ความตื่นตัวเรื่องมลพิษฝุ่น PM2.5 ใน สปป.ลาว
สปป.ลาว ได้ขึ้นเป็นพี่ใหญ่ในปัญหามลพิษฝุ่น "PM2.5" ในระดับอาเซียนไปแล้ว ด้วยสถิติการเกิดจุดความร้อนสูงสุดเหนือชาติอาเซียนตอนบน แซงหน้าทั้งไทย กัมพูชา และเมียนมา
KEY
POINTS
- เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤติฝุ่นควันอาเซียนโซนบน พบว่านอกจากไทยและเมียนมาที่ต้องเผชิญปัญหานี้อย่างหนักแล้ว ด้าน สปป.ลาว กลายเป็นประเทศลำดับหนึ่งที่พบจุดความร้อนมากที่สุด ด้วยจำนวน 26,348 จุด
- การที่ สปป.ลาว มีจุดความร้อนนำหน้าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงสองปีหลัง เกิดจากการขยายพื้นที่เกษตร เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง เดือย ที่มีราคาดีและเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ
- แม้ชาวลาวจะประสบภาวะมลพิษฝุ่นควันที่หนักหนาสาหัส แต่ทุกวันนี้ลาวมีพัฒนาการด้านการสื่อสารสังคม ประชาชนชาวลาวจึงมีความตื่นตัวกับปัญหามลพิษ PM2.5 อย่างชัดเจน ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
สปป.ลาว ได้ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 อันดับ 1 ของกลุ่มอาเซียนไปแล้ว ด้วยสถิติการเกิดจุดความร้อนสูงสุดแซงหน้าทั้งไทย กัมพูชา หรือ เมียนมา ตำแหน่งนี้เพิ่งได้มาเมื่อปี 2022 และทิ้งห่างออกไปอีกเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา แซงแชมป์เก่าอย่างประเทศเมียนมา ซึ่งมีพื้นที่มากกว่ากัน และเคยครองตำแหน่งนี้ต่อเนื่องยาวนานชัดเจน อ้างอิงจากสถิติ ข้อมูลดาวเทียม NOAA-20 ของศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งอาเซียน (ASMC) ประเทศสิงคโปร์
เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤติฝุ่นควันอาเซียนโซนบน เดือนมีนาคม ไทยมีจุดความร้อน 5,075 จุด เมียนมา 21,880 จุด สปป.ลาว 28,317 จุด และเดือนเมษายน ไทยมีจุดความร้อน 3327 จุด เมียนมา 20,879 จุด ขณะที่ สปป.ลาว ก็ยังทิ้งห่างเป็นลำดับหนึ่งด้วยจำนวน 26,348 จุด
สาเหตุ สปป.ลาว เผาป่ามากขึ้น เพราะต้องการขยายพื้นที่เกษตร ตอบรับสินค้าเกษตรมีความต้องการสูง
การที่ สปป.ลาว มีจุดความร้อนเพิ่มและนำหน้าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงสองปีหลังเกิดจากการขยายพื้นที่เกษตร เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง เดือย ที่มีราคาดีและเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ความตื่นตัวเรื่องพืชเกษตรใน สปป.ลาว มีความคึกคักต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ในระยะแรกมีผู้มารับซื้อเพื่อส่งออก ต่อมาเริ่มมีทุนประเทศเพื่อนบ้านมาตั้งโรงงานแปรรูปและรับซื้อถึงภายในประเทศ เช่นเมื่อปีกลาย "โรงงานเอี่ยมเฮง" โรงงานมันสำปะหลังจากโคราช ประเทศไทย ได้ไปก่อสร้างตั้งโรงงานที่แขวงจำปาสัก ไล่เลี่ยกับโรงงานผลิตแป้งมันแอลเอสของทุนประเทศจีน ที่เมืองนาน หลวงพระบาง (ມັນຕົ້ນ คือ มันสำปะหลัง)
สปป.ลาว มีความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรกรรมอย่างมากในหลายปีมานี้ จากนโยบายให้ทุนจีนสัมปทานปลูกพืชในแปลงขนาดใหญ่ เช่น กล้วยหอม ยางพารา ในแทบทุกแขวง ซึ่งพืชเหล่านี้ใช้ไฟในการเตรียมแปลงปลูกเพียงครั้งเดียว จากนั้นรักษาไม่ให้มีไฟไหม้จะเกิดความเสียหาย แต่ก็มีพืชไร่อีกหลายชนิดที่ใช้ไฟเพื่อเตรียมแปลงปลูก เช่น ข้าวโพด ข้าวไร่ เดือย มันสำปะหลัง พืชไร่แทบทุกชนิด และสามารถส่งออกง่ายขึ้นตามพัฒนาการของถนนและการคมนาคม ที่มีตัวแทนรับซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจีนมาตั้งจุดรับซื้อในพื้นที่เองโดยตรง เป็นการกระตุ้นให้เกิดการขยายการผลิตในอัตราเร่ง
