หนังประกวดสายเอเชียและหนังไทยในเทศกาล Berlin Film Festival 2023
'กัลปพฤกษ์' ชวนวิเคราะห์หนังสั้นไทย 2 เรื่อง Mangosteen และ Trip After ที่ได้เฉิดฉายในเทศกาลภาพยนตร์ Berlin Film Festival 2023 รวมถึงหนังเอเชียอีกหลายเรื่อง ทั้งผลงานของ มาโกโตะ ชินไค และแอนิเมชั่นจากจีน ว่ามีความโดดเด่น น่าสนใจเช่นไรบ้าง
สำหรับการประกวดชิงรางวัลหมีทองคำของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลิน ประจำปี 2023 ซึ่งเพิ่งจัดไประหว่างวันที่ 16-26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี้ นับว่ามีหนังจากโซนเอเชียหรือเกี่ยวกับตัวละครเชื้อสายเอเชียเข้าร่วมประกวดอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน และถึงแม้ว่าจะไม่มีเรื่องไหนได้รับรางวัลแต่แต่ละเรื่องก็ให้ภาพเฉพาะของการเป็นชาวเอเชียได้อย่างมีสีสันที่แตกต่างอยู่
โดยเฉพาะหนังกลุ่มแอนิเมชันสองเรื่องที่เคียงคู่กันเข้าร่วมในประกวดก็ล้วนเป็นงานแอนิเมชันสัญชาติเอเชีย อย่างเรื่องแรกหนัง anime แนวโรแมนติกแฟนตาซีมีสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมเรื่อง Suzume ของผู้กำกับ Makoto Shinkai จากญี่ปุ่น เจ้าของผลงานเรื่อง Your Name. (2016) ที่โด่งดังมาแล้วทั่วโลก
Suzume_@2022 Suzume Film Partners
กลับมาคราวนี้ Makoto Shinkai ให้ตัวละครหลักในหนัง Suzume เป็นเด็กหญิงกำพร้าอายุ 17 ปีที่อาศัยอยู่กับคุณป้าหลังจากสูญเสียมารดาไปตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเธอต้องคอยช่วยชายหนุ่มลึกลับนาม Souta คอยหาประตูทะลุมิติที่จะช่วยระงับมหันตภัยทางธรรมชาติหลากหลาย โดยมีเจ้าหนอนอสูรร้ายคอยป่วนความสงบร่มเย็นของประชาชน
Suzume จะมีตัวละครม้านั่งเก้าอี้สามขาคู่ใจ และเจ้าแมวเหมียวตาแป๋วพูดได้ คอยเป็นเพื่อนที่ทั้งให้กำลังใจและให้ทั้งความวายป่วง! ก่อนจะย้อนกลับไปเผยว่าอดีตที่ผ่านมา Suzume เคยเจอบาดแผลใด และปฏิบัติการครั้งนี้จะทำให้เธอได้กลับไปหาคนที่เธอรักที่สุดได้หรือไม่ก่อนที่ประตูเวลาจะถูกปิดตายลงอีกครั้ง
หนังมีการเดินทางที่น่าสนใจจากช่วงแรก ๆ ที่เหมือนจะเน้นความสนุกแบบ ‘ใส ๆ วัยรุ่นชอบ’ ด้วยสีสันเรื่องราวและตัวละคร รวมถึงการออกแบบฉากหลังอันอลังการต่าง ๆ อย่างไม่ยั้งมือ ก่อนจะค่อย ๆ รื้อฟื้นอ้างอิงไปถึงเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 มาเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอเรื่องราวได้อย่างน่าปวดหัวใจในความทรงจำอันโหดร้ายของช่วงเวลานั้น!
