โขนพระราชทาน ตอนพระจักราวตาร : ทำไมเป็นที่สุดของโขนไทย
โขนพระราชทาน ตอนจักราวตาร จะเปิดแสดงถึงวันที่ 8 ธ.ค.67 หากใครไม่เคยดูโขนมูลนิธิศิลปาชีพฯเลย ขอแนะว่า ควรหาโอกาสชมการแสดงโขนที่ดีที่สุดของประเทศไทยสักครั้งในชีวิต
17 ปีสำหรับโขนพระราชทาน ของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดแสดงให้คนไทยได้ชมตั้งแต่ปี 2550 มีบางปีไม่ได้จัดการแสดง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
กระทั่งปี 2564 กลับมาเปิดแสดงอีกครั้งและล่าสุดปี 2567 นำเสนอเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระจักราวตาร เป็นตอนที่แสดงกฤษฎาภินิหารของพระจักราหรือพระนารายณ์ ที่อวตารลงมาเป็นพระราม เพื่อปราบปรามฝ่ายอธรรม เปรียบประดุจพระนารายณ์หรือพระจักราเป็นต้นราชวงศ์จักรี ที่ปกครองบ้านเมืองให้มีความสงบร่มเย็น
สำหรับคนที่ไม่เคยดูโขนรูปแบบนี้เลย อาจคิดว่า น่าเบื่อ และเชย ต้องขอบอกก่อนว่า แม้จะมีกลิ่นอายเชิงอนุรักษ์ ตามขนบประเพณีดั้งเดิม แต่เดินเรื่องกระชับ มีการใช้เทคโนโลยีผสมผสานให้มีความร่วมสมัย
และยังมีองค์ประกอบศิลปะ ทั้งวรรณศิลป์ วรรณคดี คีตศิลป์และหัตถศิลป์อยู่ครบ ทั้งความวิจิตรงดงาม การโลดโผน เต้นและรำตามลักษณะตัวละครพระ นาง ลิง ยักษ์ เทวดา ฯลฯ ประกอบการพากย์ และท่วงทำนองกาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง มีต้นเสียงและลูกคู่คณะใหญ่ ซึ่งหาชมได้ยากในโขนทั่วไป
- รามเกียรติ์ เนื้อเรื่องหลักของโขน
การดูโขนให้สนุก คงเป็นเรื่องรสนิยมและความชอบ เนื่องจากการแสดงรูปแบบนี้มีความเฉพาะตัว ส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องรามเกียรติ์ตอนต่างๆ ฉากยิ่งใหญ่คือ การรบระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ ฉากงดงามก็ต้องฉากสรวงสวรรค์ นางฟ้า เทวดา เหาะเหินกลางเวหา
ล่าสุดปี 2567 โขนพระราชทานนำเสนอตอนพระจักราวตาร เริ่มจากพระอินทร์และเหล่าเทพนิกรพากันไปอัญเชิญพระนารายณ์ ขณะประทับเหนือพญาอนันตนาคราชในเกษียรสมุทรให้อวตารเพื่อปราบยุคเข็ญ พระนารายณ์เป็นพระราม เทพพาหนะ และเทพอาวุธเป็นพระอนุชาพระลักษมี พระชายาเป็นนางสีดาซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการต่อสู้รบพุ่งกับฝ่ายอธรรมคือทศกัณฐ์ และญาติวงศ์
จากนั้นได้ผูกเรื่องตัดตอนตั้งแต่พระรามเสด็จไปยกศรที่นครมิถิลา ได้นางสีดาเป็นมเหสี และดำเนินเรื่องตั้งแต่นางสำมนักขาขนิษฐาของทศกัณฐ์ได้เข้ามาฟ้องและยุยงจนเกิดสงคราม
ขณะอยู่ในป่า ทศกัณฐ์ใช้ให้มารีศแปลงกายเป็นกวางทองมาลวงล่อ พระรามออกติดตามกวางทอง ทศกัณฐ์แปลงเป็นพระสุธรรมฤษีลอบเข้ามาลักนางสีดาพาขึ้นราชรถ พบกับนกสดายุที่ขวางทาง ทศกัณฐ์ได้พานางสีดาไปไว้ในอุทยานท้ายกรุงลงกา
เป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างกองทัพพระรามและทศกัณฐ์ ทั้งหมดแบ่งออกเป็น 2 องก์ 8 ฉาก อาทิ ฉากนารายณ์บรรทมสินธุ์,ฉากทศกัณฐ์ลักสีดา,ฉากสงคราม และเฉลิมฉลองชัยชนะ ฯลฯ