ภาวะมลพิษฝุ่นควันในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ที่หนักหนาสาหัส ประกอบกับพัฒนาการด้านการสื่อสารสังคม ประชาชนชาวลาวมีความตื่นตัวกับปัญหามลพิษ PM2.5 อย่างชัดเจน ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เมื่อมีเพจนำเสนอสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยหมอกควันปกคลุม ประชาชนจากแหล่งต่างๆ ก็โพสต์ภาพพิกัดของตัวเองแลกเปลี่ยนไปว่าประสบปัญหาเช่นเดียวกัน สื่อสังคมเป็นตัวกระตุ้นความสนใจในปัญหานี้อย่างกว้างขวางและชัดเจนมาก
ทางการ สปป.ลาว ให้ความสำคัญกับปัญหามลพิษ PM2.5 โดยรายงานคุณภาพอากาศถึงประชาชนทุกวัน
ตัวชี้วัดอีกประการคือ อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง หน้ากากกันฝุ่นละออง และ เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อเดียวกับที่ขายในประเทศไทย โฆษณาขายตามสื่อต่างๆ แม้จะมีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ย สะท้อนว่า ผู้คนสนใจในปัญหานี้ โดยเฉพาะมิติสุขภาพ
รัฐบาล สปป.ลาว มีหน่วยงานที่รายงานค่า “สะพาบฝุ่นละอองที่มีขะหนาดน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ประจำวัน โดยกะซวงซับพะยากอนทำมะซาดและสิ่งแวดล้อม” เหมือนของไทย โดยกำหนดค่ามาตรฐานไว้ที่ 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และ จัดระดับการวัดค่าฝุ่นเป็นสีต่างๆ ดังนี้
- ค่าฝุ่นไม่เกิน 25 ไมโครกรัม เป็นสีฟ้า = ดีหลาย
- ค่าฝุ่น 26-50 ไมโครกรัมเป็นสีเขียว = ดี
- ค่าฝุ่น 51-100 ไมโครกรัมเป็นสีหลือง = ดีปานกลาง
- ค่าฝุ่น 101-150 ไมโครกรัม เป็นสีส้ม = เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
- ค่าฝุ่น 201-290 สีแดง = มีผลกระทบปานกลางต่อสุขภาพ
- ค่าฝุ่นเกินกว่า 300 ไมโครกรัม สีน้ำตาล = มีผลกระทบสูงต่อสุขภาพ
จากชุดข้อมูลข้างต้น ก็จะมีเพจและสื่อหลายสื่อที่นำเสนอประกาศค่าอากาศรายวันต่อสาธารณะ
ชาวลาวตระหนักถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 มากขึ้น และช่วยกันสะท้อนเรื่องนี้ผ่านโลกออนไลน์
การที่ประชาชนชาวลาวให้ความสนใจต่อปัญหามลพิษฝุ่นอย่างกว้างขวางมากขึ้นนั้น ปัจจัยหนึ่งเกิดจาก ความรับรู้ข่าวสารจากประเทศไทยเพื่อนบ้านที่มีสื่อนำเสนอปัญหานี้มากขึ้น ไทยกับลาวใกล้ชิดกันในด้านข่าวสารอยู่เดิม ความเข้าใจต่อ PM2.5 จึงขยายต่อได้เร็ว แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ผลกระทบที่สัมผัสได้ใกล้ตัว ที่ประชาชนสามารถรับรู้และมองเห็นความขุ่นมัวบนฟ้า และสัมผัสถึงอากาศที่หายใจไม่สบายได้ด้วยตนเอง และสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียออกไป
ล่าสุด มีกิจกรรมหลายๆ กิจกรรม เช่น เยาวชนหนุ่มสาวชื่อกลุ่ม "โทละโข่งลุ่มน้ำโขง" ได้รวมตัวกันสื่อสารปัญหานี้ที่กลางเมืองหลวงพระบาง ในสถาบันอุดมศึกษา เช่น ม.สุภานุวงศ์ มีกลุ่มนักศึกษาที่ทำสื่อเพื่อนำเสนอปัญหาและความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะ
จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าชาวลาวได้แสดงออกถึงปฏิกิริยาทางสังคมต่อปัญหามลพิษฝุ่นควันที่ชัดเจนมากกว่าเพื่อนบ้านอย่างประเทศเมียนมาร์ ด้วยเพราะนโยบายรัฐบาลเปิดกว้างการสื่อสารทางสังคมมากกว่า อีกทั้งเครื่องวัดมลพิษใน สปป.ลาว แม้จะน้อยกว่าที่มีในประเทศไทย แต่จำนวนเครื่องก็มีมากกว่าในเมียนมาร์
ความร่วมมืออาเซียนว่าด้วยยุทธศาสตร์ฟ้าใส ที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ทำให้มีกิจกรรมความร่วมมือระดับหน่วยงานรัฐมากขึ้นอย่างชัดเจน ปัจจัยเหล่านี้ ไม่ว่าทั้งความเปิดกว้างเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา และจากความตื่นตัวของประชาชนในสังคม จะส่งให้ สปป.ลาว มีการยกระดับการแก้ปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน
..........................................
เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