5 ปีที่รอคอย...กฎหมายอากาศสะอาดไทย กำลังจะเกิดได้จริง

5 ปีที่รอคอย...กฎหมายอากาศสะอาดไทย กำลังจะเกิดได้จริง

เหตุใด'กฎหมายอากาศสะอาด' ยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งๆ มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปและเหตุผลที่ต้องรอคอยนาน 5 ปี

โฆษกรัฐบาลได้แถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่ 31 ตุลาคม2566 ว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เร่งนำเสนอ ร่างพรบ.อากาศสะอาด เข้าสู่การพิจารณา ครม.ภายใน 14 วันเพื่อเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาลเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาให้ทันวิกฤตมลพิษฝุ่นควัน

ประกอบกับเมื่อ 27 กันยายน ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่าง พรบ.อากาศสะอาด ฉบับพรรคเพื่อไทยเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาไปก่อน เป็นสัญญาณทางการเมืองที่จะให้เกิดมีกฎหมายนี้ขึ้นมาอย่างจริงจัง

ความพยายามผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดของไทย เริ่มต้นเป็นครั้งแรกจากภาคเอกชนเมื่อปี 2563 โดยกลุ่มหอการค้าจังหวัดภาคเหนือ สภาหอการค้าไทย โดยความสนับสนุนจากเครือข่ายประชาชนเช่นสภาลมหายใจ ล่ารายชื่อผู้สนับสนุนได้กว่า 12,000 รายชื่อยื่นต่อรัฐสภาเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563

แต่ปฏิบัติการครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกชี้ว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินและนายกรัฐมนตรีไม่รับรอง กระบวนการจึงยุติโดยปริยาย

ในระหว่างนั้นมีการพยายามยื่นร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ ด้วยเพราะเกิดมีความตื่นตัวต่อปัญหานี้อย่างกว้างขวาง

9 กรกฎาคม 2563- ก่อนหน้าวันที่สภาหอการค้าฯยื่นร่างฉบับประชาชน พรรคภูมิใจไทยได้ยื่นร่างพรบ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ........... แม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ร่างฉบับนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่าเป็นร่างพ.ร.บ.การเงินฯ จึงไม่ผ่านด่านการรับรองจากนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

5 ปีที่รอคอย...กฎหมายอากาศสะอาดไทย กำลังจะเกิดได้จริง

 

ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน ปลาย 2563 พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้นได้ยื่น ร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ....กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เน้นไปที่วิกฤตฝุ่นควันโดยมุ่งบังคับมลพิษอื่นๆ ทั่วไปด้วย เรื่องยังคงเข้าสู่ขั้นตอนถูกชี้ว่าเป็นกฎหมายการเงิน ต้องผ่านนายกรัฐมนตรีรับรอง กฎหมายก็ยุติโดยปริยายเมื่อรัฐบาลยุบสภา

ซึ่งต่อมาในปี 2565 ภาคประชาชนโดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทยและภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นริเริ่มร่างกฎหมายรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ฉบับประชาชนเข้าไปอีกฉบับ

ยังมีร่างกฎหมายฉบับประชาชนอีกฉบับ ปี 2564 เครือข่ายอากาศสะอาด (CAN) ริเริ่มล่ารายชื่อประชาชนยื่นร่างพ.ร.บ. กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ มีผู้ลงนาม 22,251 รายชื่อเข้าสู่ระบบการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อกลางปี 2565

เช่นเดียวกับร่างก่อนหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่า เป็นกฎหมายการเงิน แต่ดีที่นายกรัฐมนตรียังไม่ทันตัดสินใจมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ทำให้กฎหมายคงค้างในขั้นตอนรอบรรจุเข้าพิจารณา

5 ปีที่รอคอย...กฎหมายอากาศสะอาดไทย กำลังจะเกิดได้จริง

  • ปัญหาคือแนวคิดและการตกผลึกร่วม

สาเหตุสำคัญที่ร่างกฎหมายเกี่ยวอากาศสะอาด 4 ฉบับแรกที่ริเริ่มยื่นเป็นคลื่นลูกแรกถูกทำให้ตกไปหรือเกิดชะงักงัน ทั้งๆ ที่กระแสเรียกร้องรณรงค์เกี่ยวกับวิกฤตมลพิษฝุ่นควัน สืบเนื่องจากความไม่ชัดเจนในแนวคิดและรายละเอียดเชิงมาตรการว่า

