‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

มาฟัง ‘หลานม่า’ ตัวจริง ทั้งผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องหลานม่า และคุณหมอผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ แนะนำ วิธีดูแล และ วางแแผน ให้ตัวเองในอนาคต

"หมอเป็นอายุรแพทย์ ที่มาก่อตั้งโรงพยาบาลผู้สูงอายุ Chersery home Internation ได้รับแรงบันดาลใจจากอาม่า อึ้งสี แซ่ตั้ง อายุ 104 ปี ท่านเสียไปเมื่อปีที่แล้ว

อาม่ามาเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 7 มีลูก 7 คน หลาน 20 คน เหลน 16 คน ตอนที่อาม่าไม่สบายต้องผ่าตัด ก็มีปัญหา ใครจะเป็นคนดูแล ใครจะจ่ายสตังค์ ใครจะลาออกจากงานมาดูแล

 

ขนาดบ้านเรามีลูกหลานเยอะขนาดนี้ยังมีปัญหา ก็เลยออกมาทำโรงพยาบาลแบบนี้ นี่คือที่มา ที่ได้อาม่าเป็นแรงบันดาลใจ"

นายแพทย์เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลผู้สูงอายุ Chersery home Internation และนายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย กล่าวบนเวที Talk Stage หัวข้อ ชีวามิตร วางแผนวัยชะราล่า กับหลานม่า ในงาน SX 2024 มหกรรมด้านความยั่งยืน Sustainability Expo 2024 วันที่ 30 กันยายน 2567

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

โดยมี ทศพล ทิพย์ทินกร ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง หลานม่า ร่วมพูดคุยด้วย ทศพลบอกว่า ตอนเด็ก ๆ อาม่าเป็นแม่ค้าขายโจ๊กที่ตลาด

"คุณแม่ผมต้องไปช่วย ก็ปั่นจักรยานพาผมไป ผมโชคดีได้กินโจ๊กฟรี อาม่าก็ให้ช่วยทอนตังค์ พอโตมาไม่ค่อยได้ไปเจออาม่า เราเรียนหนังสือ ติดเพื่อน ติดแฟน พอเรียนจบ อาม่าเริ่มขายโจ๊กไม่ไหวแล้วเพราะเป็นมะเร็งลำไส้

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

อาม่ามีลูกสามคน มีคุณแม่ผม แล้วอากู๋อีกสองคน เลยให้อาม่าย้ายมาอยู่ที่บ้านผม มีคุณแม่คุณพ่อพี่สาวช่วยดูแล ช่วงนั้นได้รู้จักอาม่ามากขึ้น อาม่าเล่าเรื่องสมัยเด็กตอนอยู่เมืองจีนลำบากยังไง จนวันหนึ่งอาม่าไม่ไหวแล้วก็เรียกลูก ๆ มา แบ่งทรัพย์สิน ผมก็เกิดความสงสัยว่า อาม่าใช้เหตุผลอะไรในการแบ่ง แล้วอาม่าก็เสียไป

วันหนึ่งผมต้องเขียนบท ก็เลยนึกถึงความทรงจำช่วงเวลาที่เราได้อยู่ดูแลอาม่าว่าอาม่าคิดยังไง มีความรู้สึกยังไง คนที่เป็นเจนเนอเรชั่นพ่อแม่เป็นยังไง เจนเนอเรชั่นหลานเป็นยังไง ถ่ายทอดมาเป็นภาพยนตร์เรื่องหลานม่า"

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ปัญหาการสื่อสารของคนจีน 'รักนะ แต่ไม่แสดงออก'

ครอบครัวคนจีนมักไม่แสดงออกถึงความรู้สึก ทศพลเล่าต่อว่า อาม่าปวดท้องมาหลายปี ไม่บอกใคร ไปซื้อยาชุดมากินเป็นปี ๆ เพราะกลัวลูกหลานลำบาก จะเป็นภาระ

"พ่อแม่ผมเองเวลาเขาเจอปัญหาอะไรก็ไม่บอกเรา บอกว่า เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ผมรู้สึกว่าการเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่ไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นี่คือปัญหาใหญ่ ทำไมไม่พูดความจริงออกมา"

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

ในเรื่องนี้ คุณหมอเก่งพงศ์ มองว่าแต่ละคนมีมุมมองของตัวเองเหมือนใส่แว่นต่างสีทำให้มองต่างกัน 

