เจาะลึกผลรางวัล ‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส’ ประจำปี 2024
ไม่พลิกโผ! The Room Next Door ของผู้กำกับ Pedro Almodóvar คว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ประจำปี 2024 ท่ามกลางความเห็นชอบแทบจะเป็นเอกฉันท์ เจาะลึกผลรางวัลอื่น ๆ จาก ‘กัลปพฤกษ์’ คอลัมนิสต์ประจำเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของ ‘จุดประกาย’ ได้ที่นี่
หลังจากที่นักแสดงหญิงฝรั่งเศส Isabelle Huppert ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ครั้งที่ 81 ประจำปี 2024 ร่วมกับคณะกรรมการฯ ได้แก่ James Gray, Andrew Haigh, Agnieszka Holland, Kleber Mendonça Filho, Abderrahmane Sissako, Giuseppe Tornatore, Julia von Heinz และ Zhang Ziyi ร่วมกันประกาศผลรางวัลต่าง ๆ สำหรับหนังสายประกวดหลัก Venezia 81 เมื่อค่ำคืนของวันที่ 7 กันยายน 2024 โผรางวัลที่ออกมา ก็นับว่าใกล้เคียงกันกับกลุ่มหนังที่บรรดาสื่อและผู้ชมได้กะเก็งกันไว้
รางวัลมีความกระจายและเรื่องที่ได้ก็มีแนวทางที่หลากหลายกันไป จึงนับเป็นปีที่ตรงใจและไม่ได้มีอะไรเซอร์ไพรส์เหนือความคาดหมายกันมากนัก โดยจะขอไล่วิเคราะห์ผลรางวัลต่าง ๆ ในสายประกวดหลักกันดังนี้
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม : I’m Still Here
เริ่มที่รางวัลแรก รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่บทภาพยนตร์เรื่อง I’m Still Here เขียนโดย Murilo Hauser และ Heitor Lorega และกำกับโดย Walter Salles จากบราซิล
I’m Still Here เป็นหนัง biopic เล่าเรื่องราวฝันร้ายที่เคยเกิดขึ้นจริงกับ Eunice Paiva ภรรยาของ Rubens Paiva วิศวกรและอดีตสมาชิกสภาของบราซิลในรัฐบาลเผด็จการทหาร ผู้ถูกทางการจับกุมตัวไปไต่สวนกรณีพัวพันกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมื่อต้นปี ค.ศ. 1971 ในเรือนจำอย่างเลือดเย็น ก่อนจะกลายเป็น ‘บุคคลสูญหาย’ ด้วยปริศนาที่ไม่มีวันคลี่คลาย ภายใต้เงื้อมมือของฝ่ายที่ได้ชื่อว่า ‘รัฐบาล’ ทิ้งให้ Eunice ต้องกลายเป็นมารดาเลี้ยงเดี่ยวดูแลบุตรธิดารวมห้าคนโดยลำพัง เบนเข็มให้เธอตั้งใจศึกษาตัวบทกฎหมายเพื่อเป็นทนาย และกลายเป็นนักกิจกรรมผู้ทวงความชอบธรรมคืนสู่ครอบครัวไร้บิดาของเธอ!
