เลือกตั้ง 2566 : ศัพท์เลือกตั้ง การสื่อสารที่ผันแปรตามยุคสมัย

เลือกตั้ง 2566  : ศัพท์เลือกตั้ง การสื่อสารที่ผันแปรตามยุคสมัย

คิดให้สนุกกับศัพท์แปลกๆ 'การเลือกตั้ง'ถูกนำมาใช้และพัฒนาการเรื่อยมา บางคำหายไปแล้ว อาทิ โรคร้อยเอ็ด ,บางคำยังใช้อยู่ อาทิ แลนสไลด์, อุ้มหีบ และล่าสุดมีศัพท์ใหม่ 'บัตรเขย่ง' เรื่องเหล่านี้มีที่มาที่ไป

ประเทศไทยเปิดให้มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2480 โดยการเลือกครั้งแรกเมื่อ 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองยังเป็นการเลือกโดยอ้อมอยู่ นับจากนั้นบรรยากาศของการเลือกตั้งก็เกิดสะดุด  มีๆ หายๆ มาเป็นระยะตามพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย

บรรยากาศการเลือกตั้งที่มีอารมณ์ของการแข่งขัน เป็นเรื่องเป็นราวเกิดขึ้นหลังจากเกิดมีพรรคการเมืองเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี 2498 ในท่ามกลางการแข่งขันระหว่างอำนาจขั้วต่างๆ ที่ดุเดือดสูสี การปราศรัยในสนามสาธารณะหรือ ไฮด์ปาร์ค เป็นครั้งแรกก็เกิดขึ้นในช่วงนั้น

เลือกตั้ง 2566  : ศัพท์เลือกตั้ง การสื่อสารที่ผันแปรตามยุคสมัย

ศัพท์แปลกๆ การเลือกตั้ง

ศัพท์การเลือกตั้งที่เริ่มหวือหวา มีการบัญญัติคำแปลกๆ มาอธิบายความเป็นไปของการเลือกตั้งเพราะมีการโกงกันมาก เกิดเมื่อพ.ศ. 2500 ศัพท์แปลกๆ ถูกนำมาใช้อธิบายการเลือกตั้ง เช่น พลร่ม ไพ่ไฟ ขบวนการไฮด์ปาร์ค เริ่มในยุคนั้นและก็มีพัฒนาการเรื่อยมา จนเกิดมีคำว่า ซื้อเสียง ขายเสียง หรือในการเลือกตั้งล่าสุดก็มีศัพท์ใหม่เพิ่มขึ้น เช่น บัตรเขย่ง 

ศัพท์การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง สามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของการเมืองได้เช่นกัน บางศัพท์ไม่ได้ใช้แล้วเพราะการเมืองเปลี่ยน บางศัพท์ยังใช้อยู่ 
นี่คือการประมวลคำศัพท์การเลือกตั้งที่น่าสนใจ  เลือกหยิบมาเพื่อฟื้นรำลึกให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการเลือกตั้งไทยมาถึงยุคปัจจุบัน

ความหมาย ศัพท์เลือกตั้ง ที่หายไปแล้ว

  • ไฮด์ปาร์ค

การไฮด์ปาร์ค คือ การเปิดปราศรัยทางการเมือง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้แบบอย่างมาจากอังกฤษ และเปิดให้มีการปราศรัยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ท้องสนามหลวง เมื่อปี 2498

ยุคนั้นเป็นยุคท้ายเผด็จการท่านผู้นำที่ยาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลก วงการสื่อสารในสมัยโน้นไม่ได้กว้างขวางเท่ายุคนี้ดังนั้นเวทีไฮด์ปาร์คเป็นที่แจ้งเกิดของนักการเมือง เป็นแหล่งเปิดประเด็นข่าวสาร และการรวมตัวกันทางการเมือง ก่อนจะถึงการเลือกตั้งใหญ่ พ.ศ. 2500 ศัพท์คำว่าไฮด์ปาร์คเลิกใช้มานานแล้ว เหลือแต่คำว่า เปิดปราศรัย หรือ ปราศรัยหาเสียง เท่านั้นที่ยังใช้มาถึงปัจจุบัน 

  • ไพ่ไฟ พลร่ม

เป็นศัพท์ที่ใช้ครั้งเดียวในการเลือกตั้ง 2500 แต่ถูกกล่าวขวัญถึงยาวนาน ว่าอย่าซ้ำรอยเหตุการณ์พลร่ม-ไพ่ไฟ โกงกันสะบั้นหั่นแหลกเช่นนั้น คำว่า พลร่ม หมายถึงการเข้าแถว/ต่อแถว เกณฑ์เข้าไปเลือกตั้ง (ทั้งๆ ที่ไม่มีรายชื่อ)

