ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ 'อพท.' ในมุมของ 'นักสะสมทูแชนเนล'
'รองผู้อำนวยการ อพท.' ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รับภารกิจบริหารพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเป็น 'นักสะสมทูแชนเนล' (2 Channel) หรือ 'นักเล่นเครื่องเสียง' งานอดิเรกที่รวมศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ บอกว่า อพท.(องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ก่อตั้งมานานแล้ว ก่อนที่เมืองไทยจะพากันพูดถึง ความยั่งยืน
“ภารกิจของ อพท. ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการบูรณาการการใช้อำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไปช่วยเหลือชุมชนในการเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน พื้นที่ และแหล่งท่องเที่ยว"
ในอีกมุมหนึ่ง รองผู้อำนวยการ อพท. อยู่ในวงการ นักเล่นเครื่องเสียง หรือเป็น นักสะสมทูแชนเนล อันเป็นงานอดิเรกที่อยู่กับเสียงเพลง
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ (ซ้ายสุด) ขณะลงพื้นที่
อพท.ก่อตั้งมา 18 ปีแล้ว คำว่า ยั่งยืน ตอนนั้นคนยังไม่พูดถึงกัน แต่เราก็ตีความหมายใหม่ว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องไปด้วยกันทั้ง 3 มิติ คือ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม
ถ้าเราเข้าไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสักแห่ง สังคมต้องไม่เปลี่ยน การดำเนินชีวิตของชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามยังคงอยู่ ไม่ใช่ไปเปลี่ยนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว
ที่สำคัญคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม เมื่อการท่องเที่ยวเข้าไปมาก ๆ อาจทำลายสิ่งแวดล้อมหรือสร้างมลพิษได้ เราจึงต้องรักษาสมดุลทั้ง 3 มิติให้ได้”
รองผู้อำนวยการ อพท. เสริมว่า ปัจจุบัน อพท.ใช้มาตรฐานสากล GSTC (Global Sustainable Tourism Criteria) มาเป็นเกณฑ์บริหารจัดการเพื่อเกิดความยั่งยืน
“GSTC ยอมรับโดยองค์การยูเนสโก เราใช้เป็นคีย์หลักในการดำเนินงานของ อพท. ซึ่งพอเราไปเปรียบกับที่เราทำมาแล้ว พบว่าข้อปฏิบัติ GSTC 38 ข้อ คล้ายกับมาตรา 21 ในการจัดตั้ง อพท. เราเลยใช้มาตรฐานนี้ไปใช้กับทุกพื้นที่ โดยแยกออกจากสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ออกเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและการบริหารจัดการที่ดีด้วย”
มุมหนึ่งของนักสะสมทูแชนเนล
ข้อกำหนดดีได้มาตรฐานระดับสากล แต่ในทางปฏิบัติ ดร.ชุมพล บอกว่ายังมีอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น การทำงานคาบเกี่ยวกันของพื้นที่ การประสานงานให้แต่ละจังหวัดมีแนวทางสอดคล้องไปกับเป้าหมายยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ยังคงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อเป้าหมายให้ทุกคนเที่ยวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
