จาก ‘พระพิฆเนศ’ สู่ ‘กาเนชา’ อาร์ตทอย ศรัทธา ความเชื่อ หรือศิลปะ?
เมื่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจย่ำแย่ ผู้คนต่างมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อให้ชีวิตมั่นคงขึ้น จะดีกว่าไหมหากองค์เทพที่เรานับถือมาในรูปแบบ 'อาร์ตทอย' ที่เข้าถึงได้มากขึ้น
เรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา หรือ คนสายมู มีมานานแล้วในโลกใบนี้ เจาะลึกลงไปในประเทศไทย ระยะหลัง แวดวงความเชื่อ ความศรัทธา เริ่มเกี่ยวข้องกับศิลปะมากขึ้น จนเกิดเป็น ศิลปะศาสนา ออกมาในรูปแบบ อาร์ตทอย
ที่โดดเด่นที่สุดในเหล่าองค์เทพ ได้แก่ พระพิฆเนศ มีเหตุผลใด ทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น มากขึ้น
บางคนไปเดินดู อาร์ตทอย เห็นแล้วชอบ บวกกับความเชื่อ ความศรัทธาที่มีอยู่ บางคนคิดว่า ไม่เห็นต้องทำพิธีเลย แค่มีศรัทธาก็พอ ไหว้ ๆ ไปแล้ว ก็ขลังเอง จริงหรือไม่
Cr. Kanok Shokjaratkul
ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ นักวิชาการ คอลัมนิสต์ด้านศาสนาและปรัชญา กล่าวในงาน คเณศที่เรารู้จัก : จากพิฆเนศวร สู่ กาเนชา วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ณ มันมัน ศรีนครินทร์ ว่า
"อุปมาเหมือนวิทยุ เราซื้อวิทยุมาเครื่องหนึ่ง คนทำเขาทำเป็นโมเดลวิทยุ เสียบปลั๊กจริงไม่ได้ ฟังไม่ได้ ไม่มีแบตเตอรี่ แต่มีอีกโรงงานหนึ่งเขาทำเป็นวิทยุจริง หน้าตาเชย แต่มีกลไกเครื่องยนต์พร้อม เสียบปุ๊บฟังเพลงได้
เราก็ต้องเลือกว่าจะเอาวิทยุจริง ๆ หรือเอาโมเดลวิทยุ เพราะว่าเทวรูปที่ปลุกเสก คนก็เชื่อว่าทำงานได้ มีเทวานุภาพ"
Kappa collectibles (Cr. Kanok Shokjaratkul)
อาร์ตทอย ที่เป็นศิลปะศาสนา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ปลุกเสกแล้ว กับไม่ได้ปลุกเสก
หากเราชอบองค์ที่ปลุกเสก ซื้อมาแล้วจะต้องดูแลอย่างไร เอาไปวางรวมกับอาร์ตทอยหรือของเล่นอื่น ๆ ได้ไหม ต้องแยกออกมาต่างหาก หรือต้องไปวางรวมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์? ผศ. คมกฤช ตอบว่า
"เมื่อคุณได้วิทยุที่เขาชาร์จมาแล้ว แต่ไม่เปิดฟัง เอาไปตั้งรวมกับโมเดลวิทยุ แบตเตอรี่ก็จะค่อย ๆ หมดลงเสื่อมสภาพไปในที่สุด
มีคนถามว่า เทวานุภาพ หมดกันได้ด้วยหรือ จากมุมของความเชื่อเรื่องพลังงาน มันมีลด มีเพิ่มได้ คือถ้าไม่ถึงกับเอาอาร์ตทอยนั้นไปแต่งตัว ไปใส่หมวกใส่อะไร ก็ไม่เป็นไร เอาไปไว้ในที่ ๆ เหมาะสม"
WA.Sculpture Studio (Cr. Kanok Shokjaratkul)
- เวลาไหว้ จะสวดแบบพราหมณ์ แบบฮินดู หรือแบบไทย ?
"จะสวดแบบพราหมณ์อินเดีย พราหมณ์วัดแขก พราหมณ์วัดเหนือ วัดใต้ พราหมณ์ไทย พิธีไทย แล้วแต่ที่เราศรัทธา
สำหรับผม มันเป็นเรื่องของจิต บางคนสายนาฏศิลป์ละคร ก็เอาไปเข้าพิธีไหว้ครูละคร จบ ถ้าชอบอินเดียก็เอาไปเข้าพิธีวัดฮินดู จบ แล้วแต่ความศรัทธาของแต่ละคน"
Punsanook (Cr. Kanok Shokjaratkul)
-
ไหว้พระพิฆเนศ ต้องเริ่มต้นด้วย นะโมฯ ก่อนไหม?