ส่วนไพ่ไฟ หมายถึง บัตรเลือกตั้งที่พิมพ์นอกเหนือจากให้ผู้มีสิทธิ์  เป็นบัตรที่เตรียมมาหย่อนเพิ่มคะแนน ในยุคหลัง 

เลือกตั้ง 2566  : ศัพท์เลือกตั้ง การสื่อสารที่ผันแปรตามยุคสมัย

  • โรคร้อยเอ็ด

โรคร้อยเอ็ด หมายถึง การซื้อเสียงขายเสียงอย่างโจ๋งครึ่ม เกิดในการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2524 เมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ อดีตนายกรัฐมนตรีลงสมัครแข่งขัน มีการทุ่มทุนและใช้อำนาจเพื่อให้ได้ชัยชนะชนิดแจกซองให้กับชาวบ้านถึงมืออย่างเปิดเผย  

แม้คำๆ นี้จะไม่ได้ใช้งานทั่วไป แต่ก็มักจะถูกหยิบยกมาอ้างอิงเสมอ ส่วนศัพท์ที่เกี่ยวข้องกัน และใช้กันทั่วไปคือคำว่า ซื้อสิทธิ์ / ขายเสียง (ด้วยเงิน) ที่เป็นพฤติกรรมของโรคร้อยเอ็ดนั่นเอง

  • คืนหมาหอน 

สื่อเริ่มใช้คำๆ นี้หลังจากที่มีการซื้อเสียง – ขายเสียง ด้วยตัวเงิน จึงเกิดมีการแจกเงินให้กับชาวบ้านที่ตกลง “ขายเสียง” ให้ แต่ก่อนหัวคะแนนจะนำเงินไปแจกจ่ายให้ตอนกลางคืนก่อนวันเลือกตั้ง จนเกิดมีศัพท์เรียกว่า คืนหมาหอน เพราะทำกันกลางคืนสุนัขเห่าใส่คนแปลกหน้าที่เดินไปมาเข้าออกบ้านโน้นบ้านนี้ 

  • เวียนเทียน/สวมบัตร

การทุจริตเลือกตั้งโดยสวมรอย สมอ้างว่าเป็นผู้ใช้สิทธิ์สมัยก่อน การซื้อสิทธิ์จะขอเอาบัตรประชาชนมาเก็บไว้ และให้คนของตัวเองสวมรอยเป็นผู้ใช้สิทธิ์แทน เพื่อประกันการกาเบอร์ที่ต้องการ

ขณะที่การเวียนเทียน ต้องสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ใช้สิทธิ์หลายครั้ง  การทุจริตลักษณะดังกล่าวถูกนำมาปรับปรุงป้องกัน เช่น ระเบียบการยืนยันตัวตน/เซ็นชื่อกรรมการบนบัตรเลือกตั้ง/ฯลฯ   

  • ลูกโดด/ยกพวง 

เป็นศัพท์เลือกตั้งของระบบการเลือกแบบ ทีม /พรรคการเมืองมาสามารถส่งผู้สมัครได้ทีมละ 2-3 คนขึ้นกับเขตนั้นๆ ในทางปฏิบัติ หากมีตัวเต็งคนเดียว การซื้อเสียงหรือหาเสียงกับหัวคะแนนจะสั่งให้เลือกคนเดียว/เบอร์เดียว ไม่ต้องเลือกทั้งทีม

หรือหากทีมนั้นๆ มีความสามัคคีกัน จะหาเสียงให้เลือกพร้อมกันทั้งพรรค แบบ “ยกพวง” ปัจจุบันเมื่อระบบเลือกตั้งเปลี่ยน ศัพท์เรียกขานก็หายตามไป      

เลือกตั้ง 2566  : ศัพท์เลือกตั้ง การสื่อสารที่ผันแปรตามยุคสมัย

  • ใบปลิว

กลายเป็นสื่อโบราณไปแล้ว เพราะยุคนี้เขาใช้วัสดุอื่นที่ทนทานกว่ากระดาษติดกาวแปะตามข้างรั้ว แต่สมัยก่อนการเลือกตั้งส.ส.ต้องมีรถแห่ มีใบปลิวโปรยตามหลังรถ และมีป้ายคัตเอาท์ใหญ่ๆ วาดรูปด้วยมือ 

 

ความหมาย ศัพท์เลือกตั้ง ที่ยังใช้อยู่ 

  • แลนด์สไลด์ 

ใช้ครั้งแรกจริงจังตามหน้าสื่อเมื่อปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้ส.ส.เกือบจะถึงครึ่ง ขณะที่การเลือกตั้งปี 2548 ได้เกินครึ่ง คือได้ 377/500 ที่นั่ง คิดเป็น 61.17%  แต่เพียงพรรคเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคะแนนจะไม่ถึงครึ่ง หรือว่าได้มากเกินครึ่ง

