รอรับช้างไทย ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ กลับประเทศไทย 2 ก.ค.นี้
ชะตากรรมของช้างไทย ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ ที่ถูกส่งไปอยู่ต่างประเทศ ในนามทูตสันถวไมตรี ถูกใช้งานหนักจนสุขภาพย่ำแย่เป็นเวลานานกว่า 21 ปี กำลังจะได้กลับประเทศไทยแล้ว
Key Point:
- ช้างไทย ถูกนำมาเป็นทูตสันถวไมตรีส่งไปต่างประเทศมากมาย หลายเชือกมีความเป็นอยู่ลำบาก และเสียชีวิตมากมาย
- ช้างพลายงายาวสวยงาม แม้จะถูกยกย่อง แต่ก็แฝงมาด้วยการถูกใช้งานหนัก ไม่ต่างจากการทำร้าย
- เป็นครั้งแรกของไทยที่มีการขนส่งสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ทางเครื่องบิน ที่ต้องต่อกรงพิเศษและบินแบบเพดานต่ำ ความเร็วต่ำ
- บทเรียนของการแสดงไมตรีระหว่างชาติโดยไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ป่า
พลายศักดิ์สุรินทร์ (Muthu Raja) ช้างที่มีงายาวโค้งสวยงาม เป็น 1 ในช้าง 3 เชือก (พลายประตูผา, พลายศรีณรงค์) ที่รัฐบาลไทยมอบให้รัฐบาลศรีลังกา
เมื่อปีพ.ศ. 2544 แก่วัด Kande Vihara เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในงานแห่พระธาตุประจำปี
ปี 2565 องค์การพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา Rally for Animal Right & Environment (RARE) ได้ร้องเรียนว่า มีการใช้แรงงาน 'พลายศักดิ์สุรินทร์' อย่างหนัก จนเจ็บป่วย ควรได้รับการรักษา
พลายศักดิ์สุรินทร์ ถูกล่ามโซ่ เซื่องซึม เครียด ตกมัน ขาหน้าซ้ายผิดปกติ งอไม่ได้นาน 8 ปี สะโพกขวาและซ้ายเป็นฝีหนองตั้งแต่ปี 2563 มีขนหางไม่สมบูรณ์
Cr. TOP Varawut
กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบไปตรวจสอบ
วันที่ 24 สิงหาคม 2565 พบว่า พลายศักดิ์สุรินทร์มีสุขภาพและความเป็นอยู่ไม่ดี จึงให้สัตวแพทย์ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย, องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เดินทางมาตรวจ
คณะสัตวแพทย์เห็นว่า ควรให้พลายศักดิ์สุรินทร์หยุดทำงานและส่งตัวกลับมารักษาที่ประเทศไทย
Cr. TOP Varawut
- วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565
พลายศักดิ์สุรินทร์ ถูกนำตัวไปรักษาที่สวนสัตว์ Dehiwala มีคณะสัตวแพทย์ไทยและศรีลังกา คอยดูแล
ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตฯ, กระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา, วัด Kande Vihara หารือกันออกใบอนุญาตนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่ไทย
Cr. TOP Varawut
- วันที่ 4 พฤษภาคม 2566
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขออนุมัติงบกลาง 24 ล้านบาทเพื่อดำเนินการ ออกแบบ และจัดหาพาหนะขนส่ง
- วันที่ 9 มิถุนายน 2566
วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงข่าวความคืบหน้าว่า ตั้งแต่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากองค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา ถึงการใช้แรงงานอย่างหนัก กับพลายศักดิ์สุรินทร์