ส่วนแอนิเมชันขนาดยาวจากเอเชียอีกเรื่องในสายประกวดก็เป็นงานแอนิเมชันจากประเทศจีนเรื่อง Art College 1994 ของผู้กำกับ Liu Jian ซึ่งเคยมีงานอนิเมชันเรื่อง Have a Nice Day เข้าประกวดในเทศกาลนี้มาก่อนแล้ว เมื่อปี ค.ศ. 2017
Art College 1994_@Nezha Bros. Pictures Company Limited, Beijing Modern Sky Culture Development Co., Ltd
สำหรับ Art College 1994 ก็เป็นหนังแอนิเมชันลายเส้นดิบหยาบแบบงาน sketch วาดมือ เล่าเรื่องราวในบริบทและช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก ๆ นั่นคือบรรยากาศของสถาบันการศึกษาศิลปะแบบตะวันตกในประเทศจีนช่วงยุค 1990s ที่ผู้กำกับเคยมีประสบการณ์มา ณ Chinese Southern Academy of Arts
แล้วให้หนังถ่ายทอดภาพชีวิต ความคิด ประสบการณ์ การร่ำเรียนของกลุ่มนักศึกษาหนุ่มสาวผู้กำลังก้าวข้ามจากขนบศิลปะประจำชาติของตนมาฝึกฝนเรียนรู้วัฒนธรรมที่ช่วยทำให้ชาติจีนก้าวสู่โลกยุคใหม่ ที่ทั้งหนัง เพลง และการสร้างงานศิลปะแบบตะวันตกเริ่มบ่าไหลและได้รับความนิยมในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่มากขึ้น
หนังสะท้อนภาพชีวิตนักศึกษากลุ่มนี้อย่างจริงใจ ฉายให้เห็นภาพหอพักอันโกโรโกโส โปสเตอร์ดาราตะวันตกติดตามผนัง การประทังชีวิตด้วยเงินรายได้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ และคอยหาอาหารราคาถูกข้างทางรับประทาน
ด้านการศึกษาก็มีการอภิปรายอย่างลุ่มลึกกว้างขวางต่อข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไม่สามารถเข้าถึงชิ้นงานศิลปะต้นแบบในยุโรป ความไม่เข้าใจด้านภาษาและวัฒนธรรม ไปจนถึงกลยุทธ์การนำมาหลอมรวมให้เข้ากับพื้นที่ใหม่ ๆ อย่างประเทศจีนร่วมสมัย ซึ่งก็ให้รายละเอียดเฉพาะที่เฉพาะเวลาได้น่าสนใจดี เสียแต่ลีลางานอนิเมชันออกจะนิ่งเฉาและไม่ค่อยกระตุ้นเร้าให้คอยติดตามมากสักเท่าไหร่
หนังจากจีนแผ่นดินใหญ่อีกเรื่องที่ได้เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินปีนี้ ก็ได้แก่ The Shadowless Tower ของผู้กำกับ Zhang Lu ความยาวถึง 144 นาที
เล่าเรื่องราวของ Gu Wentong นักเขียนนักชิมอาหารชื่อดัง ซึ่งได้หย่าขาดจากภรรยาและส่งบุตรสาวไปอยู่กับคุณป้า เพื่อเปิดอิสระให้เขาได้ท่องเที่ยวสามารถเดินทางทำงานไปไหนมาไหนคนเดียว
นอกจากนี้เขายังมีพ่อแก่ชราที่ทอดทิ้งไว้ไม่เคยได้ไปเยือนหา ณ เมืองเบไดเฮอยู่อีกหนึ่งคน กระทั่งวันหนึ่งเมื่อเขาได้ Ouyang ตากล้องสาวรุ่นคราวลูกมาเป็นเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเดินทางมาจากเมืองเบไดเฮเช่นกัน Gu Wentong จึงเริ่มมีความคิดที่จะเดินทางกลับไปหาสมาชิกในครอบครัวที่เคยแตกแยกของเขาอีกครั้ง โดยเริ่มจากการออกตามหาบิดา ณ เมืองริมหาดเบไดเฮ นั่นเอง
