ศ.หยูน ซิ่ว-ฟัย 'งิ้วกวางตุ้ง' สร้างสิ่งไร้ขีดจำกัดจากพื้นที่จำกัด
ศาสตราจารย์ หยูน ซิ่ว-ฟัย (Yuen Siu-Fai) ผู้พยายามเผยแพร่ 'งิ้วกวางตุ้ง' สู่นานาประเทศด้วยอุปรากรจีนภาษาอังกฤษเขียนขึ้นใหม่เรื่อง Backstage และส่งต่อให้เยาวชนจีนรุ่นใหม่ในฮ่องกงร่วมสืบสานให้ ‘งิ้วกวางตุ้ง’ คงอยู่ต่อไป
Key Points :
- งิ้วกวางตุ้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติโดย UNESCO เมื่อปี 2552
- ศ.หยูน ซิ่ว-ฟัย ได้รับรางวัล Hong Kong Artist Award ปี 2534, BH Honorary Medal ปี 2535 และ Hong Kong Arts Development Council Artistic Achievement Award ในปี 2546
- "งิ้วกวางตุ้ง เป็นความสวยงามของวัฒนธรรมที่เรียนรู้ไม่มีวันจบ ต่อให้เรียนถึงวันตายก็ยังเรียนไม่จบ ผมจะอยู่กับอาชีพนี้ไปจนตาย”
อุปรากรจีน 'งิ้วกวางตุ้ง'
ศิลปวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ความรู้ ความเชื่อ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถ สร้างขึ้นเป็นแบบแผนพฤติกรรม ซึ่งแต่ละชนชาติต่างมี ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ประจำชาติเป็นของตนเอง
สิ่งหนึ่งที่ครูศิลปวัฒนธรรมทุกชนชาติพยายามทำ คือเผยแพร่และส่งต่อศิลปะนั้นให้กับคนรุ่นหลัง ศาสตราจารย์ หยูน ซิ่ว-ฟัย (Yuen Siu-Fai) ปรมาจารย์แห่งอุปรากรจีนกวางตุ้ง หรือ งิ้วกวางตุ้ง แห่งเกาะฮ่องกงก็เช่นกัน กำลังพยายามเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมจีนแขนงนี้สู่นานาประเทศ และส่งต่อให้เยาวชนจีนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานให้ ‘งิ้วกวางตุ้ง’ คงอยู่ต่อไป
ศาสตราจารย์ หยูน ซิ่ว-ฟัย
“การส่งต่อจำเป็นต้องมีคนรับช่วงในการเรียนรู้และสานต่อ เราจึงมีการสอนเด็กวัยรุ่นให้เรียนรู้เกี่ยวกับงิ้วกวางตุ้งในการแสดงออกของตัวละคร และสิ่งที่แสดงออกไปก็ต้องมีคนรับช่วงต่อ นั่นคือท่านผู้ชม” ศ.หยูน ซิ่ว-ฟัย ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ผ่านล่าม ในโอกาสเดินทางนำการแสดง ‘อุปรากรจีนกวางตุ้ง’ ชุด Backstage มาเปิดการแสดงในเมืองไทยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา
‘ผู้ชม’ ก็มีส่วนสำคัญในการร่วมสืบทอดงิ้วกวางตุ้ง ในความคิดของ ศ.หยูน
“ความหมายของงิ้วมีอะไรบ้าง...เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ชมท่านใดเข้ามาชม(งิ้ว)แล้วไม่มีความรู้มาก่อน พอเข้ามาจะได้ยินเสียงตูมตามตูมตาม บางท่านรู้สึกหนวกหูมาก
