11 'ซอฟต์พาวเวอร์' ไทย ประกาศ 'เป้าหมาย' ต่อไป ส่งท้าย 'THACCA SPLASH'
งาน 'THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024' ได้จบลงไปแล้ว แต่ภารกิจของ 11 'ซอฟต์พาวเวอร์' ไทย ยังเดินหน้าต่อ จะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกัน
จบลงไปแล้วกับงาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 ที่เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ครั้งแรกของการจัดงานของ 11 ซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อปักหมุดเดินหน้ายกระดับรายได้ให้กับประชาชน
วันสุดท้ายของการจัดงาน 30 มิถุนายน 2567 ในช่วงเย็น ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ซอฟต์พาวเวอร์ ทั้ง 11 ด้าน ได้มารวมตัวกัน เพื่อประกาศถึงภารกิจต่อไป ในหัวข้อ Closing Ceremony & THACCA Declaration
นำทีมโดย นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่มีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เราทำงานมาตลอด 9 เดือน 17 วัน
"มีการจัดงาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 เพื่อบอกทุกคนว่า ซอฟต์พาวเวอร์ คือเครื่องมือสำคัญ ที่จะมาผลักดันประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างยิ่งใหญ่ ในวันนี้ประธานคณะอนุกรรมการในแต่ละอุตสาหกรรม จะมาบอกว่า หลังจากจบงานนี้แล้วเราจะทำอะไรกัน"
1 ด้านหนังสือ : จรัญ หอมเทียนทอง
"โครงการที่เราทำอยู่ คือ การสร้างนักเขียน เปิดอบรมรอบแรกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต่อจากนี้ไป เมื่อรัฐบาลให้การสนับสนุนด้วยงบประมาณปี 68 เราจะมีโครงการแปลหนังสือไทยไปต่างประเทศ
ได้รับเกียรติจาก ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์ เป็นประธานโครงการ เราจะส่งวรรณกรรมไทยไปต่างประเทศมากขึ้น มีโครงการสร้างนักแปล สร้างนักวาดภาพประกอบ
อาทิตย์ที่แล้วเราไปอบรมนักเขียนที่บุรีรัมย์ 100 คน สอบผ่านได้ใบรับรอง 98 คน ตกไป 2 คน แสดงว่าเป็นสถาบันวิชาชีพที่มีมาตรฐาน
ในงานหนังสือเดือนตุลาคมนี้จะมีงบสนับสนุนจากรัฐบาล ทักก้า คือการทำสินค้า Local ให้เลอค่า ถ้าโครงการนี้สำเร็จ เราจะหลุดพ้นจากคำว่าประเทศไทยมีคนอ่านหนังสือน้อยที่สุดในอาเชียน"
2 ด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชั่น : ม.ร.ว.เฉลิมชาตรียุคล
"การผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชั่น ตั้งแต่การผลิตบทไปจนถึงการประชาสัมพันธ์และฉาย ในทุกขั้นตอนต้องการงบประมาณสนับสนุน อย่างน้อย 10-20 % ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 5-10 % ของอุตสาหกรรมซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชั่น
ภาพยนตร์ไทยเราผลิตกัน 60 เรื่องต่อปี ซีรีส์ 200 กว่าเรื่องต่อปี ต้องสนับสนุนในหลักที่สามารถจะดันงานที่ดีออกมาให้ได้ งานเทศกาลภาพยนตร์ต่อไปที่เราจะไปคือ นิวยอร์ค
