เที่ยว 'เยาวราช' ให้ได้ฟีล! เปิดเบื้องหลังทางเท้าลายดอกโบตั๋น

เที่ยว 'เยาวราช' ให้ได้ฟีล! เปิดเบื้องหลังทางเท้าลายดอกโบตั๋น

"เยาวราช" สุดคึกคัก รับกระแส "LISA" ล่าสุด กทม.เปิดตัวกระเบื้องทางเท้าลายใหม่ ลาย "ดอกโบตั๋น" ทยอยทำทดแทนลายเกล็ดมังกร ตามนโยบายเดินได้เดินดี 1,000 กิโลเมตร ใน 4 ปี

ตามแผนการพัฒนาทางเดินตามนโยบายเดินได้เดินดี 1,000 กิโลเมตร ใน 4 ปี ของ กรุงเทพมหานคร และปักหมุดหนึ่งในพื้นที่นำร่อง คือ "เยาวราช" นั้น ล่าสุด ได้คิวเผยโฉมทางเท้าโฉมใหม่ เป็นกระเบื้องลายดอกโบตั๋น ที่กำลังทยอยเปลี่ยนจากลายเดิม คือ เกล็ดมังกร โดยหลังจากนี้ พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์จะทยอยปรับเปลี่ยนกระเบื้องปูทางเท้าจากแบบเก่าที่เป็นลายเกล็ดมังกรให้เท้าเป็นลายดอกโบตั๋นทั้งหมด

เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เผยถึง แผนของ กทม. ว่า ไม่ได้ทำแค่การปรับทางเท้า แต่ยังเสริมมิติด้านเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว โดยดึงอัตลักษณ์ย่านและเชื่อมโยงย่านต่าง ๆ เข้าหากัน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการพัฒนา เพื่อที่สุดแล้วผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร

เที่ยว \'เยาวราช\' ให้ได้ฟีล! เปิดเบื้องหลังทางเท้าลายดอกโบตั๋น

สำหรับที่มาของกระเบื้องลายโบตั๋นนั้น พินิจ กาญจนชูศักดิ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ เผยว่า ตนเองได้ลงสำรวจทางเท้าเยาวราช และพบว่า ค่อนข้างเสื่อมโทรม จึงอยากปรับปรุงให้สอดคล้องกับปัจจุบัน และได้ปรึกษากับทางเขตและได้รับความร่วมมือจาก SCG ในการออกแบบ

สาเหตุที่เลือกกระเบื้องเป็นลายดอกโบตั๋น เพื่อให้สอดคล้องกับไชน่าทาวน์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้คนในพื้นที่ และจากนี้ พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ก็จะปรับเปลี่ยนกระเบื้องปูทางเท้าจากแบบเก่าที่เป็นลายเกล็ดมังกรที่ตนเคยทำไว้ ให้ทางเท้าเป็นลายดอกโบตั๋นทั้งหมด

เบื้องหลังกระเบื้องลาย "ดอกโบตั๋น" 

ทั้งนี้ อนุภาพ สถิรพันธุ์ Strategic Marketing Director Housing Product Business ได้อธิบายถึงความร่วมมือในครั้งนี้ ว่า Decaar Landscape by SCG ซึ่งเป็นแบรนด์โซลูชันการปรับภูมิทัศน์ภายนอกในเครือ SCG ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครพัฒนาทางเท้าในโครงการบาทวิถีใหม่ ย่านเยาวราช ภายใต้ชื่อโครงการ “เดินได้เดินดี วิถีเยาวราช”  ปรับปรุงบาทวิถีด้วยกระเบื้องปูพื้นใหม่

"ดอกโบตั๋น" เป็นดอกไม้ ที่มีความสำคัญของคนจีน เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวย ความซื่อสัตย์ ความมีโชคลาภ

เที่ยว \'เยาวราช\' ให้ได้ฟีล! เปิดเบื้องหลังทางเท้าลายดอกโบตั๋น

ลายดอกโบตั๋นบนถนนเยาวราชจึงไม่เพียงเพิ่มความสวยงามและเสน่ห์ให้กับท้องถนนเท่านั้น แต่ยังสร้างแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวใหม่ด้วยทางเดินเท้ามีอัตลักษณ์และเป็นที่น่าจดจำ  ติดตั้งด้วยระบบการติดตั้งมาตรฐาน Universal Design ตอบโจทย์การใช้งานทั้งในแง่ความสวยงามสะท้อนตัวตน มีความความสะดวกสบาย และปลอดภัยต่อการใช้งาน

เดินได้ไม่พอ ต้องเดินดีด้วย

ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 1 กล่าวเสริมว่า ในภาพกว้างได้ดูแลในเรื่องการคมนาคมเชื่อมเขตสัมพันธวงศ์กับย่านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางรัก ดุสิต เพื่อความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรุงเทพมหานคร ที่จะเชื่อมต่อหลาย ๆ พื้นที่ของกรุงเทพฯ ชั้นในเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

เที่ยว \'เยาวราช\' ให้ได้ฟีล! เปิดเบื้องหลังทางเท้าลายดอกโบตั๋น

โดยโฆษกฯ กทม. ร่วมเสริมว่า การปรับปรุงทางเท้าเยาวราช ไม่เพียงชูอัตลักษณ์ให้กับย่านนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้ทุกคนเดินได้และเดินดีไปพร้อมกัน