สื่อใช้ศัพท์ว่าแลนด์สไลด์กับการเลือกตั้งทั้งสองครั้ง หมายถึงได้มากเหนือคู่แข่ง อย่างท่วมท้น  ในการเลือกตั้ง 2566 มีการคาดหมายใช้ศัพท์ว่าแลนด์สไลด์บ่อยครั้งจากผลโพลสำรวจล่วงหน้า

  • กระสุน 

หมายถึงเงิน/เม็ดเงินเพื่อใช้ซื้อเสียง มักใช้คู่กับ ดินดำ เป็นกระสุนดินดำ ความหมายเดียวกัน 

  • อุ้มหีบ 

การทุจริตเลือกตั้งที่มีคนในสมรู่ร่วมคิด เปลี่ยนหีบบรรจุบัตรลงคะแนนระหว่างทาง กรณีที่ไม่ได้นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง 

  • ตกเขียว  

ซื้อส.ส.ย้ายพรรคล่วงหน้า ตั้งแต่ก่อนหมดวาระ หรือ ก่อนจะยุบสภา

  • ฝากเลี้ยง / แตกแบงค์

การส่งคนของตัวเองไปเป็นส.ส.ของอีกพรรค หวังจะใช้ประโยชน์ในภายหน้าเมื่อถึงคราต้องใช้เสียงสนับสนุน 

  • งูเห่า

ส.ส.แปรพักตร์ ย้ายพรรค มาจากนิทานชาวนากับงูเห่า 

เลือกตั้ง 2566  : ศัพท์เลือกตั้ง การสื่อสารที่ผันแปรตามยุคสมัย

ศัพท์เลือกตั้ง ที่ให้ใช้แต่ไม่ใช้

ไพรมารี : รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำการเลือกตั้งเบื้องต้นภายในพรรคเพื่อหาผู้สมัคร เอามาจากระบบไพรมารีของต่างประเทศ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการเปิดให้เลือกสรรภายในด้วยระบบนี้จริง  

 

ความหมาย ศัพท์เลือกตั้ง ใหม่

  • บัตรเขย่ง 

เป็นศัพท์ใหม่เพิ่งเกิดเมื่อการเลือกตั้ง 2562 จากระบบจัดสรรปันส่วนคำนวณสัดส่วนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่สูตรคำนวนเปลี่ยนไปมาก่อนการเลือกตั้งไม่นาน จนการเลือกตั้งปัจจุบันพัฒนากลายเป็นศัพท์ที่ใช้กระแนะกระแหนกติกาที่ไม่ชัดเจน หรือรู้สึกไม่เป็นธรรม  เช่น ระวังบัตรเขย่ง เป็นต้น 

  • หัวคะแนนธรรมชาติ 

ใช้ในสื่อโซเชียลในการเลือกตั้งรอบใหม่ เป็นศัพท์ที่ขยายความจาก “หัวคะแนน” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ทั่วไปมานาน หมายถึง ผู้สนับสนุนที่พรรคหรือผู้สมัครจัดตั้งขึ้น คำว่า หัวคะแนนธรรมชาติ จึงมีความหมายตรงกันข้ามกับจัดตั้ง  ก็คือ เป็นผู้สนับสนุนที่ไม่ได้จัดตั้ง มากันเอง ทำกันเอง หรือ ก่อให้เกิดเสียงสนับสนุนขึ้นมาโดยพรรคไม่ได้เกี่ยวข้อง

  • ติ่งแบก 

หมายถึงผู้สนับสนุนพรรคที่ออกหน้าหนุนในทุกช่องทาง แก้ต่าง และ เชิดชูให้อย่างเต็มที่ เป็นศัพท์ที่พัฒนาจากคำว่า “ติ่ง”  เฉยๆ เดิมหมายถึง ผู้สนับสนุนแบบไหนไปกันไม่ว่าจะพาไปทิศทางใด บวกกับคำว่า “แบก” ที่หมายถึง การปกป้องอุ้มชูแก้ต่างแอ๊คชั่นหรือสื่อสารเพื่อสนับสนุนออกหน้า  

  • แฟนด้อม 

ประยุกต์จากวงการศิลปินเกาหลี ที่แฟนคลับของศิลปินรวมตัวกันเป็นอาณาจักรของตน ประยุกต์ใช้คำว่า kingdom มาเป็น fandom  แล้วคำๆ นี้ก็เอามาใช้กับกลุ่มก้อนผู้สนับสนุนพรรคการเมืองที่รวมตัวกันทำกิจกรรมในแวดวงตน