‘บรู๊ค ดนุพร’ เผย ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ใกล้ความจริงแล้ว
การเปิดเผยความคืบหน้าและความเคลื่อนไหวของ ‘พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม’ โดย ‘บรู๊ค ดนุพร’ ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญว่า กำลังทำงานไปได้ด้วยดี
พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คือ กฎหมายสำคัญต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ประเทศของเรามีการให้ความสำคัญกับกลุ่ม LGBT มากน้อยแค่ไหน ล่าสุด บรู๊ค ดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ได้นำเสนอความคืบหน้า
ในงานเสวนา Gender Equality : Law & Policy Issues ที่จัดโดย กลุ่ม บีเจซี บิ๊กซี (บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน))
ในการประชุมนานาชาติ หัวข้อ ธุรกิจ ความหลากหลายทางเพศสภาพ และ วิถีแห่งอนาคต (Business, Gender Diversity, and the Path Ahead) วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สามย่าน มิตรทาวน์
Cr. Kanok Shokjaratkul
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวว่า ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นประเด็นที่สังคมทั่วโลกให้ความสนใจ บุคคลข้ามเพศมักไม่ได้รับการยอมรับว่ามีตัวตน เป็นที่มาของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเสนอแนวคิดยกระดับให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายทางเพศในองค์กรของประเทศไทยสู่สากล
บีเจซี บิ๊กซี มีนโยบายสร้างความหลากหลายในที่ทำงาน มุ่งเน้นสวัสดิการ พัฒนาบุคลากร ไม่ยึดเพศ แต่ยึดความสามารถ เรามีพนักงาน LGBT ถึง 40 เปอร์เซนต์ เราขอเป็นส่วนหนึ่งส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าของความแตกต่าง ให้ความสำคัญของความเท่าเทียม ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพในสังคม"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- กฎหมายไทยใช้เวลานาน น่าจะมีทางลัด
เอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เราต้องดูแลคนทุกคนในโลกนี้ให้เท่าเทียมเสมอภาคกัน
"พ.ศ. 2488 มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นมากมาย หลายประเทศประกาศเจตจำนงว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ต่อไปจะไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก พ.ศ. 2540 ปฏิญญาสากลนี้ก็มาอยู่ในรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมด ก่อให้เกิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 9 ฉบับ พ.ศ. 2545 ก็เกิดกรมคุ้มครองสิทธิขึ้นมา แต่ทุกคนก็ต้องเคารพสิทธิส่วนรวมก่อนสิทธิส่วนบุคคล
Cr. Kanok Shokjaratkul
ในรัฐธรรมนูญมีการกำหนดความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ มีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบ
พ.ศ. 2553 มีผู้เสนอ พ.ร.บ.คู่ชีวิต แล้วก็พับไป มาถึง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เมื่อกฎหมายผ่าน ทุกคนก็ใช้สิทธิได้ทันที
Cr. Kanok Shokjaratkul
แต่ในความเป็นจริง มีกฎหมายลูกอีก 46 ฉบับ ต้องไปแก้ให้เข้ากับกฎหมายนี้ บางครั้งแก้คำบางคำใช้เวลา 3-4 ปี แต่นี่ 46 ฉบับ คิดดูว่าจะใช้ระยะเวลาขนาดไหน
ประเทศจีนมีกฎหมายฉบับหนึ่งบอกว่า กฎหมายอะไรที่ขัด ขอให้ใช้ตัวนี้ตัวเดียว ไม่รู้ว่าประเทศไทยเราจะสามารถทำแบบนี้ได้หรือเปล่า ถ้ากฎหมายนี้สำเร็จประเทศไทยก็คงจะไปได้ไกลกว่านี้"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลง
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องขอบคุณภาคเอกชนที่จัดเวทีนี้เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
"ผมไปพบกับลูกค้าและพาร์เนอร์ของผมที่ตะวันออกกลาง ผมไม่เคยพบกับภรรยาเขาเลย คนที่พบคือภรรยาผม เพราะว่าต้องแยกห้องในการพบกัน
Cr. Kanok Shokjaratkul
ประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่เราเปิดประเทศไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มกุฎราชกุมารมีความตั้งใจให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ ต้องการให้สตรีทำงานได้ ขับรถได้ ต้องการทำประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
รายงานโลก ปี 2566 กล่าวว่า ในโลกนี้มี LGBT เกือบ 500 ล้านคน (486 ล้านคน) ในเอเชียมี 288 ล้านคน ทำอย่างไรให้หุ้นส่วนชีวิตอยู่กันได้อย่างมีความสุข เป็นสถาบันครอบครัวที่เปิดเผย
กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นสิ่งที่สำคัญ คนเหล่านี้เขาก็เสียภาษีเหมือนพวกเรา ถ้ากฎหมายนี้ออกมาได้ โลกจะเห็นว่าประเทศไทยมีการพัฒนา ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
Cr. Kanok Shokjaratkul
หากมีการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ จะเป็นโอกาสที่ดี กลุ่ม LGBT มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก เรามีตัวอย่างดี ๆ มากมาย ภาคอุตสาหกรรม ภาคบันเทิง เช่น ซีรีส์วายทำเงินถึง 1500 ล้าน เราเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ
ด้านการแพทย์ก็ได้ประโยชน์มาก สามารถสร้างธุรกิจความงาม หรือเรื่องแปลงเพศ เราก็แซงเกาหลีได้ เพราะประเทศเขาไม่เปิดกว้างเท่าเรา
และถ้าประเทศเรามีการจัด World Pride ก็จะเป็นการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าเราไม่ธรรมดา ภาครัฐและเอกชนก็จะได้ประโยชน์"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ขอสิทธิเสรีภาพโดยมีกฎหมายรองรับ
หมอเจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์ กล่าวว่า การเป็น LGBT ของตัวเองไม่ได้เพิ่งเป็น แต่เป็นมาตั้งแต่เกิด
"รู้สึกขัดใจจริง ๆ อยู่ในวงการมาตั้งแต่ปี 2549 เคยเป็นนางสาวไทยมาก่อน ช่วงที่เปิดตัวก็เป็นกระแสดัง คนว่าหมอเจี๊ยบเปลี่ยนลุค เปลี่ยนบทบาท ซึ่งไม่จริงเลย เจี๊ยบเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เกิด
ทุกคนที่เป็น LGBT ต้องผ่านการปิดบังตัวเองกับครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง เพื่อน มีอุปสรรคในการใช้ชีวิต ซึ่งเมื่อเปิดตัวแล้ว ก็มีสินค้าบางแบรนด์ไม่เลือกเรา
Cr. Kanok Shokjaratkul
ตอนนี้ภาคเอกชนเปิดรับมากขึ้น แต่ขาดอยู่อย่างเดียวคือ กฎหมาย เราไม่ได้เป็นอาชญกร เราจ่ายภาษี แต่ไม่ได้รับสิทธิพื้นฐาน
เจี๊ยบเป็นหมอเต็มเวลาทำงานข้าราชการ อยู่กับแฟนมาปีที่ 8 แล้ว เวลารักษาได้สิทธิข้าราชการ แต่แฟนต้องไปซื้อประกันเพิ่มเติม เราเป็นข้าราชการก็ควรมีสิทธินี้ให้คู่ชีวิตเช่นกัน
สอง.คนชอบคิดว่าคนพวกนี้ชอบประกาศให้รู้ว่ารักกัน เจี๊ยบบอกเลยเราไม่ได้อยากให้ใครรู้ เราแค่ต้องการความมั่นคงในชีวิต เรื่องกฏหมาย สิทธิ เราขอแค่เท่าคนอื่น
สาม.เรื่องการรักษา มีคู่หนึ่งอยู่ด้วยกันจนแก่ ต้องมาตัดสินใจเรื่องใส่ท่อช่วยหายใจไหม จะปั๊มหัวใจไหม ถามว่า คุณเป็นอะไรกับเขา ? เป็นแฟนค่ะ (เพศเดียวกัน) แล้วมีญาติสายตรงไหม (สามีภรรยาพ่อแม่พี่น้องลูกหลาน)
Cr. Kanok Shokjaratkul
สุดท้ายไปเรียกหลานที่ไม่เคยเจอหน้ากันมาตัดสินใจแทน ทั้ง ๆ ที่แฟนบอกไว้แล้วว่าอย่ามายื้อฉันนะ ปล่อยฉันไปสบายเถอะ แต่พอหลานมา กลัวบาป ก็ยื้อชีวิตไว้ สุดท้ายนอนติดเตียงเป็นผัก หลานไม่ดูแล แฟนที่อยู่ด้วยกันต้องมาดูแลอีก นี่คือปัญหาที่พบเห็น
ทุกวันนี้ประเทศไทยแทบจะเป็นศูนย์กลางของ LGBT เรามีงานไพร์ด (Pride Month) ที่คนทั่วโลกต้องมา ทุกอย่างเสรีหมด ทุกคนยอมรับ สื่อทีวียอมรับ แต่กฎหมายวิ่งตามไม่ทัน รู้สึกขัดใจ อยากให้มันตามทันความเปิดกว้างของเราเสียที
คนมักมีภาพฝังหัวว่า คน LGBT รักกันไม่นานหรอก ส่วนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จยากเพราะรอบด้านเป็นส่วนประกอบ ถ้าเรามีกฎหมายโอกาสที่จะสำเร็จก็ง่ายขึ้น เราไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ขอแค่เท่าเทียมชายหญิงก็พอ"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ความคืบหน้า เรื่องการผลักดันกฎหมาย
