'สาธิต'คนต้นคิด Propaganda “อยากก๊อป...ก๊อปไปเลย ไล่ให้ทันก็แล้วกัน”
ทักษะขโมยกันไม่ได้ แต่สร้างได้ ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีวันหมดอายุ ถ้าไม่เลิกคิด ...นี่คือเรื่องราว'สาธิต กาลวันตวานิช' คนต้นคิด Propaganda (พร็อพพาแกนดา)
Key Points :
- ผู้ก่อตั้งพร็อพพาแกนดา (Propaganda) ที่มาพร้อมคาแรคเตอร์ทะลึงๆ กวนๆ ของ มิสเตอร์พี (MR.P) แบรนด์ไทยที่ดังในตลาดโลก
- ผลงานชิ้นโดดเด่น เป็นแกนนำออกแบบศิลปะและประติมากรรม ปรับปรุงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อาคารใหม่ "สืบสาน-รักษา-ต่อยอด" เรื่องเล่าThe Rice - เมล็ดข้าว ประวัติศาสตร์ความเป็นไทย
- เคยมีคนถามเขาว่าจะเกษียณเมื่อไร หนึ่งในคำตอบ"ผมไม่เกษียณ" เพราะงานเป็นสิ่งที่ยกระดับชีวิตทำให้มีคุณค่า...
ถ้าจะจำกัดความผู้ชายคนหนึ่ง คนทั่วไปเรียกเขาว่า ครีเอทีฟ แต่การคุยกันเกือบสองชั่วโมง เราขอเรียกเขาว่า นักสร้างสรรค์ที่เข้าใจจริตมนุษย์ มองงานโฆษณาทะลุปรุโปร่ง ต่อยอด แตกหน่อ สร้างสรรค์ผลงานให้โดนใจ
นั่นแหละคือสิ่งที่ สาธิต กาลวันตวานิช ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฟีโนมีนา จำกัด ซึ่งเป็นโปรดักชั่น เฮ้าส์แถวหน้าของคนไทย ได้รับรางวัลมากมายจนไม่อยากกล่าวถึง และยังเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ พร็อพพาแกนดา(Propaganda) ผลิตภัณฑ์หน้าตาตลกๆ ทะลึ่งแบบไทยๆ และเป็นที่มาของมิสเตอร์พี (MR.P) จนเป็นที่ถูกใจตลาดโลก
ในวันที่บริษัทโฆษณางานน้อยลง แต่หนทางที่แตกหน่อทำอย่างอื่น สาธิต ไม่เคยตีบตันเพราะวันๆ เอาแต่นั่งคิดโน้น คิดนี่ และที่สำคัญคิดแล้วลงมือทำ ล่าสุดผลงานเล็กๆ ช่วยประกอบร่างให้ปั๊ม Esso สุวินทวงศ์ สถานีเสือเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา
จุดประกายทอล์ค ฉบับนี้ สนทนากับผู้ชายช่างคิด ที่เชื่อว่า“ใครอยากได้หน้า...เอาไป กูเอางาน คำถามคือทักษะอยู่กับใคร ใครได้ฝึก คนขโมยเครดิตไม่ได้ฝึก"
- เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้คุณต้องคิดใหม่ ทำใหม่อย่างไร
ชีวิตเคยมีโซนสบายๆ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ถ่ายทำหนังโฆษณาและกำกับ อยู่มาวันหนึ่ง ทั้งสองทักษะโดนดิสรัป เทคโนโลยีเปลี่ยนทุกอย่าง ไม่ว่าคนมีหรือไม่มีประสบการณ์ กลับมาที่จุดสตาร์ตเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทฟีโนมีนา ก็ทำได้ ถ้าลูกค้าจะทำแคมเปญใหญ่ๆ จ่ายเงินเยอะๆ สู้ทำแคมเปญเล็กๆ ไม่ดีกว่าหรือ สัญญาณเตือนมาแรงก่อนโควิด ผมงานน้อยลงสัก 5 ปี โดนกระแทกแรงมาก
สาธิต กาลวันตวานิช ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฟีโนมีนา จำกัด และผู้ก่อตั้งแบรนด์พร็อพพาแกนดา(Propaganda)
- แรงกระแทกแบบไหนที่ทำให้คุณต้องปรับตัว ?
