"ลดฝุ่น เพิ่มรายได้ แค่ไม่เผา" อีกทางออกของปัญหาฝุ่น PM 2.5. อย่างยั่งยืน

"ลดฝุ่น เพิ่มรายได้ แค่ไม่เผา" อีกทางออกของปัญหาฝุ่น PM 2.5. อย่างยั่งยืน

ถอดบทเรียนแก้ปัญหา "ฝุ่น PM 2.5" ผลพวงจากพฤติกรรมมนุษย์ สู่ "โมเดลลดเผาในที่โล่ง" สร้างรายได้ให้ชุมชน ช่วยลดการเผาอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน

กลายเป็นแขกประจำฤดูกาลของประเทศไทยไปเสียแล้ว สำหรับ ฝุ่น PM 2.5 ที่ในทุกฤดูหนาวต้องแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนเป็นประจำทุกปี ยิ่งหลังวิกฤติโควิดผ่านพ้น เมื่อทุกคนเริ่มกลับมาดำเนินชีวิต มีกิจวัตรเป็นปกติอีกครั้ง คลับคล้ายว่าจะยิ่งกระตุ้นให้ปัญหาฝุ่น ยิ่งเพิ่มวิกฤติ จนนำมาสู่เสียงสะท้อนด้วยความกังวลจากผู้เชี่ยวชาญที่พากันคาดการณ์ว่าปัญหาเรื่องฝุ่นจิ๋วปีนี้ "ไม่เล็ก" ไปกว่าทุกปี

"ฝุ่น" ปัญหาจากพฤติกรรม?

ว่าตามจริง เราทุกคนต่างรับรู้กันอยู่แล้วว่าฝุ่นควันนั้นไม่ได้เกิดเองจากธรรมชาติ แต่เป็นผลพวงจากพฤติกรรมในชีวิตของเราทุกคน ทั้งจากปัญหาควันจากการเผา ควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ การก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงภาคครัวเรือน ไม่นับรวมถึงปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เหมือนจะช่วยซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่ง

ประเทศไทย เผชิญฝุ่นมายาวนานมากกว่า 10 ปีโดยไม่ตระหนักรู้ แต่เมื่อปัญหา PM 2.5 เริ่มรุนแรง เรื่องฝุ่นจึงถูกหยิบยกพูดถึงในประเทศไทยต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา แต่วันนี้ฝุ่น PM 2.5 กำลังกระจายลอยไปทั่วชั้นบรรยากาศของไทยจนยากจะแก้ไข โดยเฉพาะในพื้นที่ "ภาคเหนือ" ที่ปัจจุบันคืออีกหนึ่งพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เผชิญปัญหา มลพิษทางอากาศ ขั้นวิกฤติ เพราะมีฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานในทุกช่วงหน้าแล้งต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว

\"ลดฝุ่น เพิ่มรายได้ แค่ไม่เผา\" อีกทางออกของปัญหาฝุ่น PM 2.5. อย่างยั่งยืน

ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากรายงานโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า ปี 2565 พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีจำนวนจุดความร้อนสะสมในพื้นรวม 17,258 จุด และมีพื้นที่เผาไหม้สะสมรวม 2,376,648 ไร่ ดังนั้นการส่งเสริมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงได้มีส่วนร่วมในการวางแผน ออกแบบ เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาวะ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

"การเผาในที่โล่ง การเผาเศษวัสดุและพืชทิ้งจากภาคการเกษตร เป็นปัจจัยที่ช่วยเติมฝุ่นควันจนส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ด้วยจากสภาพทางอุตุนิยมวิทยาและลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือเองที่เป็นแอ่งกระทะรายล้อมด้วยภูเขายังขังฝุ่นไม่สามารถลอยตัวออกไปได้" ชาติวุฒิ กล่าว

