'มาฆบูชา' เป็นวันเพ็ญมาฆฤกษ์ เมื่อการแบรนดิ้งใหม่ผูกวาเลนไทน์ไม่สำเร็จ

'มาฆบูชา' เป็นวันเพ็ญมาฆฤกษ์ เมื่อการแบรนดิ้งใหม่ผูกวาเลนไทน์ไม่สำเร็จ

"มาฆบูชา" เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธแบบไทย ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามนิยาม "วันมาฆบูชา" ในรูปแบบใหม่ เช่น ส่งเสริมให้เป็นวันกตัญญูแห่งชาติ หรือพยายามผูกวันมาฆบูชากับวันวาเลนไทน์ แต่กลับไม่ได้รับเสียงตอบรับจากคนไทยมากนัก

KEY

POINTS

  • มาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธในไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า ต้นเค้าของวันมาฆบูชามาจากธรรมเนียมของอินเดียโบราณยุคพระเวทย์ ที่จะต้องมีพิธีบูชาโดยสม่ำเสมอในวันเพ็ญเดือนมาฆะ
  • ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามนิยามวันมาฆบูชาให้มีความหมายเพิ่มเติมไปจากเดิม เช่น วันกตัญญูแห่งชาติ วันแห่งความรักของชาวพุทธ เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก
  • อย่างไรก็ตาม วันมาฆบูชาเป็นช่วงเวลาปลายฤดูหนาว เข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกของเดือนใหม่ อากาศดี ไม่มีฝน สามารถเห็นดวงจันทร์กลมโตท่ามกลางฤดูกาลบรรยากาศฟ้าโปร่งสดใส ซึ่งมีความสำคัญโดยตัวของมันเอง

วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธแบบไทย กล่าวคือ พุทธประเทศอื่นไม่มีวันนี้เป็นวันสำคัญ เพราะวันนี้เพิ่งถูกกำหนดหมุดหมายให้เป็นวันสำคัญทางพิธีปฏิบัติบูชาในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะพระองค์ทรงผนวชมายาวนาน ลึกซึ้งในคำภีร์พระสูตรต่างๆ และได้พบว่า มีความปรากฏในอรรถกถารถวินีตสูตร เล่าถึงเหตุการณ์ที่มีพระอรหันต์ 1250 รูปชุมนุมกันไม่ได้นัดหมาย ในวันพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ จึงจัดให้มีพิธีบูชารำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวภายในพระราชวัง ต่อมาวงการสงฆ์ได้นำไปปฏิบัติต่อกลายเป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกสยามสืบเนื่องต่อมา 

ความสำคัญของวันนี้ได้ถูกยกขึ้นอธิบายก็คือ มีเหตุสำคัญเป็นอัศจรรย์ “วันจาตุรงคสันนิบาต” 4 ประการ คือ 

1. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6

4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”

ต้นกำเนิด "มาฆบูชา" มาจากธรรมเนียมอินเดียโบราณ

ในมิติของศาสนาความเชื่อก็ว่ากันไปทางหนึ่ง สำหรับตัวผู้เขียน ชมชอบการหาแง่มุมในเชิงประวัติศาสตร์ที่มาตั้งคำถาม เอ๊ะ ทำไมท่านถึงมาชุมนุมไม่ได้นัดหมายมากมายถึงพันกว่ารูป คำอธิบายในแง่อภิญญาณการสื่อสารทางจิตก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ก็มีคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ที่น่าฟังด้วย

ผู้เขียนชอบคำวินิจฉัยของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่บอกว่า ต้นเค้าของวันมาฆบูชามาจากธรรมเนียมของอินเดียโบราณยุคพระเวทย์ ที่จะต้องมีพิธีบูชาโดยสม่ำเสมอ ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ ซึ่งเป็นวันกำหนดนัดสำคัญที่ผู้นับถือพระเวทย์ (อันเป็นต้นเค้าของฮินดู-พราหมณ์) จะต้องกระทำการบูชาใหญ่ ดังนั้น วันเพ็ญเดือนมาฆะจึงเป็นวันสำคัญมานานแล้วในสายพราหมณ์-ฮินดู ต่อมาวันดังกล่าวถูกพัฒนาต่อกลายเป็นวันบูชาพระศิวะ Satyanarayan Puja หรือเรียกว่าวัน Magha Purnima: มาฆะปูรณิมา Purnima Days