ตอนผมอายุ 40 มีคนถามผมว่า พี่จะเกษียณเมื่อไร อีก 5 ปีจะทำอะไร ผมตอบไม่ได้ว่าจะเกษียณเมื่อไร แต่ตอบว่า “ผมไม่เกษียณ” เขาก็ถามว่าทำไมพี่ไม่เกษียณ
คนยุคที่แล้วคิดว่า การหยุดทำงานคือความสุข แต่ผมเห็นตรงกันข้าม ถ้ายังทำได้ ก็ทำไปเถอะ ในทางพุทธ งานเป็นสิ่งที่ยกระดับชีวิตทำให้มีคุณค่า แล้วงานเป็นเครื่องมือง่ายๆ ในการทำให้เรางอกงาม ทุกครั้งที่ทำงาน เราเรียนรู้ในสิ่งไม่เคยทำ อย่างงานประติมากรรม
- คุณจบศิลปากรไม่ใช่หรือ
ตอนอาจารย์ให้เรียนศิลปะ เรียนปั้น ก็ไม่เรียน เรียนมัณฑนศิลป์ห้าปี ทำกิจกรรมเป็นนายกสโมสรนักศึกษา อาจารย์ถามว่า ดรอปทั้งปีเพื่อจะเป็นนายกสโมสรหรือ สมองผมมีฟังก์ชันทำได้ทีละอย่าง สุดท้ายก็โดนด่าบริหารไม่เป็น
- สมัยเรียนไม่ค่อยสนใจทำงานที่อาจารย์สั่งให้ทำ ?
ก็เหมือนเด็กทุกวันนี้ที่เราด่าว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่ขยันเท่ารุ่นเรา เราเองก็เป็น ตอนนั้นไม่รู้แนวทาง เขาให้เรียนศิลปะไทย...ก็บอกว่าเชย แต่ทุกวันนี้มองว่า ศิลปะไทยมหัศจรรย์กว่าดีไซน์ตะวันตก เห็นตู้พระธรรมวัดเชิงหวาย บานประตูคู่พระวิหารหลวงวัดสุทัศน์ฯ แกะสลักจากมือคน ไม่ได้ใช้โปรแกรม สมองคนโบราณทำได้ยังไง
เคยมีคนถามผมว่า ช่วงชีวิตตอนไหนมีความสุขที่สุด ตอนนี้(ปี 2566)เลย ทำไมตอนเรียน ผมคิดไม่ได้ อาจารย์ให้ของดีๆ ให้ไปศรีสัชนาลัย สุโขทัย ไม่ยอมไป ตอนนั้นไม่สนใจเรียน แต่การเรียนศิลปากรได้ฝังบางอย่างในตัวผม
เมื่อก่อนจะดีไซน์ ต้องดูจากหนังสือฝรั่ง ตอนนั้นอาจารย์ให้ลอกงานต้นแบบของเลโอนาร์โด ดา วินชี,ไมเคิล แองเจโล ก็คิดว่าลอกก็สบาย ขนาดลอกยังไม่เหมือน รู้เลยว่าโง่ ไม่เก่ง เริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างงานมาสเตอร์กับงานกากๆ
"งานเป็นเครื่องมือง่ายๆ ในการทำให้เรางอกงาม ทุกครั้งที่ทำงาน เราเรียนรู้ในสิ่งไม่เคยทำ" สาธิต กาลวันตวานิช
- ยกตัวอย่างงานกากๆ สักนิด ?
