เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ประจำปี 2023
Yorgos Lanthimos ใช้ ‘มายาภาพยนตร์’ รังสรรค์โลกแฟนตาซีใบใหม่ให้ Poor Things จนสามารถคว้า ‘รางวัลสิงโตทองคำ’ ไปครอง เจาะลึกผลรางวัล ‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส’ ประจำปี 2023 ไปกับ ‘กัลปพฤกษ์’ ว่าหนังแต่ละเรื่องมีอะไรดีจึงคว้ารางวัลในสายต่าง ๆ ไปครอง
หลังจากได้จัดฉายหนังสายประกวดจำนวน 23 เรื่อง และสาย Orizzonti หรือ Horizons เส้นขอบฟ้า สำหรับหนังที่มีเนื้อหาลีลาใหม่ ๆ จำนวน 18 เรื่อง ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 8 กันยายน 2022 ไปจนครบถ้วนแล้ว ทาง ‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส’ ก็ได้ประกาศผลรางวัลทั้งหมดไปในพิธีปิดเทศกาลเมื่อค่ำคืนวันที่ 9 กันยายน ซึ่งผลรางวัลโดยส่วนใหญ่ก็ดูจะตรงใจกับเหล่านักวิจารณ์ที่ได้กะเก็งไว้ โดยมีรายละเอียดของแต่ละรางวัลกันดังนี้
เริ่มที่รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti ซึ่งได้แก่ หนังเล็ก ๆ จากประเทศฮังการี เรื่อง Explanation for Everything ของผู้กำกับ Gabor Reisz เล่าเรื่องราวชีวิตเยาวชนที่ออกจะร่วมสมัยไปกับสภาพสังคมการเมืองประเทศไทยในปัจจุบัน
โดยจับเรื่องราวไปที่ Abel เด็กหนุ่มที่ต้องสอบไล่ปากเปล่าในวิชาประวัติศาสตร์ แต่เขาดันติดเข็มกลัดสัญลักษณ์ทางการเมืองเข้าห้องสอบไปด้วย เมื่อเขาสอบไม่ผ่านในรอบแรก จึงเกิดเป็นคำถามใหญ่ขึ้นมาว่า เป็นเพราะ Abel แสดง ‘ความกล้า’ ในความคิดเห็นทางการเมืองจนไม่ถูกจริตจิตใจผู้ควบคุมการสอบหรือไม่ กลายเป็นวาระแห่งชาติที่สังคมกดดันให้มีการจัดสอบให้ Abel ใหม่
แต่เรื่องไม่ได้มีแค่นั้น เมื่อ Abel นอกจากจะเป็นนักเรียนใกล้สำเร็จการศึกษาแล้ว เขายังมีใจให้กับ Janka เพื่อนนักเรียนหญิงร่วมชั้น ซึ่งเคยตกหลุมรักและแอบมีความสัมพันธ์กับครูสอนประวัติศาสตร์คู่กรณีของ Abel นั่นเอง
หนังเล่าเรื่องราวว้าวุ่นของเด็กวัยรุ่นที่เรื่องราวความรักและการเมืองมักจะต้องเข้ามารบกวนจิตใจพวกเขาเสมอ ด้วยเนื้อเรื่องที่น่าจะถูกใจคนดูในวงกว้าง จนหนังประสบความสำเร็จคว้ารางวัลใหญ่ในสายรองนี้ไปได้ในที่สุด
มาที่รางวัลสำหรับสายประกวดหลักรางวัลแรกคือ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งได้แก่ เรื่อง El Conde หนังขาวดำจากค่าย Netflix ของผู้กำกับ Pablo Larrain จากชิลี ซึ่งเขาเขียนบทร่วมกันกับ Guillermo Calderón
เรื่องนี้นับว่ามีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ที่ออกจะประหลาดพิสดาร โดยเล่าเรื่องราวให้พลเอก Augusto Pinochet อดีตประธานาธิบดีรัฐบาลเผด็จการทหารของประเทศชิลี ในช่วงปี 1973-1990 มีชีวิตในช่วงบั้นปลายกลายเป็นผีดิบแวมไพร์อายุ 250 ปี ที่ต้องโบยบินโฉบเฉี่ยวบนท้องนภาเพื่อหาโลหิตสด ๆ มาดื่มกิน
หนังได้เล่าย้อนไปจนถึงช่วงรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในฝรั่งเศส ที่ Pinochet เคยใช้ชีวิตอยู่ กระทั่งถึงช่วงของการปฏิวัติใหญ่ ก่อนจะย้ายมาปกครองชิลีในเวลาต่อมา โดยผู้ที่บอกเล่าเนื้อหาเรื่องราวทั้งหมดนี้ ก็คืออดีตนายกรัฐมนตรีหญิง Margaret Thatcher! ทำให้ El Conde เป็นเรื่องราวนิยายภูติผีเชิงสัญลักษณ์ที่วิพากษ์วิจารณ์ชีวิตการเป็นผู้นำของ Pinochet เอาไว้ได้อย่างเจ็บแสบยิ่ง