ถ้าพูดถึงภาพจำของคนดูโขน มักจะนึกถึงฉากนางสีดาถูกลักพาตัว แล้วพระราม พระลักษมี หนุมาน ตามมาช่วยจนเกิดสงครามกับฝ่ายทศกัณฐ์
การแสดงทุกครั้งของโขนพระราชทานจะมีนักแสดงไม่ต่ำกว่า 500 ชีวิต ทั้งนักแสดงรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ ซึ่งผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ จนร่ายรำถูกต้องตามจารีต ประกอบกับเครื่องแต่งกายอันประณีต
ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง เคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ว่า “ขาดทุนของฉัน คือ กำไรของแผ่นดิน” เนื่องจากการแสดงโขนใช้เงินลงทุนสร้างจำนวนมาก
และต้องทำความเข้าใจอีกว่า เมื่อปี 2561 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้การแสดงโขนในประเทศไทย “Khon masked dance drama in Thailand” ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา (มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพ) ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งใช้กับโบราณสถาน หรืออาคารสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือสถาปัตยกรรม ต้องอนุรักษ์ไว้เพื่อมวลมนุษยชาติ
- ที่สุดของโขนไทย
จากหลักฐานจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงการแสดงโขนว่า เป็นการเต้น ประกอบกับเสียงซอและเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าตนเองและถืออาวุธ
การแสดงโขนที่ผ่านมาในอดีตไม่เคยมีการสร้างฉากประกอบตามท้องเรื่อง เริ่มมีครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการจัดฉากแบบละครดึกดำบรรพ์ โขนจึงพัฒนามาจากในพระราชสำนัก กลายเป็นศิลปะของชาติ มีการสืบทอด ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอน การแสดงจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันโขนพระราชทาน(ปี 2567) พัฒนารูปแบบต่างจากภาพจำเดิมๆ มีการใช้เทคนิค ทำให้เหาะเหิน ทรงตัว ลอยตัวบนสลิง โดยไม่ใช้สแตนอิน และยังมีฉากดำดินล่องหน รวมถึงเทคนิคที่ทำให้พญานาคเลื้อยคลานได้
ส่วนนักแสดงยังคงร่ายรำอ่อนช้อยงดงามเหมือนเดิม ส่วนสีสันที่ทำให้คนดูอมยิ้มได้ คงเป็นฉากลิงที่ใช้นักแสดงรุ่นเยาว์ แสดงให้เห็นถึงความซุกซน กระโดด โลดเต้น ตลอดเวลา
ส่วนฉากที่อลังการก็ประหนึ่งภาพจิตรกรรม โดยเฉพาะฉากท้องพระโรงกรุงลงกา และบางฉากไม่มีบทพูด นักแสดงก็แสดงออกทางสีหน้าท่าทาง กระทืบเท้า
ชุดโขน ไม่ว่าพระ นาง หนุมาน ทศกัณฐ์ เป็นงานฝีมือการเย็บปักร้อยแบบชาววัง และวงปี่พาทย์ นักขับเสภารุ่นใหญ่และเล็กให้ท่วงทำนองเสนาะหู องค์ประกอบเหล่านี้คงไม่ได้เห็นในโขนทั่วไป จึงมีคนชมทุกวัย โดยเฉพาะลูกๆ ที่พาพ่อแม่ และญาติมาชม จนมีหลายคนบอกว่า โขนอยู่ได้ เพราะมีคนดูโขน
ยังจำได้ว่า เมื่อหลายปีที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสคุยกับครูไก่-ดร.สุรัตน์ จงดา อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการแสดงโขนพระราชทาน ผู้ริเริ่มและผลักดันให้เกิดโขนที่มีความวิจิตรงดงาม