หม่อมคึกฤทธิ์ท่านวินิจฉัยว่า เมื่อคนที่เคยนับถือพราหมณ์ตามคำภีร์พระเวทย์มาบวชเป็นสาวกในพุทธศาสนา ย่อมต้องระลึกถึงวันสำคัญที่ตนเคยปฏิบัติ ในเมื่อเปลี่ยนศาสนานับถือศาสดาใหม่แล้ว ก็ย่อมชักชวนกันมาบูชาพระพุทธเจ้าแทน จึงเกิดว่ามีพระภิกษุมากมายถึง 1,250 รูปในวันนั้น

เมื่อมองย้อนไปยังความเชื่อดั้งเดิมของชาวอินเดียโบราณภายใต้ศาสนาดั้งเดิมยุคพระเวทย์ ยิ่งเห็นเป็นเรื่องปกติ ที่บรรดาสาวกจะต้องนัดชุมนุมกันในคืนเพ็ญสำคัญดังกล่าว

มาฆบูชา เป็นวันเพ็ญมาฆฤกษ์ และวันสำคัญทางศาสนาพุทธในไทย

"มาฆบูชา" ตามหลักดาราศาสตร์ ท้องฟ้าโปร่ง ปลอดฝน จึงเหมาะกับกิจกรรมพิธีบูชา

ปีหนึ่งๆ มันจะมีวันเพ็ญสักกี่หนกัน และวันเพ็ญมาฆฤกษ์ตามฤดูกาลของอินเดียตอนเหนือก็น่าหลงใหล พ้นจากฤดูหนาวจัดท้องฟ้าโปร่งปลอดฝนมรสุมใดๆ วันเพ็ญย่อมเป็นหมุดหมายสำคัญของคนโบราณแน่นอน ดังนั้นเพ็ญเสวยมาฆะเข้าสู่เดือนใหม่ย่อมเหมาะกับการประกอบกิจกรรม

ผู้เขียนเห็นพ้องตามหม่อมคึกฤทธิ์ แม้ว่าจะมีปราชญ์ทางพุทธบางท่านแก้ว่า วันสำคัญของฮินดูนัดหมายในเพ็ญมาฆะเพื่อบูชาพระศิวะเกิดในยุคหลัง แต่นั่นก็เป็นยุคฮินดู... แล้วยุคก่อนหน้าล่ะ ผู้คนพื้นที่ของอินเดียก็ยังถือเพ็ญเดือนมาฆะเป็นวันสำคัญอยู่ดี

ตามหลักดาราศาสตร์ เพ็ญเดือนมาฆะ นี่เป็นเพ็ญตั้งต้นรอบปี แบบเดียวกับที่วันตรุษและวิษุวัต Vernal equinox ตามสุริยะคติ เป็นช่วงเวลาที่หมดหนาว เริ่มต้นเพาะปลูก เริ่มรอบฤดูกาลใหม่ เป็นเดือนที่อากาศดี ฝนฟ้าไม่ตก เหมาะกับกิจกรรมเฉลิมฉลองเริ่มต้นของมนุษยชาติและการเคารพบูชา

วันเพ็ญเดือนนี้ในประเทศอินเดียจึงมีพิธีเฉลิมฉลองเป็นวันสำคัญทางศาสนานิกายต่างๆ มายาวนานแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มาฆบูชาจึงมีความพิเศษของวันเพ็ญเดือนซึ่งมีท้องฟ้าโปร่ง อากาศสบาย เหมาะกับการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวของวันเอง (ตั้งใจเขียน วัน/ไม่ใช่มัน-ผู้เขียน)

"มาฆบูชา" เคยถูกนิยามใหม่ เชื่อมโยงกับวันกตัญญูแห่งชาติ และวันแห่งความรัก ?!

ในช่วงหลายปีมานี้ มีความพยายามนิยามวันมาฆบูชาให้มีความหมายเพิ่มเติมจากเหตุอัศจรรย์ทั้งสี่ ในปี 2549 รัฐบาลประกาศให้มาฆบูชา เป็น วันกตัญญูแห่งชาติ นัยว่า พระภิกษุบังเกิดความระลึกถึงจึงไปเยี่ยมหาพระพุทธเจ้าในฐานะพระอาจารย์ผู้อุปสมบทให้ เป็นแบบอย่างของความกตัญญูกตเวทีตา แต่วันที่รัฐประกาศก็ไม่ติดตลาด แม้กระทั่งหน่วยงานรัฐด้วยกันก็ไม่ได้สืบสานเน้นย้ำนิยามใหม่ที่ว่า 