หนังค่อย ๆ นำเสนอภาพชีวิตอันแหลกสลายของครอบครัวนี้ ตั้งแต่ปี 1970 ที่ทุกคนยังพร้อมหน้า มาจนถึง ค.ศ. 2014 ที่เด็ก ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่และ Eunice จะได้ทบทวนเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดว่ามันเกิดอะไร สร้างความสะเทือนใจให้ผู้ชมผ่านการแสดงอันนิ่งน้อยแต่แววตามีเป็นร้อยอารมณ์ของ Fernanda Montenegro (ดาราคู่บุญของ Walter Salles ตั้งแต่เรื่อง Central Station เมื่อปี 1998) ผู้รับบทเป็น Eunice จนหลายคนคิดว่าน่าจะต้องคว้าสักรางวัล กระทั่งได้รับการสรรเสริญยกย่องคว้าตุ๊กตาสิงโตปีกไปครองในสาขาบทยอดเยี่ยมในที่สุด
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม : นิโคล คิดแมน
รางวัลชุดต่อมาขอไปที่สาขาการแสดง ซึ่งเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสก็ยังคงแบ่งรางวัลตามเพศสภาพของผู้แสดงตามขนบเป็นฝ่ายชายและฝ่ายหญิงกันอยู่ ในขณะที่หลายแห่งก็เริ่มปูทางให้กลุ่มนักแสดงที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นด้วยการลบ gender ออกไปจากชื่อรางวัล
โดยเมื่อพิจารณากันที่ฝ่ายสตรี คณะกรรมการก็มีมติชี้ให้ Nicole Kidman จากเรื่อง Babygirl ของผู้กำกับ Halina Reijn เป็นผู้คว้ารางวัลไป ในบท Romy ซีอีโอสาววัยกลางคนผลงานเป็นที่ประจักษ์ในฐานะนักบริหารสตรีของบริษัทใหญ่ อยู่กินกับสามีและลูก ๆ อย่างมีความสุขไม่มีเรื่องต้องทุกข์ร้อนใด ๆ
กระทั่งถึงวันที่ Samuel (รับบทโดย Harris Dickinson) พนักงานฝึกงานหนุ่มหน้าใหม่เข้ามาทำงานในบริษัทฯ จน Romy ไม่อาจตัดกิเลสตัณหาราคะหาจังหวะ ‘แอบแซ่บ’ ในแบบ ‘พิสดาร’ กับบุรุษรุ่นลูกในที่ลับตาคนได้ สร้างความพิพักพิพ่วนปั่นป่วนใจว่าเธอจะ ‘เก็บอาการ’ ร่านไม่เป็นเวลานี้ได้ดีขนาดไหน เพราะถ้ามีใครมารู้มาเห็นแม้แต่หนึ่งราย ทุกอย่างที่เธอสร้างมาจักพังทลายหายสิ้นไปได้ภายในชั่วพริบตา!
Nicole Kidman รับบทเป็น Romy ด้วยลีลาตลกแบบ comedy of manners คันคะเยอได้อย่างน่ารักน่าชัง ทั้ง ๆ ที่เรื่องราวก็ออกจะ ‘เข้าตัว’ นักแสดงหญิงชื่อดังผู้มีอายุอานามเริ่มจะลายครามอย่างเธออยู่ไม่น้อย!
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม : วินเซนต์ ลินดอน
ในขณะที่รางวัลนักแสดงฝ่ายชายกลับปล่อยหมัดฮุคให้คนดูได้จุกอกกันด้วยอาการนิ่งเนิบทว่าอาบเอิบไปด้วยความรู้สึกปวดร้าว นั่นคือการแสดงของนักแสดงชายชาวฝรั่งเศสระดับตำนาน Vincent Lindon กับบท Pierre คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวผู้ต้องคอยเคี่ยวเข็ญลูกชายวัยรุ่นทั้งสอง จากเรื่อง The Quiet Son ของผู้กำกับสองศรีพี่น้อง Delphine และ Muriel Coulin จากฝรั่งเศส
ซึ่งถึงแม้ว่าลูกชายคนเล็กสุดท้ายจะประสบความสำเร็จได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดังในกรุงปารีส คนโตกลับแอบปลีกตัวไปเข้าพวกกับฝ่ายขวา far-right extremist ประกาศความคิดด้วยการเลือกใช้ความรุนแรง Pierre จึงเหมือนโดนมีดแทงเข้าไปที่หัวใจเมื่อได้ล่วงรู้ว่าบุตรชายคนโตของเขาแอบไปทำอะไร และแม้ใบหน้าจะยังแน่วนิ่ง แต่สิ่งที่อยู่ภายในแววตามันบ่งบอกอารมณ์อันมหาศาลและลึกเสียยิ่งกว่าทุกย่านมหาสมุทรสุดก้นบึ้ง!
