จังหวะชีวิต ‘วิรไท สันติประภพ’ หลังพ้นตำแหน่งผู้ว่าฯแบงก์ชาติ
อีกเรื่องราว'ดร.วิรไท สันติประภพ’ อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ กับความสนใจเรื่องสังคม และพุทธศาสนา...ทำไมทำเรื่องพวกนี้มีความสุข และเรื่องราวดีๆ ที่อยากทำเพื่อคนอื่น
หลายมุมมองกับเรื่องราวในชีวิต ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 20 (1 ตุลาคม 2558– 30 กันยายน 2563) นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าที่มีความสนใจทั้งเรื่องเศรษฐศาสตร์ สังคม และพุทธศาสนา
ถ้าจะไล่เรียงสิ่งที่เขาทำในด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหาร มีเยอะเกินกว่าจะเล่าในพื้นที่นี้ อาทิ เคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศในอเมริกา ,รองผู้จัดการสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ
ส่วนงานเพื่อสังคม เป็นทั้งประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ,ประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ,กรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ ฯลฯ โดยไม่ได้มีแค่ชื่อในฐานะกรรมการ แต่ลงมือทำและร่วมกิจกรรม
(ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ คนที่ 20)
เมื่อเดือนกันยายน ปี 2566 เขาเดินทางไปค่ายอพยพที่ใหญ่ที่สุดในโลกในบังคลาเทศกับโครงการอาหารโลก ( World Food Programme, WFP) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อดูวิกฤติขาดแคลนอาหารของโลกที่คนไทยอาจนึกไม่ถึง(ดูเพิ่มได้ที่เฟซบุ๊ก Veerathai Santiprabhob)
ล่าสุดดร.วิรไท ให้โอกาสสนทนากับทีมกรุงเทพธุรกิจ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องในวาระวันครบรอบ 36 ปีกรุงเทพธุรกิจ (วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ) และนี่คือเรื่องราวชีวิตอีกมุมของอดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ที่เชื่อว่า ในโลกนี้ยังมีเรื่องที่ทำแล้วมีความสุขและสนุกอีกเยอะ...
หลังจากพ้นตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมา 3 ปี ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง?
หลังจากพ้นตำแหน่ง ไม่ได้วางแผนอะไรไว้ชัดเจนว่าจะทำอะไรต่อ สิ่งสำคัญคือรักษาสมดุลชีวิต ต่างจากตอนทำงานประจำ รับผิดชอบสูงมาก ไม่สามารถจัดตารางเวลาของตัวเองได้
สมดุลชีวิตในความหมายของคุณ ?
มีเวลาให้ครอบครัว ดูแลคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น ทั้งสองอายุมาก สุขภาพเริ่มไม่ดี และผมมีเวลาดูแลตัวเอง ทั้งสุขภาพกายและใจ ได้ทำเรื่องที่ผมสนใจหลากหลาย
"พุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ผมศึกษามากกว่าศาสนาอื่น และได้ประโยชน์ ทั้งการบริหารความเครียด เมื่อถึงเวลาต้องนอน ผมนอนหลับได้ "ดร.วิรไท
ตอนเป็นผู้ว่าฯแบงก์ชาติ บริหารจัดการกับความกดดัน ความคาดหวัง อย่างไรคะ
ผมโชคดีที่ได้พบพุทธศาสนา เรียนรู้การภาวนาและเรื่องใจ คนเรามี 3 ฐานสำคัญในชีวิต ก็คือ ฐานคิด ปัญญาในการทำเรื่องต่างๆ ,ฐานทำ...ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และฐานใจ ซึ่งการทำงานทั่วไปมักให้ความสำคัญกับฐานคิดและฐานทำ แต่ลืมฐานใจ ทั้งๆ ที่ชีวิตเรามีสองอย่างคือ กายกับใจ
คนให้ความสำคัญกับการดูกาย ไม่ได้ดูแลใจ ทุกศาสนาพูดถึงเรื่องใจ พุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ผมศึกษามากกว่าศาสนาอื่น และได้ประโยชน์ ทั้งการบริหารความเครียด เมื่อถึงเวลาต้องนอน
ผมนอนหลับได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหาร สามารถรักษาใจไม่ให้ว้าวุ่นหรือกังวล ที่สำคัญคือ เวลามีปัญหาผมทำใจให้เป็นกลางได้ เพราะใจจะทำงานแบบอัตโนมัติ (autopilot-ปล่อยให้ความรู้สึกเป็นตัวนำการกระทำ)
ใจ...ทำงานแบบอัตโนมัติ (autopilot) ?