"ซึ่งไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร มีสภาพผอมโซ ขาหน้าไม่สามารถงอได้ และร่างกายค่อนข้างทรุดโทรม เราได้ส่งทีมแพทย์ไปประเทศศรีลังกา
Cr. TOP Varawut
เตรียมนำกลับไทยตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่ช่วงนั้นช้างมีอาการตกมันเลยทำให้แผนงานล่าช้าอีกทั้งเครื่องบิน C130 ที่เรามี ใส่กรงช้างไม่ได้ เลยต้องจัดหาเครื่องบินพาณิชย์ และต่อกรงพิเศษขนาดใหญ่
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประสานงานกับสถานทูตไทยในประเทศศรีลังกา ติดต่อบริษัททำกรงขนย้าย และบริษัทเครื่องบิน Ilyushin IL-76
เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย จะไปเตรียมการด้านสุขภาพอนามัย และดำเนินการนำเข้าช้างเข้ามาในราชอาณาจักร โดยต้องยื่นขออนุญาตนำเข้าตามอนุสัญญาไซเตส
คาดว่าพลายศักดิ์สุรินทร์จะเดินทางมาถึงไทย ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 หลังจากได้ใบรับรองสุขภาพ Fit to Fly ภายในสิ้นเดือนนี้"
Cr. TOP Varawut
- วันที่ 13 มิถุนายน 2566
เมื่อวันที่ 10-15 มิถุนายน 2566 ควาญช้าง 2 คน ที่เดินทางไปศรีลังกา แจ้งว่า มีการตอบสนองสื่อสารที่ดีต่อกัน
สุขภาพร่างกายของพลายศักดิ์สุรินทร์ดีขึ้นต่อเนื่อง สามารถให้อาหารช้าง เข้าใกล้ช้าง พาช้างไปเดิน และอาบน้ำได้
ขั้นตอนที่ 2 จะฝึกให้ช้างเดินผ่านกรง โดยเปิดประตูกรงทั้ง 2 ด้าน ให้ช้างมีความเคยชิน
ขั้นตอนที่ 3 จะฝึกช้างเข้าไปอยู่ในกรง ให้ทานอาหารได้ และปิดกรงทั้ง 2 ด้าน ให้สามารถอยู่ในกรงได้
ขั้นตอนที่ 4 เพิ่มการล่ามโซ่ที่ขาช้าง ให้ยึดติดกับกรง ขณะที่ช้างยืนอยู่ในกรง
ขั้นตอนที่ 5 ปรับสภาพแวดล้อมรอบกรงให้เหมือนบนเครื่องบิน เช่น ทำเสียงดัง ให้คุ้นชิน
Cr. TOP Varawut
- วันที่ 17 มิถุนายน 2566
ควาญช้างอีก 2 คน จากสถาบันคชบาลแห่งชาติ เดินทางไปสมทบ ทั้ง 4 คน จะช่วยปฏิบัติหน้าที่เตรียมความพร้อม ฝึกช้างเข้ากรง
และร่วมเดินทางดูแลช้างบนเครื่องบินขนส่งไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดเวลาที่เดินทางกลับไทย ประกอบด้วย
1) ทรชัยสิทธิ์ ศิริ อายุ 38 ปี มีประสบการณ์มากว่า 10 ปี เป็นควาญคอพลายยอดเพชร ช้างโรงช้างต้น เคยดูเเลช้างพลายงามที่ศูนย์บริบาลช้างบ้านปางหละ เป็นผู้ช่วยหน่วยช่วยชีวิตช้างควบคุมช้างตกมันอาละวาด
2) ศุภชัย บุญเกิด อายุ 26 ปี มีประสบการณ์มา 9 ปี เป็นควาญช้างผู้ช่วยสัตวแพทย์ดูแลรักษาช้างป่วยที่โรงพยาบาลช้างลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติ
3) ไกรสร เครือจันทร์ อายุ 49 ปี มีประสบการณ์มากว่า10 ปี เป็นครูฝึกช้างและควาญช้าง ดูแลช้างพลายคำแสน โรงเรียนฝึกช้างและควาญช้าง เคยดูเเลช้างสีดอสมชาติ ที่ศูนย์บริบาลช้างบ้านปางหละ ลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติ
4) กิติชัย ศรีประเสริฐ อายุ 37 ปี เป็นควาญคอพังโมเจช้างในพระอุปถัมภ์ โรงช้างต้น เคยดูแลช้างพลายพลเเสน เเละช้างพังเเม่ขนายดำ
หลังจากย้ายกรงมาตั้งไว้ที่สวนสัตว์ Dehiwala เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พลายศักดิ์สุรินทร์คุ้นเคยกับการเข้าไปอยู่ในกรงนานมากขึ้น ประมาณ 1 ชม.