เขาเล่าไว้ว่า การศึกษาเรื่องเครื่องแต่งกายโขนสมัยโบราณตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ต้องทำเหมือนการทำวิจัย เชิญอาจารย์ที่ีเชี่ยวชาญมาช่วยฟื้นฟูผ้ายกโบราณ โดยใช้เทคนิคผสมผสานทั้งโบราณและสมัยใหม่ ปักสะดึง กึ่งไหมแบบโบราณ กับเทคนิคสมัยรัชกาลที่6 ทำให้วิจิตรกว่าเดิม เพราะการทำงานกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เราทำงานหยาบไม่ได้
นอกจากเครื่องแต่งกายโขนที่มีความวิจิตรงดงาม ยังปรับท่ารำโบราณให้มีความทันสมัย เราจับจุดว่า ช่วงสิบปีนี้คนไทยโหยหาอดีต แต่เนื้อเรื่องต้องกระชับ ใช้ฉากหมุน เหาะเหินใช้รอก นำเทคนิคแบบฝรั่งมาปรับใช้ อย่างไปอังกฤษไปดูละครเพลงเดอะแฟนธอม ออฟ ดิโอเปร่ามีฉากหนึ่งแฟนธอมหายตัว ก็เอามาใช้ตอนศึกไมยราพ หรือฉากหนุมานแปลงกายเป็นใยบัวและตอนนางสีดาลอยตัว ก็ต้องใช้เทคนิคใหม่
เหล่านี้คือ รากฐานส่วนหนึ่งในการพัฒนาโขนพระราชทาน ซึ่งเรียกได้ว่า ที่สุดของโขนเมืองไทย โดยล่าสุด รองศาสตราจารย์ดร.ศุภชัยจันทร์สุวรรณ์(ศิลปินแห่งชาติ)เป็นผู้กำกับการแสดง
การแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร” จัดแสดงจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ซื้อบัตรได้ที่
https://www.thaiticketmajor.com/performance/gaan-sa-daeng-kohn-dton-phaa-jak-ra-va-tarn.html
...........
- ย้อนรอยโขนพระราชทาน
-ปี 2550 เริ่มมีการจัดแสดงโขน เรื่องรามเ
กียรติ์ ตอนพรหมาศ เพื่อเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา มีวงโยธวาทิต กองดุริยางค์กองทัพบก บรรเลง แสดงรอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550
-ปี 2552 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ตอนพรหมาศ มีการสลับรอบการบรรเลงวงปี่พาทย์และวงโยธวาทิต จนเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงให้จัดการแสดงโขนขึ้นทุกปี จนเป็นที่มา“โขนพระราชทาน”
-ปี 2553 จัดแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ตอนนางลอย ,ปี 2554 ตอนศึกมัยราพณ์, ปี 2555 ตอนจองถนน ,ปี 2556 ตอนโมกขศักดิ์ ,ปี2557 ตอนนาคบาศ และปี2558 ตอนพรหมาศ
-ปี 2559 การจัดแสดงโขนตอนพิเภกสวามิภักดิ์ต้องยกเลิก เนื่องจากการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9
-ปี 2560 มีการจัดแสดงโขนพิเศษ 3 ตอน ได้แก่ ตอน รามาวตาร ตอนสีดาหายถวายพล และตอนพิเภกสวามิภักดิ์ เนื่องในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
-ปี 2561 วาระฉลองครบรอบหนึ่งทศวรรษของโขนพระราชทาน ตอนพิเภกสวามิภักดิ์
-ปี 2562 จัดแสดงโขนชุดสืบมรรคา และเป็นการจัดแสดงครั้งสุดท้ายของโขนพระราชทาน ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในปี พ.ศ.2563
-ปี2565 จัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ รามเกียรติ์ตอน “สะกดทัพ”,ปี 2566 จัดการแสดงโขนตอน “กุมภกรรณทดน้ำ”และปี 2567 จัดแสดงโขนตอนพระจักราวตาร