\"ลดฝุ่น เพิ่มรายได้ แค่ไม่เผา\" อีกทางออกของปัญหาฝุ่น PM 2.5. อย่างยั่งยืน

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงปัจจัยหรือสาเหตุที่ก่อเกิดฝุ่นมาจาก 2 ส่วนคือ ปัจจัยทางกายภาพ และปัจจัยจากการกระทำของมนุษย์ จริงๆ แล้ว ตัวเรามีการสร้าง ฝุ่น PM 2.5 ตลอดเวลา แต่ถ้าเกิดสภาพอากาศดีมีลมพัด ตัวหมอกควันลอยสูง ฝุ่นควันก็จะไม่สะสมในชั้นบรรยากาศ แต่ถ้าในบางพื้นที่ อาทิ ภาคเหนือ ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ หรือบางช่วงเวลา เช่น ฤดูหนาว ที่เป็นช่วงที่ไม่มีลมบรรยากาศลอยตัวต่ำ ทำให้หมอกควันที่เกิดขึ้นในช่วงนี้สะสมปริมาณสูง จนทำลายสุขภาพได้

"ปัญหาหมอกควันเกิดจากหลายที่มา ทั้งการเผาป่า การเผาในที่โล่ง รวมถึงการเผาเศษวัสดุการเกษตร แต่สำหรับคนในเมืองการใช้ยานยนต์สัญจรอาจมีผลกระทบมากที่สุด โดยปัญหาหลักของ 17 จังหวัดภาคเหนือพบว่า ปัจจัยสำคัญคือ การเผาในที่โล่ง จากการเผาวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนน่าจะประมาณ 30% ที่เป็นสาเหตุปัญหาหมอกควันในพื้นที่" ปิ่นสักก์ กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะเข้ามาดำเนินการแก้ไข เช่น มีนโยบายนัดวันเผา แต่ก็มองว่าทางแก้เหล่านี้ยังเป็นนโยบายเฉพาะหน้า ซึ่งทำให้วันนี้จึงมีทางเลือกใหม่มาช่วยส่งเสริมให้ชุมชนต้นแบบลดการเผาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน หลังฟากฝั่งภาคเอกชนบางรายร่วมมือ และนำเสนอแนวคิดโครงการ ลดการเผาในที่โล่งด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร 

\"ลดฝุ่น เพิ่มรายได้ แค่ไม่เผา\" อีกทางออกของปัญหาฝุ่น PM 2.5. อย่างยั่งยืน

เปลี่ยนเผา สร้างเป็นเงิน 

ชาติวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. มีการดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายที่มีความตระหนักต่อเรื่องนี้ในหลายมาตรการเพื่อจูงใจ ลดการเผา ในพื้นที่ โดยล่าสุด เพื่อแก้ปัญหาลดการเผาในที่โล่ง หยุดต้นตอฝุ่นควันตั้งแต่ต้นทาง สสส. จึงร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สภาลมหายใจภาคเหนือ (สภน.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (มจ.) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และจังหวัดลำปาง ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยสสส. และ กรมควบคุมมลพิษ ร่วมด้วยเครือข่ายทุกภาคส่วนยังร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ "เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง" โดยเชื่อว่าจะเป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันสนับสนุน ดูแลป้องกันปัญหาการเผาในที่โล่ง และแก้ไขปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม อย่างมีประสิทธิภาพ 

\"ลดฝุ่น เพิ่มรายได้ แค่ไม่เผา\" อีกทางออกของปัญหาฝุ่น PM 2.5. อย่างยั่งยืน

"ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ มองว่าจำเป็นต้องมีภาคเอกชนมามีส่วนร่วม เพราะเขามีศักยภาพในฐานะผู้ลงทุนและในการรับซื้อสิ่งเหล่านี้จากชุมชนได้ ดังนั้น รัฐ เอกชน และชุมชน จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน" ชาติวุฒิ กล่าว

ชาติวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับในการนำร่องโมเดลลดเผาในที่โล่งด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทางโครงการมีการดำเนินงานเอสซีจี 3 ปี โดยจะขยายให้ครอบคลุมในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พิษณุโลก ตาก และอุตรดิตถ์