ทำแบบ autopilot ไม่ได้มองปัญหาอย่างที่เป็น จะมองปัญหาจากประสบการณ์ในอดีต หรือสิ่งที่เราอยากให้เป็นในอนาคต การตัดสินใจหลายอย่างก็เลยไม่ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ผมจึงให้ความสำคัญกับการรักษาใจให้เป็นกลาง เพื่อจัดการกับปัญหาได้ตรงประเด็น ไม่ต้องเสียเวลาแก้ปัญหา แล้วตามแก้อีก
กว่าจะตกผลึกแบบนี้ คงต้องฝึกปฎิบัติฐานใจมาเยอะ?
ผมเริ่มปฎิบัติภาวนาจริงจังตอนบวชอายุ 39 อายุมากแล้ว หลังจากนั้นมีความสนใจจริงจัง และปฎิบัติภาวนาทุกวัน เหมือนการสร้างภูมิคุ้มกัน อย่างคนอายุ 50 เริ่มวิ่งมาราธอน ไม่มีอะไรช้าไป สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดผลทันที เหมือนคนเริ่มป่วยไม่สบาย เริ่มคิดจะออกกำลังกาย ก็ช้าไป หรือรอให้อายุมากค่อยภาวนา
อยากให้เล่าถึงการบริหารจัดการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผ่านมาสักนิด?
แต่ละช่วงมีความท้าทายต่างกัน หน้าที่ของเราคือ รักษาเสถียรภาพ ป้องกันไม่ได้เกิดฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ถ้ายังไม่เกิดปัญหาฟองสบู่ ก็ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นปัญหา หน้าที่ธนาคารกลางคือมองไปข้างหน้า บางทีทวนกระแส เพื่อทำมาตรการในการลดความร้อนแรงในการจัดการเรื่องการเงิน
ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ท่านหนึ่งเคยบอกว่า เวลาที่คนกำลังสนุกกับงานเลี้ยง หน้าที่เฟดคือเก็บเหล้า เพื่อไม่ให้คนเมาเกินไป จึงต้องมีฐานใจที่เข้มแข็ง ทำงานทวนผลประโยชน์ของคนที่กำลังสนุก
การทำงานแบงก์ชาติที่อยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ ถ้าดอกเบี้ยขึ้น ค่าเงินบาทอ่อน คนฝากเงินและคนทำธุรกิจส่งออกก็ชอบ ส่วนคนกู้เงิน คนนำสินค้าเข้า ก็ไม่ชอบ คนที่ได้ประโยชน์จะเงียบๆ ส่วนคนที่เสียประโยชน์จะรวมกลุ่มกันต่อต้าน วิจารณ์ กดดัน
เราจึงต้องมีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องแล้ว การสร้างเสถียรภาพระยะยาวเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ ต้องเตือนให้ประชาชนเข้าใจความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น แน่นอน! ต้องมีคนไม่พอใจ แต่เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางทุกประเทศ
(อีกมุมทำงานร่วมกับโครงการอาหารโลก ( World Food Programme, WFP) ขององค์การสหประชาชาติ ภาพเฟซบุ๊ค : Veerathai Santiprabhob)
พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยมา 3 ปีรู้สึกโล่งใจไหม
ที่ผ่านมาผมจะทำงานที่มีเทอมชัดเจน ผมจะทำเต็มที่ จึงไม่ใช้คำว่าโล่งใจ แต่ตอนนี้ภาระความรับผิดชอบเบาลง
อย่างช่วงที่ประเทศเจอวิกฤติโควิด ไม่มีใครรู้ว่าจะจบอย่างไร เราต้องออกมาตรการเร่งด่วน ออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ใหม่สองฉบับ เพื่อดูแลเสถียรภาพเอสเอ็มอี หรือตลาดตราสารหนี้ พอพ้นจากเรื่องเหล่านี้ ผมก็สามารถบริหารจัดการชีวิตได้ดีขึ้น
ตอนบริหารแบงก์ชาตินำพุทธศาสนาไปใช้ในองค์กรอย่างไร
ข้อดีอีกอย่าง ก่อนผมจะเข้าไปที่นั่น มีชมรมปฎิบัติธรรมที่เข้มแข็งมาก พุทธศาสนาเป็นเรื่องสัจธรรม หลักสมัยใหม่คือการโค้ชชิ่งให้ผู้บริหารเข้าใจชีวิตตัวเองและผู้อื่น
หลายคนอาจไม่เข้าใจตัวเอง...ไม่รู้ว่าฉันต้องการอะไร ฉันกลัวอะไร คุณค่าอยู่ตรงไหน สติจะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่าง
เพราะผู้บริหารบางคนอาจไม่ตระหนักว่า วิธีคิดและการกระทำของเขาสร้างผลข้างเคียง ไม่พึ่งประสงค์ให้ผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะองค์กรที่ใช้ฐานคิดสูง มีคนเก่งเยอะ วัฒนธรรมองค์กรก็จะใช้เหตุผลหักล้างกัน
ลืมเรื่องฐานใจ คนทำงานจำนวนมากอาจไม่มีฐานคิดสูงเท่าพวกเขา แต่เป็นกำลังสำคัญ หลักพวกนี้ช่วยสร้างความสมดุล พลังบวกกับองค์กรได้
คนที่ไม่เข้าใจแก่นพุทธศาสนา อาจมองว่าเรื่องเหล่านี้เชย ?