"ถ้าเชื่อแบบขนบไทย ก็ทำได้ แต่ถ้าอยาก Direct to พระคเณศเลยก็ตัดออกได้ ไม่ผิด
บทนะโม คือนมัสการพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ติด พระคเณศก็ไม่ติด
มนุษย์เป็นผู้แบ่งแยก พุทธกับฮินดูกันเอง เทพไม่ค่อยเรื่องมาก สังคมเราเป็นสังคมรวมความหลากหลายอยู่แล้ว จะนมัสการพระรัตนตรัยก่อนไหว้เทพ หรือบูชาเทพก่อนไหว้พระรัตนตรัย ไม่ผิด"
Poly Holy (Cr. Kanok Shokjaratkul)
-
'อาร์ตทอย' ทำให้คนใกล้ชิดศาสนามากขึ้น
คนในอินเดียมีความเชื่อว่า เขาเข้าถึงเทพเจ้าได้ ไปใกล้ชิดพูดคุยมีความเป็นกันเองได้ แต่ของไทย พระพิฆเนศ ในอดีต เราต้องยำเกรง มีความน่ากลัว ต้องหมอบคลานเข้าไป แต่พอเป็น อาร์ตทอย มันทำให้ใกล้ชิดผู้คนมากขึ้น
"คนที่ไหว้อาร์ตทอย เพราะเขาชอบแบบนี้ อยากไหว้แบบนี้ มันเป็นเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ทางศิลปะ มันทำให้งานทางศาสนาใกล้ชิดความเป็นมนุษย์ธรรมดามากขึ้น
GODSWORK STUDIO (Cr. Kanok Shokjaratkul)
อาร์ตทอย ทำให้อยากคุยด้วย อยากสัมผัส มีประเด็นเข้าถึงผ่านความหลากหลาย เช่น ฉัน Gender นี้ฉันไม่ชอบแข็ง ๆ มันก็ทำได้ นี่คือคุณูปการของการสร้างงานศิลปะให้ความศักดิสิทธิ์กลายมาเป็นความเป็นมนุษย์มากขึ้น
การสร้างเทพเจ้าในอินเดียจะมีขนบมีตำราบอกสัดส่วนเทพที่เขายึดถือเอาไว้ ลองไปศึกษาดู ถ้าเรามีความรู้ และมีไอเดียสร้างสรรค์ จะทำให้งานเราลึกขึ้น งานศาสนาที่ดูยาก ก็เข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น แล้วมีผลดีต่อเทพ ท่านก็มีงานทำมากขึ้น"
Poly Holy (Cr. Kanok Shokjaratkul)
-
เส้นแบ่งความเชื่อ ความศรัทธา และการลบหลู่ อยู่ตรงไหน?
ประเทศไทย ไม่มีอาร์ตทอยที่เป็นพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธรูป มีแต่พระพิฆเนศ นั่นเพราะ...
"1) พระพิฆเนศ ดูเป็นเทพที่สร้างสรรค์ ปราศจากความโกรธ เทพแต่ละองค์ภาวะไม่เหมือนกัน มีถูกใจไม่ถูกใจ
2) พระพิฆเนศเป็นเทพในศาสนาหนึ่งที่คนส่วนน้อยในประเทศหนึ่งนับถือ
3) พระพิฆเนศ มีรูปร่างเป็นช้าง ดูในตำราก็มีหลายปาง เปิดโอกาสให้ตีความอย่างอื่นได้อีก ขณะที่เทพอื่นมีรูปร่างคล้ายมนุษย์ การตีความนอกเหนือมนุษย์ก็ยาก
4) ในอินเดียพระคเณศเป็นเทพที่เป็นมิตร เข้าใกล้ได้ ศิลปินตีความได้ง่ายกว่า
เวลาสร้างงานศิลปะ ถ้าแยกว่าอาร์ตทอยอยู่ในศิลปะสร้างสรรค์ ศิลปะมันตีความได้หลากหลาย ไม่จำเป็นว่าต้องตีความแบบเดียว ศิลปินมีสิทธิ์ในพื้นที่ของความเป็นศิลปะ"
Dhyana Studio (Cr. Kanok Shokjaratkul)
หากเจาะลึกลงไปถึงคำว่าลบหลู่เทพไหม ผศ.คมกฤช กล่าวว่า
"มันเป็นเรื่องของจิตใจ เราเดาใจเทพได้ยากมาก จากตำนานอินเดีย มีพรานป่าคนหนึ่ง ขึ้นไปนอนบนอยู่บนต้นไม้ ไม่รู้ว่าข้างล่างมีศิวลึงก์ นอน ๆ ไปเกิดความเบื่อก็เด็ดใบไม้ทิ้ง โยนลงไปๆๆๆ พอขยับตัวต้นไม้ก็เขย่า ๆ น้ำค้างก็ร่วงลงไปข้างล่าง
เช้ามา พระศิวะมาโปรด "ดีมากเลย เมื่อคืน คุณไม่นอน บำเพ็ญตะบะ ไม่กินข้าวด้วย แล้วเอาใบไม้ถวายเรา ก็เลยออกมาให้พร"
Blue Bangkok (Cr. Kanok Shokjaratkul)
พรานนั่งงง ไม่ได้กินข้าวเพราะกลับบ้านไม่ทัน นอนบนต้นไม้เพราะกลัวเสือมากิน นอนไม่หลับก็เด็ดใบไม้ทิ้ง ลบหลู่ไหม เรื่องแบบนี้ตำนานอินเดียมีเยอะมาก
เส้นแบ่งของเรื่องนี้คือ บูชาอย่างมักง่าย กับจิตใจเรียบง่าย ไม่เหมือนกัน
มีอีกตำนานหนึ่ง คนไม่อยากไปหาภาชนะมาใส่น้ำแล้วรดน้ำบูชา ก็อมไว้ในปากแล้วบ้วนลงไปแทน ไปพิจารณากันเองว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นมักง่ายหรือจิตใจที่เรียบง่าย เพราะความตั้งใจ ผลมันไม่เหมือนกัน"
nine by nine club (Cr. Kanok Shokjaratkul)
โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน คนในปัจจุบัน หันมาศรัทธาเทพมากขึ้น แล้วเทพก็มีมากขึ้น เพราะอะไร?
"ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งมี แต่มีนานแล้ว มีสำนักต่าง ๆ เกิดขึ้นมาเยอะ เพราะ 1) สื่อทำเรื่องพวกนี้ให้เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ 2) หลังสงครามเย็นมีลัทธิวิธีมุ่งเน้นความมั่งคั่ง
เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เรานับถือก็ถูกเปลี่ยนให้มีความเกี่ยวข้อง ทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายอันโดดเด่นขึ้นมา และมีฟังก์ชั่นอื่น ๆ เพิ่ม
Cr. Kanok Shokjaratkul
เช่น ท้าวเวสสุวรรณ เดิมคนไทยรู้จักว่าเป็นนายผี ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องผีอย่างเดียว ต่อมาคนไปศึกษาจากจีนบ้างอินเดียบ้างพบว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ด้วย
ในตำรามีแต่เราไม่เคยเน้น เราเน้นเฝ้าสมบัติ ฟังก์ชั่นเดิมก็หายไป
เรื่องความมั่งคั่งเป็นปัจจัยหลักให้คนสนใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจและความผันผวนทางการเมืองก็มีส่วน
ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ มันมีอีกหลายเรื่อง ความไม่แน่นอนต่าง ๆ เราก็มาพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันเป็นเรื่องของระบบทุนนิยม"
Insine Cartoonist (Cr. Kanok Shokjaratkul)
-
ความเชื่อ ความศรัทธา นำมาซึ่งเศรษฐกิจ ?
"ความเชื่อ เป็นสินค้าที่มีกำไรสูงมาก จากก้อนดินเล็ก ๆ ปั้มเป็นรูปพระ ปลุกเสกเสร็จ ต้นทุนวัสดุ 50 สตางค์ ไม่เกิน 1 บาท ถ้าเป็นตลับพลาสติกไม่เกิน 7-10 บาท
นี่คือพระใหม่ ตั้งราคาต่ำสุด 99 บาท แต่ถ้าเป็นพระเก่าราคาจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามเรื่องเล่า ตามประสบการณ์ มันเป็นโอกาสทางการตลาด
เดิมผมแอนตี้พุทธพาณิชย์ แต่หลัง ๆ ไม่คิดอย่างนั้นแล้ว คิดว่าระบบศาสนา ต้องใช้เงิน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าพัดลมพัดค่าอาหารหมาวัด เยอะแยะไปหมด วัดต้องใช้เงิน แล้วเงินมาจากไหน จากการบริจาคและการขายวัตถุมงคล
PramTime Art Studio (Cr. Kanok Shokjaratkul)
สำหรับผม พุทธพาณิชย์มีพอประมาณก็โอเค. ให้วัดอยู่ได้ เพราะศาสนาต้องพึ่งอะไรแบบนี้ ที่สำคัญ อย่าน่าเกลียด อย่าถึงกับเอารวย
วัดพุทธขายเทพฮินดู ปี่เซียะ กุมารทอง สารพัด แตกไลน์ได้เยอะมาก แล้วไม่มีใครไปกำกับ ล่าสุด อาร์ตทอยก็มาตีชิงตลาดเขา
สิ่งที่เปลี่ยนคือ วัดเริ่มเปลี่ยนแนวและรูปแบบให้มีความใกล้เคียงอาร์ตทอยมากขึ้น เช่น วัดแห่งหนึ่งทำรูปแบบเครื่องรางญี่ปุ่นโอะมะโมะริ (Omamori) มีการปรับตัวให้ดูไม่จริงจัง
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการค้าขายวัตถุสินค้าจากความเชื่อใหญ่ที่สุดในเอเชีย?
