‘คมทวน-โย่งเชิญยิ้ม-ครูโจ้’ ได้เป็น 'ศิลปินแห่งชาติ' ปี 66
ประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ประจำปี 2566 ในปีนี้เข้มข้นมาก เพราะคณะกรรมการใช้เวลาพิจารณากันยาวนานกว่าทุกปี
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แถลงข่าวผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2566 ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม
ในปีนี้มีบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวน 12 ราย ดังนี้
-
สาขาทัศนศิลป์
1 ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล (สื่อผสม)
2 นางวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล (สถาปัตยกรรมภายใน)
3 ร้อยตรี ทวี บูรณเขตต์ (ประณีตศิลป์-เครื่องประกอบฉาก)
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
สาขาวรรณศิลป์
1 นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร (คมทวน คันธนู)
2 นายวศิน อินทสระ
-
สาขาศิลปะการแสดง
1 นายสมบัติ แก้วสุจริต (นาฏศิลป์ไทย-โขน ละคร)
2 นายไชยยะ ทางมีศรี (ดนตรีไทย)
3 นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา (โย่ง เชิญยิ้ม) (การแสดงพื้นบ้าน-เพลงฉ่อย)
4 จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร (นักร้องเพลงไทยสากล-ลูกทุ่ง)
5 นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา (ครูโจ้) (นาฏศิลป์สากล)
6 รองศาสตราจารย์ บรรจง โกศลวัฒน์ (ภาพยนตร์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับสวัสดิการ ค่าตอบแทนรายเดือน ๆ ละ 25,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่
"ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกา เงินช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วย กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศล รายละ 20,000 บาท เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงาน รายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2566 ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ ในวันและเวลา ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และจัดนิทรรศการเผยแพร่ประวัติศิลปินแห่งชาติ ต่อไป"
โครงการ ศิลปินแห่งชาติ เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2517 มีศิลปินแห่งชาติ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2528-2565 แล้วจำนวน 355 คน และในปี 2566 จำนวน 12 คน รวมทั้งสิ้น 367 คน มีศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตไปแล้ว 183 คน ยังมีชีวิตอยู่ 184 คน