การทำ พ.ร.บ. ภาพยนตร์ ที่ทุกคนต้องการมากที่สุด กำลังอยู่ในกระบวนการ ใกล้จะยื่นรัฐสภาแล้ว เราจะมีสภาภาพยนตร์ มีการฝึกฝน 10 สายอาชีพ ใน OFOS
มี 9 มาตรการสิทธิประโยชน์ที่กำลังผลักดันอยู่ เพื่อให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น มีมาตรการลดหย่อนให้กับสปอนเซอร์ มีมาตรการกลุ่มคนทำงาน กลุ่มผู้ลงทุน กลุ่มผู้ฉาย กลุ่มผู้ชม
เรามีอนุกรรมการ 40 ท่าน ต้องขอบคุณทุก ๆ ตำแหน่ง ทุก ๆ งาน เป็นการรวมตัวที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว ที่ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม มารวมตัวกันเพื่อที่จะผลักดันตรงนี้ไปข้างหน้า"
3 ด้านอาหาร : เชฟชุมพล แจ้งไพร
"9 เดือนที่ผ่านมา ทุกคนทำงานกันหนักมาก เรามีโครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย และโครงการร้านอาหารเชฟชุมพล 100 ร้าน เราต้องการพัฒนาคนในอุตสาหกรรมอาหาร ในปีนี้ทั้งหมด 6,500 คน ปีหน้าเพิ่มเป็น 15,000 คน
ในงานนี้เปิดรับสมัคร 3 วันมี 2,000-3,000 คนแล้ว จะเริ่มเอาคุณครูอาจารย์อาชีวะจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมา Train ที่กรุงเทพฯปลายเดือนหน้านี้ พร้อมกับ 130 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
หลักสูตรออนไลน์เริ่มเรียนได้ตั้งแต่ 1 สิงหาคม ตลอด 24 ชั่วโมง ยังมีการเรียนรู้อีกหลายสิบหลักสูตรที่จะตามเข้ามา
การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เรื่องอาหารเกี่ยวข้องกับทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน จะทำเป็นโปรดักส์ได้ยังไง บางชุมชนมีสินค้าที่ดี จะนำมาขายอย่างไร
คนไทยทำอาหารเก่งมาก ขาดอย่างเดียวคือโฆษณาประชาสัมพันธ์ ดังนั้นขอความร่วมมือสื่อทุก ๆ ช่องเปิดโอกาสให้พี่น้องชุมชนขายได้ โดยเฉพาะสินค้าอาหารโอทอปที่มีคุณภาพ
Cr. Kanok Shokjaratkul
ในปีหน้าที่ตั้งเป้าไว้คือพัฒนาอาหาร Fusion Food และ Medical food ประเทศไทยมีศักยภาพมาก ปลูกสมุนไพร ต่อไปไม่ใช่ GAP แล้ว ต้องเป็น GAPP ในระดับใช้ทำยาได้
การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารส่งออก ยังต้องดำเนินการต่อไป อาหารไทยเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน ขอให้มอง แล้วคิดว่าจะทำอะไร เรามาช่วยกันครับ"
4 ด้านออกแบบ : ดวงฤทธิ์ บุนนาค
"วันที่ 1กรกฎานี้ เราจะเริ่มโครงการ FRONT โปรโมทนักออกแบบไทย 100 คนออกไปสู่สายตาโลก สัปดาห์หน้าจะเริ่มจัดซื้อจัดจ้างผู้ทำนิตยสารเพื่อเผยแพร่หนังสือ FRONT 100
ต้นปีหน้าเราจะเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก ลอนดอน ปารีส นิวยอร์ค โตเกียว ไปพบกับชุมชนดีไซเนอร์ที่โน่น แต่ละเมืองจะมีชุมชนของนักออกแบบ นักออกแบบไทย 100 คนนี้ก็จะเป็นที่รู้จักของทั่วโลก
