รู้จัก "ค่าจ้างเพื่อชีวิต" ค่าแรงที่ไม่ใช่และไปไกลกว่า "ค่าแรงขั้นต่ำ"

รู้จัก "ค่าจ้างเพื่อชีวิต" ค่าแรงที่ไม่ใช่และไปไกลกว่า "ค่าแรงขั้นต่ำ"

ชวนดู “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” เงินค่าแรงที่ต่างจาก “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องหาทางออกในยุคที่อะไรๆก็ขึ้นราคา

น้ำมันแพง ของขึ้นราคา และอีกสารพัดสัญญาณขาขึ้นของสินค้าอุปโภคส่งผลกระทบต่อชีวิตและเงินในกระเป๋าของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อราคาสินค้ากับรายได้สวนทางกัน มันจึงไม่แปลกที่นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองจะมุ่งไปที่ค่าแรง เช่น กรณีพรรคเพื่อไทย ที่เสนอนโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาท และผู้ที่จบ ป.ตรีได้  25,000 บาท จึงได้รับความสนใจ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงค่าจ้าง เราก็มักจะนำไปเปรียบเทียบกับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” หรือ “ค่าแรงขั้นต่ำ”  ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้ระบุเกณฑ์ ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งทำให้ค่าแรงทั่วประเทศมีอัตราเฉลี่ยขึ้น 5.02 % โดยมีอัตราสูงสุดที่ค่าจ้าง 354 บาทต่อวันใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต ขณะที่ต่ำสุดค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี

ส่วน กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร อยู่ที่ 353 บาท

รู้จัก \"ค่าจ้างเพื่อชีวิต\" ค่าแรงที่ไม่ใช่และไปไกลกว่า \"ค่าแรงขั้นต่ำ\"

  • “ค่าจ้างขั้นต่ำ” กับ “ค่าแรงเพื่อชีวิต”

นิยามของ “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” นั้นคือการเป็น อัตราค่าจ้างที่เพียงพอสําหรับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ 1 คนให้สามารถดํารงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่สภาพเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงมักเป็นตัวแปรที่นำมาคำนวนถึงความเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่เสมอ

เช่น ใน จ.กรุงเทพมหานคร หากค่าอาหารตามสั่งมื้อละ 50 บาท หมายถึง ค่าอาหาร 1 มื้อจะเป็นสัดส่วน 14.16 ของรายได้ต่อวัน (50 คูณ 100 หารด้วย 353) ซึ่งถ้าใน 1 วันบริโภค 3 มื้อ เท่ากับว่าค่าอาหาร 150 บาท จะเป็น 42.4 % ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งถ้าอ่านถึงตรงนี้แล้วเราก็คงจะพิจารณาได้ว่าค่าแรงขั้นต่ำสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายอื่นๆขนาดไหน เพราะนี่นับเฉพาะค่าอาหาร ยังไมได้นับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตอื่นๆ เช่น ค่าที่พักอาศัย, ค่าเดินทาง, ค่าเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ 

ระหว่างที่เรากำลังถกเถียงเรื่องการดำรงชีพ เราจึงมักได้ยินค่าจ้างอีกประเภทที่เรียกว่า “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” (living wage)  ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่แรงงานที่ได้รับค่าจ้างในระดับต่ำสุด

อิสร์กุล อุณหเกตุ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์อธิบายว่า การยกระดับคุณภาพชีวิตนั้นหมายความว่า ค่าจ้างที่ได้รับต้องทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ  ซึ่งต่างจากค่าจ้างขั้นต่ำของไทยที่ทำให้แรงงาน 1 คนสามารถดํารงชีพอยู่ได้ตามสมควรเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” จึงสูงกว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ”  เพราะใช้หลักคิดของการให้แรงงานนั้นเลี้ยงดูครอบครัวได้ ทั้งนี้เคยมีการศึกษาชุดหนึ่งเมื่อปี 2556 เสนอค่าจ้างเพื่อชีวิตไว้ 483 บาท สำหรับแรงงานคู่สมรสและบุตร 1 คน และ 588 บาท สำหรับแรงคู่สมรสและบุตร 2 คน

“ค่าจ้างเพื่อชีวิต” จึงมีความแตกต่างจาก “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เนื่องจาก ค่าจ้างขั้นต่ำโดยมากมักถูกกำหนดไว้ต่ำกว่าระดับค่าจ้างเพื่อชีวิต ซึ่งทำให้แรงงานไม่สามารถเติมเต็มเป้าหมายได้เลย โดยเฉพาะครอบครัว

รู้จัก \"ค่าจ้างเพื่อชีวิต\" ค่าแรงที่ไม่ใช่และไปไกลกว่า \"ค่าแรงขั้นต่ำ\" แฟ้มภาพ Nation Photo

 

