เห็ดถอบ : เศรษฐกิจชุมชนกับมลพิษฝุ่นไฟ ทางออกที่ยากบรรจบ
การเผาป่าหาเห็ดและของป่า เป็นสาเหตุหนึ่งของไฟไหม้ป่าและฝุ่นควัน แต่ไม่มีใครสามารถชี้ว่าเป็นสัดส่วนเท่าใด ทั้งๆที่รัฐบอกว่าห้ามเผา แต่ชาวบ้านก็ยังเผา เพื่อหาเห็ด
ต้นฤดูฝนเช่นนี้เป็นช่วงที่เห็ดถอบ (เห็ดเผาะ) ออกสู่ตลาด ราคาขายสูงถึงกิโลกรัมละ 700-800 บาท ตวงใส่กระบอกได้นิดเดียวพอมื้อแต่ก็มีคนนิยมซื้อหา เห็ดถอบทางเหนือส่วนใหญ่เกิดเองในป่า แม้จะมีการใส่หัวเชื้อราดกึ่งๆ เพาะเอง แต่ก็ยังต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมของป่าเต็งรังให้เห็ดงอกงามออกมา
ผู้คนจะเข้าไปในป่าที่เป็นแหล่งเห็ดใช้ตะขอเล็กๆ คุ้ยตามหน้าดิน ยังไม่มีการเพาะในถุงในฟาร์มหรือโรงเห็ดเหมือนเห็ดเพาะได้ชนิดอื่น การออกไปเก็บเห็ดในฤดูต้นฝน ปลายพฤษภาคมต่อเนื่องมิถุนายนเช่นนี้
- แหล่งเห็ดถอบ
คนท้องถิ่นเชื่อว่าต้องเผาป่า เมื่อฝนตกลงมาห่าแรกๆ ก็จะช่วยให้มีเห็ดออก ความเชื่อที่ว่าทำให้มีการลักลอบเผาป่าในแหล่งที่เชื่อว่ามีเห็ดถอบ
แม้ว่าภาควิชาการได้ให้ข้อมูลว่า เห็ดถอบสามารถออกเองได้โดยไม่ต้องเผา มีการทดสอบวิจัยเชิงวิชาการอย่างชัดเจน แต่ไม่ได้รับการยอมรับมากนัก อีกประการหนึ่งการเผาจะช่วยให้ป่าหายรก สามารถเดินเข้าไปหาเก็บเห็ดได้สะดวกกว่าป่าที่ไม่ได้เผา
ที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน บริเวณป่าทุ่งกิ๊กมีแหล่งเห็ดถอบใหญ่ขึ้นชื่อ บางปีเคยเก็บได้มากถึงกว่า 2.5 หมื่นกิโลกรัม แล้งที่ผ่านมามีการลอบเผาป่าที่ทุ่งกิ๊กหลายรอบ ด้วยความเชื่อว่า ปีนี้เห็ดจะออกเยอะ เพราะสองปีที่ผ่านมาฝนมาก ปีลานีญ่าเห็ดไม่ออก
ปีนี้ฝนน้อยถึงรอบที่ต้องออก สาเหตุจากการเผา เพราะเห็ดเป็นเรื่องที่รับรู้กันทั่วไป จนกระทั่งผ.อ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ต้องเดินไปทางเจรจากับผู้นำหมู่บ้านเรื่องการเผาเอาเห็ด
และแจงว่า ทางอุทยานได้ราดเชื้อเห็ดเอาไว้ในพื้นที่ เชื่อว่าเห็ดจะออกได้ โดยไม่จำต้องเผา ขอให้กันพื้นที่ดังกล่าวไว้เปรียบเทียบกับแปลงที่ถูกลอบเผาไปแล้ว
- ไม่ต้องเผาก็มีเห็ด
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เห็ดแม่ปิง ทุ่งกิ๊กออกแล้ว แต่ไม่มากอย่างที่ชาวบ้านเชื่อกัน ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ พื้นที่บริเวณที่กันไว้ไม่เผา มีเห็ดออกจริง แต่ชาวบ้านผู้เก็บเห็ดนิยมเข้าไปในป่าแปลงที่เผามากกว่า
เพราะมันไม่รก หาง่ายกว่าแปลงไม่เผา แนวคิดที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมโดยทำให้เห็นว่าไม่ต้องเผาก็มีเห็ด ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับไปปฏิบัติจริงนัก ด้วยเพราะสาเหตุความยากง่ายในการเข้าไปและคุ้ยหา
และชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยังเห็นว่า รายได้จากเห็ดเผาะฤดูเดียวที่ทำเงินเข้าครอบครัวหลายหมื่นบาทนั้นคุ้มค่า และเป็นเศรษฐกิจของชุมชนติดป่า แม้ประโยชน์ในมิตินี้ขัดแย้งกับความสูญเสียด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็ตาม
นี่เป็นอีกปัญหาของการแก้ไขวิกฤตมลพิษฝุ่นควันภาคเหนือ ที่ต้องหาวิธีการจัดการ !
ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าสาเหตุใหญ่ของวิกฤตภาคเหนือมาจากการเผาที่โล่ง สถิติจุดความร้อน (hotspot) และรอยไหม้สะสม (burned scars) พื้นที่ไหม้มากสุดคือในเขตป่าของรัฐทั้งป่าสงวนฯและป่าอนุรักษ์ราว 80% การเผาหาเห็ดและของป่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของการไหม้ในป่า แต่ไม่มีใครสามารถชี้ว่าเป็นสัดส่วนเท่าใด
- เผาป่าหาเห็ดและของป่า
เพราะการไหม้ในป่ามาจากหลากหลายสาเหตุ และขึ้นกับบริบทของป่านั้นๆ ด้วย ไฟในป่ามีทั้งจนท.จุดเอง บริหารเชื้อเพลิง ไฟลาม ความขัดแย้ง ล่าสัตว์ ของเถื่อน รวมทั้งของป่า ซึ่งอย่างไรก็ตาม หากจะแก้สาเหตุปัญหาที่ใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ต้องจัดการกับการเผาเพื่อหาเห็ดและของป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... เอาแค่เรื่องเห็ดเรื่องเดียวก็ไม่ง่ายแล้ว
มีผู้กล่าวว่า ลำพังกฎหมายป่าไม้ของราชการ ทั้งพรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พรบ.อุทยานแห่งชาติ ฯลฯ มีบทบัญญัติห้ามเผาที่มีโทษหนักอยู่แล้ว แต่ขาดการบังคับใช้ นั่นเป็นเรื่องจริง แต่ในความเป็นจริงก็คือ ข้อจำกัดของรัฐเองที่ไม่สามารถควบคุมพื้นที่ป่าของตนและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดได้จริง
- ประการที่หนึ่งคือ เจ้าหน้าที่น้อยเมื่อเทียบกับขนาดของป่า มีช่องโหว่ให้เล็ดลอดเข้าไป ปัจจุบันอุทยานฯ มีหน่วยงานควบคุมไฟป่า แต่ขนาดขอบเขตความรับผิดชอบไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ป่าทั้งหมด
ส่วนป่าสงวนฯ ไม่มีหน่วยดับไฟเลย มีแต่หน่วยอื่นๆ ที่มีหน้าที่ไม่ตรงเช่นจัดการต้นน้ำ ปลูกป่า เป็นต้น ไฟไหม้ใจเขตป่าเป็นประจำทุกปี
สรุปก็คือ รัฐที่จำเป็นต้องใช้อำนาจ Law Enforcement แต่ไม่มีกำลังจะบังคับใช้อำนาจนั้นจริงอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม ปัญหาจึงเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีซ้ำๆ เดิมๆ
- ประการที่สองก็คือ บทบัญญัติที่เขียนไว้เข้มงวด พรบ.ป่าไม้ เผาป่า จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท แต่หากเกิน 25 ไร่ เพิ่มเป็น 2-15 ปี ปรับ 10,000-100,000 บาท พรบ.ป่าสงวนฯ ยิ่งหนักไปอีก
หากเกิน 25 ไร่ คุก 2-15 ปี ปรับ 20,000-150,000 บาท หรือ พรบ.อุทยานฯ ที่ให้จำคุก ไม่เกิน 5 ปีปรับ 20,000 บาท
เอาเข้าจริงหากมีการจับกุมชาวบ้านดำเนินคดี ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชนก็จะเกิดปัญหา ในทางปฏิบัติการจับกุมเล็กๆ น้อยๆ ก่อนหน้ามักจะตามมาด้วยการแก้แค้นลอบเผาให้เกิดปัญหายุ่งยาก และจัดการยาก
- ปัญหาเดิมคือเผาซ้ำซาก
ในทางปฏิบัติจริง จึงมักจะไม่ใคร่มีการงัดข้อกฎหมายว่าด้วยการเผาป่ามาใช้เท่าใดนัก ทั้งการที่ต้องมีหลักฐานคาหนังคาเขาด้วย มันยาก จับง่าย เป็นคดียาก
กรณีเผาเพื่อหาของป่า นี่เป็นปัญหาทางรัฐศาสตร์การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชุมชนมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายจริงๆ เมื่อเรื่องมาถึงในระดับพื้นที่ ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่รู้อยู่แล้วว่า พื้นที่ไหนมีการเผาซ้ำซาก เพราะต้องการหาของป่า ต่อให้เข้มงวดเฝ้าระวังเพียงไร มันก็จะลอบไปเผาจนได้ เพราะระยะเวลานานกว่า 3 เดือนยากจะเฝ้าประจำ
ดังนั้นในบางพื้นที่หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงจะไปชิงเผาบนแปลงดังกล่าวไว้ก่อน ในนามของโครงการบริหารเชื้อเพลิง ทำในช่วงต้นฤดูที่ฝุ่นควันยังสะสมไม่มาก หากโชคดีมีฝนตกลงมาช่วยก็จะกำจัดมลพิษในระยะต้นฤดูนั้นได้ส่วนหนึ่ง
แต่แนวทางปฏิบัติที่ว่า ไม่ได้เป็นชุดมาตรการที่ถูกต้องตามระเบียบราชการ เป็นการพลิกแพลงแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเท่านั้น
การจะแก้ปัญหานี้ได้ รัฐกับชุมชนต้องเปิดใจและพูดคุยหารือแบบเปิดอก ยอมรับว่าตัวเอง (หรือคนในชุมชน) เผาเพื่อจะให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และถูกต้องตามแนวทางของรัฐด้วย
ซึ่งหากแนวนโยบายของรัฐยืนกรานว่าห้ามเผาเด็ดขาด ห้ามมีจุดความร้อนเด็ดขาดยึดตามที่ถูกสั่งการลงมา ก็จะไม่มีพื้นที่เจรจาต่อรอง และการลอบเผากับการไล่จับแบบทอมเจอรี่ เกิดไฟไหม้ลามมากมายประจำซ้ำๆ ที่เดิม ก็จะยังดำเนินไปเฉกที่ผ่านมาทุกปี
ปัญหานี้ยังไม่มีการแก้ได้จริง มันเป็นความท้าทาย.