ด้วยเหตุผลนี้การจะสื่อวัฒนธรรมของงิ้วจำเป็นต้องมีวิธีการ จึงมีการร่วมมือกันพยายามคิดหาวิธีถ่ายทอดวัฒนธรรมออกสู่ทั่วโลก ด้วยการใช้ภาษาอังกฤษและคิดค้นการแสดงงิ้วกวางตุ้งชุด Backstage บอกเล่าตั้งแต่การจะเป็นงิ้วกวางตุ้งได้ต้องทำอะไรบ้างที่หลังเวทีและหน้าเวที สื่อสารกับท่านผู้ชม ซึ่งจะทำให้อยากเข้ามาชมในครั้งต่อไป” ศ.หยูน กล่าว
อุปรากรงิ้วกวางตุ้งเรื่อง Backstage
Backstage เป็นการแสดงอุปรากรกวางตุ้งในรูปแบบละครเวทีสมัยใหม่ สะท้อนชีวิตเบื้องหลังเวทีของคณะงิ้วกวางตุ้ง เขียนบทขึ้นในปี 2557 บทสนทนาส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นบทร้องที่ยังคงเป็นภาษาจีนกวางตุ้ง
นอกจากความสนุกสนานที่จะได้รับตลอดการชมการแสดงร่วม 2 ชั่วโมง ผู้ชมยังจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับเครื่องแต่งกายงิ้วที่วิจิตรงดงาม มีสีสันสดใสและหลากหลาย
ตลอดจนการแต่งหน้างิ้วกวางตุ้งที่เป็นเอกลักษณ์ และท่าทางการร่ายรำอันละเอียดอ่อนเปี่ยมความหมาย ท่าทางการต่อสู้ การตีลังกา การแสดงท่ายาก รวมถึงเทคนิคการบรรเลงเพลงและเสียงร้องที่ไพเราะของศิลปะการแสดงพื้นถิ่นของคนฮ่องกง
การแสดงงิ้วกวางตุ้งเรื่อง Backstage
“บุคลากรงิ้วกวางตุ้งเต็มไปด้วยผู้มีความสามารถหลากหลาย หากย้อนกลับไปสมัยอดีตที่ความรู้ยังไม่สามารถหาที่เรียนได้ การแสดงงิ้วกวางตุ้งถือเป็นสถานที่ให้ความรู้ทุกรูปแบบกับทุกคน รวมทั้งเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียนจนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม อย่างน้อยพวกเด็กๆ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากเวทีละครงิ้วกวางตุ้ง สิ่งนี้ทำให้เรารู้ว่าศิลปะการแสดงงิ้วมีคุณค่ามาก”
ศ.หยูน กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่ง ปรัชญาของงิ้วกวางตุ้ง คือพื้นที่ที่ใช้แสดงงิ้ว ไม่ใช่แค่คำว่า ‘เวที’ แต่หมายถึงการแสดงออกของตัวละครที่จะทำให้เราเห็นถึงจินตนาการต่างๆ
งิ้วกวางตุ้งใช้พื้นที่ที่มีจำกัดสร้างสิ่งไร้ขีดจำกัดให้ผู้รับชมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้รู้ว่าวัฒนธรรมถ่ายทอดอะไรบ้าง
แน่นอนการจะแสดงในออกในจุดนั้นต้องมีการเรียนรู้ มีการสอนต่อไป การแสดงออกของตัวละครในงิ้วกวางตุ้งจะสามารถส่งเสริมวัฒนธรรมต่อไป
ศาสตราจารย์ หยูน ซิ่ว ฟัย ในชุดงิ้วกวางตุ้ง
ศ.หยูน ซิ่ว-ฟัย อายุ 77 ปี เกิดที่เมืองฝอซาน แหล่งกำเนิดศิลปะเครื่องกระเบื้อง งิ้วกวางตุ้ง และศิลปะป้องกันตัว ย้ายตามพ่อแม่มาฮ่องกงตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เริ่มทำงานในสาขาศิลปะการแสดงเมื่ออายุได้ 7 ขวบ โดยเป็นนักแสดงเด็กในภาพยนตร์
