“ชลิต นาคพะวัน” ศิลปิน 24 ชั่วโมง ใช้ "ศิลปะ" สร้างโลกให้น่าอยู่
เป็นศิลปิน เป็นครู เป็นนักออกแบบ สอนศิลปะ แฟชั่น เท็กซ์ไทล์ เป็นนักเขียน สอนศิลปะเด็ก สอนคนตาบอดวาดรูป สอนปั้นงาน จนถึงระดมทุนหาเงินเข้าวัด ยังมีอะไรที่ “ชลิต นาคพะวัน” ยังไม่เป็น...
“คนเราทุกคนหาโอกาสให้ตัวเองได้ ไม่ใช่คอยให้โอกาสวิ่งมาหา” ชลิต นาคพะวัน ศิลปินที่ทำงานหลากหลายเล่า
วันนี้ศิลปิน ชลิต นาคพะวัน เฟดตัวเองจากงานสอนหนังสือ แต่ก็ยังมีอีกหลายงานยาวเป็นหางว่าว...ที่ใช้ ศิลปะ ทำงาน
“ก่อนหน้านี้สอนที่ ม.ศิลปากร ทับแก้ว กับ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นอาจารย์พิเศษ สอนมา 10 ปีแล้ว แต่ก่อนเดินทางไปทับแก้ว นครปฐม กับรังสิต เดินทางอาทิตย์ละ 3 วัน สอนปี 1 กับปี 4 ภาควิชาแฟชั่น เพ้นท์ ปั้น ดรอว์อิ้ง วิชาพื้นฐาน สอนเท็กซ์ไทล์ที่ธรรมศาสตร์ วิชาเลือกอีก และตอนนี้งานเราเยอะด้วยเลยพอดีกว่า”
เป็นศิลปินที่ไม่ได้สอนแต่งานศิลปะ แต่ใช้ศิลปะเป็นครูส่งต่อให้คนรุ่นใหม่
“สอนเด็กปี 4 เป็นที่ปรึกษาทำธีซิสด้านแฟชั่น เช่นทำชุดเรดี้ ทู แวร์, สปอร์ตแวร์ งานคอนเซปต์ช่วล และการปั้นแบรนด์ ยกตัวอย่าง วิเวียน เวสต์วู้ด, หลุยส์, กุชชี่ สร้างแคแรกเตอร์ยังไง เด็ก ๆ เขาเรียกร้องอยากให้สอน เพราะดีไซเนอร์เขาเรียนด้านแพทเทิร์น เรื่องนี้จึงให้อาร์ติสต์สอน”
และอาร์ติสต์ก็ใช่ว่าทุกคนจะสอนได้ ต้องเป็นคนที่สนใจ ศึกษา มีข้อมูล
“เพราะเรื่องไอเดียสำคัญ ความคิดสร้างสรรค์ มันยาก ต้องเป็นศิลปินที่สนใจเรื่องแฟชั่นด้วย สนใจโลก บางคนเขาอาจทำงานศิลปะของเขาในแกลเลอรี่ แต่เราสนใจหลากหลาย แฟชั่น ออกแบบ ตกแต่งภายใน งานสถาปัตย์ โปรดักท์ดีไซน์ ออกแบบโรงแรม เลยเป็นคนที่ได้รับเชิญไปงานต่าง ๆ เปิดตัวสินค้า มือถือ และเราชอบทำงานโปรเจคท์ใหญ่ ๆ คือสนุก
ยุคนี้ศิลปินไปไกลแล้ว โลกยุคนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ศิลปะไม่ใช่แค่เพ้นติ้งหรือปั้น ศิลปินต้องคิดงานโปรเจคท์ใหญ่ ๆ ทำงานกับสถานที่ ทำงานกับสังคม ต้องเป็นนักจัดการ นักคิด บวกเข้ากับงานสร้างสรรค์ บางครั้งเราอยากเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างสังคมให้น่าอยู่ แล้วนำศิลปะเข้าไปทดแทน หรือพัฒนาให้มีอะไรมากกว่าเดิม"
เขายกตัวอย่างทุกสิ่งที่เกิดรอบตัว งานออกแบบ การท่องเที่ยว การสร้างอาชีพ งานออร์แกไนซ์ โปรโมทสินค้า ทุกอย่างใช้ศิลปะหมด
“เราจึงเป็นคนที่ได้รับเชิญ เหมือนเป็นเซเลบเลยนะ น่าจะเป็นศิลปินคนแรก ๆ ที่ไปงานพวกนี้ บางครั้งไปบรรยาย ไปสัมมนา เป็นยุคที่คนที่มีความรู้ คนทำงานเบื้องหลังหรือมีภาพลักษณ์ที่ตรงกับสินค้าของเขาไปพูด สินค้าถึงจะขายได้ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราจึงเหมือนมีตำแหน่งเพิ่มขึ้นคือเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เป็นเซเลบ เป็นโน่นนี่...”