วรการ พงษ์ศิริกุล ผู้อำนวยการโรงงานปูนลำปาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด เปิดใจถึงความมุ่งหมายที่นำมาสู่ความร่วมมือครั้งนี้ว่า โครงการชุมชนต้นแบบ ลดการเผา เริ่มจากเอสซีจี มีเป้าหมายต้องการสร้างรายได้ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน จึงมองหาวิธีการที่ทำอย่างไรให้ชุมชนได้ประโยชน์ โดยสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และประเทศในภาพรวมก็ได้ประโยชน์ ซึ่งเอสซีจีมีนโยบายการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Net Zero Emission) จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากการใช้ฟอสซิลของภาครัฐ 

โดย เอสซีจี จะรับซื้อเศษวัสดุการเกษตร ได้แก่ ฟางข้าวอัดแท่ง เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลทดแทนการใช้ เชื้อเพลิงฟอสซิล ในราคาเฉลี่ยก้อนละ 30 บาท โดยเอสซีจียังเป็นผู้บริจาคเครื่องอัดฟางแก่เกษตรกรในครั้งแรก ทั้งช่วยลดต้นทุนการขนส่ง โดยให้รถขนปูนที่ออกจากโรงงาน สามารถแวะรับเศษวัสดุฟางขากลับโรงงาน ยิ่งสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่ม

"ผลจากการที่ปูนซิเมนต์ไทย สาขาลำปาง รับซื้อเชื้อเพลิงทดแทนต่อเนื่องกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา เรารับซื้อไปแล้วหนึ่งแสนห้าหมื่นตัน เทียบเท่า 25% ของปริมาณเชื้อเพลิงฟอสซิลที่โรงงานใช้ โดยสร้างรายได้ให้ชุมชนที่ร่วมโครงการนี้กับเราใน 7 ชุมชนที่ร่วมโครงการเพิ่มขึ้นประมาณ 9 แสนบาท ส่วนโรงงานได้รับเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล 600 ตันต่อปี และสามารถช่วยลด CO2 ได้มากกว่า 600 ตันต่อปี หรือเทียบเท่าลดการเผา 6000 ไร่ แม้วันนี้มองดูตัวเลขอาจไม่เยอะมาก แต่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเอสซีจียังตั้งเป้าจะรับซื้อให้ได้ 100% ในอนาคต" วรการ กล่าว

วรการ กล่าวต่อว่า ในชุมชนเองยังสามารถผลิตฟางแท่งและนำไปจำหน่ายให้สมาชิกชุมชนกลุ่มที่เลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นอาหารสัตว์ จากเดิมที่เขาต้องซื้อฟางจากภายนอกก้อนละ 30 บาท แต่พอร่วมโครงการนี้ยังลดต้นทุนค่าซื้อเหลือเพียง 13 บาทต่อก้อน สามารถประหยัดได้กว่าครึ่ง

"เราเชื่อว่า เมื่อชุมชนมีส่วนร่วมก็ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย สุดท้ายก็จะเกิดการเดินหน้าขับเคลื่อนด้วยตัวเอง และยังสามารถขยายไปสู่ชุมชนต่างๆ มากขึ้น ซึ่งส่งผลบวกด้านสิ่งแวดล้อมต่อประเทศในภาพรวมคือ ช่วยลดหมอกควันและ PM 2.5" วรการ กล่าว

พลิกความคิด ชีวิตเปลี่ยน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเสริมว่า การส่งเสริมให้ชุมชนเกิดรายได้ในพื้นที่ กรมควบคุมมลพิษ จึงร่วมกับ สสส. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พยายามสร้างโมเดลแทนที่จะเผา นำขยะวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร นวัตกรรมจากขยะ เป็นปุ๋ยบ้าง นำมาใช้บ้าง นำมาเป็นศักยภาพใหม่ สร้างรายได้ชุมชน หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาเครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ หันมาเห็นคุณค่าเศษขยะและวัสดุเหลือทิ้ง โดยนำมาสร้างมูลค่าเพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือน

\"ลดฝุ่น เพิ่มรายได้ แค่ไม่เผา\" อีกทางออกของปัญหาฝุ่น PM 2.5. อย่างยั่งยืน

อีกต้นแบบที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นอีกพื้นที่ชุมชนที่มีการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สามารถนำไปแปรรูป สร้างมูลค่าให้กับชุมชนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผาในที่โล่ง อีกทั้งร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันดูแลรักษา ด้วยกระบวนการ "นำเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในไร่นา" ซึ่งเป็นอีกทางเลือกในการ ลดการเผา ด้วยการทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของเศษขยะ ใบไม้หรืออินทรียวัตถุให้แปลงตัวเองสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าได้ ท้ายสุดการลดค่าใช้จ่าย ซื้อปุ๋ยอินทรีย์จากภายนอก

เปรมศักดิ์ สุริวงค์ใย ตัวแทนฮักกรีน กล่าวว่า การคุยเรื่องของ PM 2.5 เรื่องของฝุ่นในอากาศ เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องที่ชาวบ้านเขาจะฟัง หรือมันอาจต้องอธิบายอีกเยอะ เพราะสำหรับเขาเรื่องปากท้องมาก่อน แต่ถ้าเราพูดเรื่องรายได้เพิ่ม การทำเกษตรช่วยให้เกิดผลกระทบในวงกว้างค่อนข้างเยอะ มันเป็นสิ่งที่เขาหยิบจับได้ และเห็นภาพง่ายขึ้น แม้การเดินหน้าจะประสบความสำเร็จ เมื่อชุมชนหันมาเป็นเห็นคุณค่าขยะ ทั้งสร้าง เศรษฐกิจหมุนเวียน ในชุมชน แต่เขาก็ยอมรับว่า เป็นเรื่องความสมัครใจ ไม่สามารถบังคับได้ ทำให้ยังไม่สามารถลดการเผาในชุมชนได้ 100%

"หากเราไม่ได้เผา แต่คนรอบข้างหรือชุมชนรอบข้างเรา เขาก็เผาแทน ดังนั้น พยายามให้ทางท้องถิ่นขยายผลเข้าไป ซึ่งมองว่าหากมี 10 หมู่บ้านทำตามจนกลายเป็นฮับเกษตรอินทรีย์ที่ลดการเผา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนก็จะเกิดความเข้าใจเยอะขึ้น สิ่งที่เราจะสร้างให้เห็นคือเรื่องรายได้ที่นำกลับมาสู่ชุมชน ขายปุ๋ยได้ ขายผักได้ มีเงินพัฒนาชุมชน" เปรมศักดิ์ กล่าว

\"ลดฝุ่น เพิ่มรายได้ แค่ไม่เผา\" อีกทางออกของปัญหาฝุ่น PM 2.5. อย่างยั่งยืน

กทม. สู้ฝุ่น

อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่าปัญหาฝุ่นนั้น มนุษย์ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาฝุ่นควันได้พ้น

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ-ThaiPBS สำนักการศึกษา และห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม จัดกิจกรรมเปิดตัวและอบรมเชิงปฏิบัติการ "โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร" เพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 โดยมีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เข้าร่วม 34 โรงเรียน  

สำหรับห้องเรียนสู้ฝุ่น เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ สสส. และภาคี ได้ร่วมกันสร้างต้นแบบ โดยในปีแรกมีการนำร่องใน 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน รวม 30 โรงเรียน ต่อมามีการขยายผลผลักดันต่ออีกใน 7 จังหวัด ภาคเหนือ และภาคอีสานอีก 2 จังหวัด ล่าสุดยังขยายสู่กรุงเทพฯ 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วง พ.ย. - มี.ค. ของทุกปี ซึ่ง สสส. ได้สานพลังทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการจัดโครงการ "ห้องเรียนสู้ฝุ่น" สร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงผ่านการเรียนการสอนจากครูสู่เด็กและเยาวชน แล้วส่งต่อไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคม มุ่งเป้าสำคัญ 3 ประการ

