เดชรัต สุขกำเนิด : เมื่อโลกเปลี่ยน นโยบายแบบไหน...ตอบโจทย์ชีวิตคนไทย
ไม่ว่าจะเป็นสส.หรือไม่เป็น ดร.เดชรัต สุขกำเนิด สิ่งที่ทำมาทั้งชีวิตมีตัวอย่างดีๆ ให้เห็น เมื่อมีโอกาสทำเรื่องนโยบายให้พรรคก้าวไกล สิ่งที่ทำต้องเกิดผลต่อประชาชน
สิบปีที่แล้วหลายคนคงจำเรื่องบ้านประหยัดพลังงาน ต้นคิด ทิพย์ธรรม ของครอบครัวอาจารย์คนนี้ได้ ไม่ว่าเขาจะทำเรื่องอะไร ถ้าลงมือทำได้ เขาจะทำให้เห็น
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร เขาสามารถอธิบายเกือบทุกเรื่องให้เห็นผลดีผลเสีย ไม่ว่าปัญหาเกษตรกร การศึกษาและเศรษฐกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งปัญหาช่องว่างระหว่างวัย
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) 1 ใน 7 ขุนพลทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล วิทยากรที่พยายามผลักดันการเรียนรู้นอกห้องเรียน อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักเรียนรู้ตลอดชีวิต
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) 1 ใน 7 ขุนพลทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล
ไม่ว่าใครก็ตาม เมื่ออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม ก็ต้องลงมือทำ อาจารย์เดชรัตก็เช่นกัน เขาเลือกทำงานออกแบบนโยบาย รอวันที่จะนำแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ และบางแนวคิดก็ลงมือทำกับคนในชุมชนไปบ้างแล้ว
ทำไมสนใจเรื่องการวางแผนนโยบายตั้งแต่เป็นอาจารย์?
ผมจบปริญญาเอกด้านการวางแผนและพัฒนาจาก Aalborg University ประเทศเดนมาร์ก ก่อนหน้านี้มีบทบาทในสถาบันการศึกษา บทบาทการเมืองเป็นสส. (สมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร)ดูไกลจากตัวผม พอดีสิ่งที่พรรคก้าวไกลมาชวนคุยเหมือนอยู่ตรงกลาง
ผมไม่ได้สนใจอยากเป็นสส. แต่พรรคก้าวไกลอยากมีองค์กรที่เป็นหน่วยนโยบาย ผมทำเรื่่องนโยบายเหมือนเดิม แต่ทำเพื่อตอบโจทย์เรื่องหาเสียงเลือกตั้งและเตรียมพร้อมเพื่อเป็นรัฐบาล ผมจึงเป็นคนร่างนโยบาย
ถ้าทำนโยบายออกมาสวยหรู แต่เวลาปฎิบัติจริงในพื้นที่อาจเกิดปัญหาได้ งานนโยบายและงานในพื้นที่ต้องตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน
เหมือนที่บอกผมสนใจการเมือง แต่ไม่ได้สนใจเป็นสส. ตำแหน่งที่ผมทำมีหน้าที่ทางวิชาการ
อยากมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ?
แน่นอน ผมเชื่อว่าสังคมไทยมีศักยภาพมากกว่านี้ กลไกรัฐสภาและรัฐบาลสามารถตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ ผมทำเรื่องนโยบายเพื่อตอบโจทย์มา 2 ปีแล้ว เนื้อหาที่ทำไม่แตกต่างจากการเป็นอาจารย์ แตกต่างที่กรอบเวลา งานด้านการเมืองแม้จะทำในส่วนวิชาการ แต่มีคำถามในสังคมตลอดเวลา เราต้องพร้อมตอบคำถาม
พัฒนานโยบายเพื่อตอบโจทย์การหาเสียง และเตรียมพร้อมหากพรรคก้าวไกลมีโอกาสเป็นรัฐบาล ?