"อาม่าของหมอเกิดในสมัยสงครามโลก ข้าวยากหมากแพง อัตคัดขัดสน อาม่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ถ่ายดำมานาน ปวดท้องกินข้าวได้น้อย จนไม่ไหว ซีด เลือดจะหมดตัวแล้ว เราถึงได้รู้ว่าเป็นมาเป็นปีแล้วแกบอกว่ากลัวจะเสียตังค์เยอะ ต้องจ่ายเงินเป็นหมื่นเป็นแสนเพื่อมารักษา พอเราเข้าใจว่าอาม่าใส่แว่นตาสีอะไร เราก็เข้าใจเขามากขึ้น

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

กลับมาที่หนังเรื่อง หลานม่า ช่วงแรกที่ไปอยู่กับอาม่า ต้องทำให้อาม่าเปิดใจ ในชีวิตจริงก็เป็นอย่างนั้น ทศพล เล่าว่า 

เราซื้อของกินมาให้ อาม่าก็ด่า ซื้อมาทำไมแพง ๆ ที่ตลาดก็มี เราก็น้อยใจ เก็บเงินซื้อให้เขา อยากให้เขาได้กินของดี ๆ แต่กลับว่าเราเหมือนเราทำอะไรผิด มาเข้าใจทีหลังว่า เขากลัวเราจะสิ้นเปลืองเงิน อยากให้เก็บเงินไว้ซื้อของจำเป็นของตัวเอง เราก็ต้องคิดว่าเขาจะคิดยังไง ซึ่งต้องใช้เวลา"

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. ภาพ : จาก หนังสือ ก้าวสู่ 99 ของ นายแพทย์เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ

  • การดูแลผู้สูงวัย และคนหลายวัยในครอบครัว

ร้อยบ้านก็ร้อยแบบ เพราะว่าแต่ละคน บริบท การเติบโตมา เศรษฐกิจ สังคม แตกต่างกัน คุณหมอว่าอย่างนั้น

"การดูแลคนในครอบครัว มีมิติที่แตกต่างกัน ถ้าจะให้ดูแลได้ครบถ้วน ต้องมี 3 อย่าง 1) ด้านร่างกาย 2) ด้านจิตใจ 3) ด้านสังคม ความสัมพันธ์ ต้องให้ครบถ้วน"

ทางด้าน ทศพล บอกว่า การดูแลผู้สูงอายุ หรือคนที่เจ็บป่วย เราต้องปรับตัว ถ้าพาเขาไปหาหมอแล้วเขาไม่อยากไป เราหาว่าทำไม ถ้ากลัวเสียเงิน ก็ต้องบอกเขาว่า ไม่ได้เสียเงินเยอะอย่างที่ได้ยินมาหรือเขาเมาท์กัน เรามีบัตรสวัสดิการ ใช้ 30 บาทได้

ทำให้อาม่ารู้สึกว่าการไปหาหมอไม่ได้แพงอย่างที่คิด ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ การดูแลคนป่วย ถือว่าเป็นงานกลุ่ม คนป่วยก็ต้องให้ความช่วยเหลือด้วย ผมเห็นด้วยกับการพูดความจริง เพื่อให้คนป่วยจะได้มีสิทธิ์ในการรักษาแบบไหน หรือ เขาต้องการอะไร"

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ดูแลก่อนป่วย ดีที่สุด

เรื่องสุขภาพล่วงหน้า หรือการวางแผนเรื่องสุขภาพ คุณหมอชี้ว่าเป็นเรื่องจำเป็น

"อย่างพ่อผมกลัวเสียเงินเยอะ แต่พอเราพูดกันด้วยเหตุผล รู้ก่อนดีกว่า อย่างไปคัดกรองมะเร็ง ไปส่องกล้อง ไปตรวจ บางทีคนที่เป็นมะเร็งไม่ได้หมดความหวังทุกคนนะ ต้องถามว่าเป็นมะเร็งอะไร อายุเท่าไร ยิ่งระยะต้น สามารถรักษาหายขาดได้

บางทีอาจต้องใช้ตัวช่วย เช่น ลูก หลาน คนที่ท่านรัก ถ้าเขาไม่ฟังเรา ก็มองว่าเขาฟังใคร ก็เอาคนนั้น อย่างของผมก็ให้เหลน เป็นคนพาอาม่าไปหาหมอ"

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับที่ ทศพล เจอ เขาก็เพิ่งพาคุณพ่อไปตรวจสุขภาพมา

