‘สาละวิน’ พื้นที่ไฟป่าเกือบ 5 ล้านไร่ ใหญ่ที่สุดของอาเซียนตอนบน
สองฟากฝั่งแม่น้ำสาละวิน ใกล้กับอำเภอแม่สะเรียงของประเทศไทย เป็นเขตที่ประสบปัญหาไฟป่าและมลพิษฝุ่นควันมากที่สุดในอาเซียนขณะนี้ ทั้งในแง่ขนาดพื้นที่และความซ้ำซาก การจะบรรเทาผลกระทบนี้ ยังทำได้ยาก
พื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำสาละวินตอนกลาง ช่วงผ่านรัฐฉาน รัฐกะเรนนี (กะยา) และรัฐกระเหรี่ยง ฝั่งประเทศเมียนมา และช่วงผ่านอำเภอแม่สะเรียงของประเทศไทย เป็นเขตที่ประสบปัญหาไฟป่าและมลพิษฝุ่นควันมากที่สุดในอาเซียนขณะนี้ ทั้งในแง่ขนาดพื้นที่และความซ้ำซาก รอยต่อประเทศไทยและเมียนมาร์คือแหล่งปัญหา “ไฟใหญ่” แทนที่พื้นที่ปัญหาไฟป่าเดิมในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่เคยเกิดขึ้นมากเมื่อทศวรรษก่อน แต่บัดนี้เบาบางลง
ภาพรอยเผาไหม้สะสมซ้อนทับ 24 ปี จากปี 2000 ถึง 2023 (burned scars) จากดาวเทียมระบบ MODIS โดยเว็บไซต์ earthmap ของ UNDP ฉายภาพรูปธรรมขนาดพื้นที่เผาไหม้และความร้อนระบายเป็นสีแดงเข้มไปจนถึงระดับสีม่วง สะท้อนว่าเป็นพื้นที่ไหม้ซ้ำซากกินบริเวณกว้าง โดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งน้ำสาละวินจากบริเวณเมืองต่วนในรัฐฉานลงมาถึงรัฐกะเหรี่ยงตรงข้ามอำเภอแม่สะเรียงของไทย
“ไฟใหญ่สาละวิน” กินพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่
ถ้าคำนวณจากรอยไหม้บนระบบ MODIS ของ Earthmap/UNDP ในพื้นที่ “ไฟใหญ่สาละวิน” เขตนี้ พบว่ากินพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่ (การคำนวณรอยไหม้ดาวเทียมมีข้อจำกัดตามแต่ละเทคโนโลยี มีความคลาดเคลื่อนแตกต่างกัน เป็นค่าอ้างอิงเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ ไม่ใช่จำนวนไหม้ที่แท้จริงภาคพื้นดิน) กล่าวคือ
1. พื้นที่ป่าสาละวินฝั่งไทย และป่าใกล้เคียงเช่น ป่า อช.แม่เมย และป่าขุนยวม ขนาดพื้นที่ประมาณ 1.5 ล้านไร่ ไหม้ซ้ำซากไม่น้อยกว่า 5 แสนไร่ /ปี และเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ไหม้รวมกันประมาณ 9 แสนไร่
2. พื้นที่ป่าในเขตรัฐฉานตะวันออก ไหม้ทุกปี เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ไหม้ประมาณ 277,883 เฮกตาร์ หรือประมาณ 1.73 ล้านไร่
3. พื้นที่ป่าในเขตรัฐกะเรนนี (กะยา) เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ไหม้ประมาณ 229,734 เฮกตาร์ หรือประมาณ 1.43 ล้านไร่
4. พื้นที่ป่าในรัฐกระเหรี่ยง (Kayin) เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ไหม้ประมาณ 139579 เฮกตาร์ หรือประมาณ 8.7 แสนไร่
ไฟใหญ่สาละวิน ส่งฝุ่นพิษไปยังภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน
รวมการไหม้โดยประมาณ ในเขตสองฝั่งสาละวินโซนนี้ ประมาณ 4.93 ล้านไร่ (บางปีอาจมากหรือน้อยกว่านี้/ตัวเลขประมาณการดาวเทียมระบบ MODIS เมื่อปีที่ 2023 ผ่านมา) นับว่าเป็นขนาดของแหล่งกำเนิดไฟป่าที่ใหญ่มากที่กระจุกในโซนเดียวกัน ซึ่งมีผลต่อการปล่อยมลพิษฝุ่นควันก้อนใหญ่มากในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายนประจำทุกปี
การไหม้ในเขตสาละวินที่เกิดสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม ก่อให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ภาคเหนือตอนในโดยเฉพาะแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน เพราะในห้วงดังกล่าวกระแสลมตะวันตกเริ่มพัดจากเมียนมาร์/ทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นมา หอบฝุ่นควันไฟสาละวินเข้าสู่ประเทศไทย (ส่วนทางรัฐฉานพัดตรงๆ จากทิศตะวันตกไปทางอำเภอแม่สาย)