“ทางแก้มี ยากหน่อย แต่ต้องทำให้ได้ บางเรื่องต้องอาศัยเวลา เช่น สิ่งแวดล้อม แต่ดีที่เราเริ่มต้นมาตั้งแต่เกาะช้าง เกาะหมาก พัทยา ตอนแรกคนเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อรัฐบาลประกาศเรื่อง BCG ทุกคนพบว่าเราได้รับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นการตื่นตัวและไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว”
ทุกปัญหามีทางออก และอีกหนึ่งทางออกยามว่างของ รองผู้อำนวยการ อพท. คือเป็นนักฟังเพลง และเป็นนักสะสมเครื่องเสียง ที่เรียว่า ทูแชนเนล ถามว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่คำตอบดูเหมือนนานแสนนานจนจำไม่ได้
“นักสะสมเครื่องเสียง ไม่ใช่นักสะสมแผ่นเสียง ที่เป็นแผ่นไวนีล, แผ่นครั่ง เป็นแหล่งกำเนิดเสียงประเภทหนึ่ง ซึ่งมีมาน่าจะร้อยปีแล้ว
แจ๊สที่ชอบ Dave Brubeck
แต่เครื่องเสียงหรือฮาร์ดแวร์ เป็นตัวเล่นกลับ คิดถึงยุคก่อนมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง เทปคาสเส็ตต์ โอเพ่นรีล ปัจจุบันนิยมสตรีมมิ่ง คือเพลงมาทางอากาศแล้ว เราก็สตรีมมาแล้วเล่น เป็นดิจิทัล ส่วนแผ่นเสียงเรียกว่าอะนาล็อก คือบันทึกมายังไงก็เล่นแบบนั้น บันทึกมาในรูปข้อมูล เวลาเล่นกลับต้องมีตัวแปรข้อมูลจากไฟล์ดิจิทัลให้เป็นอะนาล็อก
เสียงจะขึ้นอยู่กับการบันทึกข้อมูลว่าสมบูรณ์แค่ไหน ตัวพอร์ตสามารถรองรับได้แค่ไหน มีความสลับซับซ้อนมากกว่าฝั่งอะนาล็อกพอสมควร”
นักเล่นทูแชนเนล เสริมว่า ตอนนี้มีผู้นำเทปคาสเส็ตต์มาทำใหม่ สมัยก่อนซื้อม้วนละ 40-60 บาท ยุคนี้ขายม้วนละ 600 บาท ทั้ง ๆ ที่เครื่องไม่มีให้เล่นแล้ว
“เช่นเดียวกับแผ่นเสียง พอกลับมาฮิตก็มีผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงออกมาขาย มีตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักล้าน แต่เล่นวินเทจแบบนี้ต้องระวังหน่อยว่า บางเครื่องบางรุ่นอะไหล่เลิกผลิตแล้ว
แต่ลำโพงตัวใหญ่ ๆ ดัง ๆ ในอดีต ตอนนี้คนนิยมเอากลับมารีเฟอร์บิช (Refurbish) มาใช้งาน จะได้เสียงบรรยากาศของความเป็นอดีต ย้อนยุค จะพูดว่าลำโพงในปัจจุบันกับลำโพงในอดีตเสียงต่างกันก็ใช่ และปัจจุบันวัสดุที่ใช้ในการผลิตลำโพง เทคโนโลยีก้าวล้ำไปเยอะ จะนำวัสดุยุคใหม่มาใช้ทำลำโพง ในยุคเก่าเป็นกระดาษ”
นักเล่นทูแชเนล กำลังเข้าเรื่อง “นักสะสม” ด้วยลำโพงเป็นหนึ่งในเครื่องเสียง ที่ต้องพูดกันเป็นวิทยาศาสตร์
“คนที่เป็นนักสะสมอย่างผมมีเยอะนะ เยอะกว่าที่เราคิด บางคนที่บอกว่าสะสมแผ่นเสียง 3-4 พัน พอสะสมแผ่นก็จำเป็นต้องมีเครื่องเสียงดี ๆ”
จึงเป็นที่มาของนักสะสมทูแชนเนล ซึ่งอาจเริ่มขึ้นก่อนนักสะสมแผ่นเสียง ยุคนี้อาจแยกว่า ดูหนังคือโฮมเธียเตอร์ ฟังเพลงคือทูแชนเนล ซึ่งแตกต่างกัน
“ชุดดูหนังจะเน้นฟังก์ชั่นการทำเซอราวด์ มีลำโพงหลาย ๆ ตัว จำลองบรรยากาศโรงหนังไว้ในบ้าน
แต่การฟังเพลงเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า ทูแชนเนล คือลำโพง 2 ข้าง ซ้าย-ขวา บางคนก็เติมด้านบนเป็น ซูเปอร์ทวิสเตอร์ หรือตัวขับเสียงแหลม ซึ่งอุปกรณ์ทูแชนเนล บางที 10 ล้านก็เอาไม่อยู่...
