ย้อนสำรวจพฤติกรรม "นักท่องเที่ยวจีน" แขกคนสำคัญของ "การท่องเที่ยวไทย"
การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ส่งสัญญาณเชิงบวกกับธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้กลับมา และในโอกาสนี้เราทบทวนความจำว่าด้วยพฤติกรรมของ “นักท่องเที่ยวจีน” ในฐานะแขกคนสำคัญของการท่องเที่ยวไทย
ก่อนจะมีโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีน คือ ทัวร์ริสต์กลุ่มหลักในไทยอย่างไม่ต้องสงสัย ร้านอาหารดัง ตลาดผลไม้ ชายหาดท่องเที่ยว ตัวเมืองเชียงใหม่ และอีกฯลฯ ล้วนเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจีน โดยรายงานสรุปสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย พบว่า เมื่อปี 2018 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยกว่า 10.9 ล้านคน ครองอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยใน 5 อันดับแรก รองลงมาคือ มาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ ตามลำดับ ขณะที่เมื่อ พ.ศ.2558 ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศเป็นอันดับที่ 2 รองจากฮ่องกง
หากแต่เมื่อเกิดโรคระบาดต่อเนื่อง สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยก็ซบเซา จนกระทั่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนไฟลท์แรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม ซึ่งส่งสัญญาณเชิงบวกกับธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง และในโอกาสนี้เราทบทวนความจำว่าด้วย “นักท่องเที่ยวจีน” ถึงกระแสความนิยมในประเทศไทย
- Soft Power แบบไทยๆ ในความรู้สึกคนจีน
ทำไมคนจีนถึงอยากมาไทย? คำถามนี้คือคำถามแรก โดยที่คำตอบคือคนจีนรู้สึกด้านบวกกับคนไทยมานาน จากความผูกพันด้านประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ อาหาร เพลง ภาพยนตร์ ฯลฯ
ยิ่งเมื่อย้อนไปเมื่อ ช่วงปี 55-56 ภาพยนตร์ที่ถูกพูดถึงและนิยามว่าเป็นการสร้างเสน่ห์ของไทยต่อนักท่องเที่ยวจีนคือภาพยนตร์เรื่อง Lost in Thailand ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในจีนเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 55
ภาพยนตร์ Lost in Thailand ที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน
เว็ปไซต์ Chinadaily รายงานว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเรื่องหนึ่ง โดยเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้กว่า 700 ล้านหยวน หรือประมาณ 3,440 ล้านบาท
Lost in Thailand เล่าเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศสนุกสนานในภาพยนตร์ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่กล่าวถึงและบอกเล่าปากต่อปาก มีชาวจีนจำนวนมากตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวไทยเพื่อใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นับตั้งแต่ที่ Lost in Thailand เข้าฉายในจีน มีชาวจีนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ไปแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 30 ล้านคน และชาวจีนส่วนใหญ่ก็มีความต้องการที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย หลังจากที่ชมภาพยนตร์แล้วเสร็จ
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ให้ข้อมูลว่า Soft Power ของไทยได้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ เช่น ตลาดภาพยนตร์ ตลาดละคร-ซีรีส์ ซึ่งได้รับความนิยมในจีน รวมถึงมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง อาทิ รักแนววาย สยองขวัญระทึกขวัญ โดยความบันเทิงดังกล่าวได้รับการจัดอันดับ และได้รับการเผยแพร่ในแพลตฟอร์มอื่นอย่างแพร่หลาย
ละครบุพเพสันนิวาสที่ได้รับความนิยมในจีน (ภาพจากเฟสบุ๊ค)
- พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีน 6 กลุ่ม
รายงาน "การวิเคราะห์แบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนตามพฤติกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย" ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการท่องเที่ยวไทยนานาชาติ ได้ทำการสำรวจจุดหมายการท่องเที่ยวของคนจีนในไทยเพื่ออธิบายว่า นักท่องเที่ยวจีนมาไทยแล้วไปไหน?
