‘คอนเสิร์ต’ ศิลปินต่างประเทศ จัดในไทย ทำไม? คนไทยไม่ได้ดู
'คอนเสิร์ต' ศิลปินต่างประเทศจัดในประเทศไทย แต่คนดูส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย แถมศิลปินเชิญคนดูขึ้นเวทีก็ไม่ใช่คนไทยอีก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มาหาคำตอบกัน
ศิลปินต่างชาติระดับโลกมาจัด คอนเสิร์ต ในประเทศไทย นับเป็นความภาคภูมิใจและความสุขของคนไทยที่จะได้ดูคอนเสิร์ตศิลปินที่รักและชื่นชอบอย่างใกล้ชิดในประเทศไทย
แต่ทว่า คนไทยกลับไม่ได้ดู ด้วยสาเหตุหลายประการ แล้วในวันที่คอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศแสดงในประเทศไทย ก็เกิดปรากฏการณ์ที่แทบจะไม่ใช่ประเทศไทย
ผู้คน พ่อค้า แม่ค้า มอเตอร์ไซค์วิน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่มันวันชาติจีน วันชาติเกาหลี วันชาติฝรั่ง หรืออย่างไร
เพราะแทบไม่มีคนไทยเลย คนไทยเข้าไม่ถึง คอนเสิร์ต เหล่านี้ แถมยังมีปัญหาเกี่ยวกับบัตรคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศในประเทศไทยที่มีการร้องเรียนมากมาย ลองมาฟังกัน
โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบเกี่ยวกับบัตรคอนเสิร์ตที่ร้องเรียนเข้ามาที่สภาฯ เป็นเรื่องของการยกเลิกบัตรคอนเสิร์ต, การจัดงานที่ไม่มีระบบการบริการความปลอดภัยที่ดี และข้อสัญญาไม่เป็นธรรม
"เช่น ตอนขายตั๋วบอกว่าที่นั่งเป็นที่หลุม หรือความสูงของที่นั่งประมาณนี้ แต่หน้างานจริงกลับไม่ใช่ ไม่เป็นตามโฆษณา เขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะให้ข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน ทำให้เขาตัดสินใจไม่ถูกต้อง"
-
ปัญหาอันดับหนึ่งที่พบ คือ การยกเลิกการจัดคอนเสิร์ต
ในช่วงโควิดเจอแบบนี้หลายเคส เข้าใจได้ว่าผู้จัดไม่สามารถจัดได้ แต่ก็ควรมีการคืนเงินให้กับผู้บริโภค
"ไม่ใช่ยกเลิกแล้วไม่มีการคืนเงิน ไม่มีการเยียวยาความเสียหาย บอกปัดไปเรื่อย ๆ อันนี้มีร้องเรียนเข้ามา 100 กว่าเคส"
-
ปัญหาอันดับสอง ต้องสมัครสมาชิก ถึงจะมีสิทธิ์กดบัตร
ปัญหานี้ก็มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเยอะ กลุ่มที่ไปสมัครสมาชิก บอกว่า ถ้าเป็นสมาชิกจะได้มีสิทธิ์กดก่อน แต่กลับเจอเหตุการณ์ว่า ตอนกดบัตรแข่งกัน ระบบมันล่ม เขาเลยรู้สึกว่า
1) นี่เป็นปัญหาของผู้จัด ที่ทำระบบไว้ไม่เสถียร 2) ทำให้เขาเสียโอกาสซื้อบัตรคอนเสิร์ต หรือได้ที่นั่งตามที่ต้องการ และช่วงเวลาเปิดขายบัตรก็สั้นมาก เพราะการแข่งขันสูง
ทำให้เกิดอาชีพ รับจ้างกดบัตร ขึ้นมา เพราะความต้องการเยอะ มากกว่าของที่มี
เรื่องระบบสมัครสมาชิก สภาฯได้คุยกับคนที่ทำระบบนี้แล้วว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เพราะเดิมแข่งขันกันด้วยกติกาเดียวกันว่า ใครกดก่อนได้ก่อน
แต่คุณกลับเซ็ตระบบสมาชิกขึ้นมา เหมือนถูกบังคับกลาย ๆ ว่าต้องสมัคร เราเสนอให้ยกเลิกระบบนี้ เขาก็ยกเลิกไป"
-
ปัญหาอันดับสาม การจัดผัง คอนเสิร์ต
การจัดผังคอนเสิร์ตมีความหมายกับแฟนคลับและคนดูอย่างมาก แต่ในความเป็นจริง ผังที่บอกกับที่ซื้อไปไม่เหมือนกัน
"คุณไม่ควรจัดผังแบบหนึ่งแล้วเวลากดจองมันไม่ใช่ผังแบบนั้น หรือการจัดผังแบบที่ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพง ในราคาที่ไม่เหมาะสม เช่น 8000 บาท แต่ที่นั่งแย่มาก"
-
บัตรคอนเสิร์ตแพง ใครรับผิดชอบ?