ส่วนรางวัลทางการแสดงในปีนี้ ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอาจดูจะเป็นบทที่ไม่ใคร่จัดจ้านหรือมีสีสันอะไรสักเท่าไหร่ อย่างฝ่ายชาย Peter Sarsgaard จากเรื่อง Memory ของผู้กำกับ Michel Franco ก็แสดงเป็น Saul ชายผู้มีปัญหาทั้งทางด้านสุขภาพและความทรงจำ
ในงานเลี้ยงรุ่นครั้งหนึ่ง เขาได้ติดตาม Sylvia (แสดงโดย Jessica Chastain) เพื่อนร่วมโรงเรียนเก่าของเขากลับไปถึงบ้าน แล้วนอนฟุบอยู่หน้าประตูทั้งคืน Sylvia จำ Saul ได้ เพราะเขาคือหนึ่งในกลุ่มวัยรุ่นชายที่เคยข่มขืนเธอเมื่อเธอมีอายุเพียง 12 ขวบ แต่ Saul กลับจำเหตุการณ์นั้นไม่ได้ เรื่องราวเริ่มยุ่งเหยิงไปด้วยความไม่มั่นใจ เมื่อปรากฏว่าฝ่าย Sylvia เองก็ไม่อาจเชื่อถือความทรงจำของตนได้เช่นกัน!
บทของ Saul จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าชายผู้สิ้นหวังในชีวิตผู้ไม่สามารถเข้าถึงห้วงเวลาแห่งวันชื่นคืนสุขของเขาได้ และคงมีแต่เพียง Sylvia คนเดียวเท่านั้นที่จะช่วยฉุดเขาให้พ้นจากขุมนรกนี้!
ส่วนรางวัลทางการแสดงฝ่ายหญิงก็ได้แก่ Cailee Spaeny จากหนังเรื่อง Priscilla ของ Sofia Coppola ซึ่งเธอก็รับบทนำเป็น Priscilla Presley ถ่ายทอดช่วงชีวิตตั้งแต่ตอนที่ได้เจอ Elvis Presley (แสดงโดย Jacob Elordi) ครั้งแรก กระทั่งทั้งคู่ได้แต่งงานอยู่กินด้วยกัน
แต่จากบทบาทที่ควรจะมีสีสัน ผู้กำกับ Sofia Coppola กลับเลือกเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้แบบแทบจะ anti-plot คือไม่ได้ใส่ใจผูกปมประเด็นปัญหาชีวิตระหว่าง Elvis กับ Priscilla อย่างเป็นเรื่องเป็นราวจริง ๆ แต่กลับถ่ายทอดวิถีชีวิตของ Priscilla ทั้งในคฤหาสน์ Graceland และห้องหับของโรงแรมต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ไปพัก ในบรรยากาศอันมืดสลัวหม่นมัวเพื่อสะท้อนภาพอารมณ์ภายในของฝ่ายภรรยา
ตัวละคร Priscilla จึงจำเป็นต้องใช้ ‘สีหน้า’ มากกว่าคำพูดที่จะบ่งบอกความนัย จนอาจจะถูกคณะกรรมการที่นิยมการแสดงในแบบพูดน้อยแต่ต่อยหนัก!
ในขณะที่รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ดูจะสมศักดิ์ศรีและเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่พอสมควร ซึ่งได้แก่ผู้กำกับอิตาลีรุ่นลายคราม Matteo Garrone ที่หันมาทำเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘วัยรุ่นแอฟริกันอพยพ’ ที่ต้องระหกระเหินข้ามแดนทะเลทรายของทวีปแอฟริกาเหนือ ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ก่อนที่จะมีโอกาสได้ลงเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หลบหนีไปลี้ภัยอยู่ที่ประเทศอิตาลีกัน ในหนังเรื่อง Me Captain ผลงานซึ่งเป็นตัวแทนชิงรางวัลจากอิตาลีเรื่องนี้
หนังเล่าเรื่องราวปัญหาผู้อพยพลี้ภัยที่มีความร่วมสมัยเอามาก ๆ และแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ภาษาอิตาเลียนในการเดินเรื่องเลยก็ดูจะไม่เป็นปัญหาอันใด เพราะ Matteo Garrone ได้ขยับขยายความสนใจในเรื่องราวชีวิตมนุษย์ที่เลยพ้นไปจากประเทศตนเองในฐานะพลเมืองโลกได้อย่างรับผิดชอบ ผ่านการกำกับที่ตอบโจทย์ตรึงความสนใจผู้ชมไปกับทุก ๆ การผจญภัย
โดยเฉพาะในฉากสุดท้ายที่ใช้ทั้ง ‘ภาพ’ และ ‘เสียง’ ได้อย่างทรงพลังจนรู้สึกโหวงเหวงวังเวงใจ โดยแทบไม่ต้องสื่อสารอะไรด้วยถ้อยคำกันเลย!