ผู้กำกับยอดเยี่ยม : Brady Corbet
มาถึงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ซึ่งปีนี้ก็ตกเป็นของ The Brutalist ของ Brady Corbet ผู้กำกับอเมริกัน ที่หันไปทำหนังสัญชาติอังกฤษ แต่เล่าเรื่องราวชีวิตของ László Tóth สถาปนิกชาวฮังการียิวในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1947 เป็นต้นมา กลายเป็นงานมหากาพย์สุดทะเยอทะยานฉายผ่านแผ่นฟิล์มเซลลูลอยด์ 70 มม. ความยาวเบ็ดเสร็จ 200 นาที มีช่วงพักครึ่งตั้งนาฬิกาถอยหลังห้า-สี่-สาม-สอง-หนึ่งอีก 15 นาที สิริรวมเป็น 3 ชั่วโมง 35 นาที ยาวที่สุดในสายประกวดเทศกาลเวนิสปีนี้
ลีลาที่น่าสนใจของ The Brutalist ก็คือการถ่ายทำหนังฟิล์ม 70 มม. ให้มีความร่วมสมัย เล่าเรื่องราวย้อนยุคไปยังช่วงที่ László Tóth และภรรยาอพยพมาอเมริกาใหม่ ๆ ไต่เต้าจนได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมสำนัก Brutalism จากเศรษฐีใหญ่ในวิถีแบบ American Dream โดยให้ทีมตากล้องเคลื่อนกล้องแบบค่อย ๆ ล่องเลื่อนเหมือนอยู่บนรถเข็นตลอดเวลามากกว่าจะใช้กล้องนิ่ง ๆ ตรงมุมบนขวาก็จะมีสิ่งที่เรียกกันว่า cue mark บากไว้ชัด ๆ โต ๆ โบ๋ ๆ อวดโชว์ว่าฟิล์มใกล้จะหมดม้วน คนฉายควรเตรียมพร้อมอย่างไม่ยอมให้คลาดสายตา
ส่วนลีลาของทั้งแสงและสีก็มีความฉูดฉาดดูร่วมสมัย ราวต้องการให้มันเป็นหนังฟิล์ม 70 มม. พันธุ์ใหม่อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ในขณะที่เรื่องราวของตัวละครก็ไม่ถึงกับเข้มข้นจนต้องเล่นใหญ่กันถึงขนาดนี้!
Special Jury Prize : ขวัญใจคณะกรรมการ
ส่วนรางวัลที่มอบให้กับหนังทั้งเรื่องก็จะมีอยู่สามระดับสามรางวัล เริ่มกันด้วยรางวัล Special Jury Prize หรือรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ ซึ่งก็ตกเป็นของงานทดลองพันธุ์ดุจากจอร์เจียเรื่อง April ของผู้กำกับหญิง Dea Kulumbegashvili ที่แม้จะมีตัวละครอย่างคุณหมอสูตินรีแพทย์ Nina ผู้มีอาชีพเสริมเป็นหมอทำแท้งเถื่อนเป็นคนเดินเรื่องหลัก แต่หนังกลับไปจัดหนักกันด้วยลูกเล่นเชิงงานภาพและเสียงอันชวนให้สะเทือนขวัญอกสั่นหวั่นใจ อุดมไปด้วยภาพชวนอุจาดตามากมาย ไม่ว่าจะเป็นฉากการคลอดลูกที่เปิดให้คนดูเห็นทุกอย่างจริง ๆ หรือการตั้งกล้องนิ่ง ๆ ระยะใกล้ให้คนดูได้เห็นกระบวนการทำแท้งกันอย่างยาวนาน
หนังมีอุดมการณ์เบื้องหลังของคุณหมอ Nina วางไว้เป็นปริศนาว่าเธอจะมาสุ่มเสี่ยงทำงานผิดกฎหมายนี้ไปเพื่ออะไร นับเป็นงานในแบบ ‘ดุดันไม่เกรงใจใคร’ จนสามารถชนะใจคณะกรรมการไปได้เป็นลำดับที่สาม
รางวัลสิงโตเงิน : Grand Jury Prize
ข้ามมาที่ตำแหน่งที่สองหรือรองอันดับหนึ่ง ซึ่งก็คือรางวัลสิงโตเงิน Grand Jury Prize ได้แก่งานสายมานุษยวิทยาจากอิตาลีเรื่อง Vermiglio ของผู้กำกับหญิง Maura Delpero งานที่น่าจะได้ชื่อว่าเป็น ‘คนภูเขา’ แห่งดินแดนรองเท้าบูทพูดจาสำเนียงท้องถิ่นเตรนโตทางตอนเหนือ
ย้อนเวลาไปเมื่อปี 1945 อันเป็นวาระสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ถ่ายทอดครรลองชีวิตในแต่ละฤดูกาลของครอบครัวใหญ่ที่อาศัยอยู่ในภูเขาหิมะขนาดสูงใหญ่ห่างไกลจากความเจริญทั้งหลายทั้งปวง ด้วยท่วงทำนองอันบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติปราศจากการขับเน้นเรื่องราวด้วยอารมณ์ดรามาใด ๆ
ติดตามชีวิตของสมาชิกรายนั้นรายโน้นรายนี้สลับกันไป ราวเป็นงานสารคดีที่ผู้สร้างได้แบกกล้องย้อนเวลาไปถ่ายทำมาให้ดูกันจริง ๆ กลายเป็นหนังที่ ‘บริสุทธิ์’ อย่างยวดยิ่ง มองตรงไหนก็ไม่มีสิ่งใดประดิษฐ์ปลอม!
รางวัลสิงโตทองคำ : Golden Lion
และก็มาถึงผลรางวัลที่ค่อนข้างจะเป็นที่ยอมรับกันแบบแทบจะเอกฉันท์ นั่นก็คือรางวัลใหญ่อย่างสิงโตทองคำ หรือ Golden Lion ประจำปีนี้ ซึ่งได้แก่หนังสตรีสวัสดีความตาย The Room Next Door โดยผู้กำกับ Pedro Almodóvar
Credit : Marco BERTORELLO / AFP
The Room Next Door เป็นหนังยาวพูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกของเขา เล่าเรื่องราวโดยดัดแปลงมาจากนิยาย What Are You Going Through (2020) โดย Sigrid Nunez และได้นักแสดงหญิงเกรดเออย่าง Tilda Swinton และ Julianne Moore มาประชันบทบาทกัน
โดย Tilda Swinton รับบทบาทเป็น Martha อดีตบรรณาธิการข่าวสงครามผู้กำลังเผชิญโรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่สามมีชีวิตที่เข้าใกล้ความตายเข้าไปทุกที ๆ ส่วน Julianne Moore ก็แสดงเป็น Ingrid นักเขียนสตรีแนวชีวประวัติกำมะลอ โดยทั้งคู่เคยร่วมงานเป็น บก. นิตยสารฉบับเดียวกันมานานมาแล้ว เมื่อต่างคนต่างแยกย้ายไปดำเนินชีวิตตามแนวของตน Ingrid ก็ได้ทราบข่าวจากคนสนิทว่า Martha กำลังป่วยหนัก Ingrid ตัดสินใจไปเยี่ยมเพื่อนรักถึงโรงพยาบาล นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Martha ไหว้วาน Ingrid ให้เป็นเพื่อนคอยพยาบาลเธอ ณ บ้านพักตากอากาศริมป่า สานต่อภารกิจแห่งชีวิตชิ้นสุดท้ายหลังประตูไม้สีแดงบานนั้นของ Martha!
แม้ผู้กำกับ Pedro Almodóvar จะยังคงลีลาสาดสีสว่างแสบตาให้กับทั้งอาคารและการตกแต่งภายในในห้องหับต่าง ๆ ไว้อย่างเหนียวแน่น แต่น้ำเสียงการเล่ากลับเปี่ยมไปด้วยความสุขุมและแม่นยำ ไม่ได้เน้นความสนุกขำแบบระยำตำบอนอย่างในหนังยุคต้น ๆ จากคนทำหนังที่ออกจะเอาแต่สนุกเฮฮาบ้าบอไม่ขอนำพาสาระ
Pedro Almodóvar ได้เติบโตมาเป็นปรมาจารย์ชั้นครู เป็นหนึ่งในสุดยอดผู้กำกับ นำเสนอปมปัญหาและภาวะภายในของตัวละครหญิงได้อย่างน่าประทับใจ จนอาจจะลุ่มลึกและละเมียดละไมกว่าผลงานของผู้กำกับหญิงบางคนเสียด้วยซ้ำ!