ความจริง ชลิต นาคพะวัน บอกว่าหยุดสอน (ชั่วคราว) ไม่ได้เหนื่อย แต่โปรเจคท์เยอะ (เหมือนอย่างที่เป็นมา)
“โปรเจคท์เริ่มใหญ่ขึ้น ต้องเดินทางไปต่างประเทศ มีหลายเรื่อง เลยคิดว่าให้คนรุ่นใหม่สอนเถอะ จริง ๆ เราอยากสอนอยู่นะ เราจะได้ทำตัวให้ใหม่ตลอดกาล ต้องเตรียมการสอน ดูเยอะ อ่านเยอะ เพื่อไปถ่ายทอดให้เด็กรู้
วัดพุทธวิหาร วัดไทยในกรุงอัมสเตอร์ดัม (Cr: ชลิต นาคพะวัน)
งานใหญ่คือ ดีไซน์จิตรกรรมฝาผนังวัดไทยในกรุงอัมสเตอร์ดัมชื่อ วัดพุทธวิหาร เราช่วยเรื่องหาทุนมานานแล้ว สัก 10 ปีได้ ตอนนี้สร้างโบสถ์เสร็จแล้ว โดยขอรูปจากศิลปินดัง ๆ ไปประมูล เอาเงินมาช่วยสร้างโบสถ์
ความคืบหน้าล่าสุดจากการประชุมที่วัดมหาธาตุ เพราะเจ้าอาวาสมาจากวัดมหาธาตุ ท่านไปอยู่ที่วัดพุทธวิหาร ที่อัมสเตอร์ดัม พระที่เป็นเจ้าอาวาสในวัดต่างประเทศต้องเป็นพระที่มีความรู้ อย่างน้อยต้องพูดภาษาอังกฤษได้ ท่านพูดอังกฤษกับภาษาดัทช์ได้ด้วย
ตอนนี้เราประชุมวางแผนการดีไซน์รูปภาพแกะสลักด้านหลังพระพุทธรูป ซึ่งเป็นไม้แกะสลัก ไม่ใช่พระพุทธรูปหล่อ มีญาติโยมไปซื้อมาจากสล่าภาคเหนือ องค์ใหญ่มากนำไปถวาย ทีนี้พอเป็นไม้แกะสลัก ด้านหลังควรเป็นภาพจิตรกรรมไม้แกะสลัก 3 มิติด้วย โดยออกแบบเป็นเรื่องพุทธประวัติ ส่วนด้านหน้าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง”
ศิลปินสายบุญเล่าว่า เป็นวัดไทยกลางสวนสาธารณะที่วิจิตรงดงาม โดดเด่น แวดล้อมด้วยสวนสวย
“การสร้างโบสถ์ในต่างประเทศ ยากมาก เพราะสถาปัตยกรรมไทยจะเด่นมาก ขัดแย้งกับสถาปัตยกรรมของเขา ในหลายประเทศเขามักไม่ได้สร้างโบสถ์แนวสถาปัตยกรรมไทยหรอก มักเป็นตึกที่เช่าหรือซื้อมา ท่านเจ้าอาวาสท่านฉลาด ท่านบอกทางการเนเธอร์แลนด์ว่าเป็นวัดที่เป็นสัญลักษณ์ของการเจริญสัมพันธไมตรีไทย-เนเธอร์แลนด์”
ชลิต นาคพะวัน กับท่านเจ้าอาวาสวัดพุทธวิหาร
ซึ่งกว่าจะมาเป็นวัดพุทธวิหารในวันนี้ วัดไทยในต่างแดนก็ผ่านการเดินทางจากวัดที่เช่าในอาคารในหมู่บ้าน มาเป็นวัดไทยอวดงานสถาปัตยกรรมไทยวิจิตร
“วัดไทยในต่างประเทศ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ไปรวมตัวกัน ช่วยเหลือกัน ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปวัด เป็นที่พัก กินข้าวได้ด้วย ท่านเจ้าอาวาสเล่าว่ายืมตังค์ด้วยนะ ท่านก็ให้ เป็นจุดศูนย์รวมของคนไทย และน่าภาคภูมิใจที่ช่วยเผยแผ่พุทธศาสนา
ตอนไปที่โน่น เดินกับเจ้าอาวาส มีคนมาไหว้ ฝรั่งไหว้นะ มาขอถ่ายรูปด้วย”
เป็นศิลปินเซเลบไม่เว้นแม้อยู่ในต่างแดน โปรเจคท์ใหญ่สร้างวัดเสร็จต่อด้วยงานตกแต่งภายใน-ภายนอก งานราษฎร์งานหลวงไม่เคยขาด
“โปรเจคท์ใหญ่อีกอย่างคือ งานแสดงเดี่ยวครั้งแรกในรอบหลายปี เราไม่ได้แสดงเดี่ยวมานานแล้ว เผอิญได้ตึกมา เป็นตึกเก่า 4 ชั้น สวยงาม ย่านโชคชัยสี่ จะแสดงงานทั้งข้างนอก-ข้างใน จึงเป็นงานใหญ่หลายเซสชั่น มีของที่ระลึก ใช้ทีมงาน ทีมออร์แกไนซ์ ต้องทำเยอะ”
ในขณะที่งานบุญไม่เคยขาด งานเพื่อสังคมก็รออยู่...