ในปีหน้าเราจะเริ่มโครงการ FRONT รอบที่สอง คัดต่ออีก 200 คน เพื่อโปรโมทต่อไป ให้ต่อเนื่องไปทุก ๆ ปี ภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ ที่งบปี 68 ได้รับการอนุมัติก็จะมีหลายโครงการ เช่น โครงการออกแบบ FONT ตัวหนังสืออัตลักษณ์ของชาติ 10 แบบ
มีการเปลี่ยนทรัพย์สินทางปัญญาให้กลายเป็นสินทรัพย์ เปลี่ยน IP เป็นสินทรัพย์ จะเป็นแบบไหน จะชัดเจนขึ้นในปีหน้า
การขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นหัวใจของงานออกแบบจะสามารถทำได้โดยง่าย ลดขั้นตอน ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ นักออกแบบไทยที่เคยจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้วยุ่งยาก ต่อไปนี้ จดก่อน ใครค้าน มาค้านทีหลัง
ปีหน้าเราจะผลักดันเรื่อง Design Tax ให้เรียบร้อย ผู้ที่มาจ้างดีไซเนอร์ไทยจะได้ลดภาษี ทำให้การจัดจ้างอยู่ในระบบภาษีมากขึ้นเป็นผลดีกับทุกฝ่าย"
5 ด้านท่องเที่ยว : มาริสา สุโกศล หนุนภักดี
"โจทย์ใหญ่คือ ทำยังไงให้นักท่องเที่ยวมาถึงประเทศไทยแล้ว กระจายรายได้สู่จังหวัดที่น่าเที่ยวอื่น ๆ เมืองรองอื่น ๆ ไม่กระจุกตัวอยู่ใน 8 จังหวัดหลัก ๆ ต้องมีความร่วมมือจากทุกคนในจังหวัดไม่ใช่แค่ภาคเอกชนอย่างเดียว ภาครัฐในแต่ละจังหวัดด้วย
เราทำท่องเที่ยวไม่ต้องเป็นเจ้าใหญ่ก็ได้ ทำโฮมสเตย์ให้ถูกกฎหมาย มีมาตรฐาน และยั่งยืน ก็สามารถหารายได้จากนักท่องเที่ยวได้
เราจะพัฒนาหลักสูตรท่องเที่ยวเพื่อให้ทุกคนเป็นผู้ประกอบการ รองรับนักท่องเที่ยวได้ มีการสอนการสร้างองค์ความรู้เรื่องการตลาด การเป็นเจ้าบ้านที่ดี การบริหารจัดการในธุรกิจ
โครงการที่เราทำไปแล้วคือ DATA นักท่องเที่ยว Tracking นักท่องเที่ยว เวลามาสนามบินต่าง ๆ แล้วเขาไปที่ไหนต่อ เราจะได้รู้ว่าเขานิยมไปที่ไหน ในอนาคตจะได้เชิญชวนนักลงทุน
อยากให้มองว่าท่องเที่ยวเป็นยานพาหนะใหญ่ที่จะพาอีก 10 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สู่ตลาดโลกไปด้วยกัน ชวนทั้ง 10 สาขามาร่วมกันสร้างสรรค์แหล่งท่องเที่ยวให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
เรามีโครงการ Be My Guest อยากให้ 10 สาขาเชิญชวน global influencer มาเที่ยวเมืองไทย มาช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของเรา"
6 ด้านดนตรี : วิเชียร ฤกษ์ไพศาล
"โชคดีมากที่ประเทศไทยมีศิลปินดังอย่างลิซ่า แต่น่าเสียดายที่ผลพวงนั้นไม่ได้มาจากประเทศไทย มันยิ่งตอกย้ำว่าเราช้ามาก
ลิซ่าประกาศผลงานวันเดียว แต่เป็น 20 กว่าปีที่เขานำหน้าเราไปนานแล้ว 20 กว่าปีก่อน ศิลปินเกาหลีมาเมืองไทยไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครสนใจ แต่ทุกวันนี้ภาษาวัยรุ่นว่า โคตรดัง
