ยาแรง แก้ปัญหา ฝุ่นพิษของจีน I กันต์ เอี่ยมอินทรา
เปิดมาตรการยาแรงแก้ปัญหาฝุ่นพิษของจีน ซึ่งเป็นตัวอย่างลดมลพิษ หรือฝุ่น PM2.5 ได้จริง และมีความยั่งยืน คำถามคือ มีต้นแบบแนวทางแก้ไขปัญหามากมาย แล้วรัฐบาลไทยพร้อมดำเนินการจริงจังหรือยัง?
เป็นปัญหาที่น่าจะเรียกได้ว่าเรื้อรังและต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว สำหรับ “ฝุ่นพิษ PM2.5”
ในทุกหน้าหนาวที่คนไทยควรจะได้มีความสุขเพิ่มขึ้นจากอากาศที่เย็นลง กิจกรรมกลางแจ้งทั้งงานเทศกาลศิลปะ งานดนตรีต่างๆ ที่สมควรจะเพิ่มความสุขและกระตุ้นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ แต่กลับต้องแลกหรือหยุดชะงักลงด้วยมลพิษจากฝุ่น PM2.5
ปัญหาฝุ่นพิษนี้ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบ้านเรา เพราะมีผู้มีส่วนได้เสียอยู่หลายฝ่าย ทั้งในและนอกประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะจัดการไม่ได้ เพราะมีกรณีศึกษามาแล้วอย่างมากมายหลายประเทศถึงการจัดการฝุ่นพิษ มีกรณีศึกษาทั้งที่สำเร็จควรเอาแบบอย่าง และที่ล้มเหลวที่สามารถเป็นบทเรียนแก่ไทยได้ แต่ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาก็ดูเหมือนเป็นการลูบหน้าปะจมูก ไม่จริงจังยั่งยืน
กรณีศึกษาของรัฐบาลจีน ถือเป็นหนึ่งในเคสที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางแก่หลายประเทศในการแก้ไขปัญหานี้ เพราะมีแนวทางที่เด็ดขาดจริงจัง หรือในหลายกรณีนั้นก็ถูกมองว่ารุนแรงสุดโต่ง แต่เมื่อรัฐบาลเห็นว่าสุขภาพของประชาชนนั้นมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด มาตรการที่เข้มงวดจึงต้องถูกนำมาใช้
แต่เดิมเป็นอันรู้กันว่า เมืองใหญ่ของจีนหลายๆ เมืองนั้นมักจะถูกปกคลุมด้วยฝุ่นพิษ หรือที่เรียกว่า smog เพราะเมืองใหญ่เหล่านั้นนอกจากความเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้พลังงานฟอลซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน โดยเฉพาะถ่านหินนั้นเรียกได้ว่าจีนพึ่งพิงอย่างมาก เพราะหาได้ง่ายและถูก
ขณะที่โรงงานเก่าและโรงไฟฟ้าหลายแห่งก็ยังคงใช้ถ่านหินและกระบวนการกรองของเสีย โดยเฉพาะควันพิษนั้นก็ไม่ได้ถูกพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นทั้งนี้ฝุ่นพิษของจีนยังมาจากรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์เก่าที่ระบบการเผาไหม้ และจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองใหญ่
ก่อนที่ทุกปัญหาจะถูกแก้ไขอย่างยั่งยืนได้นั้น จำต้องมีการยอมรับว่ามีปัญหา สามารถระบุถึงต้นตอที่แท้จริงของปัญหาได้ก่อน จึงจะนำไปสู่วิธีการแก้ไขที่ตรงจุด ซึ่งรัฐบาลจีนก็ทำเช่นนั้น คือยอมรับปัญหา และหาสาเหตุต้นตอจนพบ แล้วจึงเสนอทางแก้ไข พร้อมด้วยการตั้งเป้าหมายสู่ความสำเร็จด้วยนโยบาย “ทำให้ฟ้าสดใสอีกครั้ง”
รัฐบาลเริ่มแก้ไขปัญหาโดยยกเมืองหลวงอย่างกรุงปักกิ่งเป็นกรณีศึกษา โดยสั่งปิดและไม่ต่อใบอนุญาตแก่โรงไฟฟ้าและโรงงานที่ใช้พลังงานถ่านหินหลายแห่งในบริเวณเมือง ทั้งที่แต่เดิมนั้น จีนเรียกได้ว่าพึ่งพาพลังงานถ่านหินถึง 66% ของพลังงานทั้งหมด ซึ่งมีรายงานถึงจำนวนโรงงานที่โดนสั่งปิดนั้นมากถึง 103 โรงงานในปี 2555 โรงงานที่ไม่ถูกสั่งปิดก็จำต้องพัฒนาปรับปรุงระบบกรองของเสียโดยรัฐบาลเป็นผู้หาเงินทุนช่วยเหลือ ไม่ใช่แต่จะเขียนกฎหมายโดยไม่ใยดีต่อความเดือนร้อนของภาคเอกชนอย่างโรงงาน
ในส่วนของฝุ่นที่มาจากรถยนต์ รัฐบาลจีนได้จำกัดสิทธิการใช้รถให้เหลือเพียงวันเว้นวัน ใช้ระบบวันคี่-วันคู่ตามป้ายทะเบียนรถเพื่อลดทั้งปริมาณรถและปริมาณฝุ่น รถยนต์ใหม่จะต้องมีมาตรฐานการปล่อยของเสียทัดเทียมกับมาตรฐานยุโรป ซึ่งการจำกัดสิทธิการใช้รถยนต์บนถนนหลวงในเมืองใหญ่นี้ รัฐบาลก็ทดแทนด้วยการทำระบบคมนาคมสาธารณะให้ดีขึ้น จึงจะเห็นได้ว่าในเมืองใหญ่ต่างๆ ของจีนในปัจจุบันนี้มีรถไฟฟ้าครอบคลุมเพิ่มขึ้นอย่างมาก
การทำระบบขนส่งระบบรางที่ดี ไม่เพียงช่วยเรื่องปัญหาฝุ่น แต่ยังช่วยลดปัญหาจราจร กระจายความเจริญและเม็ดเงิน ทำให้เมืองเกิดการขยายตัว ประชาชนก็เดินทางสะดวกมากขึ้น เรียกได้ว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
สิ่งที่คนไทยสมควรตั้งคำถามก็คือ แล้วทำไมประเทศของเราจึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ทั้งที่ปัญหานี้ก็มีตัวอย่างการแก้ไขที่สำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ แล้วรัฐบาลไทยทำอะไรอยู่ ถ้าจะถามให้ถูกคือ คนไทยทำอะไรกันอยู่ถึงปล่อยให้รัฐซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกฎทำให้คุณภาพชีวิตของเราตกต่ำได้ถึงเช่นนี้?