เรานี่แหละคืองานกาก ยังไม่พอ ตอนไปลอกงานจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อาจารย์ให้ลอกพระนางก็ลอกด้วยความเบื่อ แต่ทุกครั้งที่ลอก เริ่มสังเกตการเขียนคิ้ว หน้า ปาก จิตรกรรมที่นั่นที่นี่ตัดเส้นหนา แต่ที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ใช้พู่กันเหนียวแมว บางมาก ไม่ได้ตัดเส้นดำ แต่เป็นเส้นแดง นุ่มนวล งาม นี่คือสิ่งที่ศิลปากรสอนเรา
- เริ่มพบว่าตัวเองโง่ ไม่เข้าใจศิลปะตอนไหน
ตอนเรียนปี 1 เมล็ดพันธุ์ยังไม่งอก เพราะสภาวะยังไม่เหมาะสม แต่มีข้อดีที่ผมรู้สึกชอบตัวเอง ผมจะทำงานที่คนอื่นไม่ทำ งานไหว้ครู งานคณะ ทำโปสเตอร์ กราฟิก เหนื่อยกับเพื่อนสองคน ไม่มีคนช่วยก็ทำ รู้ว่าเราได้
พอมาทำงานโฆษณา มีการแย่งเครดิตกัน ก็จะมีคนโกรธว่าทำไมงานถูกขโมยความคิด แต่เราไม่โกรธ ใครอยากได้หน้าเอาไป เราเอางาน คำถามคือ ทักษะอยู่กับใคร ใครได้ฝึก คนขโมยเครดิตไม่ได้ฝึก การแย่งเครดิตกันมีอยู่ในวงการโฆษณา
- ตอนนั้นคุณปรับตัวอย่างไร
ผมจบศิลปากรอยู่ในโลกความฝัน ต้องมาอยู่ในโลกความเป็นจริงที่เป็นธุรกิจ บางทีก็ไม่ใช่เรา อดทนทำงานมา 7 ปี (บริษัท ฟาร์อีสท์ และลีโอ เบอร์เนทท์) เป็นครีเอทีฟ อาร์ตไดเรกเตอร์ คุมถ่ายหนัง
เพราะพื้นฐานชอบดูหนัง เคยดูเดอะ ก็อดฟาเธอร์ 20 รอบ ซิติเซน เคน(Citizen Kane) บางฉากดูแล้วดูอีก โดยไม่รู้จะมาทำภาพยนตร์โฆษณา แต่ชอบ ต้องขอบคุณการทำงานเอเจนซีทำให้ผมได้เรียนรู้
และสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตคือ การได้เข้าทำงานและการเดินออกจากลีโอ เบอร์เนทท์ ได้เจอยอดครีเอทีฟ ดลชัย บุณยะรัตเวช,ภาณุ อิงคะวัต,เป็นเอก รัตนเรือง ฯลฯ ตอนออกมาตั้งบริษัทเล็กๆ ก็วังเวง
- ตั้งบริษัทโฆษณาเล็กๆ ฟีโนมีนา เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตอย่างไร
จำได้ว่าตอนทำโฆษณานีเวีย ทำแล้วทำอีก ไม่ผ่าน แต่ผมก็ชอบปรากฎการณ์ที่บีบและอัดเรา จนเราต้องออกมา เหมือนพลังธรรมชาติที่ต้องไป เมื่อออกมาก็เป็นอีกโลก เหมือนออกมาสู่ระบบสุริยะจักรวาล
ทำเรื่องเล็กๆ ออกแบบโบชัวร์ ก็ทำแบบเต็มที่ รายงานประจำปีบริษัทที่เอเจนซี่ไม่อยากทำ ผมก็ทำ ตอนนั้นฟองสบู่ยังไม่แตก งานที่มีคู่แข่งเยอะๆ เราไม่ทำ ทำงานที่ไม่ค่อยมีคู่แข่ง เอางานศิลปะ เอารูปถ่ายล้ำๆ เข้าไปในธุรกิจที่น่าเบื่อ