วันนี้เราเพิ่งเริ่มต้น อุตสาหกรรมเพลง เพิ่งจะคุยกันผนึกกำลังกันทำสิ่งดี ๆ ร่วมกัน เป็นครั้งแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ กระบวนการที่เราจะทำต่อไปคือ คัดเพชร แล้วพัฒนาต่อยอดเขา
เรามีโครงการ Talant Every Where ให้โอกาสเด็กไทยเรียนรู้พร้อม ๆ กับที่เราพัฒนาคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว เรากำลังครีเอทโครงการศิลปิน 101
พื้นฐานของการเป็นศิลปินไม่ใช่แค่การมาเล่นดนตรี มีกระบวนการ Camp Onsite ในปีหน้า มี One Stop Service ทำให้ธุรกิจให้เดินหน้า คล่องตัว กฎหมาย ภาษี ลิขสิทธิ์ทางปัญญา อะไรที่ไม่สนับสนุน เราจะช่วยกันพัฒนาให้มันดีขึ้น
Cr. Kanok Shokjaratkul
เราอยู่ในขั้นตอนคัดเลือกศิลปินส่งออกไปยังเฟสติวัลเมืองนอก คาดว่า 31 กรกฎานี้ เราจะมีศิลปินที่ส่งออกไป มีการดึงคนจากเมืองนอกมาดูศิลปินเพื่อนำพาไปยังเวทีต่างประเทศ
เราได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของสาวน้อยของเราแล้วที่วันเดียวทำให้เยาวราชแตก เมื่อวานนี้วงระเบียบวาทะศิลป์ก็ทำให้งานที่นี่แตกเหมือนกัน เราทำได้แน่นอน เราจะมี 10 ลิซ่าให้ได้"
7 ด้านเกม : สิทธิชัย เทพไพฑูรย์
"มูลค่าอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยอยู่ที่ 40,000 ล้านบาทต่อปี เป็นของคนไทยแค่ 2 % เรามีมหาวิทยาลัยที่สอนด้านเกม 18 มหาวิทยาลัย 22 หลักสูตร
เราคว้าเอเชียนเกมส์อีสปอร์ตได้ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง ศักยภาพของอุตสาหกรรมเกมมันซ่อนอยู่มาก ๆ ในเมืองไทย เรามีบุคลากรที่พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมเกม
สิ่งที่จะทำต่อไป คือ หางบประมาณมาสนับสนุนให้เด็กเล็ก ๆ มีโอกาสได้ทำเกม คาดว่านักศึกษาที่จบไปแล้วไม่ได้ทำเกม จะหันกลับมาทำเกมมากขึ้น
Cr. Kanok Shokjaratkul
ถ้าเรามีผลงานเกมมากขึ้นในเมืองไทย รายได้ก็จะตกอยู่ในประเทศไทย ทำยังไงให้การเล่นเกมของเขาเปลี่ยนเป็นรายได้ เราจะจัดการแข่งขันอีสปอร์ตระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับประเทศ เพื่อสร้างตลาด สร้างนักกีฬาที่มีความสามารถให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย
1 เราจะผลักดันให้มีเกมมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนรายได้ให้อุตสาหกรรมเกมในประเทศไทย 2 จัดการแข่งขัน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแข่งขันอีสปอร์ตของ South East Asia ให้สำเร็จ
ทุกวันนี้มีการจัดแข่งขันอีสปอร์ตในประเทศไทยค่อนข้างมาก หลายแห่งอิมพอร์ตออกาไนเซอร์เข้ามา แล้วจ้างงานคนไทยน้อยมาก ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยเราก็จะสูญเสียรายได้ตรงนี้ไป 3 ร่วมกับอีก 10 สาขาสามารถนำเกมไปใช้ได้หลายเรื่องเลยครับ"
8 เฟสติวัล : ชฎาทิพ จูตระกูล