ในขณะที่ระบบที่ใช้สำหรับดูหนัง บางทีลำโพง 10 ตัว 9.1 บวกซับวูฟเฟอร์ (Subwoofer) อีกสักตัว สัก 1-2 แสนก็ซื้อได้แล้ว”
ซาวด์แทร็คภาพยนตร์ของคลินท์ อีสต์วู้ด (Cr.ebay.com)
จะเริ่มต้นเป็นนักเล่นทูแชนเนล จำเป็นต้องมีสตางค์แค่ไหน
“สำหรับนักเล่นเครื่องเสียง เวลาฟังเพลง ห้องควรมีขนาดกว้างใหญ่พอสมควรนะครับ เพราะห้องเล็กเกินไปก็ไม่ดี ใหญ่หน่อยจะดีกว่า
และควรมีลำโพงขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย ถามว่าจำเป็นต้องสร้างห้องขึ้นมาเพื่อฟังเพลงโดยเฉพาะมั้ย ผมว่าแล้วแต่งบประมาณ ถ้ามีเหลือเขาก็ทำกัน”
สำหรับผู้เริ่มต้น (ทำตามงบที่มี) ดร.ชุมพลบอกว่าห้องนั่งเล่นของเราเหมาะที่สุด
“เซตอัพให้ดีที่สุดสำหรับการฟังเพลง เก้าอี้อาจเป็นโซฟาที่ใช้ร่วมกันกับครอบครัวนั่นแหละ บางบ้านก็ใช้ชุดร้องคาราโอเกะไปด้วย คนมีสตางค์หน่อยก็จัดแยกชุดไปเลย
RR (Cr.carousell.com.my)
กรณีใช้หูฟัง ผมว่าเหมาะกับการเดินทาง เพราะเอาไว้ฟังคนเดียว ซึ่งฟังนาน ๆ ก็ไม่ไหว และหูฟังดี ๆ ราคาเป็นแสนเหมือนกัน”
เป็นนักเล่นเครื่องเสียงก็ฟังเสียงจากลำโพง แล้วเดินไปไหนได้ในบ้าน และชวนเพื่อน ชวนสมาชิกในครอบครัว มาร่วมเพลิดเพลิน
“เครื่องเสียงดี ๆ บอกตามตรงราคาก็ไม่ถูกนักหรอก แต่เราเลือกซื้อได้ตามกำลังทรัพย์ มีให้เลือกมากมาย ที่สำคัญนอกเหนือจากความแพงคือความแมทชิ่งของอุปกรณ์ที่ใช้
เช่น จะเล่นทูแชนเนลแบบจริงจังหน่อย ประกอบด้วยเครื่องเล่น ซีดีเพลเยอร์ หรือเครื่องเล่นซีดี หรือสตรีมเมอร์ เป็นต้นทาง กลางทางเป็นอินทรีเกรเตต ปลายทางต้องมีลำโพง ระหว่างอุปกรณ์มีตัวเชื่อมสายสัญญาณ หรือสายลำโพง”
สายลำโพง สายไฟ ระดับนักเล่น มีตั้งแต่หลักหมื่นถึงแสน (แค่สายไฟ) ดังนั้นจะเข้าวงการนี้ควรศึกษาเรื่องการแมทชิ่ง และไม่จำเป็นต้องซื้อแต่ของแพง
Last Chritsmas เพลงดังของวง Wham!