ต่อมาได้ไปแสดงละครโอเปร่าและศึกษาการเล่าเรื่อง หนานยิน (Nanyin) การขับร้องบทกวีด้วยดนตรีพื้นบ้านกวางตุ้งอย่างเข้มข้นมากขึ้น เขาเป็นหนึ่งในศิลปินงิ้วเพียงไม่กี่คนที่สามารถแสดงได้หลากหลาย
การแสดงงิ้วกวางตุ้งเรื่อง Backstage
“เท่าที่เผยแพร่การแสดงงิ้วกวางตุ้งมาเกือบ 70 ปี ปัจจุบันวัยรุ่นฮ่องกงค่อนข้างมีความเชื่อของตัวเองหลายเรื่อง ซึ่งหลุดพ้นจากวัฒนธรรมจีน เราก็อยากจะดึงให้เยาวชนกลับมาสู่วัฒนธรรมจีนมากขึ้น โดยเริ่มต้นถ่ายทอดวัฒนธรรมเข้าไปสู่โรงเรียน” ศ.หยูน ตอบคำถามประเด็นคนรุ่นใหม่ฮ่องกงกับการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมงิ้วกวางตุ้ง
สิ่งอาจารย์หยูนพยายามทำ คือการนำงิ้วกวางตุ้งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนในโรงเรียนเพื่อให้ถึงตัวนักเรียน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงแตกหน่อเริ่มต้น ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าถ่ายทอดสานต่อได้
พิธีเปิดการแสดงงิ้วกวางตุ้งเรื่อง Backstage ที่กรุงเทพฯ
หากกล่าวถึง ‘งิ้ว’ ในประเทศจีน รูปแบบการแสดงมีความคล้ายคลึงกันทั่วทั้งประเทศ แตกต่างตรงการใช้ ‘ภาษาพูด’ แต่ละพื้นที่ของจีนมีภาษาพูดไม่เหมือนกัน งิ้วทั่วประเทศจีนจึงแตกออกเป็น 348 ชนิด ลำพังมณฑลกวางตุ้งก็มีงิ้วประมาณ 10 กว่าชนิด
อุปรากรกวางตุ้งเรื่อง Backstage เริ่มเปิดการแสดงในต่างประเทศครั้งแรกที่ Edinburge Fringe เทศกาลศิลปะกลางแจ้งยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกที่สกอตแลนด์ ตั้งแต่นั้นคณะละครเปิดการแสดงไปแล้วใน 13 เมืองของยุโรปและเอเชีย และ กรุงเทพฯ เป็นเมืองลำดับที่ 14 ของคณะแสดงโชว์ Backstage
โดยความร่วมมือกันระหว่าง สมาคมปาหว่ออุปรากรกวางตุ้ง (ประเทศไทย) สมาคมกว๋องสิว และโรงเรียนกว่างเจ้า โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (HKETO), ไวต้า กรีน, บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป, RHLB, ภัตตาคารไทยสกาล่าหูฉลาม สาขาสยามพารากอน และร้านนิวแคนตัน สุกี้ยากี้
ส่วนหนึ่งของการแสดงงิ้วกวางตุ้งเรื่อง Backstage
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในการแสดงงิ้วกวางตุ้ง
กิจกรรมให้ผู้ชมเรียนรู้การแต่งหน้างิ้วในการแสดงงิ้วเรื่อง Backstage
ศาสตราจารย์ หยูน ซิ่ว-ฟัย การแสดงที่กรุงเทพฯ
อุปรากรจีนกวางตุ้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดย UNESCO เมื่อปี 2552
“สำหรับผม งิ้วกวางตุ้งเป็นความสวยงามของวัฒนธรรมที่เรียนรู้ไม่มีวันจบ ต่อให้เรียนถึงวันตายก็ยังเรียนไม่จบ ผมจะอยู่กับอาชีพนี้ไปจนตาย” ศ.หยูน ซิ่ว-ฟัย กล่าวด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