เปิดแคมเปญ 'เช็กก่อนแชร์' ป้องกัน'การละเมิดทางเพศ'ต่อเยาวชนทางออนไลน์
การผลิตและแชร์เนื้อหาที่มีลักษณะทางเพศของผู้เยาว์ทางออนไลน์ ถือเป็นความผิดอาญา เรื่องเหล่านี้จึงต้องให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ
สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNODC) เปิดตัวแคมเปญ “เช็กก่อนแชร์ (Beware the Share)” โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชน ผู้ปกครอง ผู้ดูแล และหน่วยงานภาครัฐในภูมิภาคแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับมือและป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการละเมิดทางเพศของเยาวชน
จากข้อมูลสถิติพบว่า หนึ่งในสามของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกเป็นเยาวชนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ช่วงวัยเรียน 6- 14 ปีใช้เวลาอยู่หน้าจอเฉลี่ยประมาณ 2.77 ชั่วโมงต่อวัน สูงกว่าระยะเวลาแนะนำ 2 ชั่วโมงต่อวัน
- ในประเทศมาเลเซียเพียงประเทศเดียว มีเยาวชนอายุ 13- 17 ปี มีบัญชีโซเชียลมีเดียมากกว่า 90%
เรื่องนี้จึงน่าเป็นห่วง เพราะมีรายงาน การละเมิดทางเพศต่อเยาวชนทางออนไลน์ ปี 2562 - 2565 พบว่า
- มาเลเซีย มีการรายงาน 850,000 ครั้ง เฉพาะในปี 2565 มีรายงาน 200,000 ครั้ง
- ลาว มีรายงาน 25,000 ครั้ง
- เวียดนาม มีรายงานเกือบ 3 ล้านครั้ง เฉพาะในปี 2565 มีรายงาน 950,000 ครั้ง
- ไทย มีรายงานเกือบ 2 ล้านครั้ง เฉพาะในปี 2565 มีรายงาน 525,000 ครั้ง
- ฟิลิปปินส์ มีรายงานเกือบ 8 ล้านครั้ง เฉพาะในปี 2565 มีรายงาน 2.5 ล้านครั้ง
ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสำรวจที่อ้างอิงผ่านการลงทะเบียน CyberTipline แพลตฟอร์มจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งรับแจ้งการแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเยาวชนจากทั่วโลก ปัจจุบันยังมีอีกหลายล้านคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และถูกบังคับข่มขู่ทางออนไลน์
โจชัว เจมส์ ผู้ประสานงานด้านการต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ระดับภูมิภาคของ UNODC กล่าวว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้น ส่งผลให้เยาวชนใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งการขยายตัวมีแนวโน้มที่จะเป็นภัยคุกคามในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามมา
“การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศต่อเยาวชนทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น จำต้องมีมาตรการที่รวดเร็วและเด็ดขาด เพื่อปกป้องเยาวชนบนโลกดิจิทัล”
แคมเปญ “เช็กก่อนแชร์ (Beware the Share)” จัดทำขึ้นเพื่อชักชวนเยาวชนให้คิดก่อนที่จะคลิกปุ่ม ‘แชร์’ เพราะจะมีผลกระทบตามมา :
- การผลิต การแชร์ และการกระจายเนื้อหาที่มีลักษณะทางเพศของผู้เยาว์ รวมถึงเนื้อหาที่สร้างขึ้นเอง เป็นความผิดทางอาญาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ผู้ล่วงละเมิดและผู้ล่อลวง อาจใช้ประโยชน์และจูงใจให้เยาวชนแชร์เนื้อหาที่มีลักษณะทางเพศและบังคับข่มขู่ให้ส่งภาพเพิ่มเติมหรือแม้กระทั่งรีดไถเงินหากเยาวชนไม่ยอมทำตาม
- มีการจัดตั้งระบบการรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีวิธีแก้ไขสำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาการถูกละเมิดทางออนไลน์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มีทางออกจากสถานการณ์ที่เยาวชนกำลังเผชิญอยู่ มีบริการที่ดูแลเยียวยาทางจิตใจและการปฏิบัติที่เยาวชนต้องการ
แคมเปญนี้ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลแคนาดาและเนเธอร์แลนด์ ดำเนินการใน 5 ประเทศแถบภูมิภาคนี้ ได้แก่ ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม โดยเผยแพร่ผ่านอินฟลูเอนเซอร์
แคมเปญดังกล่าวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเล่นเกมและทำแบบทดสอบเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ รวมถึงมีวิดีโอ ภาษาหลักของตนเองได้ โดยวิดีโอประกอบด้วยตัวละครและข้อความในรูปแบบวิดีโอเกม เพื่อทำให้เรื่องราวน่าสนใจและเข้าถึงผู้ชมกลุ่มเยาวชน
ในเว็บไซต์ยังมีแหล่งข้อมูลติดต่อโดยตรงที่ผู้เสียหายสามารถแจ้งเหตุได้อย่างลับ ๆ หากเชื่อว่าตนเองหรือคนรู้จักกำลังถูกล่วงละเมิดทางออนไลน์ ดูได้ที่