"คุณพ่อไม่เคยไปเลย กลัวเปลืองเงิน กลัวลูกเสียเวลา ผมรู้สึกว่าถ้าเรารู้ก่อนเราก็สามารถรักษาให้หายได้ อย่างน้อยได้รู้ว่าตัวเราอยู่ในสภาวะอะไร มีสิทธิ์เป็นโรคอะไรบ้าง จะได้ป้องกันได้

คุณพ่อเริ่มเข้าใจ เพราะเห็นคนที่ไม่เคยตรวจสุขภาพอยู่ดี ๆ ก็เป็นเลย เขาก็ไปตรวจ เราก็สรุปให้เขาฟังว่าตอนนี้เขาเป็นอะไรอย่างไรรักษาอะไรก่อน เราต้องชวนคุยเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องสำคัญมาก"

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. ภาพ : จาก หนังสือ ก้าวสู่ 99 ของ นายแพทย์เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ

  • อาม่าทันสมัย มองการณ์ไกล ทำ 'เจตจำนง' ไว้ล่วงหน้า

น่าแปลกใจว่า อาม่าของคุณหมอเป็นคนทันสมัยมาก เพราะได้ทำ กระบวนการสื่อสารสองทาง ระหว่างผู้แสดงเจตนาหรือผู้ป่วย กับผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือ Advance Care Planning ไว้ล่วงหน้าแล้ว 

"อาม่าเป็นคนที่ไม่มีการศึกษาใด ๆ มาเมืองไทยก็ขายปลาทู ค้าขายมาตลอด ตอนผมเกิดมา อาม่าก็อายุ 70 แล้ว จะมีกระเป๋าใบหนึ่งอยู่ที่หัวนอน ข้างในมีชุดกี่เพ้าสีขาว มีรองเท้าคู่หนึ่ง มีพัดอันหนึ่ง มีรูปถ่ายอาม่าบอกว่าเอาไว้ใช้ในงานศพของเขา นี่คือ Advance Care Planning ที่อาม่าทำไว้นานมาก

เวลาลูกหลานมานั่งกินข้าวร่วมกัน แกก็จะพูดถึงกระเป๋าใบนี้ บอกว่าการได้ตื่นมาทุกวัน ถือว่าเป็นโบนัส ถ้าแกตาย ขอให้ไม่ยื้อ ให้สบาย ๆ นอนหลับไป ไม่ต้องมาเจาะ แทง ดูด อะไร ทำให้ทุกคนมองเรื่องการตายของอาม่าเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ๆ

พอถึงวันที่ยากลำบาก ทุกคนก็ก้าวข้ามผ่านมาได้ อยากให้ทุกบ้านมองเรื่องการตายเป็นวัฏจักรหนึ่งของชีวิต ไม่ได้เป็นการนำเอาเรื่องอวมงคลมาพูด แนวคิดสมัยใหม่มองว่าการตายเป็นการเปลี่ยนผ่านจากจุดหนึ่ง จากสถานะหนึ่งไปอีกสถานะหนึ่ง"

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • อายุเฉลี่ยของคนเริ่มยืนยาวขึ้น สูงวัยอย่างไรให้สุขภาพดี

คำว่าสังคมผู้สูงอายุ อีกห้าปีจะเป็นคำโบราณ คุณหมอว่าอย่างนั้น

"ข้อมูลของ TDRI บอกว่าลูกหลานเหลนเราที่อายุต่ำกว่า10 ปีตอนนี้อายุเฉลี่ยของเขาจะอยู่ที่ 99 ปี ไม่ใช่มาเตรียมตัวตอนอายุ 50 ปี เด็กจะเติบโตอย่างไรให้มีต้นทุนสุขภาพมากพอที่จะมีอายุถึง 99 ปีได้

ต้องมีการเข้าถึงโปรตีนอย่างเหมาะสมในวัยประถม มีการกระตุ้นพัฒนาการ เข้าถึงวัคซีนที่ครอบคลุม มีการออกกำลังกายที่ดี ป้องกันไม่ให้เป็นโรค NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) ที่เร็วมากเกินไป 

ถ้าต้นทุนสุขภาพเราไม่สูง เราจะเป็นผู้สูงวัยที่มีปัญหาสุขภาพค่อนข้างมาก เราต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่เด็ก ต้องมีความรู้และภาครัฐให้การสนับสนุน