บรู๊ค ดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม กล่าวว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม บ้านเราให้การต้อนรับเร็วมาก
"ถ้าย้อนกลับไปสิบปีที่แล้ว 2557 มีปฏิวัติรัฐประหาร ผมเป็นส.ส.ก็ตกงาน ไปเป็นผู้จัดละคร บางช่องไม่อนุญาตให้ LGBT ออกทีวี ผมจึงตั้งปณิธานว่า ถ้ามีโอกาสเป็นผู้แทนราษฎรก็จะผลักดันเรื่องนี้ เพราะเห็นจริง ๆ ว่ามันเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย
สอง. มันกลายเป็นว่าคนไม่เท่ากัน โชคดีที่กฎหมายตัวนี้ผ่านเข้าสภามาแล้ว โชคดีอีกครั้งที่ทางรัฐบาลมอบหมายให้ผมเป็นประธานกรรมาธิการมาช่วยดูแลเรื่องการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้
แต่ไม่ง่าย กฎหมายเราผู้ชายแต่งกับผู้หญิง ถ้าเปลี่ยนมาใช้คำว่าผู้หมั้นกับผู้รับหมั้น จะกระทบกับกฎหมาย 40 ฉบับ ตอนนี้กฎหมายเท่าเทียมก้าวหน้าไปมาก มีทั้งหมด 68 มาตรา ทางกรรมาธิการได้พิจารณาไปแล้ว 45 มาตรา ใกล้จะเป็นความจริงแล้ว
Cr. Kanok Shokjaratkul
แต่ยังมีข้อถกเถียงบางประการ การร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา ไม่ได้ร่างให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือ LGBT กลุ่มเดียว แต่บังคับใช้กับผู้หญิงผู้ชายทั่วไป บังคับใช้กับประชาชนทั่วประเทศ
เพราะฉะนั้น เราต้องเขียนด้วยความระมัดระวัง ไม่ไปกระทบคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ก็มีข้อจำกัดทางด้านศาสนา บางท่านนับถือศาสนาอิสลาม ยังไม่ยอมรับคนเพศเดียวกันแต่งงานกัน
กฎหมายนี้เป็นการคืนสิทธิให้เขา ที่ควรจะได้ตั้งแต่เกิดเหมือนคนทั่วไป
วันนี้เสียงในสภาแน่นมาก ทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลเห็นด้วยที่จะผลักดันกฎหมายนี้ให้เกิดขึ้น
Cr. Kanok Shokjaratkul
แต่มีบางประเด็นต้องพูดคุยในรายละเอียดและยังต้องผ่านสภาถึง 3 วาระ จากนั้นส่งไปให้วุฒิสภา ซึ่งสว.จะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคม แต่มีวาระรักษาการอีก 2 เดือน เราก็พยายามทำให้เร็วที่สุด
ถ้าสว.พิจารณาแล้วไม่มีประเด็นอะไรที่คัดค้าน กฎหมายนี้ก็สามารถลงในพระราชกิจจานุเบกษาได้เลย แต่ถ้ามีประเด็นที่สว.ยังเห็นต่าง ก็ต้องเสียเวลาตั้งกรรมาธิการทั้ง สส.และสว. ถกกันในชั้นกรรมาธิการร่วมอีกครั้งหนึ่ง
กฎหมายฉบับนี้ไม่ง่าย แต่ไม่ยากจนเกินไปถ้าทุกคนสามัคคีกัน
เรายังมีกฎหมายอีกมาก เช่น กฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศ ก็เตรียมเข้าสภาเร็ว ๆ นี้ แล้วก็มีกลุ่มหนึ่งเข้ามายื่นหนังสือเรื่อง Sex Worker จะทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียม และการคืนสิทธิ์ต่าง ๆ ให้กับประชาชนสมบูรณ์มากขึ้น
Cr. Kanok Shokjaratkul
ท่านนายกฯมีแนวคิดว่าอยากให้ไทยเป็น HUB (จุดศูนย์กลาง) ของซีรีส์วาย มีการติดต่อไปว่าอยากให้เมืองไทยเป็นที่จัด World Pride
แฟน ๆ ซีรีส์วายบางประเทศ ที่กฎหมายประเทศเขาไม่อนุญาต เช่น จีน มาเลเซีย ถ้าเราสามารถดึงตลาดตรงนี้ได้ เม็ดเงินมหาศาลจะเข้ามา
Cr. Kanok Shokjaratkul
แล้วถ้ากฎหมายนี้ผ่าน ประเทศไทยอาจจะเป็น HUB ให้ LGBT ที่เขาจะมาแต่งงานในเมืองไทย สร้างธุรกิจให้กับโรงแรมสถานที่ต่าง ๆ
เราก็จะเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ที่มีกฎหมายนี้ ต่อจาก ไต้หวัน, เนปาล
Cr. Kanok Shokjaratkul
ผมอยากให้คนในประเทศอยู่ด้วยความรักและสามัคคี ประเทศเราแตกแยกในเรื่องการเมืองมาเยอะแยะมากมาย อยากให้ประเทศไทยเดินหน้าแล้วช่วยกันพัฒนาธุรกิจเศรษฐกิจ จะได้ยิ้มออก
บางประเทศมีกฎหมายนี้มาหลายสิบปีแล้ว อยากให้มองคนให้เป็นคนและให้เกียรติซึ่งกัน ในการเลือกของแต่ละท่าน ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะผ่านไปได้"