ปกป้อง จันวิทย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อธิบายในบทความ “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” ตอนหนึ่งว่า วิธีการคำนวณระดับค่าจ้างเพื่อชีวิต หลักการใหญ่ก็คือ ค่าจ้างเพื่อชีวิตคือค่าจ้างสุทธิที่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐาน เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่าพลังงาน ของครอบครัวเฉลี่ยครอบครัวหนึ่งได้ ทั้งนี้ รายการและมูลค่าของสินค้าพื้นฐานของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันตามลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่นั้น นักเศรษฐศาสตร์บางคนเสนอให้เผื่อยอดเงินออมเข้าไว้ในการคำนวณด้วย

ในบางกรณี ค่าจ้างเพื่อชีวิตมีค่าเท่ากับระดับค่าจ้างที่แรงงานเต็มเวลาคนหนึ่งสามารถเลี้ยงครอบครัวที่มีขนาดเฉลี่ย 4 คน ณ ระดับเส้นความยากจนได้ ในบางกรณีใช้รายจ่ายพื้นฐานของครอบครัวที่ทำให้ใช้ชีวิตที่ดีและปลอดภัยได้ (Basic Budget) เป็นหลักในคำนวณแทนเส้นความยากจน ซึ่งมีแนวโน้มจะมีระดับต่ำกว่าสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ

  • ค่าใช้จ่ายจริง แค่ไหนถึงพอ

ถึงตรงนี้ ผู้เขียนจะนำสิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานทั้งหมดที่คนเราทุกคนจำเป็นต้องจ่าย ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย และค่าเดินทาง มารวมกัน

แม้ค่าอาหารของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันในแต่ละวัน แต่ก็มี “ค่าข้าว” ที่ทุกคนต้องจ่ายเป็นอย่างต่ำมาคำนวณ อย่าง ราคาข้าวกะเพราหมูหรือไก่ ไข่ดาว เมนูมาตรฐานที่คนมักจะกินเป็นลำดับต้นๆ ของอาหารตามสั่ง โดยยึดจากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ค่าข้าวกะเพราส่วนใหญ่อยู่ที่ 40-50 บาท คนเราปกติที่กินข้าว 3 มื้อ ก็จะต้องจ่ายค่าข้าววันละ 150 บาท (50 บาท จำนวน 3 มื้อ)  

จากนั้นลองคำนวนค่าที่พักอาศัย โดยสมมติว่าเสียค่าเช่าห้อง รวมค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจิปาถะว่าด้วยที่อยู่อาศัย 3000 บาทต่อเดือนคิดเฉลี่ย เป็นวันละ 100 บาท

สุดท้ายเป็นเรื่องค่าเดินทาง ซึ่งเลือกค่าเดินทางที่ต่ำที่สุดคือรถเมล์สีครีม-แดง โดยมีค่าโดยสาร 8 บาทตลอดสาย ไป-กลับ 16 บาท ทั้งนี้จะขอรวมขนส่งมวลชนขนาดเล็กเช่นรถสองแถว มอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าไปด้วย โดยใช้ตัวเลข 10 บาท ไป-กลับ 20 บาท ทำให้ค่าเดินทางในแต่ละวัน อยู่ที่วันละ 36 บาท

เมื่อรวมบรรทัดสุดท้าย ค่าใช้จ่ายจริงของคน 1 คนจะอยู่ที่ 286 บาท (150+100+36)  ซึ่งถือเป็นร้อยละ 81.01 ของรายได้ทั้งหมด  และอย่าลืมว่า นี่คือตัวเลขขั้นต่ำของการใช้ชีวิตเพียงคนเดียว ไม่นับรวมการมีครอบครัว ซึ่งต้องบริโภคมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น

รู้จัก \"ค่าจ้างเพื่อชีวิต\" ค่าแรงที่ไม่ใช่และไปไกลกว่า \"ค่าแรงขั้นต่ำ\" แฟ้มภาพ Nation Photo

อย่างไรก็ตาม “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” ที่ไปไกลกว่า “ค่าแรงขั้นต่ำ” ทุกวันนี้ก็เป็นเพียงค่าจ้างในอุดมคติ เพราะแม้การคิดค่าจ้างเช่นนี้จะช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงมีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคงต่อการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด แต่อีกทางหนึ่งได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ กิจการ SMEs และอุตสาหกรรมประเภทใช้แรงงานเข้มข้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจลดลง

ขณะที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวโดยลดการจ้างงาน ลดต้นทุนการผลิต หรือย้ายฐานการผลิตไปผลิตในประเทศที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า

แนวทางการขึ้นค่าแรง และค่าจ้างอื่นๆในแต่ละครั้งจึงชวนติดตามและเดิมพันด้วยอนาคตของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

อ้างอิง : ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับที่ 11องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