ต่อด้วยการฝึกล่ามโซ่ยึดติดกับกรงด้านใน และต้นไม้ด้านนอกกรง มีการปิดประตูด้านหลังช้าง สร้างความคุ้นเคยอยู่ในที่แคบมากขึ้น
พลายศักดิ์สุรินทร์ กินอาหารได้ตามปกติ ไม่แสดงอาการกลัวหรืออาละวาด การฝึกเข้ากรงเป็นไปตามแผน
Cr. TOP Varawut
- วันที่ 18 มิถุนายน 2566
สัปดาห์ที่ผ่านมา ควาญช้างได้ฝึกช้างจนสามามารถอยู่ในกรงได้นานขึ้น ประมาณ 2 ชม. พร้อมกับล่ามโซ่ขาหลังสองข้างกับขอเกี่ยวภายในกรง
และล่ามโซ่ขาหน้ากับต้นไม้ด้านนอกกรง มีการปิดประตูทั้ง 2 ด้าน ทั้งข้างหน้า และข้างหลัง สภาพแวดล้อมคล้ายกับการขนส่งช้างบนเครื่องบิน
ช้างไม่มีอาการตกใจ กินอาหารได้ตามปกติ มีการทดลองทำเสียงดัง เคาะกรงช้าง ก็ไม่ตื่นตกใจแต่อย่างใด
ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-1 กรกฎาคม จะมีการฝึกซ้อมซ้ำ ๆ ให้อยู่ในกรงเป็นระยะ ๆ สร้างความคุ้นเคยให้มากที่สุด
ในวันที่ 2 ก.ค. เวลาตี 2 จะเริ่มเคลื่อนย้ายช้างจากสวนสัตว์ไปยังสนามบินโคลัมโบ ใช้เวลาเดินทาง 2-3 ช.ม. โหลดช้างเข้าเครื่องบิน ตามกำหนดการออกเดินทางเวลา 07:30 น. ตามเวลาท้องถิ่น
Cr. TOP Varawut
- วันที่ 19 มิถุนายน 2566
วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้พลายศักดิ์สุรินทร์มีความคุ้นเคยกับกรงมากขึ้น ไม่มีอาการตื่นเต้น หรือขัดขืน สามารถอยู่ในกรงได้นานถึง 2 ชั่วโมง
อาการบาดเจ็บก็ดีขึ้นมาก ฝีขนาดใหญ่เริ่มยุบลง เหลือแต่อาการบาดเจ็บภายในต้องมาเอ็กซเรย์ที่ประเทศไทย
สิ่งที่ต้องระวังคือ การเกิดภาวะฉุกเฉินบนเครื่องบิน จะต้องหาวิธีปลอบประโลมช้าง ให้อยู่ในอาการสงบ จะไม่ใช้ยาซึมถ้าไม่จำเป็น
การเดินทางจากศรีลังกามาไทยครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง ต่างจากสายการบินปกติ 3-4 ชั่วโมง เนื่องจากใช้เพดานบินและความเร็วต่ำ และท้องเครื่องไม่มีการปรับแรงดันอากาศ ทำให้แตกต่างจากการบินทั่วไป
เมื่อมาถึงแล้ว หากพลายศักดิ์สุรินทร์ ไม่มีอาการอ่อนเพลีย ก็เคลื่อนย้ายไปยังสถานคชบาล จังหวัดลำปาง ระยะทาง 70 กิโลเมตร กักกันโรค 14 วัน จากนั้นนำตัวมารักษา
ประสานให้สถาบันคชบาลแห่งชาติ ติดตั้งกล้อง CCTV ถ่ายทอดสดให้คนไทยติดตามดูอาการของพลายศักดิ์สุรินทร์ได้เหมือนกับหมีแพนด้าหลินปิง-หลินฮุ่ย ที่สวนสัตว์เชียงใหม่"