"พวกเราทำงานกันมา 9 เดือนเศษแล้ว เป็นงานที่ไม่ง่ายเลย แต่สำเร็จได้ถ้าพวกเราร่วมมือกัน มีเป้าหมายเดียวกัน กลุ่มเฟสติวัลไม่ได้มาจัดอีเวนต์ ประเทศไทยมีจัดงานเทศกาลประเพณีทั้ง 77 จังหวัด 365 วัน รวมกัน 10,000 เทศกาลอยู่แล้ว
หน้าที่ของเราคือ ทำให้งานเหล่านั้นเพิ่มมูลค่า โด่งดัง รับรู้ไปทั่วโลก เพื่อให้คนทั้งโลกอยากมาประเทศไทย และรู้ว่างานประเพณีแต่ละสัปดาห์แต่ละเดือนมีอะไรบ้าง
สมัยก่อนต่างคนต่างทำ ทำกันเอง ดูกันเอง ทุกเทศกาลและประเพณีควรถูกรวบรวมแล้วพูดเป็นเรื่องเดียวกันสื่อสารออกไป
ปลายปีที่แล้ว เราครีเอทงาน Thailand Winter Festival รวบรวมทุกจังหวัดมีงานอะไรบ้างในไตรมาสนั้น มาสื่อสารในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้คนรับรู้
เราได้ทดลองจัดงานสงกรานต์ในเดือนเมษาที่ผ่านมาในรูปแบบใหม่ แทนที่จัดแตกกระจายไปทั่วประเทศ เอามาจัดรวมกันในกรุงเทพมหานครแล้วสื่อสารออกไป ทำให้นักท่องเที่ยวได้ไปท่องเที่ยวจังหวัดอื่น
เราจัดกลุ่มใหม่เป็น 4 ประเภท 1 งานที่เกิดขึ้นทั่วประเทศพร้อมกัน ได้แก่ สงกรานต์ ลอยกระทง เคาท์ดาวน์ปีใหม่ 2 คัดเลือกงานจาก 4 ภาค มาเป็น Signature Thailand ท้ายสุด จัด Festival City เชียงใหม่จะเป็นเมืองแรก ทุกจังหวัดต้องมาแข่งขันกันคัดเลือกเป็น Festival City แล้วจังหวัดนั้นในเดือนนั้นต้องอัดแน่นไปด้วยกิจกรรม
Cr. Kanok Shokjaratkul
สื่อสารไปทั่วโลกให้รู้ว่าถ้ามาประเทศไทยเดือนไหนควรไปจังหวัดอะไร แต่ละจังหวัดก็จะมีรายได้ 365 วัน
ในด้านองค์ความรู้ เราได้รวบรวมความรู้จากทุกกกระทรวงมาเป็นสารระบบ ทำเป็น Storytelling ออกไป
จัด Fastival academy ร่วมกับ สสปน. เป็นหลักสูตรสอนให้คนเป็นออกาไนเซอร์ที่ดี ให้มี Creativity มีการต่อยอด จัดหลักสูตรให้มีคนเป็น KOL เล่าเรื่องไปทั่วโลกได้
การจัดองค์ความรู้และการเรียนการสอนจะทำให้คนทั้ง 77 จังหวัดมีความเข้าใจที่จะจัดงานประเพณีท้องถิ่นตัวเองให้ดีที่สุด ประสบความสำเร็จ เกิดรายได้แก่ชุมชนและท้องถิ่น
เราหวังว่าประเทศไทยจะติดหนึ่งในสิบของสุดยอดประเทศเฟสติวัลโลก ความเป็นไทยจะชนะใจคนทั้งโลก เราจะเป็น Tourism Year มีเป้าหมาย 40 ล้านคนในปีหน้า"
9 ด้านศิลปะ : เสริมคุณ คุณาวงศ์
"งานศิลปะไทยเรามีรากฐานอารยธรรมที่ยาวนาน เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมประเพณี ดำรงคุณค่าความเป็นไทย และอัตลักษณ์ไทย
ที่ผ่านมาสาขาศิลปะอาจจะถูกลืม ปัจจุบัน ซอฟต์พาวเวอร์ทำให้เห็นความสำคัญของงานศิลปะ จากนี้ไปเราจะมีศิลปะที่เป็น Fine Art และ Perfoemance Art
มีโครงการ Thailand Arts Move ปรากฎเป็นรูปธรรรมเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดของวงการศิลปะไว้ด้วยกัน ผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่สนใจศิลปะไทย สามารถเซิร์ชหาศิลปิน แกลอรี่ โลจิสติก อีเวนต์ศิลปะ ได้แบบเรียลไทม์
Cr. Kanok Shokjaratkul