“ไปสอนคนพิการทางสายตา ผู้มีสายตาเลือนรางให้วาดรูป จริง ๆ เคยสอนเขาปั้น เราคิดว่าแทนที่คนพิการจะไปขายล็อตเตอรี่ เล่นดนตรีข้างทาง เราน่าจะสอนเขาทำงานศิลปะได้ เคยทำเวิร์คช็อปสอนปั้น เขาทำได้ ตอนนี้คุยงานกันแล้วกำลังเริ่มทำ ที่จริงงานช่วยเหลือสังคมเราก็ทำมานานแล้ว”
โรงเรียนสอนศิลปะเด็กก็ยังทำอยู่ ไม่เคยเป็นศิลปินว่างงานเลย
“เป็นคนชอบทำงาน ไม่ชอบอยู่เฉย ๆ ช่วงโควิดไปอยู่ทะเล งดรับแขกเพราะกลัวโควิด อยู่โดดเดี่ยวเลย ซุ่มทำงานไปก็มีคนซื้อนะ เราว่าช่วงโควิดศิลปินไม่เดือดร้อนนะ กลายเป็นผลิตงานออกมาแล้วมีคนต้องการ
คนมีตังค์เขาหงุดหงิดนะ ไม่ได้ไปไหน เลยช็อปงานศิลปะ ซื้อแอนทีค นาฬิกา เพชรพลอย งานศิลปะที่ดี ๆ ขายได้ บางคนขายในไอจี เพจ โชว์ได้ก็ขายได้ หลายคนเรียนรู้เรื่องโซเชียล ทำมาร์เกตติ้งเก่ง
อ้อ...ยังไปเป็นที่ปรึกษาเรื่องการออกแบบ ไปอบรม บรรยายให้ชุมชนที่ผลิตงานคราฟต์ สอนและแนะแนวการตลาดด้วย
แล้วพอเราทำสายวัดระดมทุนสร้างโบสถ์ก็มีมาอีก เชิญไปวาดรูปออกประมูล นำเงินไปสร้างสำนักสงฆ์นานาชาติที่เชียงใหม่ จากตระกูล “พรประภา” ท่านบวชไม่สึกแล้วชวนไประดมทุนสร้างสำนักสงฆ์ แนววัดป่า ท่านอยากให้ฝรั่งมาบวช นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม กลายเป็นสำนักสงฆ์ที่ต่างชาติบินมาบวชกันเยอะ”
รู้สึกว่ายิ่งถามงานยิ่งงอก เป็นคนทำงานศิลปะแทบจะ 24 ชั่วโมง
“เราว่าศิลปินไม่ตกงานอยู่แล้ว เด็กรุ่นใหม่เขาเรียนศิลปะมากขึ้นด้วย ยิ่งคนมีสตางค์ มาเรียนอาร์ตบวกการตลาด บวกเทคโนโลยีด้านโซเชียลด้วย พอมีฐานะอยู่แล้วสามารถนำศิลปะไปทำธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกเยอะ จึงเป็นยุคที่คนมีฐานะมาเรียนด้านอาร์ตกันเยอะ เพราะโลกศิลปะยุคใหม่มันไปไกลทั่วโลก”
ดูศิลปิน ชลิต นาคพะวัน เป็นตัวอย่าง ...