ภาระกิจที่เป็นรูปธรรมของผมปี 2566 คือ นโยบายเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง พัฒนาออกมา 300 กว่านโยบาย ประชาชนก็ตอบรับด้วยการลงคะแนนเสียง เกินความคาดหมายของหลายฝ่ายและผม สังคมไทยอยากเห็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การปฎิบัติ นี่คือภาพรวม
นโยบายเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมอย่างไร
ไม่อาจตอบได้ หลายไอเดียนำไปสู่การปฎิบัติ เมื่อไม่นานพี่น้องชาวสงขลารวมกลุ่มกันชวนไปร่วมงาน เรื่อง โครงการอาหารกลางวันในพื้นที่ 30 โรงเรียน โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในพื้นที่
ถามว่าเกี่ยวกับเราไหม...ไม่ได้เกี่ยว แต่ที่เขาเชิญ เพราะตรงกับแนวคิดเพิ่มงบอาหารกลางวันของนักเรียน 9 บาทต่อหัว ถ้าจะทำจริงๆ ต้องคิดอีกว่า ใครจะเป็นคนปลูกข้าว ใครจะเป็นคนเลี้ยงปลา ต้องมีงบประมาณบริหารจัดการ
กลุ่มคนสงขลาที่ผมไปทำงานด้วยบอกว่า นโยบายแบบนี้หนึ่งเดือนไม่เห็นผล ต้องหนึ่งเทอม แต่ละพื้นที่มีรูปแบบการบริหารจัดการแตกต่างกัน นำไปสู่การเรียนรู้ และการเปลี่ยนแปลงระยะยาว
ถ้าต้องเปลี่ยนแปลงสังคมในระยะสั้น อาจารย์มีแนวคิดอย่างไร
สามเรื่องหลักที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ
1. การเรียนรู้ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงในโลก ไม่ว่าภูมิอากาศ ดิสรัปชันทางเทคโนโลยี เราต้องการการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความทันสมัย ทันเหตุการณ์ ซึ่งระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ อาทิ วันพิพิธภัณฑ์ไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้และให้แรงบันดาลใจคนในสังคม ยังไม่มีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้จริงจัง เพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้
2. ระบบสวัสดิการ คือ เด็กเกิดน้อยลง คนแต่งงานไม่อยากมีลูก ถ้าไม่รีบพัฒนาระบบสวัสดิการ เพื่อตอบโจทย์คนในสังคม ก็จะทำให้คนวัยทำงานกังวลและไม่มีผลผลิตการงานที่ดีพอ
เราเจอคนจำนวนหนึ่งยอมทิ้งศักยภาพและอนาคต เพื่อแลกกับสวัสดิการ บางคนเลือกเป็นข้าราชการ ทั้งๆ ที่มีความสามารถ มีความฝันในแบบอื่น ผมไม่ได้บอกว่าการเป็นข้าราชการไม่ดีนะ สุดท้ายพวกเขาถูกบีบโดยกลไกสังคม
แทนที่พวกเขาจะเป็นข้าราชการเพื่อสวัสดิการในชีวิต ผมคิดว่าทุกคนต้องได้สวัสดิการที่ดีพอ เพื่อทำให้เขาประกอบอาชีพอะไรก็ได้
แน่นอนว่า แนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ ไม่อาจเปลี่ยนได้แบบเดนมาร์ก สวีเดน ภายใน 4 ปี อย่างน้อยควรวางรากฐานให้กับเด็กเกิดใหม่ ทำให้พ่อแม่สามารถดูแลลูกจนจบการศึกษา และยังมีเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ
3. การกระจายอำนาจ หมายถึง กระจายโอกาสและทรัพยากร ต้องทำให้องค์กรท้องถิ่นตัดสินใจได้ด้วยตัวเองสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
อย่างเรื่องเอลนีโญ องค์กรท้องถิ่นไม่มีโอกาสจัดการน้ำในพื้นที่ตัวเอง แม้จะมีอำนาจหรือทำได้ในบางโอกาส แต่อำนาจต้องมาจากส่วนกลาง และมีความล่าช้า
อีกเรื่อง เมื่อเราพูดถึงรถไฟฟ้า 20 บาทในกรุงเทพฯ แต่งบการจัดการท้องถิ่นเรื่องขนส่งสาธารณะใน 76 จังหวัดน้อยมาก นี่คือสามเรื่องที่ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว
ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ทำได้เลยสักเรื่อง ?