กฎหมายอากาศสะอาดที่จะเกิดมีขึ้นใหม่จำเป็นจริงหรือไม่ เพราะมีกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับที่ใช้จัดการปัญหาได้ ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องกฎหมายไม่จำเป็น และซ้ำซ้อนมากเกินไปขนาดที่ต้องมีคณะทำงานปรับปรุงปฏิรูปความซ้ำซ้อนดังกล่าว

ในห้วงเวลานั้นหน่วยงานเกี่ยวข้อง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังปรับปรุง พรบ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561 ขึ้นใหม่ มีแนวคิดจะใส่แนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นควันลงในกฎหมายฉบับนี้

ประกอบกับแนวคิดเรื่องวิธีการแก้ปัญหาในผู้เกี่ยวข้องบางส่วนยังมองปัญหาวิกฤตฝุ่นควันเป็นภัยพิบัติลักษณะเดียวกับน้ำท่วมฝนแล้งที่มีกฎหมายเฉพาะ คือ พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ที่ปกติผู้ว่าราชการจังหวัดซิงเกิ้ลคอมมานด์ก็ใช้อำนาจพิเศษตามกฎหมายนี้ในการจัดการปัญหา

ส่วนอำนาจในการบังคับห้ามก็มีกฎหมายอื่นๆ มากมายเช่น กฎหมายป่าไม้บังคับและเอาผิดผู้เผาป่าที่มีโทษหนักมากอยู่แล้ว ฯลฯ

หน่วยราชการเกี่ยวข้องส่วนใหญ่คิดในแนวทางนี้คือ สามารถอัพเกรดกฎหมายเดิม ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่ แม้กระทั่งพรรคการเมืองบางพรรคก็ยังชั่งใจในข้อวิวาทะนี้ ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้เพราะกฎหมายประเทศไทยมีมากเกินไป และทับซ้อนกันจริงๆ

ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 อันเป็นช่วงปัญหาวิกฤตฝุ่นควันสูงมากกว่าปีก่อนหน้าสะท้อนว่า เครื่องมือทางกฎหมายของรัฐ อาจจะยังไม่เพียงพอจริง

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มชัดเจนว่าควรต้องมีกฎหมายอากาศสะอาดขึ้นเป็นการเฉพาะ

จากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายอากาศสะอาด ขึ้นมาคณะหนึ่งภายใต้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน มีบัณฑูร เศรษฐสิโรตม์ เป็นประธานและสำนักงาน ป.ย.ป.เป็นเลขานุการ

คณะทำงานประกอบจากหน่วยงานเกี่ยวข้องหลากหลายเช่น คพ. กรมป่าไม้ กรมอุทยาน กระทรวงเกษตร ภาควิชาการและภาคประชาชนคือตัวแทนเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ เพื่อให้มีกฎหมายใหม่ที่สามารถบริหารจัดการอากาศสะอาดได้จริง บนหลักการป้องกันไว้ก่อนไม่ใช่แนวทางเผชิญเหตุภัยพิบัติแบบกฎหมายอื่นที่เคยใช้

  • แนวคิดใหม่ กฎหมายใหม่ แก้ที่ต้นเหตุบูรณาการภาครัฐบริหารจัดการ

คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายอากาศสะอาดได้ประชุมต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจวิกฤตปัญหามลพิษฝุ่นควันของทั้งประเทศเห็นว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะที่มีกลไกทำงานระดับประเทศระดับจังหวัดที่ดูแลปัญหานี้โดยตรง (แทนคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ปัญหาภัยพิบัติเฉพาะฤดูกาล) ให้เกิดมีแผนปฏิบัติการเพื่อบริหารจัดการสาเหตุปัญหาหรือพื้นที่แต่ละปัญหา