- ตัวตนไม่เปลี่ยน แล้วปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่อย่างไร
เรารู้วิธีปรับตัวในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ซึ่งคนยุคใหม่จะมีตรงนี้ ล้มเร็ว ลุกเร็ว ปรับตัวเร็ว ซึ่งคนรุ่นผมไม่ได้ถูกฝึกมาแบบนั้น ไม่ได้โตมากับการเขี่ยสมาร์ทโฟน เด็กมากๆ อย่าง 3 ขวบก็เก่งลงไปอีกเริ่มเรียนรู้ และรุ่นนี้วันหนึ่งก็จะไปดิสรัปรุ่นปัจจุบัน
สำหรับผม...ผมเคยเข้าไปทำงานในช่องว่าง(หลุมดำ)ที่มีอยู่ ตอนที่ทำบริษัทสามหน่อ แต่เป็นเครดิตที่ดีมาก เพราะเราไม่รู้ ก็ไม่ได้คิดในกรอบเหมือนห้องทดลอง แต่ต้องมีทัศนะบ้าบิ่นนะ
ตอนนั้นคนที่เข้ามาทำงานอยากลองอะไร ทำได้หมด มีช่างภาพที่ลองใช้กล้องโกดักพลาสติกถ่ายทำ และทำออกมาได้ดีกว่ากล้องมืออาชีพ พอออกมาหนังโฆษณา ก็มีคนจ้างให้ทำ ตอนนี้บริษัทสามหน่อไม่ได้ทำแล้ว แต่เป็นเหมือนแรงส่งให้ผมมีหุ้นส่วนทำฟิโนมีนา จนได้รางวัลมากมาย
"ศิลปะไทยมหัศจรรย์กว่าดีไซน์ตะวันตก เห็นตู้พระธรรมวัดเชิงหวาย บานประตูคู่พระวิหารหลวงวัดสุทัศน์ฯ แกะสลักจากมือคน ไม่ใช้โปรแกรม สมองคนโบราณทำได้ยังไง" สาธิต คนต้นคิด Propaganda
- ผลักดันจนฟิโนมีนา เติบโตเป็นบริษัทโฆษณาแถวหน้า?
พนักงานสองร้อยกว่าคน ฟรีแลนด์อีก งานมหาศาลเพราะบริษัทเรามีบุคลิกชัด ไม่หวงความรู้ ไม่สกัดคนรุ่นใหม่ว่าอย่าเพิ่งโต เดี๋ยวล้ำหน้ารุ่นใหญ่ เราสนใจเรื่องการจัดความสัมพันธ์สร้างสังคมเล็กๆ บริษัทเราเริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆสี่คน
ตอนนี้บีบบริษัทให้เล็กลง ถ้าทำแบบเดิม ต้องแบกอะไรเยอะ เราใช้ทักษะความเชี่ยวชาญแบบเดิมในโลกใหม่ เรื่องรสนิยมเราเรียนรู้จากสิ่งใหม่ ใช้หลายทักษะ อย่างการจัดวางประติมากรรมที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ "สืบสาน-รักษา-ต่อยอด" เรื่องเล่าThe Rice - เมล็ดข้าว เราก็รู้ว่ามันขาดจุดสนใจ เราก็คิดคอนเซ็ปท์ให้ ตอนนั้นลูกค้าก็บอกให้ทำเลย ผมก็ดึงคนเก่งๆ มาช่วย เราเป็นที่ปรึกษาให้ เรื่องไหนไม่รู้ก็เรียนรู้ ทั้งตบ ปั้น เกลา เขย่าให้ดูดีตอบสิ่งที่เขาต้องการแต่ละกรอบ แต่ละส่วน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ มันเปลี่ยนแปลงเราด้วย
- ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งการจัดการและตัวคุณเอง ?