2 เราจะมีแหล่งเรียนรู้ศิลปะไทย จัดแสดงผลงาน 1,000 ชิ้นในหอศิลป์แห่งใหม่ที่ถนนรัชดาภิเษก ในพื้นที่ 15,000 ตารางเมตร ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยเคยทำหอศิลป์มา มูลค่าศิลปะที่แสดงราว 5,000 ล้าน
ต้องขอบคุณนักสะสม สถาบันรัฐ และเอกชน ที่ให้ยืมงานศิลปะ มาร่วมแสดงความเป็นไทยให้หอศิลป์แห่งนี้ เป็นห้องรับแขก เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ที่ปารีส และ The Met ที่นิวยอร์ค
3 โครงการอบรมพัฒนาคน ใน OFOS มี 5 โครงการ พัฒนาครูสอนศิลปะทั่วประเทศ พัฒนาหลักสูตรศิลปะชั้นประถมและมัธยม มีการจัดตั้งสภาศิลปะ ส่งเสริมความงอกงามด้านศิลปะ ปัญญา สุนทรียภาพ และความเป็นมนุษย์ในทุกระดับ เพราะศิลปะเป็นเรื่องที่ชูใจมนุษยชาติ"
10 ด้านแฟชั่น : อัจฉรา อัมพุช
"ซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่น เแยกเป็น 4 ด้าน คือ เครื่องแต่งกาย, Jewelry, Beauty, Craft (สินค้าหัตถกรรม) แต่ละอุตสาหกรรมมีการวางแผนและกลยุทธ์ที่ไม่เหมือนกัน
อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายของเราถดถอยไปเยอะมาก ถูกจีน เวียดนาม ตีประเทศไทย เราได้เข้าไปคุยกับสมาพันธ์สมาคมสิ่งทอ ว่าเราจะทำแบบเดิมต่อไปไม่ได้ เราต้องคิดพัฒนาเสริมทักษะให้การผลิตของเรามีคุณภาพที่ดีขึ้น ไม่ควรไปแข่งขันแบบแมสกับจีนหรือเวียดนาม เราสามารถผลิตคุณภาพที่ดี ๆ ให้กับแบรนด์ต่างประเทศที่ต้องการแรงงานคุณภาพได้ เราควรสร้างแบรนด์ของเราเองให้ติดอันดับให้ได้
Cr. Kanok Shokjaratkul
Beauty เรามีของดีมาก ๆ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการของเราเยอะแยะเต็มไปหมด มีโปรดักส์ได้รับความนิยมทั่วโลก เราเป็นประเทศเกษตรกรรม มี Herb เป็นตัวหลัก เราควรรวมกลุ่มกันผลิตให้เป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย สวยแบบไทย
Jewelry เราผลิตเป็นระดับต้น ๆ ของโลก เราควรสร้างแบรนด์ของตัวเอง
Cr. Kanok Shokjaratkul
Craft ทำให้เรามองเห็นวัฒนธรรม รากเหง้าของเรา เห็นศิลปะของเรา เราต้องสานต่อทำให้ออกมาเป็น New Luxury ให้ได้ โดยการฝึก เสริมทักษะ เชิดชูช่างฝีมือของเรา ต้องให้เครดิตให้เขาภูมิใจมีเกียรติที่จะผลิตสินค้าเชิดหน้าชูตาให้กับประเทศไทย
หัตถกรรมไทย ฝีมือคนไทย เย็บ ปัก ถัก ทอ จักสาน เก่งมาก ๆ ควรไปในทาง Luxury เดี๋ยวนี้แบรนด์เนมไฮเอนด์หันมาทำคราฟต์มากขึ้น
1 เราต้องสร้างคนของเรา เสริมหลักสูตรตั้งแต่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ให้ตรงเป้าหมาย ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนได้ กับ OFOS เช่น หลักสูตรสั้น ๆ ที่ทำให้เย็บเป็น ถักเป็น ปฏิบัติได้จริง
2 Communication กับ Collaboration เราอาจติดต่อเซเลบริตี้แล้วผูกกับแฟชั่นของเราแล้วทำพีอาร์ ส่งเสริมทุกอย่างที่อยู่ในกระแส แฟชั่น คือกระแส คืออารมณ์ เราไปร่วมกับ 10 สาขา ทำให้มันเติบโตขึ้น