“เราต้องรู้ก่อนว่าเราเอาไปฟังเพลงประเภทไหน อย่าปฏิเสธตัวเอง ไม่งั้นจะไม่มีความสุข ถ้าชอบลูกทุ่งอย่าเลือกเครื่องเสียงที่ตอบสนองการฟังเพลงคลาสสิก มันคนละเรื่องกัน เรียกว่าบุคลิกเสียงของแต่ละเครื่อง ที่จะให้เสียงออกมาไม่เหมือนกัน
แต่ก็มีชุดเครื่องเสียงที่ออกมาแบบกลาง ๆ เยอะมาก ประเภทฟังได้ทุกแนวแต่จะไม่สุดที่แนวใดแนวหนึ่ง
สำหรับคนที่เริ่มต้นเล่นเครื่องเสียง ที่ไม่รู้เลยว่าที่ฟังออกมาดีหรือไม่ดี วิธีแนะนำคือ ลองเทียบดูว่าสมมุติเสียงเปียโนหรือกีตาร์ที่เครื่องเสียงชุดนั้นถ่ายทอดออกมา เมื่อเทียบกับเสียงเครื่องดนตรีจริงแล้ว มีความคล้ายคลึงกันมากน้อยแค่ไหน ยิ่งเหมือนของจริงมากเท่าไหร่ยิ่งแสดงว่าเครื่องนั้นดีมากขึ้นเท่านั้น หรือไม่เอาเสียงเครื่องดนตรี เอาเสียงนักร้องก็ได้ เสียงคนง่ายที่สุด”
แล้วนักเล่นทูแชนเนล มีจุดสิ้นสุดตรงไหน ดร.ชุมพล ตอบว่า
“ไม่มีหรอก ไม่จบไม่สิ้นครับ บางคนนะไปถึงชุดใหญ่ 10-20 ล้าน แต่พอเดินไปเจอลำโพงเล็ก ๆ อันหนึ่ง ฟังดูเสียงดี คิดว่าน่าจะเอาไปอีกตัว ตั้งในห้องทำงาน... ก็ซื้ออีก คนชอบก็จะซื้อไปเรื่อย พอนานวันเข้ามาสำรวจอีกทีพบว่าเรามีเยอะเกินไปแล้ว ก็ระบายออกบ้าง”
ความรู้และอุปกรณ์เครื่องเสียงเป็นอินฟินิตี้ และไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยของแพง แต่เริ่มด้วยใจ แล้วส่วนตัวคนเล่นทูแชนเนล ชอบฟังเพลงแนวไหน เขาตอบว่า
“ทุกแนวครับ แต่หลัง ๆ มานี้เริ่มไปทางคลาสสิกเยอะ แต่ก่อนเป็นแจ๊สกับบอสซาโนว่า เพลงป๊อปเราฟังมาตลอดอยู่แล้ว แต่ป๊อปส่วนใหญ่อัดมาคุณภาพไม่ค่อยดี ใช้ทดสอบกับเครื่องเสียงไม่ได้ เลยต้องไปหาแจ๊สกับคลาสสิก”
ถ้าให้ ดร.ชุมพล หยิบเพลงที่ชอบหรือที่ฟังซ้ำบ่อย มีอะไรบ้าง
“เยอะครับ ถ้าแจ๊สเป็นของเทคไฟว์ เดฟ บรูเบค (Take 5 Dave Brubeck) ฟังบ่อย ถ้าบรรเลงฟังคลาสสิกของสเปน ถ้าเพลงไทยก็เยอะนะ ส่วนใหญ่ฟังของคุณบอย โกสิยพงษ์ เนื่องจากเขาใช้เครื่องดนตรีจริงเยอะ
นอกนั้นเป็นเพลงในสังกัดเทลราค (Telrac) กับ อาร์อาร์ (RR – Reference Recordings) มีหมดทั้งบลู แจ๊ส คลาสสิก เล่นวงใหญ่และมีหลายแนวมาก
ล่าสุดฟังเพลง Last Christmas ที่เอามาจากวง Wham! มาทำ เพลงจากหนัง Notting Hill หรือเพลงจากหนังของคลินท์ อีสต์วู้ด เขาชอบแจ๊สไง
ตอนนี้มีหนังประวัตินักร้องมาสร้างใหม่ก็มีเพลงคัฟเวอร์หลายเพลง เช่น The Greatest Showman ซาวด์แทร็คก็ดีนะ เพลง Never Enough ที่แคทเธอรีน เจนกินส์ เอาไปร้องออกคอนเสิร์ต
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์
ฟังง่ายนะครับ ไม่ต้องปีนบันไดฟัง ของ Telrac มีเพลงบรรเลงจากภาพยนตร์หลายชุด อาจคุ้นหูบ้าง เช่น หนังซูเปอร์แมน สตาร์วอร์ส อินเดียน่าโจนส์ แบทแมน
แต่เล่นวงใหญ่ ดนตรี 70-80 ชิ้น ก็จะโอ้...ฟังแล้วมันสนุกดี”