เนื่องด้วยปัญหานี้มีสาเหตุจากการดำเนินชีวิตทำมาหากินและกิจการประจำวันแต่ละเรื่องมีคณะกรรมการที่ดูแลโดยตรงและมีกฎหมายเฉพาะอยู่ก่อนเช่น เรื่องการขนส่งจราจร การอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล ข้าว ป่าไม้ ป่าอนุรักษ์ ฯลฯ ต้องมีกลไกการประสานให้หน่วยงานเฉพาะนั้นๆ มีแผนดำเนินการ มีการเพิ่มหมวดฝุ่นควันข้ามแดน และสิทธิประชาชน ฯลฯ

5 ปีที่รอคอย...กฎหมายอากาศสะอาดไทย กำลังจะเกิดได้จริง

กลไกของรัฐก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะระบบราชการไทยมีลักษณะรวมศูนย์เป็นแท่ง และมีอำนาจเฉพาะของตน ที่ผ่านมาวาระแห่งชาติว่าด้วยฝุ่นละออง 2562 ไม่คืบหน้าตามแผนเพราะอุปสรรคของการประสานงาน และติดตามผลระหว่างหน่วยงานราชการ กฎหมายฉบับใหม่จะมีกลไกที่พยายามแก้ปัญหานี้

ล่าสุดคณะทำงาน โดย ป.ย.ป.ได้ร่างกฎหมายอากาศสะอาดแล้วเสร็จ และนำขึ้นเว็บไซต์รับฟังความเห็น ประกาศให้ประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นระหว่าง 30 ต.ค.-13 พ.ย. 2566 ก่อนจะเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

ประกอบกับคำแถลงของโฆษกรัฐบาลเมื่อ 31 ต.ค. ว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้นำร่างกฎหมายอากาศสะอาดเข้าสู่การพิจารณาของครม.ภายใน 14 วัน เพื่อจะผลักดันเป็นกฎหมายเสนอโดยรัฐบาลโดยเร็วที่สุด

แนวโน้มทางการเมืองชัดเจนว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะผลักดันกฎหมายนี้ พรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับพรรคเพื่อไทยเข้ากระบวนการของรัฐสภาไปก่อนหน้าเมื่อ 27 กันยายน 2566 แนวโน้มก็คือ จะมีร่างกฎหมายของทั้งรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ เข้าไปพิจารณาร่วมกัน

ล่าสุด 26 ตุลาคม 2566 พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ยื่นร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มเติมเข้าไปอีกฉบับ ซึ่งก็จะได้โควตาในกรรมาธิการพิจารณากฎหมายนี้ สัญญาณทางฝ่ายการเมืองชัดเจนมาก

  • การรอคอย 5 ปี ที่กำลังจะเป็นจริง

ประสบการณ์ประกาศใช้กฎหมายอากาศสะอาดของประเทศต่างๆ ก่อนหน้ามีเหตุปัจจัยต่างไปตามเงื่อนไขแต่ละชาติ อังกฤษเป็นชาติแรกที่มีกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งประกาศใช้ได้เร็วเพราะเกิดโศกนาฎกรรมมลพิษถ่านหินคร่าชีวิตผู้คนมากมาย

ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นชาติอุตสาหกรรมที่ทุนใหญ่ได้ประโยชน์จากการผลิตที่ปล่อยมลพิษแต่ก็สามารถประกาศใช้ได้ในช่วงหลังสงครามโลก ด้วยเพราะอเมริกากลายเป็นชาติมหาอำนาจหลักในยุคสงครามเย็นที่ต้องแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานคุณภาพชีวิตของโลกเสรี

มลพิษอากาศเป็นผลพวงของกิจกรรมสังคม การกินอยู่การผลิตอุปโภคบริโภค คนใช้รถก็ต้องปล่อยควันเสีย โรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าได้ประโยชน์แต่ก็ปล่อยมลพิษออกมา

รวมถึงการเกษตรที่บางแห่งยังต้องใช้ไฟ เมื่อจะยกระดับมาตรฐานขึ้น แน่นอนว่ามันก็เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อแลกกับมาตรฐานคุณภาพใหม่

กฎหมายอากาศสะอาดกระทบกับวิถีชีวิตผู้คนแน่นอน แต่ก็จำเป็นในโลกที่สิ่งแวดล้อมกำลังย่ำแย่ลง เป็นสิ่งจำเป็นบังคับให้คนในสังคมต้องปรับตัวโดยมุ่งคุณภาพสุขภาวะของประชาชนเป็นสำคัญ.