Cr. Kanok Shokjaratkul
3 เราคิดทำเทรดแฟร์ระดับโลกในประเทศไทย อยากคุยกับ DAPP ว่าเราจะทำแฟชั่นแฟร์ในระดับเอเชียได้ไหม ทำให้ยิ่งใหญ่จริง ๆ ประกาศว่าเราเป็นประเทศที่มุ่งเน้นไปทางแฟชั่นแล้ว
นี่เป็นกลยุทธ์และเป้าหมายที่อยากทำมาก ๆ ในอนาคต ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมถ้าเราทำตั้งแต่วันนี้แล้วได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ"
11 ด้านกีฬา : พิมล ศรีวิกรม์
"ซอฟต์พาวเวอร์กีฬา หยิบยกมวยไทยขึ้นมาเป็นตัวชูโรง เพราะ 1 เป็นวัฒนธรรมของเรา 2 เป็นมรดกของเรา 3 มวยไทยมีชื่อประเทศอยู่ในชื่อกีฬา
ผมว่ามีกีฬาเดียวที่เป็นอย่างนั้น อย่างเทควันโด้ คาราเต้ จากประเทศไหนไม่รู้ แต่พอบอก มวยไทย ก็ไม่ต้องเถียงแล้ว ทุกวันนี้มวยไทยโด่งดังไปทั่วโลก ภาครัฐเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น
ประเทศอังกฤษมีประชากรเท่า ๆ กับของเรา 70 ล้านคน มีขนาดของประเทศใกล้ ๆ ประเทศไทย แต่มีค่ายมวยไทยถึง 4,000-5,000 ค่าย นี่คือความอลังการ ความโด่งดังของมวยไทยของเรา
Cr. Kanok Shokjaratkul
ทั่วโลกมีการขึ้นทะเบียนค่ายมวยกับสมาพันธ์กีฬามวยไทยโลก 100,000 กว่าค่าย ยังมีอีกหลายค่ายที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน เยอะมาก ดังมาก
เราต้องใช้ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ โดยการต่อยอด การสร้างบุคลากรทางมวย นักมวย ครูมวย โปรโมเตอร์มวย ผู้ตัดสินมวย ผู้ผลิตสินค้ามวยส่งออก เราอยากผลักดันให้มีผู้ที่เข้าถึงมวยในเรื่องต่าง ๆ กิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับมวยให้มากขึ้น
เรามีโรงเรียนมวย ค่ายมวยทั่วประเทศ เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเรียนมวยผ่านโครงการ OFOS ให้เรียนฟรี ในทุก ๆ จังหวัด ทั้ง 70 กว่าจังหวัด
Cr. Kanok Shokjaratkul
สินค้าที่เกี่ยวกับมวย กางเกงมวย ตัวละ 2,000 บาท ถ้ารุ่นเดียวกับบัวขาว 2,500 สิ่งเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประเทศที่เจริญแล้วมีกีฬาของเขา เช่น เบสบอล บาสเก็ตบอล ฟุตบอล มีคนบินไปดู ไปซื้อสินค้า สร้างรายได้เข้าประเทศเขา
เราต้องผลักดันมวยไทยให้เป็นกีฬาที่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวไทย สมัยก่อนเวทีเล็ก ๆ ต่อยมวยได้ 1000-2000 บาท เดี๋ยวนี้ต่อยมวยได้เงิน 5-10 ล้าน
เป็นโอกาสให้กับพี่น้องคนไทยที่สนใจจะเดินสายนี้ หรือแม้แต่การส่งออกครูมวย เงินเดือน 80,000-120,000 บาท เราอยากจะส่งเสริม และกำลังดำเนินการอยู่ เราจะดังขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นที่รู้จักทั่วโลกมากขึ้น"
ปิดท้ายด้วย นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวสรุปสิ่งที่ทุกคนทำออกมาได้เป็น ปฏิญญา 5 ประการ คือ
