่างพจนานุกรม ยังมีอะไรที่หลงเหลือบ้าง?
- รวมสาส์น 1977 นักทำพจนานุกรมฉบับคนไทย
30-40 ปีที่แล้ว พจนานุกรมภาษาไทย รวมถึงพจนานุกรมภาษาต่างประเทศที่เราเรียกว่า “ดิกชันเนอรี” (Dictionary) คือหนังสือที่ห้องสมุดของทุกโรงเรียนต้องมี ขณะที่ตลาดผู้ผลิตก็มีทางเลือกหลากหลาย ทั้งแบบการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ การนำเข้ามาจำหน่ายแบบซื้อมาขายไป ถึงเช่นนั้นหนึ่งในสำนักพิมพ์ของไทยที่ผลิตพจนานุกรมด้วยตัวเอง คือ “สำนักพิมพ์ รวมสาส์น 1977”
พจนานุกรม หลายเวอร์ชั่น หลายภาษาที่ผลิตโดยสำนักพิมพ์รวมสาส์น 1977
“ในยุคนั้น ช่วงประมาณ พ.ศ. 2529 หนังสือพจนานุกรมภาษาไทยมีพอสมควร ดิกชันเนอรีภาษาอังกฤษก็มีการนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย จุดเริ่มต้นของเราเกิดจากอาจารย์เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ ท่านมีความรู้ด้านภาษาจีนมาก เขียนหนังสือด้านจีนศึกษามาหลายเล่ม ท่านอยากทำพจนานุกรมที่เป็นภาษาจีนโดยคนไทย ไปชวนสำนักพิมพ์อื่นก็ไม่มีใครอยากทำ เพราะทำหนังสือพจนานุกรมมันยาก ต้องอาศัยความละเอียด แต่ท่านรู้จักกับคุณพ่อผม (บำรุง ทวีวัฒนสาร) ท่านก็เลยให้สำนักพิมพ์รวมสาส์นช่วยผลิต จนเป็นพจนานุกรม จีน-ไทย เล่มแรก และก็เป็นจุดเริ่มต้นของการจับงานพจนานุกรมของสำนักพิมพ์” ปิติ ทวีวัฒนสาร เจ้าของร้านหนังสือและสำนักพิมพ์รวมสาสน์ 1977 เล่าถึงที่มา
หลังจากพจนานุกรมจีนเล่มนั้นออกไป กระแสตอบรับถือว่าอยู่ในระดับดี โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนนักศึกษา และครอบครัวที่มีญาติผู้ใหญ่เป็นคนจีน ซึ่งอยากสื่อสารกับคนในครอบครัว หรือต้องการให้ลูกหลานเรียนภาษาจีนต่อ
ปิติ ทายาทสำนักพิมพ์รุ่นที่ 2 กล่าวว่า ยุคนั้นวิธีทำการตลาดของหนังสือคือการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่จำหน่ายในประเทศไทย รวมถึงการบอกปากต่อปากจากนักเรียนไทยผู้ที่เรียนภาษาจีน
ปิติ ทวีวัฒนสาร เจ้าของร้านหนังสือและสำนักพิมพ์รวมสาส์น 1977
“เวลาอาก๋ง อาม่า อ่านหนังสือพิมพ์ เขาเห็นว่ามีพจนานุกรมจีน-ไทยด้วยนะ เขาก็บอกลูกหลาน เอ้า! ใครเรียนภาษาจีนอยู่ ไปซื้อติดบ้านไว้หน่อย หรือไม่ก็ อั๊วจะคุยกับหลาน ไม่รู้จะอธิบายภาษาไทยว่าอย่างไร ก็ซื้อไว้หน่อยสักเล่ม”
หลังจากพจนานุกรมจีน-ไทย ถูกตีพิมพ์ไป สำนักพิมพ์รวมสาส์นก็เป็นที่รู้จักในนามสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสืออ้างอิง นำมาสู่การนำเสนอต้นฉบับของนักวิชาการในภาษาอื่นๆ เช่น พจนานุกรม ฝรั่งเศส-ไทย, เยอรมัน-ไทย รวมถึงภาษาอังกฤษ-ไทย หรือพจนานุกรมในรูปแบบภาษาเฉพาะ เช่น ศัพท์ภาษาอังกฤษของนักกฎหมาย, ภาษาอังกฤษด้านพฤกษศาสตร์”
“หลังจากท่านอาจารย์เถียรชัย ก็มีนักวิชาการท่านอื่นๆ ตามมา อย่าง ศ.ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ท่านก็ทำพจนานุกรมที่เป็นภาษาเฉพาะ... คนเห็นว่าเราทำได้ ก็มาให้เราทำ เพราะสมัยนั้นการทำพจนานุกรมไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างภาษาอังกฤษกว่าจะทำในหมวดตัว A จบ ก็ใช้เวลาไปมาก บางคนทำได้ครึ่งเดียวเลิก แต่เรามีพันธมิตรที่เป็นนักวิชาการที่ชำนาญ ทำให้ รวมสาส์นฯ รู้จักในนามของสำนักพิมพ์ที่ผลิตพจนานุกรมในแบบของคนไทย ซึ่งมีลิขสิทธิ์และซื้อลิขสิทธิ์ของคนไทย”