ถ้าเป็นเรื่องอุปโภคบริโภค กรมการค้าภายใน เป็นผู้ดูแล สินค้าและบริการในเรื่องราคาที่เป็นธรรม
"ในมาตราที่สิบกว่า ๆ บอกไว้ว่า ห้ามจำหน่ายสินค้าในราคาเกินจริง หรือค้ากำไรเกินควร สำหรับสินค้าบริโภคและอุปโภค
ส่วน บัตรคอนเสิร์ต เป็นธุรกิจบันเทิง เป็นบริการที่ไม่ใช่พื้นฐานในการดำรงชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนต้องเข้าถึง เป็นความสมัครใจของผู้ซื้อผู้ขาย
ผมมองว่า ถ้าเราขายของแพงเกินไป คนก็ไม่ซื้อ แต่ธุรกิจคอนเสิร์ตมีข้อยกเว้น ถ้าเป็นคนที่มีกำลังซื้อมากพอ แล้วศิลปินเป็นที่ต้องการมาก ๆ เขาก็ขายได้"
-
มองมุมกลับ ซื้อตั๋วแล้วเปลี่ยนใจ น่าจะคืนตั๋วได้
ในบางคอนเสิร์ตอาจมีเงื่อนไขดูแลตรงนี้ เช่น ถ้ายกเลิก คืนเงินร้อยเปอร์เซนต์ แต่ในความเป็นจริงส่วนใหญ่ ไม่มี
ที่ผ่านมา คอนเสิร์ต เทย์เลอร์ สวิฟต์ ประเทศสิงคโปร์ คนไทยซื้อตั๋วผีแล้วเข้างานไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ค่าตั๋ว ยังมีค่าเดินทาง ค่าที่พักด้วย
ถ้าประกาศจัดคอนเสิร์ตแล้วยกเลิก นอกจากคืนเงินค่าตั๋วแล้ว ผู้จัดต้องรับผิดชอบค่าที่พักค่าเดินทางด้วยหรือเปล่า นี่เป็นมุมที่เราเสนอให้คุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้น เราพยายามยกระดับความรับผิดชอบของผู้จัดงาน"
-
ปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามา ยังมีอีกหลากหลาย
ภาพรวมการตลาดการจัดคอนเสิร์ตในไทย มีประมาณ 4-5 เจ้า บางค่าย ศิลปินมักผูกขาดกับผู้จัดเดิม ๆ ออกาไนซ์เดิม ๆ
"มีผู้ร้องเรียนว่า 1) เวลาเขาเจอผู้จัดที่แย่ ก็อยากให้ค่ายของศิลปินเปลี่ยนคนจัดงาน เปลี่ยนออกาไนซ์
2) เรื่องการขายสินค้าอุปกรณ์ประกอบคอนเสิร์ต พวกป้ายไฟ แท่งไฟ บางคอนเสิร์ตหรือบางมีตติ้ง ขายแพงมาก แต่วัสดุหรือคุณภาพธรรมดามาก
แม้แฟนคลับบางคนเต็มใจจ่ายเพื่ออุดหนุนศิลปิน แต่ในฐานะผู้บริโภค จำเป็นต้องร้องเรียนมา
ถ้าคุณเป็นศิลปินที่ดี ค่ายที่ดี หรือผู้จัดที่ดี การผลิตของเหล่านี้ ควรขายในราคาที่เป็นธรรม ไม่ควรให้การจัดคอนเสิร์ตของคุณดูเหมือนสนุกสนาน แต่มีความไม่พึงพอใจของผู้บริโภคอยู่