ปัญหาเรื่องไฟป่าสาละวินเป็นเรื่องใหญ่ที่ซับซ้อนและแก้ไขยากมาก เพราะไฟที่เกิดฝั่งเมียนมาร์ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาและเขตสู้รบ ไม่ใช่พื้นที่เกษตรทำกิน ประกอบกับอำนาจทางการเมืองและการทหารมีความซ้อนทับระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกองกำลังต่อต้านในพื้นที่ บางฤดูฝ่ายหนึ่งมีอำนาจครอง แต่พอเวลาเปลี่ยนอำนาจที่ว่าก็ถูกแย่งชิงกลับคืน ในภาพรวมก็คือ รัฐบาลกลางเนปยีดอยังไม่สามารถปกครองและบริหารจัดการเขตไฟไหม้ใหญ่ที่ว่าได้
แม้กระทั่งไฟในประเทศ คือ ในป่าอนุรักษ์ของไทยเองก็บริหารจัดการได้ยากลำบาก เพราะบางช่วงเกิดมีการสู้รบ ไม่ปลอดภัยสำหรับการเดินเรือรับส่งเจ้าหน้าที่ดับไฟที่อาจถูกลูกหลง หากจะเดินเท้าเข้าไปจะยากลำบากและกินเวลานานมาก
ปัญหาไฟไหม้ใหญ่ข้ามพรมแดน ยังคงเกิดขึ้นซ้ำซากในพื้นที่ขนาดใหญ่มาก
ฝุ่นควันระหว่างพรมแดน ข้ามไปข้ามมาตามทิศทางลม เรียกว่าสร้างปัญหาต่อประเทศไทยมากแล้ว แต่นั่นยังไม่พอ นอกจากผลกระทบจากฝุ่นข้ามมาในช่วงลมเปลี่ยนแล้ว ยังมีปัญหาใหญ่อีกประการ คือ มีพื้นที่ด้านบนชายแดนต่อกันระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน อ.แม่สะเรียง กับ รัฐกะเรนนี (กะยา) ที่เกิดมี "ไฟใหญ่ข้ามพรมแดน" มาเสมอ
ในปีนี้ก็เกิดมีไฟป่าขนาดใหญ่มากแบบเดิมเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีปฏิบัติการเผาชนจากฝั่งไทย เกิดเป็นไฟป่ากองใหญ่มาก และเกิดเป็นผลกระทบค่ามลพิษฝุ่นในแอ่งเชียงใหม่ โดยแสดงเป็นสัญลักษณ์สีส้มขึ้นมาในช่วงนั้น
ประมาณจากรอยไหม้ดาวเทียมแบบไม่เป็นทางการของพื้นที่ไหม้ใกล้พรมแดนไทย (ฝั่งรัฐกะเรนนี) พบว่าเป็นพื้นที่ไหม้ใหญ่มาก อาจจะมากถึง 8 แสนไร่
ขณะที่รอยไหม้ฝั่งไทยจากปฏิบัติการเผาชน วัดได้ประมาณ 68.27 ตร.กม. หรือประมาณ 4.2 หมื่นไร่ (คำนวณจากรอยไหม้ดาวเทียม Sentinel-2 L1C ด้วย Copernicus browser tool) ซึ่งการไหม้ตรงโซนนี้ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของพื้นที่ไหม้ซ้ำซากทั้งหมดเท่านั้น
ปัญหาไฟป่าเขตนี้ที่ไหม้ปีละ 5 ล้านไร่ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้
จะเห็นได้ชัดเจนว่า ขนาดของการไหม้ในพื้นที่ป่าโซนนี้เป็นการไหม้ขนาดใหญ่ลามแบบควบคุมไม่ได้ในพื้นที่ห่างไกลและก่อให้เกิดผลกระทบสูง
จนถึงตรงนี้ปัญหา “ไฟใหญ่สาละวิน” ที่ไหม้ปีละร่วมๆ 5 ล้านไร่ ยังไม่สามารถจะแก้ไขได้ ด้วยปัญหานานัปการโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการสู้รบชายแดน แม้รัฐบาลและกลุ่มอาเซียนจะมีการเจรจาว่าด้วยหมอกควันข้ามแดนมายาวนานก็ตาม
ยิ่งพิจารณาจากบริบทพื้นที่ยิ่งชัดเจนว่า ต่อให้รัฐบาลกลางเนปยีดอสั่งการใดๆ ลงมา ก็ไม่มีหน่วยปฏิบัติจริง เพราะบางเขตเป็นพื้นที่ปลอดอำนาจรัฐบาลกลาง ขณะที่การเจรจาความระดับอาเซียนก็ไม่มีรัฐบาลท้องถิ่นรัฐกระเหรี่ยง-กะเรนนี ที่มีอำนาจควบคุมในระดับพื้นที่เข้าไปร่วม การดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลต้องระมัดระวังการกระทบกระทั่งทางการทูต ส่วนใหญ่ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวอย่างไม่เป็นทางการของท้องถิ่นเป็นสำคัญ
การจะบรรเทาผลกระทบไฟใหญ่สาละวินในขณะนี้ จึงยังทำได้แค่พยายามควบคุมไฟในประเทศ คือ ในเขตป่าของไทย ทั้ง ขสป.สาละวิน อช.สาละวิน อช.แม่เมย และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมที่ต่อเนื่องกัน เอาแค่นี้ก็ยังยากลำบากอยู่ไม่น้อย
..........................................
เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