  • เพราะ "ทางเท้า" คือหนึ่งในเส้นเลือดฝอยที่สูบฉีดไปสู่เส้นเลือดใหญ่ของเมือง

การพัฒนาเส้นเลือดฝอยที่สำคัญข้อหนึ่ง ตามแนวทางของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือการพัฒนาทางเท้า ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เดินได้ เดินดี โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กทม. ได้ปรับปรุงทางเท้าให้ได้มาตรฐานมากขึ้น 785 กิโลเมตร ไม่นับรวมการแก้ไขเป็นจุด ๆ ตามข้อร้องเรียนในระบบ Traffy Fondue เพราะเมืองที่เดินได้ จะทำให้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคนจะใช้ชีวิตเหนื่อยน้อยลง

เที่ยว \'เยาวราช\' ให้ได้ฟีล! เปิดเบื้องหลังทางเท้าลายดอกโบตั๋น

  • นโยบายปรับปรุงทางเท้าเยาวราช สู่การโปรยทางเดินด้วยกระเบื้องลายดอกโบตั๋น

ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ เป็นย่านไชน่าทาวน์ที่สะท้อนสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างชาวไทยและชาวจีนที่มีมาอย่างยาวนาน กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ SCG จึงนำดอกโบตั๋นซึ่งเป็นดอกไม้สำคัญของชาวจีน มาสร้างอัตลักษณ์ในการปรับปรุงทางเท้าในครั้งนี้

และไม่เพียงแค่เป็นการปรับปรุงทางเดินเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่นี้ ด้วยขนาดทางเดินเท้าที่กว้างขึ้น ก่อสร้างด้วยมาตรฐานใหม่ (คอนกรีตเสริมเหล็ก) และการออกแบบให้เป็น Universal Design ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ใช้งาน ทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงคนพิการ เพื่อให้ผู้คนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นอีกด้วย

เที่ยว \'เยาวราช\' ให้ได้ฟีล! เปิดเบื้องหลังทางเท้าลายดอกโบตั๋น

  • ลงลึกถึงกลีบโบตั๋น ความอัศจรรย์บนกระเบื้องขนาด 40 x 40 x 3.5 ซม. 

กระเบื้องปูทางเท้าลวดลายเป็นดอกโบตั๋นนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามเท่านั้น แต่ในยังแฝงนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาด้วย  นั่นคือ เทคโนโลยีการพ่นผิว (Shot Blast) ในการสร้างลวดลาย ใช้หลักการเหวี่ยงจากใบพัด หรือ Turbine ให้ผงโลหะกระทบต่อผิวกระเบื้อง เป็นกระบวนการเปิดผิวหน้าชิ้นงาน พื้นผิวส่วนที่ถูกเปิดผิวหน้าขึ้นจะเห็นเม็ดหินที่เป็นส่วนผสมของชั้นสีด้านใน สร้างให้เกิดลวดลายที่คงทนกว่าการพ่นสีทั่วไป และทำให้มีผิวที่หยาบขึ้น ทำให้ไม่ลื่น ทำความสะอาดง่าย เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทางทุกคน

เที่ยว \'เยาวราช\' ให้ได้ฟีล! เปิดเบื้องหลังทางเท้าลายดอกโบตั๋น

  • กทม. ไม่ได้เพิ่งปรับปรุงทางเท้าเยาวราชเพราะกระแส MV ฮิตของลิซ่า

สำหรับงานปรับปรุงผิวจราจรและทางเท้าถนนเยาวราช ช่วงวงเวียนโอเดียนถึงคลองโอ่งอ่าง พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่มกราคม 2567 ที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนกันยายน 2567 ทั้งนี้ ที่การก่อสร้างค่อนข้างใช้ระยะเวลาดำเนินการมาก เนื่องจากต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการวางท่อประปาและการวางท่อร้อยสายสื่อสารด้วย โดย กทม. ใช้วิธีการปรับปรุงเป็นช่วง ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้งานในพื้นที่ โดยเฉพาะกิจกรรมค้าขายที่มีผู้ใช้งานอย่างหนาแน่นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งมีการดำเนินการปรับปรุงทางเท้าในเส้นทางดังนี้

1. ถนนเยาวราช ช่วงจากวงเวียนโอเดียน ถึงคลองโอ่งอ่าง (กำลังดำเนินการ)
2. ถนนจักรวรรดิ์ ถนนเจริญกรุงถึงสะพานพระปกเกล้า (แล้วเสร็จ 90%)
3. ถนนทรงวาด ช่วงถนนราชวงศ์ถึงถนนเจริญกรุง (รอประมูล)
4. ถนนตรีมิตร (แล้วเสร็จ 100%)
5. ถนนมังกร (แล้วเสร็จ 100%)
6. ถนนผดุงด้าว (แล้วเสร็จ 100%)
7. ถนนเจริญกรุง จากสะพานคลองผดุงถึงแยกหมอมี (รอเซ็นสัญญา)

"อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณลิซ่า ที่ปลุกเยาวราชให้ลุกเป็นไฟไปทั่วโลก กทม. เตรียมความพร้อมในทุกมิติเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามา และเชื่อว่าทางเท้าปรับปรุงใหม่นี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตและทำมาค้าขายอยู่ในเยาวราช" โฆษก กทม. กล่าว