ต่อมาก็มีอีกแบบ... คือ การพยายาม "ผูกวันมาฆบูชากับวันวาเลนไทน์" ถึงการมีความพยายามนิยามความหมายใหม่ ว่าเป็นวันแห่งความรักของชาวพุทธ อันเนื่องมาจากวันสำคัญสองวันนี้มักจะเกิดใกล้ๆ กัน ถึงขนาดบางปี วันมาฆบูชาตรงกับวันที่ 13 ก.พ. ส่วนวาเลนไทน์ตรงกับวันที่ 14 ก.พ. ติดต่อกัน ไม่แน่ใจว่าความพยายามนิยามวันแห่งความรักของชาวพุทธ เพื่อไม่ประสงค์ให้ความสำคัญของวันทางศาสนาถูกเทศกาลตะวันตกกลืนกลบหรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงๆ คนยุคใหม่ในสังคมไทยนั้นเริ่มเหินห่างจากวัด จากศาสนามากขึ้นๆ 

เดือนกุมภาพันธ์มีวันสำคัญหลายวัน วันที่ทำให้สังคมขยับเคลื่อนที่สุดในยุคนี้ คือ วันตรุษจีน จะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ วันตรุษจีนคือวันจับจ่ายและหยุดยาวที่มีผลมากทีเดียว ต่อจากนั้นคือวาเลนไทน์ และสุดท้ายค่อยมาถึงมาฆบูชาที่เป็นวันทางศาสนา

เราก็ควรจะรับความจริงนั้นว่า คนรุ่นใหม่ห่างเหินวัดมากขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ถือวันพระใหญ่เป็นวันสำคัญอยู่ สังคมไทยเรานั้นเปลี่ยนไปมาก เช่น มีการโปรโมทการไหว้พระตรีมูรติในวันวาเลนไทน์ต่อเนื่องมา ปี 2567 นี้ก็ยังมีพิธีกรรมนี้ เป็นเรื่องที่ชวนขบคิด คนไทยถือพุทธ ไหว้เทพพราหมณ์ฮินดู ในวันสำคัญของนักบุญคริสต์ศาสนา สังคมเปลี่ยนไปมาก 

มาฆบูชา เป็นวันเพ็ญมาฆฤกษ์ และวันสำคัญทางศาสนาพุทธในไทย

วันมาฆบูชา มีความสำคัญในตัวเอง ไม่ต้องนิยามใหม่ก็ย่อมได้

ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคมและความเชื่อของคนรุ่นใหม่ ย่อมทำให้ความสำคัญของวันทางศาสนาเดิมลดลง ความพยายามจะนิยาม “แบรนดิ้ง” สร้างความสำคัญใหม่ของมาฆบูชาให้เป็นวันกตัญญูเอย วันแห่งความรักเอย มันไม่ได้ผล ต้องยอมรับกันตรงๆ 

แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน ที่จริงแล้ว หมุดหมายวันเพ็ญเดือนสาม เพ็ญที่เสวยมาฆฤกษ์ยังมีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ผู้คนที่ชื่นชมท้องฟ้าเห็นดวงจันทร์กลมโตท่ามกลางฤดูกาลบรรยากาศฟ้าโปร่งสดใส นี่ก็เป็นวันสำคัญโดยตัวของมันเองมายาวนาน ชาวพุทธไทยถือว่าเป็นวันอัศจรรย์แห่งจาตุรงคสันนิบาต ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจพุทธชาติอื่นเขาไม่มี หรือ เกิดมีเทศกาลอื่นที่เสียดังกว่า ... 

แค่คิดว่าในอดีตกาลโพ้น มีผู้คนที่นึกถึงดวงจันทร์วันเพ็ญเดือนสามที่สดใส ซึ่งเป็นวันหมุดหมายสำคัญ แล้วมีการเดินทางไปเยี่ยมคารวะผู้เป็นที่เคารพ โดยไม่ต้องมีโทรศัพท์ จดหมาย การนัดหมายใด ๆ เหตุการณ์มันเป็นไปได้จริงในทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพราะพระจันทร์มาฆฤกษ์ดวงเดียวนี้ ทั้งยังตกทอดสืบความทรงจำดังกล่าวมาได้ถึง 2567 ปี

คิดแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยมติ ครม. หรือแคมเปญแบรนดิ้งความหมายใหม่ใดๆ อีก เพราะ “วันเพ็ญเดือนมาฆะ” มีความสำคัญ มีความหมาย มีสตอรีเรื่องราว “สำคัญ” ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ไม่ต้องขวนขวายสร้างความ “สำคัญใหม่” อะไรหรอก

 

 

..........................................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