  1. สร้างสถานศึกษาต้นแบบรับมือฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพ
  2. พัฒนาระบบข้อมูล องค์ความรู้ และสื่อ ให้เป็นเครื่องมือในการขยายผลและสร้างกลไกที่เกี่ยวข้องระดับชุมชน สำนักงานเขต และสังคม
  3. สานพลังหน่วยงานและภาคีเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพ รับมือกับภัยจากฝุ่น PM 2.5 ร่วมกัน

ทั้งนี้ สสส. มีแผนจัดกิจกรรมธงสุขภาพ ครอบคลุม 437 โรงเรียนในสังกัด กทม. 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็วของกรุงเทพมหานคร ทั้งการก่อสร้างถนน รถไฟฟ้า ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคน เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 สามารถแพร่กระจายได้แบบไม่มีขอบเขต จึงเป็นความท้าทายของทุกหน่วยงานที่จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและเร่งด่วน โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สนับสนุน ระดมสรรพกำลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และบรรลุผลเป้าหมาย กรุงเทพฯ มีค่าฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ภายในปี 2566 ทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

"ห้องเรียนสู้ฝุ่น คือการให้ข้อมูลพื้นฐานผ่านนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้รู้สภาพฝุ่นพื้นที่เป็นอย่างไร ปัจจุบันมีโรงเรียนนำร่อง 34 แห่ง กทม. มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะเยาวชนเป็นกลุ่มที่รับฝุ่นมากที่สุด และสะสมในระยะยาว การมีความรู้ยังสามารถนำไปดูแลป้องกันตัวเอง และไปขยายความรู้ต่อด้วย ขณะเดียวกัน กทม. ยังเดินหน้าต้องทำต่อไปในหลายเรื่อง อาทิ การรณรงค์การกำจัดต้นตอฝุ่น การมีอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น รวมถึงการหาพื้นที่ปลอดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบาง" ชัชชาติ กล่าว

ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล ที่ปรึกษาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น กล่าวว่า จริงๆ แล้ว เด็กในกทม. จำเป็นอย่างยิ่งต้องเรียนรู้ปัญหาเรื่องฝุ่นในทุกภาค เพราะเขาเจอทั้งควันในการเผาด้านการเกษตรจากพื้นที่ข้างเคียง เขาเจอแหล่งกำเนิดที่มาจากยานยนต์ ในโรงงานอุตสาหกรรม แม้แต่การก่อสร้าง ซึ่งอันตรายมาก สิ่งสำคัญคือ เราเน้นให้เขาค้นคว้าด้วยตัวเอง และสนับสนุนการบูรณาการด้านการเรียนรู้ แต่จากการลงพื้นที่เพื่อค้นหาว่าเด็กในกลุ่มพื้นที่ไหนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเยอะ อยู่ในเขตที่มีมลพิษสูง แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ เด็กกทม. ที่เรามองว่าน่าจะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวมากกว่า กลับมีความรู้ความเข้าใจเรื่องฝุ่นผิวเผินมาก

"เด็กกทม. รับเรื่องฝุ่นทั้งปี แต่เขาไม่รู้ตัวเพราะไม่มีเครื่องวัดว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ไหน ภาคเหนือเจอหนักก็จริงแต่เจอเฉพาะฤดูกาล คือช่วงหน้าการเกษตร แต่หลังจากนั้นอากาศดี แต่กทม. ไม่ใช่ สิ่งที่เราคาดหวังคือการขยับต่อของโรงเรียนและหน่วยงานในกทม. ที่เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญและเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องร่วมกัน" ดร.นิอร กล่าว

แม้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังคงไม่สิ้นสุดลงในวันนี้ แต่อย่างน้อยการสร้างความตระหนักรู้ และเข้าใจถึงอันตรายที่ร้ายแรงของฝุ่นมากขึ้นในจิตสำนึกคนไทย อาจเป็นหนทางออกที่สำคัญในการช่วยให้ทุกคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองในฐานะผู้สร้างฝุ่น "น้อยลง"