“ปกหนึ่ง ก็จะพิมพ์ประมาณ 3,000 เล่ม ใช้เวลา 2-3 ปีหมด ก็จะพิมพ์ขายใหม่ โดยเฉลี่ยถ้าเป็นภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน ก็จะพิมพ์ประมาณ 1-2 ครั้ง ถ้าเป็นภาษาอังกฤษนิยมขึ้นมาหน่อยก็จะ 3-4 ครั้ง ซึ่งก็ถือว่าไม่มากนะ แต่ก็อยู่ในระดับนี้เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนในแต่ละปี แต่ถ้าถามว่าอะไรขายดีสุดก็คงจะเป็นพจนานุกรมจีน-ไทย ซึ่งวันนี้พิมพ์ไปแล้ว 36 ครั้ง มีคำไหนใหม่ ก็จะปรับปรุงไปเรื่อยๆ แต่เราก็จะยึดมั่นในการทำให้ละเอียดที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ถ้าเจอคำผิดแม้แต่คำเดียว มันจะรู้สึกไม่ดีเลยนะ แต่ก็ต้องปล่อยไป ไว้รอพิมพ์ใหม่ถึงจะแก้ไขได้”
พจนานุกรมจีน-ไทย ซึ่งถูกพิมพ์ถึง 36 ครั้ง
- ยุคโรยของหนังสือเล่ม และความทรงจำสีจาง
ถึงตรงนี้ มันก็เป็นไปตามพล็อตเรื่องของธุรกิจที่มีวงจรของการเติบโตและร่วงโรย เช่นเดียวกับหนังสืออย่างพจนานุกรม ที่ไม่ว่าจะเคยเป็นที่จดจำเช่นใด หากก็ต้องจากไปเพราะทางเลือกที่ดีกว่า ถูกกว่า และเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้มากกว่า
“ยอดขายค่อยๆลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปี 2547-2549 ที่มี Talking-Dict (พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่งเสียงได้) ช่วงนั้นเราก็พยายามปรับตัวนะ มีการผลิตเป็น CD ซึ่งผู้ใช้สามารถค้นความหมายศัพท์ได้ด้วยการเปิดโปรแกรม แล้วพิมพ์คีย์คำศัพท์ไป แต่ก็ไปไม่ได้ ขายได้แค่ 100 กว่าแผ่นเท่านั้นเอง เพราะเขาพกพาติดตัวไปก็ใช้งานไม่ได้อยู่ดี ต้องมีคอมพิวเตอร์ด้วย”
นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และทำให้ความต้องการพจนานุกรมแบบเล่ม ล่มสลายไปกาลเวลา โดยปัจจุบันสำนักพิมพ์ไม่ได้สั่งพิมพ์พจนานุกรมใหม่มากว่า 20 ปีแล้ว ยกเว้นพจนานุกรมจีน-ไทย ที่ยังพอขายได้ และพิมพ์เป็นครั้งที่ 36 นั่นเพราะการค้นหาข้อมูลความหมายในภาษาจีนด้วยสื่ออินเทอร์เน็ตยังใช้เวลามากกว่าการเปิดหาในพจนานุกรม
“ศัพท์ภาษาจีน มันเยอะมาก มีการค้นหาที่ต่างจากภาษาอังกฤษ และดูในโทรศัพท์ยังไม่สะดวก ผู้ที่เรียนภาษาจีนก็อยากจะมีพจนานุกรมติดบ้านไว้สักเล่ม ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเป็นรูปแบบการอ่าน เขาก็จะได้ใช้เวลาพิจารณา ได้เห็นคำที่อยู่ก่อนหน้าและตามหลัง ซึ่งก็จะได้อ่าน มีเวลาให้คิดและจดจำได้มากกว่าการหาใน Google”
บรรยากาศสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ รวมสาสน์ 1977 ย่านวังบูรพา ที่ยังเปิดทำการอยู่
เจ้าของสำนักพิมพ์รวมสาสน์ บอกว่า ธุรกิจหนังสือของครอบครัวเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2500 (คศ.1957) ก่อนจะจดทะเบียนการค้าเป็นบริษัทเมื่อ ค.ศ. 1977 ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 60 ปี โดยที่ทุกวันนี้ สำนักพิมพ์รวมสาส์นยังมีหน้าร้าน และจัดจำหน่ายหนังสือที่ยังมีลิขสิทธิ์ โดยเน้นหนังสืออ้างอิง สารคดี นวนิยายไทยในยุคโบราณ แต่ก็ยอมรับว่าผู้อ่านที่แวะเวียนเข้ามาหน้าร้านลดลงมาหลายปีแล้ว
“เราก็พยายามเพิ่มช่องทางจำหน่าย ใน Shopee บ้าง เฟสบุ๊คบ้าง ในหน้าเว็ปบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าก็ไม่ได้มากมายนักเมื่อเทียบกับอดีต ที่ยังทำอยู่เพราะยังมีความรัก และก็ทำกันเล็กๆ ทั้งสถานที่ และ หนังสือก็เป็นสมบัติของสำนักพิมพ์ ไม่ได้มีต้นทุนที่สูงเหมือนกับสำนักพิมพ์ที่ตั้งใหม่”
“ถามว่าเสียดายใหม่ ก็เสียดาย เสียดายวิธีการเรียนรู้ วิธีที่ได้ค่อยๆ พิจารณา อย่างมีสมาธิและจดจำ อย่างถ้าเปิดพจนนานุกรม หรือ ดิกฯ กว่าจะเจอคำเป้าหมาย ก็ต้องผ่านตาอีกหลายคำ ซึ่งผู้เรียนก็ได้จดจำ และผ่านตาความรู้ตรงนั้น”
หากแต่เข้าใจดีว่า ช่วงเวลาของความนิยม และการเป็นหนังสือคู่บ้าน คู่ห้องสมุดโรงเรียน คงจากไปแบบไม่มีวันกลับ
ภาพ : ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์