The Shadowless Tower สะท้อนภาพตัวละครชาวเมืองปักกิ่งในยุคสมัยใหม่ที่ผู้ที่ไม่ได้มีความผูกพันทางสายเลือดอาจส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกในการชีวิตของคนอื่น ๆ มากกว่าคนในครอบครัวเดียวกัน และความสัมพันธ์ฉันเพื่อนร่วมงานก็อาจจะแนบแน่นล้ำลึกไปจนถึงระดับจิตวิญญาณได้ หากพวกเขาพร้อมจะเปิดใจกันจริง ๆ
หนังมีการใช้เจดีย์มหัศจรรย์กลางกรุงปักกิ่งที่ไม่ว่าจะหันไปมองทางไหนเวลาใด จะไม่มีใครสามารถเห็นเงาทอดยาวของเจดีย์องค์นี้ได้เลยมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของหนังได้อย่างมีเสน่ห์
แต่หนังเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตชาวเอเชียที่เป็นที่จับตามากที่สุด อาจจะไม่ใช่หนังสัญชาติเอเชียขนานแท้ แต่เป็นหนังอเมริกันเกี่ยวกับชีวิตรักของคู่หนุ่มสาวเกาหลีใต้โพ้นทะเลเรื่อง Past Lives ของผู้กำกับ Celine Song
จริง ๆ หนังเรื่องนี้ได้ฉายในรอบปฐมทัศน์โลกไปแล้วที่เทศกาล Sundance Film Festival เมื่อต้นปี แต่ผู้จัดเทศกาล Berlin Film Festival ก็คงจะถูกอกถูกใจหนังเรื่องนี้มาก จนเชิญให้ร่วมฉายในสายประกวดหลักของเทศกาลเป็น European premier
Past Lives_@Jon Pack
จุดเริ่มต้นของเนื้อหาเรื่อง Past Lives ต้องย้อนเวลากลับไปในสมัยยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ที่เด็กหญิง Nora และเด็กชาย Haesung เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนเดียวกันในเกาหลีใต้ และมักจะแข่งกันสอบได้อันดับที่ 1 อยู่เสมอ ๆ
แต่ถึงแม้ด้านการเรียนจะถือเป็นศัตรูทั้งคู่ก็ถือเป็นมิตรที่ดีต่อกัน เดินกลับบ้านทางเดียวกัน และคอยเป็นห่วงเป็นใยกันเสมอ จนวันหนึ่งฝ่าย Nora ต้องอพยพโยกย้ายไปกับครอบครัวเพื่อตั้งหลักแหล่งใหม่ ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา Haesung ก็ไม่ได้เจอหน้า Nora อีกเลย
วันเวลาผ่านไปทั้งคู่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ Nora ได้เข้าพิธีวิวาห์กับ Arthur หนุ่มอเมริกัน ทั้ง Nora และ Haesung ก็ได้ contact แบบออนไลน์กลับมาพบหน้าพูดคุยกันอีกครั้ง เพื่อทวงถึงความสัมพันธ์เมื่อครั้งยังวัยเยาว์ว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาเป็นเนื้อคู่กันหรือไม่ ตามความเชื่อในหลัก ‘อินยุน’ ของหญิงและชายในธรรมเนียมแบบเกาหลี?
Past Lives จึงมีกลิ่นอายของการเป็นงานแนว ‘คนรักเก่า’ เข้ามาเขย่าความสัมพันธ์ปัจจุบัน เมื่อ Haesung ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปเยี่ยม Nora กับสามีที่นิวยอร์ก ซึ่งหนังก็ได้ถ่ายทำทัศนียภาพอันน่าประทับใจผ่านฉากหลัง ณ เมืองใหญ่แห่งนี้ได้อย่างน่าประทับใจ จนไม่น่าแปลกใจเลยหากตัวละครจะเริ่มรู้สึกหวั่นไหวไปกับความรู้สึกสะกิดลึก!