แฟนคลับของศิลปินแต่ละคน เขาผูกพันกับศิลปิน ไม่ได้ผูกพันกับค่าย ไม่ควรอาศัยความยินยอมของผู้บริโภคมาเอาเปรียบในหลาย ๆ เรื่อง
บางคอนเสิร์ตที่ทำไว้ดี มีการยืนยันตัวบุคคล คนซื้อบัตรว่าคนที่เอาบัตรนี้มาใช้ได้ต้องเป็นคนที่ซื้อบัตรนี้จากช่องทางจำหน่ายของบริษัทเท่านั้น ก็จะไม่มีตั๋วผีมาขายต่อ
หรือถ้าจะเปลี่ยนคนดูจะต้องทำยังไง มันมีขั้นตอน ไม่ใช่คุณขายตั๋วแบบฟรีเช็คโอนลอย เอาตั๋วนี้ไปขายใครมาก็ได้ ราคามันจะก็พุ่ง ๆ ๆ "
-
ปัญหาคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศในไทย แต่คนไทยไม่ได้ดู
ประเด็นบัตรคอนเสิร์ตไม่ได้แยกสัญชาติ ก็เหมือนกับคนไทยไปซื้อบัตรคอนเสิร์ตต่างประเทศแล้วบินไปดู เหมือนกัน มันเป็นสากล
"มีผู้ร้องเรียนว่า อยากให้คนไทยเข้าถึงการจัดคอนเสิร์ตในไทย หรือมีการจัดโควต้าสำหรับคนไทย
ทำยังไงให้คุ้มครองสิทธิ์ของสัญชาติคนไทยว่าใครมาจัดบ้านเรา คนไทยต้องได้เข้าถึงบริการก่อน ต้องสร้างมายด์เซ็ตแบบนี้ก่อน
พอคุณไม่จำกัดสิทธิ์ให้คนไทย คนไทยก็ไม่สามารถเข้าถึงตั๋วในราคาปกติได้ เช่น ตั๋วปกติราคา 5000 บาท แต่ไม่มีคนไทยเข้าถึงราคานี้ได้
ถ้ามีข้อมูลเรียกร้องเข้ามา มันก็ไปได้ เราก็จะบอกว่านี่ไง โอกาสที่จะเข้าถึงตั๋วในราคาที่เป็นธรรมมันยาก"
-
ใครมีปัญหาเรื่องบัตรคอนเสิร์ต ร้องเรียนเข้ามาได้ที่สภาฯ
เคสแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ สภาฯจึงเอาข้อมูลของผู้ร้องเรียนมาวิเคราะห์ปัญหา แล้วชงเรื่องนี้ไปทาง สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ที่มีอำนาจกำกับโฆษณา กำกับสัญญา เข้าไปสร้างกติกา ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีมาตรฐานได้
"ใครที่มีปัญหาเรื่องบัตรคอนเสิร์ต ร้องเรียนมาที่สภาองค์กรผู้บริโภค ได้เลย
ถ้าคุณไม่สะดวกเปิดเผยชื่อ เรามีช่องทางแจ้งเบาะแสแบบไม่ต้องเปิดเผยตัวตนด้วย
แจ้งมาว่าบริษัทไหนทำดีไม่ดี ยังไง พฤติกรรมที่เขาทำมีรูปแบบยังไง เราจะได้ออกมาเตือนภัยด้วย
ข้อมูลร้องเรียนของผู้บริโภคมีความหมายที่จะเอาไปทำงานต่อในเชิงนโยบายได้
เราอยากผลักดันให้เกิดโมเดลของผู้จัดที่ดี แล้วเซ็ตเป็นมาตรฐานขึ้นมา แล้วให้ สคบ. วางเกณฑ์ให้ทุกคอนเสิร์ตมีมาตรฐานเดียวกัน"