นอกจาก การตรวจสุขภาพ แล้ว ผู้สูงวัยต้องได้รับ 5 วัคซีน 1) ไข้หวัดใหญ่ ทุกปี 2) วัคซีนโควิด ทุกปี 3) งูสวัด ฉีดสองเข็มกันตลอดชีวิต ช่วยลดอาการเจ็บป่วยหนักได้ 4) วัคซีนปอดบวม ผู้สูงอายุบางคนนั่งดูทีวีอยู่ไอสำลักน้ำลายทำให้ติดเชื้อปอดบวมค่อนข้างเยอะช่วยลดความรุนแรงความสูญเสียได้ 5) คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ถ้าผู้สูงวัยเข้าถึงวัคซีนได้ และมีกิจกรรมที่ดี จะทำให้แข็งแรงขึ้น"

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • การดูแลสุขภาพ สำคัญกับทุกช่วงวัย 

ทศพล กล่าวว่า ตอนไปโรงเรียนอนุบาลของลูก ทุกคนต้องได้เรียนวิชาพ่อแม่ แล้วทำไมไม่มีวิชาดูแลตัวเองให้อยู่ดูแลลูกไปอีกนาน ๆ บ้าง

"วิธีของผมคือ 1)ไปตรวจสุขภาพทุกปี มีคนถามว่าทำไมต้องตรวจทุกปี ตอบว่า ขนาดรถยนต์เรายังเอาไปเช็คทุก 6 เดือนเลย แล้วร่างกายเราเองจะไม่เช็คหน่อยเหรอ แม้ว่าข้างนอกจะดูดี แต่เราไม่รู้เลยว่าข้างในเป็นยังไงมันเกิดอะไรขึ้น 2)เตรียมเรื่องเงิน วางแผนการเงิน วางแผนชีวิตไว้"

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • สูงวัยอย่างไร ให้มีความสุข

คุณหมอเก่ง บอกว่า สมัยก่อนเวลาเกษียณ คนจะหมดอาลัยตายอยาก อยู่บ้านเลี้ยงหลาน ไม่ทำอะไร

"มีข้อมูลเยอะมากบอกว่าผู้สูงวัยที่เกษียณอายุไม่มีงานทำ ไม่มีกิจกรรมที่เติมเต็มทางด้านจิตใจตัวเอง เป็นอัลไซเมอร์ก่อนวัยอันควร 30%

ผมเป็นหมอ เป็นผู้บริหาร มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ มีทักษะการพูดด้วย มีทักษะการเขียน ถ้าเราอายุเยอะแล้วไม่ได้เป็นหมอ ก็เอาทักษะเหล่านี้มาเป็นอาชีพใหม่ได้

เราต้องหา 4 สิ่งนี้ให้เจอ 1) สิ่งที่ท่านถนัด 2) สิ่งที่ท่านรัก 3) สัมมาอาชีพที่ท่านสามารถทำเลี้ยงชีพได้ 4) ตอบโจทย์คนส่วนรวม และเติมเต็มตัวเอง เราก็ไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องอาชีพแล้ว

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • การทำ พินัยกรรมชีวิต Living Will

คุณหมอบอกว่า Living Will สามารถปรับได้ตามความประสงค์ตามวันเวลาที่ผ่านไปได้ทุกเมื่อ

"วันที่เรามีสติสัมปัญชัญญะอยู่เราสามารถที่เขียนความต้องการของเราลงไปได้ ไม่ต้องกังวลที่เขียนไปแล้ว อย่าง อาม่าของหมอ บอกว่าขอไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ขอไม่ปั้มหัวใจ ขอไม่รับสายให้อาหาร แต่วันหนึ่งอาม่าจำเป็นต้องได้รับสารอาหาร แกก็บอกเองว่าอยากอยู่ต่ออีกสักนิดหนึ่ง ก็เปลี่ยนได้"

ขณะที่ ทศพล กล่าวว่า "การดูแลผู้สูงวัยถือว่าเป็นงานกลุ่ม อยากให้ผู้ดูแล ญาติด้วย ผู้ป่วยด้วย ได้พูดคุยกัน การทำ Living Will เป็นสิ่งที่ดี เราจะได้ดูแลเขาอย่างที่เขาต้องการ เป็นสิ่งที่เขาตัดสินใจเอง ไม่ใช่เราตัดสินใจแทน โดยที่ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เป็นการเตรียมการล่วงหน้าไว้"

‘หลานม่า’ เผย วิธีดูแล และ วางแผน ให้ตัวเองก่อน ‘วัยชรา’

Cr. Kanok Shokjaratkul

งาน SX 2024  หรือ Sustainability Expo 2024 เป็นงานที่รวบรวมแรงบันดาลสร้างสุขภาพที่ดีและเรื่องราวด้านความยั่งยืน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คลองเตย