มาที่หนังสั้นสัญชาติไทยที่ได้เข้าร่วมฉายในเทศกาล Berlin Film Festival ประจำปี 2023 นี้ ก็เป็นหนังกึ่งทดลองที่อยู่ในสาย FORUM EXPANDED สำหรับงานหนัง หรือวีดิโอศิลปะ หรืองานประเภทภาพเคลื่อนไหวจัดวาง
เรื่องแรกเป็นผลงานความยาวขนาดย่อมเรื่อง Mangosteen ความยาว 40 นาที ของผู้กำกับ ตุลพบ แสนเจริญ ที่ให้บรรยากาศแบบยุค New Age 1990s ด้วยการถ่ายภาพกับกล้องวีดิโอ Digital 8 ที่แลดูเก่าโบราณเหมือนงานหนังอิสระหนังสั้นยุคแรก ๆ ที่กล้องดิจิทัลเริ่มบูม
Mangosteen_@Tulapop Saenjaroen
ตุลพบ แสนเจริญ
เนื้อหาของ Mangosteen ว่าด้วยตัวละครหลักสองรายคือ อิงค์ พี่สาวทายาทเจ้าของโรงงานแปรรูปมังคุดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมังคุด ณ จังหวัดระยอง ที่มีโอกาสได้ต้อนรับ เอิร์ธ น้องชายหัวศิลป์ กลับเข้ามาทำงานในโรงงานในฐานะผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์หลังจากที่หายหน้าหายตาไปนาน
โดยบุคลิกลักษณะของสองพี่น้องคู่นี้จะมีความเซื่องเนือยในแบบที่ไม่ค่อยจะลงรอยกันเป็นเรือนใจ ซึ่งถึงแม้ว่าความคิดจะแตกต่างกันอย่างไร ฝ่าย อิงค์ ก็เลือกที่จะรักษาน้ำใจน้องชายอยู่เสมอ ๆ
หลังจากนั้นเรื่องราวของทั้งคู่และคนงานที่อยู่รายรอบก็เริ่มจะออกทะเลเขวไพล่ไปสู่ทิศทางใหม่ ๆ นำไปสู่เหตุการณ์ประหลาดมหัศจรรย์มากมาย ทั้งการใช้เสียงของบุรุษผู้เล่าเรื่องเป็นตัวละครย้อนคุยกับคนดู และการที่อยู่ดี ๆ ฝ่าย อิงค์ ก็หันมา spricht Deutsch พูดภาษาเยอรมันกับคนงานรายอื่น ๆ แบบหน้าตาเฉย!
กลายเป็นงานเล่าเรื่องที่จะว่า narrative ก็ narrative ไม่ narrative ก็ ไม่ narrative ที่ ผู้กำกับ ตุลพบ กำลังพยายามจูนหาน้ำเสียงการเล่าเฉพาะตัวของหนังอัศจรรย์ตัวละครหน้าตายได้อย่างน่าสนใจ
ปิดท้ายกันด้วยหนังไทยอีกเรื่องในสาย FORUM EXPANDED นั่นก็คืองานสารคดีลีลา essay film ความยาวเพียง 10 นาที เรื่อง Trip After กำกับโดย อุกฤษณ์ สงวนให้ ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “สมบัติทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของชาติ” อีกเรื่องหนึ่ง
Trip After_@Ukrit Sa-nguanhai
อุกฤษณ์ สงวนให้
Trip After เป็นเหมือนหนังตัวอย่างที่หยิบเอาเอกสารรายงานและภาพยนตร์สั้นที่หน่วย USIS หรือ The United States Information Services เคยเข้ามาแทรกแซงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสานในบ้านเราในช่วงยุค 1960s ด้วยการถ่ายทำหนังสร้างภาพการนำความเจริญมาสู่แดนอีสานโดยใช้ทั้งดนตรีหมอลำและเสียงพากย์ภาษาอีสานประกอบ
เช่นเรื่อง ‘พัฒนากร’ นำกลับมาฉายใหม่ทาบทับกับผนังบ้านและรั้วของตัวเรือนในยุคปัจจุบัน ณ พื้นที่จริง เพื่อเล่าว่าทางการสหรัฐอเมริกาเคยมีการใช้ ‘หนัง’ ในการกล่อมเกลาหรือมอมเมาผู้คนต่างพื้นที่กันอย่างไรบ้าง
ซึ่งหน่วยงาน USIS นี่เองที่เคยสร้างหนังต่อต้านคอมมิวนิสต์เรื่องดังชื่อ ‘ไฟเย็น’ เมื่อ ค.ศ. 1965 หรือ พ.ศ. 2508 ที่ให้ชาวบ้านในอีสานเป็นผู้แสดงเองแล้วตระเวนฉายไปทั่วทั้งภาคอีสานเพื่อสร้างความหวาดกลัว!