อย่างเรื่องพิพิธภัณฑ์ เราเสนอหลายอย่าง ไม่ต้องใช้งบเยอะ คนสามารถเรียนรู้โดยตรงจากประสบการณ์ของมนุษย์ ผมเห็นจุดถ่ายรูปสตรีทอาร์ตในหลายเมือง
ถ้าผนวกเรื่องไดอารี่เมือง บ่งบอกความเป็นเมืองและจินตนาการที่คนในเมืองอยากให้เป็น นักท่องเที่ยวก็สามารถเดินชมพิพิธภัณฑ์ของเมืองได้ เรื่องเหล่านี้ทำได้เลย
หรือกรณีพิพิธภัณฑ์อาหาร คนไม่สามารถชิมได้ ถ้ามีพิพิธภัณฑ์อาหารที่ชิมได้ ไม่ต้องจัดเหมือนกันทุกวัน แต่ละสัปดาห์อาจมีนิทรรศการแตกต่างกัน นำเรื่องยำบ้าง เนื้อบ้าง เพื่อให้คนได้ชิมหรือลองทำ
ในเรื่องพลังงานทางเลือก คนไทยจะมีโอกาสใช้โซล่าเซลล์ด้วยราคาที่เป็นธรรมอย่างไร
เรื่องพลังงานหมุนเวียน ถ้ามองระยะสั้น ติดแผงโซล่าเซลล์ ค่าไฟฟ้าจะลดลง ถ้าประชาชนไม่มีเงินจะติดโซล่าเซลล์ จะทำยังไง...อาจมีระบบสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้ทุกคนติดโซล่าเซลล์ได้
แทนที่รัฐบาลจะติดโซล่าเซลล์ในหน่วยงาน อาจร่วมทุนกับประชาชน ใช้รายได้จากโซล่าเซลล์ปลดหนี้ให้ประชาชน นี่คือภาพรวม
โยงมาที่ระบบโครงสร้าง ราคาค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากโซล่าเซลล์ควรเท่าไร ที่ได้ยินมาคือ รับซื้อโซล่าเซลล์ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท ตอนซื้อมาจากการไฟฟ้าราคา 4.70 บาท
ตอนนี้(ปี2566)อาจ 4.00 บาทก็ยังแพงกว่าหน่วยละ 2.20 บาทที่การไฟฟ้าซื้อ ขณะที่การไฟฟ้าซื้อจากเขื่อนปากแบง(โครงการเขื่อนปากแบง ตั้งอยู่ในอาณาเขตประเทศลาว ผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัทสัญชาติจีน) เซ็นสัญญาหน่วยละ 2.70 บาท
ทำไมไม่ซื้อจากคนที่ติดโซล่าเซลล์ในราคาที่ดึงดูดใจกว่า สาเหตุที่คนยังไม่ติดโซล่าเซลล์ เพราะโครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่เป็นธรรมกับคนที่ติดโซล่าเซลล์
การทำงานกับคนรุ่นใหม่ อาจารย์เจอปัญหาอะไรบ้าง
ผมโชคดีที่เคยทำงานกับลูกชาย ก็เลยคุ้นเคยการทำงานกับคนรุ่นใหม่ มีสามเรื่องที่คนรุ่นใหม่ต่างจากคนรุ่นนี้
1. คนรุ่นใหม่ไม่เริ่มต้นที่เคยทำยังไง แต่เริ่มจากโจทย์คืออะไร
2 คนรุ่นผมจะคิดแล้วคิดอีกว่าดีไหม ก็ไม่ได้ผิดแต่ใช้เวลา แม้จะคิดทุกแง่มุม ก็ไม่ใช่ว่าตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่คนรุ่นใหม่เน้นวิธีการเลือกการทดลอง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
คำขวัญที่ผมชอบมาก ได้จากลูกชาย “ถ้าเรารู้ก่อนว่าไม่สำเร็จ ก็จะเป็นความเสียหายที่ต้นทุนต่ำที่สุด”
อย่างแคมเปญที่ใช้หาเสียง ผมก็ทดลองโพสต์ในเฟซบุ๊คผม ทำให้รู้ว่าคอนเซ็ปต์บางเรื่องคนชอบหรือไม่ชอบ โยงมาสู่สาธารณะได้ไหม ยกตัวอย่างนโยบายเรื่องหมาแมว ตอนที่คิดกัน ผมก็กลัวจะโดนกล่าวหาว่าเว่อร์ไป ทำได้จริงหรือ
เมื่อปีที่แล้วเราจัดวงคุยกันที่เชียงใหม่ และออกไปดูงานในพื้นที่จริง พอมาสื่อสารเรื่องหมาแมวถ้วนหน้า กลายเป็นบทความมียอดแชร์มากที่สุด การทดลองแบบนี่้ ทำให้เราเห็นทิศทางได้เร็วขึ้น และตอนนี้นโยบายหมาแมวมีผลสัมฤทธิ์อย่างที่เห็น
ข้อ 3 ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าจะเกรงใจคนที่อาวุโสกว่า แต่การทำงานกับคนรุ่นใหม่ ถือว่าทุกคนเท่ากัน หัวหน้าโครงการ ไม่ว่ารุ่นไหนตัดสินใจได้เลย ทำให้การทำงานดีขึ้น บางโครงการผมอาจเป็นผู้ช่วยน้องๆ ก็ได้
ถ้าทำอย่างนั้นต้องมีแนวคิดที่เปิดกว้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น ?