มายเซ็ทเรื่องการเปลี่ยนแปลง โดยธรรมชาติของมนุษย์ต้องการความเสถียรและความแน่นอน แต่การวิวัฒน์จะเจอข้อจำกัด ถ้าเปลี่ยนช้าก็ตาย เพราะมีกฎที่ไม่มีวันเปลี่ยน ทุกอย่างเป็นอนัตตา เดี๋ยวก็เสื่อมสลาย เป็นกฎของธรรมชาติ
จักรวาลไม่ยอมให้นิ่งๆ มีความไร้ระเบียบ และเสื่อมสลายตลอด ก็คืออนัตตา แต่ที่คุณเห็นเป็นจักรวาล เป็นโลก เราคิดว่าจะอยู่ตลอดไป อีกห้าพันล้านปี ดวงอาทิตย์ก็ดับแล้ว ถ้าเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องปรับตัวตลอด และต้องฝืนบางเรื่อง สิ่งที่ฝืนมักจะดี เช่น ฝืนไปออกกำลังกาย
ผมว่ายน้ำเกือบทุกวัน (เพื่อนร่วมงานที่ทำงานร่วมกัน 17 ปี : “พี่เขาเป็นคนเสพติดงาน ทำงานแบบศิลปิน ไม่ควบคุมเวลา เราจะควบคุมให้ ปีที่แล้วรับงานที่ปรึกษา 6 งาน หนึ่งเดือนต้องประชุมกับลูกค้า 6 ครั้งใน 6 เรื่อง นี่ยังไม่รวมหนังโฆษณาที่ถ่ายทำอีก”)
- ใช้ชีวิตทำแต่งานอย่างเดียว ?
ผมไปญี่ปุ่น ก็เอางานไปทำด้วยและหาแรงบันดาลใจ ผมเคยฟังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ปยุตฺโต) ท่านบอกว่า คนส่วนใหญ่ชอบแยกงานออกจากชีวิต พอทำงานไม่มีความสุข ก็พยายามหาวันหยุดไปดื่มเหล้า กระโดดใส่ความสุข
แต่ถ้างานกับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน คุณจะมีความสุขมาก เพราะงานเป็นเครื่องมือในการยกระดับชีวิต ความคิดและจิตใจ
- ก่อนหน้านี้เวลาพูดบนเวทีใหญ่ๆ คุณจะตื่นเต้นมาก แล้วพัฒนาทักษะเรื่องนี้อย่างไร
มือสั่น ปากสั่น กลัวการขึ้นเวที ผมอ่อนเรื่องนี้มาตลอด ต้องขอบคุณพร็อพพาแกนดา เมื่อมาทำเรื่องนี้ เราไม่รู้เรื่องดีไซน์ ไม่ได้เรียนมาแต่ทำผลิตภัณฑ์ออกมา คนญี่ปุ่น คนยุโรปแปลกใจ ทำไมมีแบรนด์แบบนี้ด้วย เชิญไปแสดงงานและพูดบนเวที สิงคโปร์เชิญไปเป็นกรรมการตัดสิน ทั้งๆ ที่นายสาธิตไม่ได้มีความรู้เรื่องดีไซน์
เราก็ทำการบ้านแบบเอาเป็นเอาตาย ครั้งแรกที่ญี่ปุ่น พูดแย่มาก จนมาพูดที่สิงคโปร์ก็มีคนบอกว่าพูดดี แต่พูดดีไม่ได้พูดตามหลักวิชาการ พูดแบบคนไทยสไตล์พร็อพพาแกนดา นั่นคือ การเคารพตัวตน ไม่ใช้ศัพท์แสงเยอะๆ ก็พูดตลกๆ ไปเลย
บางทีผมเจอคนพูดร่วมเวทีระดับเทพ ก็ใช้มุกหลุดๆ ความมั่นใจก็กลับมา ยกตัวอย่าง มีคนถามเรื่องการก๊อปปี้ ผมบอกว่า อยากก๊อป ก๊อปไป ไม่ฟ้อง เราก็ดีไซน์ต่อ วิ่งไล่ตามได้เลย แล้วใครเก่ง
"ตอนนี้ชีวิตเบามาก ไม่อยากได้อะไร ปลดภาระทุกอย่าง ไม่มีทรัพย์สินเยอะ มีเงินเก็บสบายๆ ที่สำคัญคือนอนหลับ" สาธิต กาลวันตวานิช
- ชีวิตช่วงนี้อยู่ในโหมดไหน