ในส่วนของรางวัลสำหรับหนังทั้งเรื่อง ปีนี้คณะกรรมการก็ใจดี มีโล่แจกให้ครบถ้วนทุกรางวัล เริ่มตั้งแต่รางวัลพิเศษขวัญใจคณะกรรมการหรือ Special Jury Prize ก็ได้แก่หนังเรื่อง Green Border ของผู้กำกับ Agnieszka Holland จากโปแลนด์ ซึ่งก็เล่าเรื่องราวในธีมเดียวกันกับเรื่อง Me Captain เป๊ะ ๆ นั่นคือปัญหาการอพยพลี้ภัยข้ามแดน
โดย Green Border ใช้ภาพขาวดำที่ออกจะขมุกขมัว ถ่ายทอดเรื่องราวแบบ ‘หลายชีวิต’ หลากหลายครัวเรือนทั้งจากดินแดนตะวันออกกลางและแอฟริกา ผู้หลบหนีทั้งสงครามและความยากแค้นมาตามหาความหวังใหม่ในดินแดนยุโรป โดยมีชายแดนที่เรียกกันว่า ‘Green Border’ ระหว่างเบลารุส กับ โปแลนด์ เป็นดั่งธรณีประตูสวรรค์ หากมันเป็นพื้นที่แห่งโคลนตมอันทุรกันดาร มีทหารคอยตรวจตราอย่างไร้ความปรานี พวกเขาจึงต้องเสี่ยงชีวิตในทุก ๆ วินาที เพียงเพื่อจะได้มีชีวิตรอดไปยังดินแดนแห่งใหม่
ผู้กำกับ Agnieszka Holland นำภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นจริง มาตีแผ่ต่อผู้ชมอย่างไม่ประนีประนอม ทำให้ทุกฝ่ายต้องย้อนกลับมาดูว่าการแก้ปัญหาในปัจจุบันมันมาถูกทางแล้วหรือไม่ นับเป็นหนัง ‘รับผิดชอบสังคม’ อีกเรื่องที่น่าจะถูกใจกรรมการจิตใจดีทั้งหลาย จนสุดท้ายหนังก็คว้ารางวัล Special Jury Prize ไปครองได้ในที่สุด
รางวัลรองชนะเลิศหรือรางวัลสิงโตเงิน Silver Lion ก็เป็นหนังที่ ‘รับผิดชอบสังคม’ ไม่แพ้กันอีกเรื่องจากประเทศญี่ปุ่น นั่นคือ Evil Does Not Exist ของผู้กำกับ Ryusuke Hamaguchi ที่ ‘ศอกกลับ’ แนวทางการทำหนังด้วยลูกล่อลูกชนเชิงบทอันแน่นยิบในผลงานเรื่องก่อน ๆ มาแสดงบรรยากาศอันอ่อนโยนของภาพธรรมชาติริมลำธาร ที่ผู้คนสามารถเก็บกินอาหารตามป่าเขาเนาดงได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษ
ใน Evil Does Not Exist จึงมีเส้นเรื่องเพียงบาง ๆ ที่เล่าถึงครอบครัวของ ทาคุมิ ผู้เป็นบิดา และ ฮานะ บุตรสาว ที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ณ หมู่บ้าน มิซูบิกิ ชานกรุงโตเกียว โชคดีที่แค่ไหนที่พวกเขาเติบโตมาในบรรยากาศธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ แต่เมื่อวันหนึ่งบริษัทใหญ่จากเมืองกรุงมากว้านซื้อที่ดินใกล้เคียงเพื่อทำเป็นรีสอร์ทแคมปิ้งสุดหรู แถมยังว่าจ้าง ‘นักแสดง’ มาทำทีเป็นพนักงานคอยดูแลสภาพแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลาย แต่จากข้อมูลที่ได้ ไม่ว่าจะอย่างไร การเปิดค่ายไฮโซแห่งนี้ ย่อมมีผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่ธรรมชาติแห่งนี้เป็นแน่ แล้ว ทาคุมิ จะทำอย่างไร เพื่อปกป้องดินแดนมาตุภูมิของ ฮานะ ไว้ไม่ให้ใครมารุกราน
บุคลากรสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ก็คือ ผู้ประพันธ์ดนตรี Eiko Ishibashi ซึ่งได้เคยเชื้อเชิญให้ผู้กำกับ Ryusuke Hamaguchi มาสร้างงานวีดิทัศน์ประกอบดนตรีสดที่เธอด้นขึ้นมา โดยเมื่อ Ryusuke Hamaguchi ได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสกับความงามตามธรรมชาติของหมู่บ้าน มิซูบิกิ แล้ว ก็เกิดแรงบันดาลใจใหญ่หลวงจนสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Evil Does Not Exist ขึ้น แล้วหยิบเอาดนตรีของ Eiko Ishibashi นี่แหละมาประกอบ