งานสวนโมกข์กรุงเทพฯ พยายามทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสตร์มากขึ้น เปลี่ยนพิธีกรรมเป็นพิธีทำ ให้เกิดผลชัดเจน เราปฎิเสธไม่ได้ว่า สังคมเราเน้นเรื่องพิธีกรรม ความเชื่อ ทั้งๆ ที่แก่นพุทธศาสนา มีหลักคิดหลายอย่างให้คำตอบกับชีวิตได้
ผมกำลังทำเรื่องสร้างฐานใจให้คนในองค์กร คงเคยได้ยิน“องค์กรรมณีย์”เรากำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้ คนจำนวนมากมีความทุกข์จากที่ทำงาน สวนโมกข์กรุงเทพฯ จึงร่วมกับสมาคมการจัดการงานบุคคลประเทศไทย (PMAT)จัดอบรมเรื่องนี้สามสี่รุ่นแล้ว นำเรื่องวิถีพุทธเข้าไปตอบโจทย์ผู้บริหาร เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มพลังบวก
นอกจากนี้ผมยังมาช่วยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง อาศัยความรู้เรื่องการพัฒนาชุมชนและการดูแลป่า ตอนที่ทำงานดอยตุงมา 30 กว่าปีมาขยายผล ทำในเรื่องการเปลี่ยนแปลง (transformation) เพราะช่วงโควิด สินค้าหลายอย่างที่ขายให้นักท่องเที่ยว ร้านกาแฟที่เปิดตามออฟฟิศ ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมถูกกระทบเยอะ
ส่วนธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต มูลนิธิจะเป็นตัวกลางในการช่วยสร้างคาร์บอนเครดิตให้ประเทศ ชุมชนก็มีรายได้จากการดูแลรักษาป่า มูลนิธิฯ มีป่าชุมชนสำหรับธุรกิจไทยที่ต้องการคาร์บอนเครดิต ปีนี้เพิ่งปิดโครงการป่าชุมชนกว่าแสนไร่ทั่วประเทศ
("ผมให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำมากกว่าการตั้งเป้าหมาย บางคนถามว่า ผมมีแผนในชีวิตอย่างไร...ผมไม่เคยตั้งเป้าหมาย " ดร.วิรไท)
นำพุทธศาสนามาเชื่อมร้อยในองค์กรอย่างไรคะ
ที่น่าสนใจคือ โลกตะวันตกเริ่มศึกษาคำว่าความยั่งยืน (Sustainability) คำที่สหประชาชาติมองในอนาคต และเชื่อมโยงว่า ทุกอย่างที่เราทำ มีเหตุปัจจัยในการสร้างผลกระทบ ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีหลักพอประมาณ เหมือนที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริ การสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญที่สุดคือความพอเพียงที่ใจ นำไปสู่พอประมาณ
มีนักวิชาการหลายคนพยายามเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา เศรษฐกิจพอเพียง และความยั่งยืน สิ่งต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเราไม่สร้างความพอเพียงที่ใจ
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แนวทางพุทธช่วยจัดระบบความคิดอย่างไร
เรื่องนี้เป็นวิทยาศาสตร์ การภาวนา นอกจากได้พักใจ ยังช่วยเรื่องประสิทธิภาพของสมอง มีงานวิจัยเยอะมากที่อธิบายเรื่องนี้ ตอนทำงานแบงก์ชาติ เคยจัดคอร์สปฎิบัติภาวนากับคนที่ไม่สนใจเรื่องนี้เลยไปปฎิบัติที่วัดมเหยงค์ พระนครศรีอยุธยา เราสร้างสะพานให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงธรรมะง่ายขึ้น
กิจวัตรประจำวัน นั่งสมาธิสวดมนต์ภาวนาอย่างไร
ช่วงเช้าจะสวดมนต์ นั่งสมาธิ ประมาณ 30-40 นาที
เป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ ทำงานเพื่อสังคม งานพุทธศาสนา และชอบเดินทาง จัดการกับงานหลากหลายอย่างไร
ถ้าเรามีฉันทะ มีแพสชันในเรื่องอะไร ก็จะทำได้อย่างต่อเนื่อง ผมให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำมากกว่าการตั้งเป้าหมาย บางคนถามว่า ผมมีแผนในชีวิตอย่างไร...ผมไม่เคยตั้งเป้าหมาย ถ้าสามารถทำหน้าที่ได้ดีในโอกาสต่างๆ ผมก็ใช้โอกาส หลักพุทธทำให้ผมใส่ใจกับสภาวะปัจจุบัน
บางคนเคยถามว่า ประสบความสำเร็จเร็วตั้งแต่อายุน้อย แล้วต่อไปจะพัฒนาไปตำแหน่งอะไร ผมไม่เคยวางแผนชีวิตไปสู่เป้าหมายแบบนั้น มันทำให้เราเสียโอกาสหลายอย่าง เพราะโลกมีเรื่องอีกเยอะที่เราสามารถทำแล้วมีความสุข สนุก และมีส่วนทำให้โลกดีขึ้น
การงานที่ทำและการเดินทาง มีความสำคัญกว่าเป้าหมาย ?