เข้าสู่โหมดวัยชรา เป็นโหมดที่มั่นคง ไม่มีความอยากได้ ก็เคยอยากเท่ แต่สลายไปแล้ว ชีวิตเบามาก ไม่อยากได้อะไร ปลดภาระทุกอย่าง ไม่มีทรัพย์สินเยอะ มีเงินเก็บสบายๆ ที่สำคัญคือนอนหลับ และมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ดูใบไม้ในสวน ตื่นมาเช็ดขี้กระรอก กวาดใบไม้
เคยเอาทักษะกวาดใบไม้ไปช่วยกันทำความสะอาดที่วัดในจังหวัดพิษณุโลก เพราะเราบ้าดีไซน์ ชอบเรียบๆ สวยๆ รักความงาม ก็ชวนน้องๆ ไปช่วยกันกวาดลานวัด พระก็เลยมาช่วยทำ เวลาทำอะไรแบบนี้ มันเกิดแรงกระเพื่อม
แต่เวลาจะทำอะไรต้องไม่เบียดเบือนตัวเอง ทำจากงานที่เราทำ ให้ความรู้คน ใครอยากฟัง สอนได้ ไม่หวง ดีใจที่เขาอยากฟัง ถ้ามีช่องทางก็ทำ มีบรรยายในมหาวิทยาลัยบ้าง
- วิธีคิด"ทำเกินร้อย" คุณได้แบบอย่างมาจากใคร
แม่ผมคงหยอดเมล็ดพันธุ์ไว้ แม่เคยทำห้องสมุดที่เหมือนเขตปกครองของแม่คนเดียว แม่ไปเรียนปริญญาโทที่จุฬาฯ แล้วมาพัฒนาห้องสมุดที่ไร้เทียมทานมาก นั่นก็คือ ห้องสมุดโรงเรียนวัดบวรมงคลที่ไม่มีชื่อเสียง ชนะห้องสมุดประเทศไทย ชนะห้องสมุดโรงเรียนเตรียมอุดมฯ สวนกุหลาบ สตรีวิทย์ ชนะทุกโรงเรียน แม่เพียรทำโน้นนี่ ไม่สนใจดราม่า ทำงานตรงหน้าให้ดี
ผมก็เลยติดนิสัยทำงานเกินๆ ลูกน้องก็เป็นแบบนี้ ลูกค้าก็บอกว่าอย่าทำเกิน บางเรื่องผมไม่ทำตามตำรา ใช้ประสบการณ์ที่มีทั้งหมดช่วยลูกค้าจัดการ
- ยกตัวอย่างเคสที่ทำเกินร้อยสักนิด ?
ปั๊ม Esso สุวินทวงศ์ สถานีเสือเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา คนจ้างผมเป็นหุ้นส่วนเล็กๆ พร็อพพาแกนดา เขาทำธุรกิจปูนซีเมนต์สองพันล้านอยู่แล้ว แต่มีแรงบันดาลใจบางอย่าง ก็อยากทำสิ่งดีๆ ที่รู้สึกภูมิใจ อยากทำปั้มดีๆ
ผมก็ออกแบบแนวความคิดให้ ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ เราบอกว่าทำได้ หากรณีศึกษามาให้ดู ทำปั๊มสถานีเสือเปรี้ยวให้ต่างจากทั่วไป ทำตลาดเสือเปรี้ยว ชื่อตลกดี
อีกส่วนที่ผมอยากทำคือ สวนสาธารณะ พื้นที่ที่คนมาใช้ร่วมกันแล้วมีความสุข มีสนามเด็กเล่นดีๆ ลานจอดรถเท่ๆ ขำๆ ถ้ามีใครพร้อมจะทำ ผมก็พร้อมจับมือด้วย ถ้าพวกเขารับไอเดียผมได้ เหมือนที่ผมพูด “งานเอามา หน้าเอาไป กูไม่ต้องการหน้า”
"อยากก๊อป ก๊อปไป ไม่ฟ้อง เราก็ดีไซน์ต่อ วิ่งไล่ตามได้เลย" สาธิต กาลวันตวานิช ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฟีโนมีนา จำกัด
............
เขียนโดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
ภาพ : ศุภร์ภมร เฮงประภากร