"คำกล่าวนี้มาจากงานวิจัย มีคนทำทัวร์บอกว่า เวลาจัดโปรแกรมทัวร์คนจีนมาประเทศไทย ต้องมีเดสติเนชั่นหนึ่งคือ พระพรหมเอราวัณ ถ้าไม่มีเขาไม่มา
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีทัวร์จีนมาจ้างนางรำแก้บนพระพรหมเอราวัณร้อยกว่าคน นี่คือ ซอฟต์พาวเวอร์ ที่รายได้ใต้ดินเยอะมาก ภาษีก็ไม่เสีย ในส่วนที่เรารู้บนดินยังอึ้งเลย ทำไมเราไม่ทำให้ขึ้นมาบนดินทั้งหมด รัฐจะได้ผลประโยชน์
อยู่ที่ว่ากล้าหรือเปล่าที่จะออกตัวว่า รัฐไทยจะขายสินค้าความเชื่อ ตรง ๆ เลย ไม่กระมิดกระเมี้ยนแล้ว อยากซื้อกุมารทอง อยากแก้บน มาประเทศนี้เลย
Cr. Kanok Shokjaratkul
เราน่าจะทำบทสวด 15 ภาษา, มีท่องเที่ยวสายไหว้พระ, มีโซนมูมาร์เก็ต ไม่ใช่ให้คนต่างชาติมาเปิดขายให้คนต่างชาติกันเอง
พูดตรง ๆ มันเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมชนิดหนึ่ง ในเมื่อเราจะขาย ก็น่าจะทำระบบให้ดี เช่น ไม่ไปหลอกลวงเขา แล้วให้เขาเข้าถึงความรู้ได้ด้วย เมืองไทยเรามีวัฒนธรรมอะไร ทำงานเป็นองคาพยพได้
Cr. Kanok Shokjaratkul
สินค้าทางวัฒนธรรม มู ความเชื่อ สามารถสอดแทรกอะไรไปได้ตั้งเยอะ เช่น การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเพิ่มมุมมองการนับถือเพื่อนมนุษย์ เพิ่มมุมมองเรื่องความหลากหลายทางเพศ เพิ่มมุมมองการยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพิ่มมุมมองประชาธิปไตย ก็ทำได้
เรามัวแต่คิดว่าอย่ามาแตะต้องกัน มันสามารถประสานเรื่องนี้ได้ ไม่ได้ทำแค่เรื่องทางการเมืองสังคม แต่ทำลึกไปถึงเรื่องของจิตวิญญาณและวัฒนธรรม ถ้าฉลาดใช้หน่อยนะ ผมว่าเรื่องพวกนี้มันสามารถสอดแทรกอะไรได้หมด"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
รัฐไทย ต้องปรับตัว
จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ยูทูบเบอร์ นักสะสมอาร์ตทอย บอกว่า ตัวเองมีความรู้เรื่องพระพิฆเนศน้อยมาก รู้ว่าเป็นเทพแห่งศิลปะ ที่ไม่ได้ต้องการการบูชาสรรเสริญอะไรที่ซับซ้อนเกินกว่าที่ควรจะเป็น เรามีคำถามอยู่ในใจว่า สังคมไทยกำลังเกินไปหรือเปล่า
"อาร์ตทอย และที่มา มันมีหลายมิติ คุณแน่ใจจริง ๆ หรือว่ามาจากความลบหลู่ มาตัดสินว่าศิลปินตีความจากความไม่เคารพ
เป็นวิธีคิดของคนที่มีกฎหมายอยู่ในมือในการบังคับใช้ เป็นตำรวจตรวจความเคารพศรัทธา ขณะเดียวกันก็รุกล้ำความศรัทธาของมนุษย์ ไม่เคารพให้เกียรติในสิ่งที่เขาศรัทธา
Cr. Kanok Shokjaratkul
ต่อให้เป็นเทพ เป็นของบูชา พอเราทำให้เป็นความคุ้นชิน มันใกล้ตัว แล้วถกเถียงกัน บ่อยขึ้น มากขึ้น จะมีคนส่งเสียงเยอะขึ้น กว่าความเป็นขนบเหมือนเสาหิน ซึ่งเขาต้องรู้ว่าต้องปรับตัว
ความเชื่อความศรัทธาที่ถูกกดเอาไว้มันมีค่าเสียโอกาสในการเติบโตของสังคม มันไม่มีการฝึกอะไรกันเลยเพียงเพราะขีดไว้ให้แล้วว่าเท่านี้เท่านั้น"
ความเชื่อ ความศรัทธา จึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน