ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย
เปิดมุมมองความคิดช่างภาพ ในนิทรรศการภาพถ่าย SDGs l The Depth of Field กระตุ้น 'การพัฒนาที่ยั่งยืน' ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังร่วมกันปฏิบัติ
Key Point:
- การใช้ศิลปะภาพถ่ายมาเป็นเครื่องมือช่วยสื่อสารเรื่องราวต่างๆ
- การพัฒนาที่ยั่งยืน ในประเทศไทย ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
- เหล่าช่างภาพสามารถช่วยเหลือสังคมด้วยการรวมตัวกันแสดงผลงาน
- เรียกร้องการพัฒนาที่ยั่งยืนจากทุกภาคส่วนให้ร่วมมือกัน
การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและช่วยเหลือกัน แต่ในประเทศไทยกลับมีคนพูดถึงน้อยมาก
เหล่าช่างภาพจึงได้รวมตัวกันนำเสนอสิ่งเหล่านี้ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย SDGs l The Depth of Field หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ณ มิวเซียมสยาม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566
การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นในปี 1992 ในการประชุม Earth Summit ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล
จากวิสัยทัศน์ ถูกเปลี่ยนเป็นพันธสัญญาใหม่ในชื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย รวมถึงรูปแบบการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (SDG 12)
Cr. Bangkok Tribune
ในประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า แผนงานการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนได้รับการจัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2560 จะดำเนินการไปจนถึงปี พ.ศ. 2580 ควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ
มูลนิธิบูรณะนิเวศ รายงานว่า มีอย่างน้อย 25 พื้นที่มีของเสียอันตรายและมลพิษจากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องยาวนานและขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง
Cr. Bangkok Tribune
- เปิดพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบใหม่
สุขุมาล ผดุงศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า มิวเซียมสยาม ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพคนไทยให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
"เราได้เปิดพื้นที่ให้กับนิทรรศการนี้ เพื่อเรียนรู้ความยั่งยืนผ่านภาพถ่าย สอดคล้องกับพิพิธภัณฑ์สากล ที่เน้นเรื่องความยั่งยืนและสุขภาวะ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่นงานในวันนี้
นิทรรศการงานมีกำหนดเปิดปิด แต่สิ่งที่จะไม่จบคือ คนที่ได้มาเห็นภาพในนิทรรศการ ได้ประโยชน์ ได้เรียนรู้ ได้คิดตาม ก็จะเข้าใจเนื้อหาของ SDG ได้ง่ายผ่านศิลปะภาพถ่าย ภาพ ๆ เดียวอาจตั้งคำถามให้เขาคิดว่าทำไม"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ช่างภาพคือผู้ส่งสาร
จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ที่ปรึกษา สำนักข่าว Bangkok Tribune และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่มสห+ภาพ Fotounited กล่าวว่า คนในสังคมมักจะแยกศิลปะกับวิทยาศาสตร์ออกจากกัน
"ภาพที่โชว์ในงานนี้ รูปเล็กไปหน่อย ถ้าเราทำรูปใหญ่ แล้วใส่แสงเข้าไปให้อลังการ มันจะสวยงามขนาดไหน เพราะการถ่ายภาพก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
อย่างไฟไหม้ ช่างภาพถ่ายออกมาได้สวยสะพรึง การถ่ายภาพเป็นศิลปะ มารับใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีงามมาก สามารถดึงพวกที่ไม่สนใจให้มาสนใจได้ และทำให้ผู้ที่สนใจอย่างซีเรียสซอฟต์ลง
นาน ๆ จะมีเนื้อหาที่เป็นทั้งความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ประชากร สังคม ทุกสิ่งทุกอย่าง มานำเสนอด้วยภาพถ่าย
Cr. Bangkok Tribune
ในฐานะครูใหญ่สห+ภาพ เราตั้งกลุ่มมาสิบกว่าปีแล้ว รวมพลังช่างภาพนำภาพถ่ายออกมารับใช้สังคม
ทำงานเพื่อสาธารณะ หาเงินช่วยแผ่นดินไหว น้ำท่วม บริการฟรีให้หอจดหมายเหตุ บริการให้จังหวัดต่าง ๆ และเปิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
Cr. Bangkok Tribune
ภาพถ่ายมีบทบาทสำคัญ ช่างภาพเป็นผู้ส่งสาร ไม่ต้องไปชูป้ายประท้วง ไม่ต้องเป็นนักวิชาการมาอภิปรายทุกสิ่งทุกอย่าง
อย่างเรื่องสิทธิการเข้าถึงสาธารณสุข นักวิชาการอธิบายแทบตาย แต่ช่างภาพมีรูปคนถือบัตรเอามาปิดหน้า คนก็อยากรู้แล้ว ต้องไปอ่านต่อในคำอธิบาย
Cr. Bangkok Tribune
ถ้าไม่มีภาพถ่าย ประเด็นมันจะเลื่อนลอยในอากาศ ตอนนี้ฝีมือช่างภาพไทยไปไกลมาก น่าจะมาผนึกกำลังเป็นกลุ่ม
ถ้ามีหน่วยงานอะไรสักอย่างรับอุปถัมภ์ไปเลย จะดีมาก สมมติมีหน่วยงานหนึ่งบอกว่าต้องการภาพถ่ายสิ่งแวดล้อม ปัญหา SDG กี่ข้อในประเทศไทย ก็ทำให้ได้เลย
แต่ต้องออกาไนซ์ว่า จะจัด เอาไปนำเสนอยังไง ข้อมูลต้องพร้อม แล้วก็เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งขายหรือประมูลระดมทุนเอาไปช่วยด้านสิ่งแวดล้อม"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ทั่วโลกมีการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ประเทศไทยไม่มี
สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ บรรณาธิการภาพ โครงการ Photo Essay: SDGs The Depth of Field กล่าวว่า นิทรรศการนี้เกิดขึ้นจาก สำนักข่าว Bangkok Tribune ร่วมกับมูลนิธิ Konrad อยากนำเสนอเรื่อง SDG ที่ทั่วโลกมีมา7 ปีแล้ว แต่บ้านเราไม่มี
"นำมาสู่ไอเดียว่าเรามีภาพถ่าย เป็นสื่อที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ก็เลยนำภาพถ่ายมาพูดคุยนำเสนอประเด็นหนัก ๆ เรามีบางสิ่งที่อยากพูดถึง
อยากนำเสนอมากกว่าสิ่งที่คนเคยรู้จักมาแล้ว SDG เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาจะมีสองด้านเสมอ คือ มีคนได้ประโยชน์ กับคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ช่างภาพเราเป็นสายสารคดี สายข่าว สายฮิวแมนไรท์ เขามีประเด็นของเขา เช่น คุณบารมี ช่างภาพสัตว์ป่า พูดถึงเรื่องการเพิ่มประชากรสัตว์ เสือโคร่ง ช้าง กระทิง เพิ่มขึ้น
หรือ คุณภานุมาศ มีภาพน้ำมันรั่วที่ระยอง กับโรงงานสารเคมีระเบิด ตามไปถึงมูลนิธิที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมา ภาพถ่ายเราเรียกกันว่าภาพนิ่ง แต่จริง ๆ มันไม่ได้นิ่ง มันนำพาเราไป
ภาพในนิทรรศการนี้มีหลายเรื่อง ความเท่าเทียม การเข้าถึงสุขภาพ ไม่ได้หมายถึงติดเชื้อแล้วไปหาหมอกินยาจบ
Cr. Kanok Shokjaratkul
แต่สุขภาพหมายถึงการดูแลตัวเอง การอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน แตกขยายออกไปเป็นเรื่องมลพิษ สารเคมี ผักมาจากไหน แรงงานต่างชาติอยู่กันยังไง
สถานการณ์ทางการเมืองก็ส่งผลกระทบต่อสาธารณสุข เช่น สามีเสียชีวิตจากความรุนแรงในภาคใต้ เมียและลูกต้องไปอยู่ในคอกแพะ หรือรูปคนรับจ้างฉีดยาฆ่าแมลง มีแผลเน่าที่ขา ภาพพาเราไป อย่างไม่แยกส่วน
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ภาพถ่าย คือเรื่องจริง
บารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่า ผู้ผลิตรายการสารคดีโทรทัศน์ Full Frame ช่างภาพสุดขั้ว กล่าวว่า เมื่อได้รับการติดต่อก็ต้องเลือกภาพมาว่าอยากจะให้คนเห็นอะไร
"มีเรื่องงาสีเลือด นกชนหิน เมื่อก่อนมาเลย์ อินโดมีเยอะมาก ตอนนี้หมดแล้ว นักล่าเริ่มมาล่าในภาคใต้เราแล้วเพื่อเอางาไปแกะสลัก และเรื่องกวางผา ผมตามมาสิบปี จนรู้ว่ามันมีชีวิตอยู่ยังไงตามหน้าผา
ภาพถ่ายคือหลักฐาน บอกสิ่งที่เราอยากจะฟัง และสิ่งที่เราไม่อยากจะฟัง เราเพิ่มพื้นที่ป่าไม่ได้ แต่สัตว์ป่าเพิ่มขึ้น จะทำอย่างไร ผมถ่ายภาพเรื่องจริง บอกเล่าเรื่องราว
งานที่สะท้อนตัวตนของช่างภาพ ไม่ได้มาจากภาพเดียว แต่มาจากภาพชุด ภาพชุดสะท้อนเรื่องราวเดียวกัน แต่ต่างมิติ
สำหรับคนที่เป็นช่างภาพอยู่แล้ว ถ้าได้เห็นภาพในนิทรรศการนี้จะทำให้มีมุมมองกว้างขวางขึ้น ชัดเจนขึ้น หวังว่าจะมีงานอย่างนี้ออกมาให้คนทั่ว ๆ ไปได้เห็นมากขึ้น"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ภาพถ่าย ตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหา
ภานุมาศ สงวนวงษ์ ผู้ก่อตั้ง และช่างภาพข่าว Thai News Pix กล่าวว่า ตอนที่ได้รับการติดต่อมาให้มาแสดงภาพถ่าย ก็มาดูว่า SDG ตรงกับของเราภาพไหน
"เรื่องการรั่วไหลของมลพิษ มีภาพเหตุการณ์ ไฟไหม้โรงงาน ตอนแรกไฟดับแล้ว และมีคนตาย ปรากฎว่าไฟยังไม่ดับ ต้องให้คนออกนอกพื้นที่ 5 กิโลเมตร
ในมุมช่างภาพข่าว นอกจากอุบัติเหตุ มันยังเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สารพิษส่งผลกระทบกับเรายังไงบ้าง เราทุกคนกังวล เรามีหน้ากากกันแก๊ส เพราะไปม็อบบ่อย ก็ต้องเซฟตัวเอง
การเป็นช่างภาพข่าว ภาพที่ถ่ายต้องเล่าเรื่องได้ แต่ภาพข่าวสิ่งแวดล้อม ต้องทำให้คนรู้สึกได้ เราอยากให้เขาตั้งคำถามต่อ
น้ำมันรั่ว 1-2 วันในชายหาดก็หายไป แต่สิ่งที่อยู่ใต้ทะเล ในน้ำ สารพิษในอากาศ แล้วชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ อีกกี่ปีมันจะกลับมาเหมือนเดิมอย่างไร"