หนังทั้งเรื่องจึงโดนแซวว่าเป็นเหมือนเป็น music video ขนาดยาว ที่เอาท่วงทำนองห้องจังหวะต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบชูโรง จนหนังมีเนื้อเรื่องอันน้อยนิด ซึ่งก็อาจจะเป็นนิมิตหมายใหม่อันดี ที่งานประเภท music video ก็สามารถผงาดคว้ารางวัลจากเทศกาลใหญ่อย่างเวนิสไปได้
รางวัลใหญ่สุดของเทศกาลที่ทุก ๆ คนต่างจับตาอย่างรางวัลสิงโตทองคำหรือ Golden Lion ประจำปี 2023 นี้ ก็ได้แก่หนังพูดอังกฤษเรื่อง Poor Things ของผู้กำกับกรีก Yorgos Lanthimos ซึ่งดัดแปลงเรื่องราวมาจาก นวนิยายแฟนตาซีชื่อเดียวกัน (1992) ของ Alasdair Gray จากสก็อตแลนด์
ผู้กำกับ Yorgos Lanthimos กับรางวัลสิงโตทองคำ Credit : GABRIEL BOUYS / AFP
Poor Things เล่าเรื่องราวที่คล้ายจะเป็น Frankenstein ร่วมสมัย เมื่อนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Godwin Baxter (Willem Dafoe) ได้ชุบชีวิตนางสาว Bella (Emma Stone) ผู้ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดสะพานข้ามแม่น้ำเทมส์กลางกรุงลอนดอน ให้กลับมามีชีวิตใหม่ ซึ่งก็ทำให้ Bella Baxter เป็นตัวละครอมนุษย์ผู้ไม่มีสำนึกแห่งความเป็นผู้ใหญ่ และประพฤติตัวเหมือนเด็กไร้สมองตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี Godwin ก็อุปถัมภ์เลี้ยงดู Bella ราวบุตรสาว แม้ว่า Bella จะไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยว่าความเป็น ‘กุลสตรี’ ที่น่ายกย่องนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเธอถึงวัยที่จะได้เรียนรู้เรื่องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เธอก็เรียกคนอื่น ๆ มาดูราวเป็นมหรสพ หรือเวลาพบเจอผู้ชายที่ถูกใจเธอก็จะพุ่งเข้าหาด้วยความใคร่ จะพูดจะจาอะไรก็ไม่เคยมีสมบัติความเป็นผู้ดีเลย
จนวันดีคืนดีมีนักกฎหมายหนุ่ม (Mark Ruffalo) ได้พยายามล่อลวง Bella ไปจากคฤหาสน์ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการผจญภัยที่จะทำให้ Bella รู้จักโลกกว้าง ก่อนจะไปสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการเป็นนางโสเภณีอยู่ที่กรุงปารีสแดนน้ำหอมโดยไม่เคยหวงตัว!
หนังเรื่องนี้โดดเด่นไปด้วยจินตนาการแฟนตาซีที่ออกจะบ้าคลั่ง เล่าด้วยลีลาของทั้งหนังสีและหนังขาวดำ จนบางครั้งก็แทบจะบอกยุคไม่ได้ว่าเป็นหนังมาจากช่วงปีไหน ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Yorgos Lanthimos สามารถใช้ ‘มายาภาพยนตร์’ มารังสรรค์โลกแฟนตาซีใบใหม่ให้กับ Poor Things ได้อย่างบรรเจิดพิลาศพิไล เป็นหนังที่ถึงพร้อมด้านเทคนิคการสร้างภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ที่สุดจนคว้ารางวัลใหญ่จากเทศกาลเวนิสไปไล่หลังจากโกยคะแนนดาวสูงลิ่วจากเหล่านักวิจารณ์
สำหรับคณะกรรมการตัดสินรางวัลต่าง ๆ ในสายประกวดหลักของเทศกาลเวนิสประจำปีนี้ก็ได้แก่ ผู้กำกับ Jane Campion, Mia Hansen-Love, Gabriele Mainetti, Martin McDonagh, Santiago Mitre, Laura Poitras นักแสดงSaleh Bakri กับ ซูฉี โดยมีผู้กำกับอเมริกัน Damien Chazelle เจ้าของผลงานดังอย่าง Whiplash (2014) La La Land (2016) และ First Man (2018) เป็นประธานคณะกรรมการ