ถ้าเราไปในทิศทางที่ถูกต้อง เมื่อถึงเวลา สิ่งที่เราทำจะประกอบร่างเกิดผลเอง ผมไม่ได้เบื่อกับคำถามแบบนี้นะ มันเป็นสัจธรรม
("อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาอย่างจริงจัง เรื่องนี้จะตอบโจทย์เรื่องยากๆ ทุกอย่างของระบบเศรษฐกิจและสังคม" ดร.วิรไท)
ถ้าเลือกได้อยากขับเคลื่อนเรื่องใดเป็นกรณีพิเศษ
เรื่องแรกอยากให้คนเห็นประโยชน์การภาวนาทางพุทธศาสนา นี่คือหลักพื้นฐานของชีวิต ในอนาคตคนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกเยอะ สังคมไทยเป็นสังคมที่เห็นต่าง มีความขัดแย้งเยอะ
ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เรามีความกังวล ความกลัว แล้วไม่สามารถกำจัดสิ่งเหล่านี้ได้ อย่าไปคาดหวังเลยว่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ควรให้น้ำหนักกับการเข้าใจตัวเองก่อน แล้วจะเข้าใจผู้อื่น
เรื่องที่สอง ความยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมกระทบกับทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องที่เราตั้งรับน้อย แทบไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น และไม่เคยตั้งรับเรื่องความขัดแย้งในสังคม ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
ถ้าองค์กรต่างๆ สนใจเรื่องความยั่งยืน ผมเชื่อว่า จะทำให้เรามีโครงสร้างสังคมและระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เป็นอีกเหตุผลที่ผมสนใจทำงานกับองค์กรเหล่านี้
เรื่องที่สามคือ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาอย่างจริงจัง เรื่องนี้จะตอบโจทย์เรื่องยากๆ ทุกอย่างของระบบเศรษฐกิจและสังคม ที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาภาคใหญ่ถดถอย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ส่วนเรื่องช่องว่างการศึกษาระหว่างคนรวยกับคนจน เมื่อคนร่ำรวยส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชนชั้นนำ คนทั่วไปส่งลูกเรียนโรงเรียนรัฐ คุณภาพการศึกษาไม่ว่าวิธีคิดและมุมมองต่างกันเยอะ
คำถามคือ การศึกษาที่เคยเป็นบันไดทางสังคมจะหายไป สมัยผมเรียนโรงเรียนรัฐบาล ห้องที่ผมเรียน มีทั้งเพื่อนที่เป็นลูกมหาเศรษฐี และเพื่อนที่มาจากชุมชนแออัด เราเรียนร่วมกันได้
ในยุคหนึ่งนักเรียนที่มาจากต่างจังหวัดสามารถยกระดับทางสังคมได้ แต่ปัจจุบันเด็กที่เรียนโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนเอกชน จะมีกรอบความคิดอีกแบบ ระบบการศึกษาจะมีผลต่อกรอบความคิดของคนไทยในอนาคต
เทคโนโลยีน่าจะทำให้คนมีโอกาสเรียนรู้มากขึ้น ?
เทคโนโลยีทำได้บางส่วน ไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และสอนคุณค่าบางอย่าง เรื่องพวกนี้ต้องอาศัยบทบาทครูและผู้ปกครอง แน่นอนว่า เทคโนโลยีเรื่องความรู้จะยกระดับคนได้ แต่เทคโนโลยีก็ทำให้เกิดช่องว่างการศึกษาเหมือนกัน ที่เรียกว่า Digital Divide นั่นก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
คนรวยเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดีกว่า ขณะที่นักเรียนระดับฐานล่าง ยังมีปัญหาเรื่องความยากจน และอาหารกลางวัน เทคโนโลยียังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงจัง
.....................
เขียนโดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
(ภาพเฟซบุ๊คVeerathai santiprabhob )