ถ้าคนส่วนใหญ่ลองเปิดกว้าง นั่นไม่ใช่การเสียสละ มันคือการปลดปล่อยภาระออกไปมากกว่า ผมโชคดีได้ทดลองเปิดกว้าง ปลดปล่อยภาระที่เราแบกไว้จากการเป็นผู้อาวุโส เราก็ทำงานเท่ากัน เหมือนกัน บางงานลูกเป็นหัวหน้าโครงการ บางงานผมเป็น
สิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในสังคม จะตอบโจทย์คนไทยได้อย่างไร
การกระจายอำนาจ กับระบบสวัสดิการ สองเรื่องนี้ต้องเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล เราอยากเห็นระบบสวัสดิการ ยกตัวอย่างงบการดูแลเด็กเล็กควรปรับจาก 600 เป็น 1,200 บาทต่อเดือน ผมคิดว่าทำได้
เปลี่ยนจากนโยบายกระจุกทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลางกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถ้ากระจายออกไปคนในประเทศจะได้เห็นตัวอย่างดีๆ อีกเยอะ
อีกเรื่องช่องทางในการเรียนให้จบระดับมัธยม ควรมีหลายช่องทาง ตอนนี้มีไม่กี่ช่องทาง นั่นก็คือ เรียนมัธยมปกติ เรียนโฮมสคูล เรียนกศน.และสอบเทียบต่างประเทศ เมื่อเลือกเส้นทางการเรียนแบบไหน ต้องไปเส้นทางนั้น โอกาสเปลี่ยนระหว่างทาง ยากมาก
เส้นทางการเรียนรู้ ถึงเวลาต้องเปลี่ยน จะทำยังไงให้ระบบการศึกษายืดหยุ่นตอบโจทย์ มีช่องทางการเรียนที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ปัจจุบันแยกจากกัน
การเรียนในมหาวิทยาลัย ถ้าจะย้ายคณะ คนเรียนสามารถเทียบเครดิตเหมือนในต่างประเทศได้ไหม การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้ออกแบบเรื่องนี้
ส่วนระบบสวัสดิการในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ อาจมีการจ้างงานคนในท้องถิ่น ผมไปดูงานที่สมุทรสงคราม มีการจ้างงานคน 20 คน ดูแลผู้สูงอายุ 80 คน คนที่รับประโยชน์คือคนในครอบครัวผู้สูงอายุ
ปัจจุบันเราพบว่า สัดส่วนแรงงานผู้ชายกับผู้หญิงใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเข้าช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป แรงงานผู้หญิงน้อยลง เพราะต้องออกจากงานมาดูแลพ่อแม่ แล้วใครจะตอบโจทย์เรื่องนี้
อาจมีคนบอกว่าสถานบริบาลผู้สูงอายุ คนส่วนใหญ่มีความพร้อมที่จะจ่ายเงินระดับสองหมื่นบาทเพื่อดูแลผู้สูงอายุไหม ส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อม จึงต้องออกมาดูแลพ่อแม่
โอกาสทางเศรษฐกิจของแรงงานผู้หญิงที่หายไป ถ้าเรามีระบบสวัสดิการที่ดีจะตอบโจทย์เรื่องนี้ และแน่นอนต้องคำนวณรายละเอียดว่าต้องใช้เงินเท่าไร
เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเอลนีโญ ต้องแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ?
ปีนี้เอลนีโญมา ราคาข้าวดี น้ำแล้ง ไม่พอเพียงทางการเกษตร เรื่องนี้ต้องเตรียมงบให้เกษตรกรเพื่อปลูกพืชอื่นๆ ถ้าจะบอกว่า ให้เกษตรกรหยุดทำนาปรัง
เนื่องจากปริมาณน้ำมีอยู่จำกัด พื้นที่การปลูกข้าวจาก 8 ล้านไร่ให้ลดลง 2 ล้านไร่ ถ้าไม่ต้องการให้เกษตรกรเสียโอกาส ก็ต้องมีเงินชดเชย อาจไร่ละสองพันบาท
หรือกรณีพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ไม้ผลมีความเปราะบาง ไม่มีน้ำในระบบชลประทานหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่รองรับ
จุดไหนต้องทำเรื่องน้ำบาดาลเสริม รัฐต้องช่วยทำแหล่งน้ำ ต้องคำนวณงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาเร็วที่สุด ถ้ารอส่งแบบแล้วพิจารณารายละเอียดจะล่าช้า
ถ้าให้ผมสุ่มตัวเลขในหลายๆ พื้นที่ ตัวเลขกลางน่าจะสองหมื่นห้าพันบาทต่อหนึ่งพันลูกบาศก์เมตร คือ หนึ่งพันลูกบาศก์เมตรของน้ำที่เก็บเพิ่มได้ เงินสมทบที่รัฐน่าจะลงทุนให้
ยังมีประชาชนขอให้ลงพื้นที่ เพื่อขอแนะนำการทำเกษตรและการประมงอีกไหม
มีเกือบทุกวัน เมื่อไม่นานไปดูปัญหาปลากระพงราคาตกต่ำที่เกาะยอ จ.สงขลา เนื่องจากถูกปลากระพงจากมาเลเซียตีตลาด
ทั้งๆ ที่พี่น้องที่เราไปไม่ได้ใส่เสื้อพรรคก้าวไกล เราก็คุยกันได้ดี มีโอกาสหารือกัน ยังแซวกันหลายเรื่อง