1 ซอฟต์พาวเวอร์คือยุทธศาสตร์สำคัญ เราทำซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเป็นเครื่องมือเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
2 ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ต้องลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทุกคนต้องได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ การฝึกฝนทักษะฝีมือระดับสูง หรือความคิดสร้างสรรค์จะทำให้เกิดการพัฒนา จะมีคน 20 ล้านคนได้รับประโยชน์นี้
Cr. Kanok Shokjaratkul
3 การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ทำให้มีการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการครั้งใหญ่ บางส่วนรวมศูนย์ บางส่วนกระจายอำนาจ เช่น รวมศูนย์กำหนดงบประมาณทำตามแผนยุทธศาสตร์ มีการตั้งสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยออกเป็นพ.ร.บ.ให้เสร็จสิ้นกลางปี 2568
ด้านกระจายอำนาจ ให้จังหวัดและท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ที่ประสานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์จังหวัดทุกจังหวัด มีหน่วยงานส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ TCDC ทุกจังหวัด
Cr. Kanok Shokjaratkul
4 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวก ปรับปรุงกฎหมาย พัฒนาระบบนิเวศ จัดตั้งกองทุน
จัดตั้ง One Stop Service ให้ภาคเอกชนมีบทบาทขับเคลื่อน มีการจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมของซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ เช่น สภาภาพยนตร์, สภาดนตรี, สภาศิลปะ, สถาบันหนังสือแห่งชาติ, สถาบันอาหาร, สถาบันแฟชั่น เป็นต้น
5 เราจะทำให้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นเสน่ห์ของคนไทยไปสู่ตลาดระดับโลก ผ่านการทูตเชิงวัฒนธรรม ขับเคลื่อนโดยท่านเอกอัครราชทูต ท่านทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งเสริมความร่วมมือกับมิตรประเทศ ประสานความสามารถขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในเวทีโลกด้วยกัน
Cr. Kanok Shokjaratkul
การจัดงานนี้ถือเป็นงานระดับนานาชาติ เราจะจัดงานซอฟต์พาวเวอร์ต่อเนื่องกันไปทุกปี
เราหวังว่าแสงแห่งความหวังที่ได้เริ่มต้นใน 3 วันนี้จะนำพาให้เราได้มีแสงสว่างไปถึงชีวิตของคนไทยทุกคน ที่ต้องการความหวังในทุกถิ่นทั่วไทย และเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้กับประเทศไทย
เรากำลังทำเรื่องที่ยากที่สุด อาจจะไม่เคยมีใครทำมาก่อน ในประเทศนี้ เราต้องช่วยกันขับเคลื่อน ไม่ใช่แค่ พวกเราทั้ง 12 คนบนเวที เราจะต้องช่วยกันทั้งสังคม ทุกอย่างที่เริ่มต้นใหม่อาจมีข้อบกพร่อง เราพร้อมปรับปรุงแก้ไข เรากำลังทำงานที่ยากและทะเยอทะยานที่สุด และจุดเริ่มต้นคือ วันนี้"