งานวิจัยนี้ได้ข้อมูลจากการสอบถามนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวในเมืองไทย ระหว่างปี 2556-2558 เป็นจำนวน 1,900 ตัวอย่าง ซึ่งอธิบายลักษณะและที่ไปของนักท่องเที่ยวจีนที่มาในไทยว่า นักท่องเที่ยวจีนมีทั้งแบบ “มาด้วยตัวเอง” และ “มากรุ๊ปทัวร์”
บรรยากาศการท่องเที่ยวของกรุ๊ปทัวร์จีน (ภาพ Nation Photo)
กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยด้วยตัวเองนั้น จะสามารถแบ่งได้เป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มดูวิถีชีวิตและแสงสียามค่ำของเมืองกรุง กลุ่มนี้เหมาะกับคนจีนที่เคยมาเมืองไทยแล้ว และมีค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมจำกัดกว่าคนอื่นๆ ส่วนใหญ่มักเป็นโสด มากับเพื่อน และค้างในไทยแค่ราว 5 คืน
2. กลุ่มเที่ยวประวัติศาสตร์กรุงเทพ-ผจญภัยภูเก็ต โดยคนที่เที่ยวแนวนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง มักมากับเพื่อนหรือคู่สมรส ใช้บริการนวดสปา กินอาหารไทย และทำกิจกรรมผจญภัย เช่น พายเรือแคนู ไต่หน้าผา หรือขับรถ ATV ราวร้อยละ 77.66 มาเมืองไทยครั้งแรก และอยู่ในประเทศค่อนข้างนานถึง 7 คืน
3. กลุ่มเที่ยวกระบี่-ภูเก็ต โดยเป็นกลุ่มนี้อายุเฉลี่ยกลางๆ เคยมาเมืองไทยอยู่บ้าง อยู่ในประเทศ 5-6 วัน ค่าใช้จ่ายในการซื้อของและทำกิจกรรมก็กลางๆ แต่จุดร่วมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็คือ ชอบทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทะเล ทั้งทำกิจกรรมริมหาดไปจนถึงดำน้ำตื้น นอกจากนี้ ยังชอบท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ใช้บริการนวด สปา ชมแสงสียามค่ำคืน และกินอาหารไทย
ภาพนักท่องเที่ยวจีนในวัดที่ในช่วงโควิด-19 เราเห็นกันจนชินตา
กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ชอบเที่ยวทะเล
4.นิเวศในเมืองหลวง-แสงสีชลบุรี สนใจการเที่ยวเชิงนิเวศในเมืองหลวง เช่น เดินชมสวนสาธารณะ สวนสัตว์ แต่พอไปที่ชลบุรีจะลุยเข้าดงแสงสี กลุ่มนี้มีถิ่นที่อยู่บริเวณกว่างโจว เซี่ยงไฮ้ เดินทางมากับเพื่อนหรือคนเดียว มาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ติดต่อธุรกิจ จุดเด่นที่สำคัญ คือ มีค่าใช้จ่ายในการซื้อของมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
5.ทะเลภูเก็ต-ชลบุรี คนที่เลือกแพ็คเกจนี้ มักเป็นผู้หญิง และเป็นวัยรุ่น เพราะอายุเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ เห็นได้ชัด คือแค่ 25 ปีเท่านั้น กลุ่มนี้มาเพื่อพักผ่อนให้เต็มที่ จึงมักอยู่ยาว9-10 คืน สถานที่ที่คนกลุ่มนี้ไป จึงมักเป็นทะเล ชายหาด ดำน้ำ กินอาหารไทย และดูประวัติศาสตร์
6.เชียงใหม่ มักเดินทางมากับเพื่อนหรือคนเดียว มาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ติดต่อธุรกิจ เน้นกิจกรรมที่หาได้ครบในเชียงใหม่ ทั้งเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงผจญภัย เชิงประวัติศาสตร์ ใช้บริการนวด สปา แสงสียามค่ำคืน
ส่วนกรณีมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มคือ 1.กรุงเทพ-ชลบุรีนิยมมาท่องเที่ยวในจังหวัดหลักๆ ของภาคกลาง ตะวันออก 2. เที่ยวหลากหลายชลบุรีซึ่งเน้นทำการท่องเที่ยวทุกอย่างให้จบในจังหวัดเดียว
3.กรุงเทพ-เชียงใหม่ เน้นท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ชิมอาหารท้องถิ่น 4.ทะเลภูเก็ต เป้าหมายชัดเจนคือมากิน-เที่ยวในภูเก็ต เน้นทำกิจกรรมทางทะเล 5.ภูเก็ต-ดำน้ำกระบี่ เน้นทำกิจกรรมทางทะเล แต่นอกจากอยู่ในภูเก็ตแล้ว ยังจะไปทำกิจกรรมต่อที่กระบี่อีกด้วย
ขณะเดียวกันหากจำแนกเป็นรายจังหวัด จะพบว่า 7 จังหวัดที่เป็นความนิยมของคนจีนนั้น คือ กรุงเทพฯ, ชลบุรี, ภูเก็ต, เชียงใหม่ ,กระบี่, สุราษฎร์ธานี, เชียงราย ตามลำดับ
แม้ทั้งหมดจะเป็นข้อมูลในช่วงก่อนโควิด-19 หากแต่ในฐานะเจ้าบ้านพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนก็ยังชวนติดตาม ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะในวันที่เศรษฐกิจไทยต้องการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว โดยที่นักท่องเที่ยวจีนเองก็ถือเป็นแขกคนสำคัญ
อ้างอิง : รายงานการวิเคราะห์แบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนตามพฤติกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย, ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน