ชีวิตที่ (เคย) หมดไฟกับ ตั๋วเที่ยวเดียวกลับไทย ที่จุดไฟขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ชีวิตที่ (เคย) หมดไฟกับ ตั๋วเที่ยวเดียวกลับไทย ที่จุดไฟขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

“คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับดร.สันติธาร ถึงช่วงเวลาราวหนึ่งปีหลังจากกลับมาอยู่ประเทศไทยถาวร เพื่อเข้าใจวิธีคิดและมุมมองต่อการทำงานของเขา รวมทั้งถอดบทเรียนกาาร “เติมไฟ” ให้ตัวเองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอาชีพในต่างประเทศ

เกือบสิบห้าปีคือช่วงเวลาที่ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐ อังกฤษ และสิงคโปร์ ภายใต้หมวกหลายใบที่เปลี่ยนไปมา ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา นักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการของบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่อย่าง Sea Group ที่รับผิดชอบประเด็นที่เชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียน

ก่อนที่ในปี 2023 เขาจะตัดสินใจโยนหมวกทั้งหมดทิ้งไปเพราะถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของไฟในการทำงานที่ต่างประเทศ จึงซื้อตั๋วเที่ยวเดียวเพื่อกลับบ้านและตัดสินใจไม่ทำงานประจำด้วยเหตุผล คือ ต้องการ “คราฟต์” พอร์ตการทำงานของตัวเองมากขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยการทำงานด้านนโยบายภาครัฐ การศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน รวมทั้งในฐานะ “นักเขียน” ซึ่งเขามักกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นบทบาทที่ชอบมากที่สุด

ดังนั้นเพื่อเข้าใจวิธีคิดและมุมมองต่อการทำงานของเขา รวมทั้งถอดบทเรียนกาาร “เติมไฟ” ให้ตัวเองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น “คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับดร.สันติธาร  ถึงช่วงเวลาราวหนึ่งปีหลังจากกลับมาอยู่ประเทศไทยถาวร

ชีวิตที่ (เคย) หมดไฟกับ ตั๋วเที่ยวเดียวกลับไทย ที่จุดไฟขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ตั้งแต่กลับมาประเทศไทยได้ 1 ปี กิจวัตรประจำวันเป็นอย่างไรบ้าง

 หนึ่งในความสนุกของการกลับมาเป็นคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ แต่ทำงานเพื่อการสร้างพอร์ตฟอลิโอของตัวเองคือแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละช่วงไม่ค่อยซ้ำกันเลย อยู่ที่ว่าช่วงไหนงานแบบไหนเข้มหรืออ่อนกว่ากัน ดังนั้นกิจวัตรก็จะแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าดูคร่าวๆ คนที่กำหนดกิจวัตรของผมจะกลายเป็นคนในครอบครัวซะมากกว่า เพราะผมเองค่อนข้างยืดหยุ่น

ส่วนตัวผมเองเป็นคนที่ตื่นเช้าเพราะต้องไปส่งลูกไปโรงเรียน พอตื่นเช้ามาปุ๊บถ้าลูกยอมก็จะนั่งสมาธิกับเขา สั้นๆ สักพักหนึ่ง เสร็จแล้วถ้าเป็นวันที่ออกกำลังกายผมก็จะเข้ายิมตอนเช้านิดหน่อย

ตอนเช้าจะเป็นช่วงที่เรียกว่า ครีเอทีฟไทม์ (ช่วงเวลาใช้ความคิดสร้างสรรค์) จะเป็นช่วงที่ผมทำงานเขียนเพราะไอเดียต่างๆ จะออกมาช่วงนี้เยอะมากที่สุด ซึ่งอันนี้เป็นกิจวัตรตั้งแต่ทำงานประจำแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าผมมีอะไรที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผมจะทำเสร็จภายในช่วงเช้าด้วยเวลาไม่นาน

ส่วนช่วงกลางวันและช่วงบ่ายเป็นเวลาของการประชุม และการลงมือปฏิบัติ คือเช้าเป็นไอเดียส่วนบ่ายก็นำไปปฏิบัติ ติดต่อคนนั้นคนนี้แล้วก็ประชุมกับทีม

จากนั้นช่วงเย็นมักจะเป็นเวลาที่ออกไปพบปะผู้คน เพราะจะมีนัดดินนงดินเนอร์ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้ช่วงหลังๆ คือพยายามไม่ให้ถี่เกินไปเพราะจะได้รีบกลับมาเจอลูก ใช้เวลาอยู่ด้วยกันบ้าง เล่นกีฬาด้วยกันบ้างแล้วก็พาลูกนอน

ชีวิตที่ (เคย) หมดไฟกับ ตั๋วเที่ยวเดียวกลับไทย ที่จุดไฟขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

 

ที่บอกว่าช่วงนี้พยายามคราฟต์พอร์ตการทำงานของตัวเอง มีงานอะไรในพอร์ตแล้วบ้าง  

มีประมาณ 4 ด้านซึ่งส่วนที่เน้นที่สุดคือนโยบายภาครัฐอย่างคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) และที่ปรึกษาเกี่ยวกับฟิวเจอร์สอีโคโนมี (เศรษฐกิจแห่งอนาคต) ให้กับทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) และต่อมาคือช่วยกฤษฎีการ่างกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลรวมทั้งเป็นกรรมาธิการด้านปัญญาประดิษฐ์ของสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากนั้นจะเป็นด้านเกี่ยวกับการศึกษา เช่นบุ๊กทอร์กแล้วก็สอนหนังสือ ไปทำเวิร์กช็อป แล้วที่มีมากขึ้นหลังคือพอคนอ่านหนังสือแล้ว เขามาบอกว่าทำเป็นเวิร์กช็อปให้กับผู้นำได้ไหม เพื่อที่จะช่วยคิดเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านอนาคตขององค์กร เปลี่ยนแปลงองค์กร การทรานส์ฟอร์มองค์กร แล้วก็เป็นบอร์ดของโรงเรียนนานาชาติรักบี้ประเทศไทย

ส่วนอันที่สามเป็นภาคประชาสังคมคือเป็นที่ปรึกษาให้กับเทใจดอทคอม พวกนี้คืองานที่สร้างอิมแพค คือคนที่ลงมือทำ คนที่เป็นด่านหน้า ได้รู้จักว่าคนกลุ่มเปราะบางเขามีเพนพ้อยต์อะไรยังไงบ้าง

ส่วนด้านสุดท้ายคือธุรกิจคือไปเป็นบอร์ดของบลูบลิค กรุ๊ปรวมทั้งมีการลงทุนส่วนตัวและเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทต่างประเทศบ้าง

หมวกใบไหนเป็นแรงผลักให้อยากตื่นมาทำงานตอนเช้ามากที่สุด

ทั้งหมดเลยนะครับ มันแล้วแต่ช่วง แล้วการที่มันมีส่วนผสมมันก็ดี บางช่วงเราคิดว่าเรื่องนโยบายเป็นสิ่งสำคัญ สร้างอิมแพคให้กับสังคม มันเป็นเรื่องใหญ่ดังนั้นทุกเช้าก็อยากจะตื่นขึ้นมาทำงาน

หรือช่วงที่งานด้านการศึกษามากหน่อยก็มี งานลักษณะนี้ก็ให้รางวัลกับผมเยอะเพราะบางทีได้เจอคน แล้วหลายคนได้ใช้คำแนะนำของผมไปแก้ปัญหาในชีวิตเขาจนดีขึ้น

อีกอย่างตอนนี้ทำโครงการสร้างผู้นำคนรุ่นใหม่ชื่อ ACE (Academy of Change Makers) รับคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ไม่ได้ประกาศเป็นสาธารณะ แล้วก็เป็นการเลือกคนมาแบบต้องได้รับการเชิญเท่านั้น คลาสละประมาณ 50 คน ทำมาสองรุ่นแล้ว เพิ่งเริ่มรุ่นที่สาม งานนี้ก็เป็นหนึ่งชิ้นที่ค่อนข้างสนุกที่จะตื่นมาทำ ได้เจอน้องๆ ที่ไฟแรงจากหลายภาคส่วน และเขาอยากจะผลักดันประเทศชาติให้ดีขึ้น ตรงนี้ก็รู้สึกว่ามีพลังดีครับ (ยิ้ม)

แต่ละช่วงชีวิตมอง ‘การทำงาน’ เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

คำถามนี้เป็นโจทย์ใหญ่ในช่วงที่ผมเริ่มเขียนหนังสือ Twist and Turn คือพยายามมองย้อนกลับไปทบทวนชีวิต ช่วงแรกแรกอาจจะเหมือนหลายคนคือไม่ค่อยได้คิดถึงความหมายของมันมากนัก ทำงานไปส่วนใหญ่ก็เพราะหาเงินให้ใช้ชีวิตอยู่ได้ สร้างชื่อเสียง สร้างเส้นทางอาชีพ มันก็ประมาณนั้น

แต่พอมามองย้อนกลับไปก็เห็นว่ามีหลายเป้าหมายที่อยู่ในนั้น ผมเลยเปรียบเทียบในหนังสือว่า การทำงานเหมือนการกินอาหาร เพราะมันประกอบด้วยสองลักษณะหลักคือ หนึ่งกินเพราะมันอร่อยตามใจปาก (ทำงานที่ชอบและอยากทำ) สองคือการกินเพราะมันมีประโยชน์ให้ได้สารอาหาร (ทำงานเพราะต้องทำให้ใช้ชีวิตอยู่ได้)

จากนั้นพอพูดถึง “ประโยชน์ของการทำงาน” ผมคิดว่ามี 4 ข้อที่ถึงแม้มันจะไม่อร่อยแต่เราก็ต้องกัดฟันทำไป หนึ่งชัดเจนที่สุดเลยคือได้เก็บเงิน เลี้ยงดูตัวเองเลี้ยงดูครอบครัวหรือว่าเลี้ยงดูลูก อันที่สองคือการสร้างชื่อเสียงของตัวเองหรือ Branding Reputation เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ไปลองอะไรใหม่ๆ ในอนาคต

อันดับที่สามคือสร้างการเรียนรู้ เพื่อที่จะได้ทักษะได้สกิลได้ความรู้ใหม่ๆ และสุดท้ายคือได้สร้างบารมี หรือ Influence ข้อนี้อาจจะไม่ค่อยสำคัญมากนักในภาคเอกชน แต่ถ้าเป็นภาครัฐค่อนข้างจะมีบทบาทที่สำคัญ

ส่วนอีกสามข้อถัดไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความสุขจากการทำงาน” เปรียบง่ายๆ ก็เหมือนความอร่อย ความอร่อยจะมีอยู่สามประเภท หนึ่งคือทำเพราะชอบ สมมุติว่าเราเป็นคนรักดนตรีแล้วได้เป็นนักดนตรี นักเขียนชอบเขียน นักบาสชอบเล่นบาส แค่ทำก็มีความสุขแล้ว เขาไม่จ่ายเงินเรา ยังทำเลย อันนี้คือประเภทความสุขแบบ Pleasure (ความพึงพอใจ) จริงๆ

สองคือเป็นแนวของคน หรือ People ความชอบลักษณะนี้คืองานก็โอเคแต่ชอบเพื่อนร่วมงานมาก ชอบเจ้านาย ชอบสังคมที่ทำงาน แค่ตื่นเช้าไปเจอเพื่อนๆ ก็มีความสุขแล้ว

สุดท้ายคือเป้าหมาย หรือ Purpose ส่วนนี้เพื่อนร่วมงานอาจจะเฉยๆ ตัวงานจริงๆ ก็อาจจะเหนื่อย แต่เรารู้สึกว่าตื่นมาแล้วชีวิตมีความหมาย ฝั่งคนที่ทำงานภาคประชาสังคมอาจจะเป็นแบบนี้เยอะ

ถ้ากลับมาพูดถึงชีวิตตัวเอง ชีวิตเปลี่ยนไปเพราะเหมือนว่าช่วงแรก เราจะเลือกความอร่อยมากไม่ค่อยได้ เพราะตัวเลือกเราจำกัด ต้องกัดฟันทำไป พยายามทำสี่อย่างที่เป็นสารอาหารให้ได้มากที่สุด สร้างเงินและสร้างชื่อเสียงก่อน พออายุมากขึ้นประสบความสำเร็จมากขึ้น มันจะเริ่มกินตามใจปากได้ทีละนิด (ยิ้ม)

แล้วช่วงที่กลับมาเมืองไทยอยู่ในสเตจไหนของการทำงาน

ช่วงที่ผมเริ่มกลับมาเมืองไทย ตอนนั้นผมคิดว่ามีอะไรที่สำคัญมากกว่าชื่อเสียงเงินทอง ก็เลยรู้สึกว่าทำประมาณนี้ก็โอเคแล้ว รู้สึกว่าประเด็นใหญ่ๆ ในเรื่องของ Purpose ที่เราจะได้ทำอะไรให้เมืองไทย ยังทำไม่ได้มากเพราะก่อนหน้านั้นยังอยู่นอกประเทศ

ตอนนั้นรู้สึกว่าทำอะไรที่มันช่วยสังคมช่วยตอนอยู่นอกประเทศมันไม่เต็มรสชาติเท่ากับทำในเมืองไทย รู้สึกว่าทำให้ประเทศไทยแล้วมันฟิน ทำให้ต่างประเทศมันก็ดี มันก็โอเค เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า Purpose มันเปลี่ยน มันมีความสำคัญมากขึ้น ตอนแรกมันอาจจะเลือกอะไรไม่ค่อยได้แต่ตอนหลังๆ เราเลือกได้มากขึ้น

ชีวิตที่ (เคย) หมดไฟกับ ตั๋วเที่ยวเดียวกลับไทย ที่จุดไฟขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

มุมมองต่อการทำงานของเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วมุมมองต่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์เปลี่ยนไปหรือเหมือนเดิม

เวิร์คไลฟ์บาลานซ์เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะอะไรก็ตามที่มันมีบาลานซ์ หมายความว่าเป็นสองสิ่งที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกัน คือมันตรงกันข้ามกันเราก็เลยต้องมีตาชั่งว่าจะแบ่งสัดส่วนมันยังไง

แต่ถ้าดูกรอบความคิดที่ผมเล่าไปเมื่อสักครู่จะเห็นว่าถ้าเวิร์คกับไลฟ์มันไปในทิศทางเดียวกัน มันไม่มีอะไรให้บาลานซ์เลย

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าถ้าผมเป็นนักดนตรีและผมรักดนตรี แล้วงานของผมคือดนตรี มันคือ Pleasure แล้วยิ่งถ้าผมชอบวงชอบเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในวงเดียวกัน นั่นคือชีวิตผมเลย

มาบอกให้ผมหยุดงานแล้วไปทำอย่างอื่น ไปเที่ยว ผมอยากตื่นไปเล่นเพลงไปอยู่ในวงดนตรีกับเพื่อน สนุกจะตาย คุณจะให้ผมบาลานซ์อะไร

ดังนั้นหลายคนที่บอกว่าไม่เชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ก็อาจจะเป็นแบบนี้ก็ได้ ก็งานกับชีวิตเขาไปด้วยกันดังนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปบาลานซ์

แต่ไม่ว่ายังไงก็ตามผมคิดว่าคำว่าบาลานซ์สำคัญเพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ชีวิตอยู่ในจุดที่ต้องแยกทางกัน คือบางทีเวิร์คกับไลฟ์มันไม่ไปด้วยกัน เช่นเมื่อเรารู้สึกว่าเราทำงานเพื่อเงินเราทำงานเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง จนถึงจุดหนึ่งมันเริ่มเหนื่อย แล้วจริงๆ ตัวเองอยากไปทำอย่างอื่นแล้ว อยากไปเล่นกีฬาหรืออยู่กับครอบครัวมากขึ้น อันนี้มันเริ่มไม่ไปด้วยกันแล้ว คือชีวิตส่วนตัวไปอีกทางหนึ่งแต่งานบังคับให้ไปอีกทางหนึ่ง อันนี้แหละเลยต้องมาถามว่าต้องบาลานซ์ยังไง

ซึ่งมันจะมีนะในทุกช่วงของชีวิต มันจะมีช่วงที่เวิร์คกับไลฟ์ไปด้วยกันพอดีและช่วงที่แยกทางกัน มันจะเป็นวัฏจักรแบบนี้

แชร์ได้ไหมว่ามีช่วงไหนที่งานกับชีวิตของ ‘สันติธาร เสถียรไทย’ ไม่ไปด้วยกัน แล้วทำยังไง

ช่วงที่งานกับชีวิตไม่ไปด้วยกันเกิดขึ้นหลายครั้ง ถ้าไปอ่านในหนังสือ Twist & Turn จะเห็นว่าทุกช่วงที่ Turn จะเป็นช่วงที่ชีวิตกับงานไม่ไปด้วยกัน

เช่นช่วงที่ผมทำงานในภาคการเงินแล้วเข้ามาทำงานด้านธุรกิจดิจิทัล เหตุผลหนึ่งของความไม่ไปด้วยกันคือผมเป็นคนที่ทำงานด้วยเพราะสนุกกับการเรียนรู้ การเรียนรู้มันไม่ใช่แค่สิ่งที่ต้องทำเพื่อสารอาหารอย่างเดียว แต่มันเป็นความอร่อยของผมด้วย

ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆได้ตื่นเต้นได้เข้าใจเหมือนเป็นนักผจญภัยอีกครั้ง ตอนที่อยู่ภาคการเงิน ตอนนั้นผมทำงานได้ดีและนิ่งแล้ว แต่ลึกๆ มันมีความเบื่อ มันมีความรู้สึกว่างานก็เหมือนเดิม ไม่ตื่นเต้น มันไม่ใจสั่น อีกอย่างเรามองเจ้านายเราแล้วรู้สึกว่า อนาคตเราคือคนนี้เหรอเราไม่ได้อยากเป็นคนนี้ รู้สึกว่าเป็นคนนี้แล้วเราไม่ตื่นเต้น มันขาดความตื่นเต้นในงานไปทั้งที่งานมันมั่นคงดี

ทั้งหมดก็เลยเป็นหนึ่งในหลายๆ เหตุผล ในการย้ายเพราะเราอยากจะกลายเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องในห้องใหม่ อยากไปที่ที่เปิดโลกทัศน์เรา โลกใหม่ที่เราไม่รู้จัก อยากไปเรียนรู้ อยากไปกลัวแต่ก็ยังตื่นเต้น นั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ย้ายไปทำงานที่ SEA

ถามว่า ช่วงแรกๆ ผมพยายามทำเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ไหม ก็ทำ คืองานประจำก็ทำไป หลังจากนั้นข้างนอกก็พยายามไปเจอคนในวงการเทคโนโลยี ไปดูการลงทุนต่างๆ เหมือนแยกกันว่าทำงานของตัวเองให้ดี หลังจากนั้นพอมีเวลาเหลือเราก็ไปทำอะไรที่เราตื่นเต้น

แต่พอทำไปสักพักหนึ่งเราก็ค้นพบว่า ถ้าชอบมันมากขนาดนี้เราเอามาเป็นงานหลักไม่ดีกว่าหรอ

มีโมเมนต์ที่ความชอบตอนนั้นมันกระทบงานไหม

ผมว่าจริงๆ มันกระทบ แล้วแต่คนเนอะ ผมเป็นคนที่ทุ่มเทกับงานมาก ผมเป็นคนที่ถ้า ให้คำมั่นสัญญากับอะไรต้องทำให้สุด ให้มันได้ เพราะฉะนั้นถามว่ามันกระทบเรื่องเนื้องานไหม ถ้าถามนาย ถามลูกค้า ถามคนอื่นจะไม่กระทบ เพราะเขาจะรู้สึกว่าได้เหมือนเดิม

แต่ตัวผมเองรู้ว่ามันกระทบเพราะถ้าผมมีพลังงาน มีแบตเตอรีเต็มผมไปได้ไกลกว่านี้ ผมจะให้ได้มากกว่าร้อย แม้ตอนนั้นถึงใจผมไปแล้วแต่ผมก็ให้ร้อยอยู่ดี  แต่ผมรู้ว่าถ้าผมกำลังอินกับอะไร ผมจะทำงานที่มันนอกเหนือจนมันไปที่ระดับ 120 หรือ 150 แต่ผมไม่ได้ใส่ตรงนั้น

ชีวิตที่ (เคย) หมดไฟกับ ตั๋วเที่ยวเดียวกลับไทย ที่จุดไฟขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

บทสนทนาบนโต๊ะอาหารกับคุณพ่อคุณแม่เป็นยังไง ทำไมถึงทำให้เป็น ‘สันติธาร เสถียรไทย’ ที่มีวิธีคิดแบบทุกวันนี้

 เป็นคำถามที่ดีครับ ผมว่าคุณพ่อ (ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย) คุณแม่ (ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย) เป็นคนที่มีจิตใจทำเพื่อประเทศและสังคมสูงมาก ทั้งสองไม่ได้พูดว่าผมต้องทำ แต่ไม่ว่าเวลาเราจะคุยเรื่องอะไรกัน เลนส์ที่มองทุกเรื่องจะเป็นเลนส์ที่ว่า ประเทศเราจะไปไหวไหม ประเทศเราจะเป็นยังไงในอนาคต เมืองไทยจะเป็นยังไง สังคมจะยังไง สุดท้ายเศรษฐกิจจะไปทางไหน

คือมันจะเป็นธีมนี้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามหัวข้อมันจะโยงกลับมาเรื่องแบบนี้ตลอด เหมือนว่าหัวข้อนี้คือฐานแล้วทุกอย่างมันกลับมาที่ตัวฐาน และผมคิดว่าก็ซึมซับตรงนี้ไปโดยไม่รู้ตัว

ในหนังสือที่เขียนมีประโยคหนึ่งที่น่าสนใจคือ “Luck is when preparation meets opportunity” ส่วนตัวยึดหลักนี้ในการใช้ชีวิตมาตลอดเลยใช่ไหม

 ถ้าพูดถึง Opportunity หรือโอกาส มันเหมือนเป็นคลื่น มันมาเป็นช่วงๆ แต่จริงๆ ระหว่างคลื่นมันนานนะ ช่วงที่มันนิ่ง ไม่มีลม ไม่มีคลื่น มันนานเหมือนกัน แล้วผมก็คงเคยเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่เขาก็มีช่วงแบบนั้น ช่วงที่ทำงานหนักแต่โอกาสยังไม่มา แต่ระหว่างนั้นก็เห็นว่าไม่มีใครนั่งหล่อเฉยๆ ท่านเตรียมพร้อมตลอดเวลาว่าเวลาคลื่นมาจะได้รับมันทัน ผมว่าอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้เรียนรู้มาจากคุณพ่อคุณแม่

แต่อีกส่วนหนึ่งที่อาจจะสำคัญไม่แพ้กันคือไม่ได้มาจากที่บ้าน แต่มาจากการที่เติบโตในต่างแดน มันจะมีความรู้สึกตลอดเวลาว่า ถ้าเราไม่เก่ง ไม่แกร่ง เราอยู่ไม่ได้ เพราะประเทศที่ไปอยู่สมัยก่อนเขาจะมองคนเอเชียอีกแบบหนึ่ง

ทั้งหมดก็เลยทำให้เราต้องเก่ง ต้องแกร่ง ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง แล้วการที่จะเก่ง จะแกร่ง จะอยู่ได้ ก็ต้องหาจุดที่จะชนะให้ได้ว่าอยู่ตรงไหน มันจะทำให้เราคิด แล้วมาค้นพบคอนเซ็ปต์ที่ว่า บางทีโลกมันอาจจะไม่ได้ทำงานในแบบที่ว่า ใครว่ายน้ำเก่งกว่าหรือเรือใครแรงกว่าแล้วจะชนะ

แต่เป็นเรื่องว่า ถ้าเรามีกระดานโต้คลื่นสักอันแล้วเราจับคลื่นทัน ต่อให้คู่แข่งว่ายน้ำเก่งกว่าเราแค่ไหน ว่ายนำเราไปแค่ไหนก็ตาม ถ้าเราขี่คลื่นครั้งเดียวเราแซงได้เลย ที่สำคัญคือเรามีกระดานโต้คลื่นให้พร้อมแล้วจับคลื่นนั้นให้ทัน

การที่กลับมาประเทศไทย แล้วคราฟต์พอร์ตของตัวเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาเซียนเป็นการเตรียมตัวเพื่อรอคลื่นอยู่ใช่ไหมครับ

มันเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับโลกในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าอาชีพคนมันจะไม่ได้มีอาชีพเดียว มันจะต้องมีหลาย Peak และมีหลาย Portfolio

Peak คือเราอาจจะไต่สายอาชีพไปสูง จนคิดว่าสำเร็จแล้ว แต่มันไม่ได้จบเพราะเรายังสามารถหา Peak ต่อไปเรื่อยๆ ได้

แล้วก็มีหลายพอร์ต คือในเวลาหนึ่ง เวลาปีนเขาเดียวเราอาจจะไม่ได้ทำ Mission (ภารกิจ) เดียว อาจจะมีหลายงานคล้ายๆ กับที่ผมทำอยู่ ผมคิดว่าในอนาคตมันอาจจะเป็นแบบนั้นมากขึ้น

จากประสบการณ์ทำงานทั้งหมดในไทยและต่างประเทศ ถ้าแนะนำคนรุ่นใหม่ได้สามข้ออยากแนะนำอะไร

อันแรกคือบทหนึ่งในหนังสือที่ชื่อว่า ชีวิตคือทางแยกหรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Life-defining Crossroad คอนเซ็ปต์คือจะมีช่วงหนึ่งในชีวิตที่เรารู้สึกว่า โหเราอยู่ห่างจากคนอื่นมากเลย มันมีคนอื่นที่อยู่หน้าเราเต็มไปหมด แต่ไม่อยากให้ท้อ เพราะชีวิตไม่ได้แข่งกันว่าใครเครื่องแรงกว่ากัน เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ “เลี้ยว” ถูกที่ถูกเวลา อาจจะไปไกลกว่าเยอะ ง่ายๆ เลยคิดเหมือนขับรถในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะ Ferrari Lamborghini หรือ รถดีแค่ไหนก็ตาม ถ้าเลี้ยวผิดที่ เลี้ยวตรงบางนานี่แหละ (หัวเราะ) ติดไปสองสามชั่วโมง

แม้คุณจะเป็นรถเก่าหรือเป็นจักรยานยังก็ตามแต่ถ้าเลี้ยวถูกทาง เลี้ยวถูกซอย คุณก็มีสิทธิ์ไปถึงก่อน มันมีเหตุการณ์แบบนี้เยอะมาก ดังนั้นอย่าไปมองเพียงแค่ว่าคนนี้เขาเก่ง เราไม่เก่ง เราจะสู้เขาไม่ได้ หลายคนเป็น Late Bloomer หรือคนที่มาเติบโตตอนหลัง มาพีคตอนหลัง

ผมเองก็เป็นคนพีคช้าเหมือนกันแล้วผมก็นำวิธีคิดแบบนี้มีประยุกต์ใช้กับลูกตัวเอง ว่าบางอย่างไม่ต้องเร่งหรือเครียดมาก มันมีเวลา แล้วเกมมันพลิกได้เสมอ ถึงเวลาแล้วเลี้ยวให้ถูก แล้วมันมีหลายเลี้ยว ไม่มีเทิร์นนี้ ก็มีเทิร์นหน้า

แพ้วันนี้ก็กลายเป็นผู้ชนะได้ กลับกันชนะวันนี้ก็กลายเป็นผู้แพ้ได้

อันที่สองคือคำที่พูดไปแล้วคือ Luck is when preparation meets opportunity ซึ่งมันลิงก์กับอันที่หนึ่ง ผมเข้าใจแบบนี้ว่า ถ้าเราคุยกับคนสองเจนฯ คนเบบี้บูมเมอร์กับเจนเอ็กซ์ เขาจะบอกว่าคุณไม่ต้องเลี้ยวอะไรมากในชีวิต คุณตั้งใจขับให้ดี คุณอดทน ถนนมันขรุขระคุณก็สู้ ถนนมันแย่รถมันติดคุณก็ฝืนขับไป อึดไปก่อนแล้วคุณจะไปถึงเป้าหมาย ทุกอย่างอยู่ที่ความพยายาม ชีวิตต้องสู้ อันนี้คือในเจนฯ เขามันถูกนะ ในยุคอุตสาหกรรมมันเป็นคล้ายๆ แบบนั้น

ในขณะที่คุยกับคนเจนฯ แซด หรือ เด็กกว่านั้นจะเป็นอีกแบบ วิธีคิดของเขาคือเราต้องเลี้ยวให้ถูกที่ เราต้องรอจุดที่เลี้ยว เพราะถ้าเราวิ่ง สู้ ทนไปเรื่อยๆ มันอาจจะติดอยู่ตรงที่รถมันติดนานมากๆ

ถามว่าใครถูก คำตอบของผมคือ ถูกกันคนละนิด จริงๆ แล้วถูกทั้งคู่ คือมันมีจุดที่ต้องสู้และกัดฟันจริงๆ เพราะมันไม่ได้มีอะไรให้เลี้ยว คุณต้องแค่กัดฟันอย่างเดียว เหมือนขับรถทางตรง ทำให้ดีที่สุดอย่างที่ผู้ใหญ่เขาพูด

ขณะเดียวกันก็มีจุดที่น้องๆ เขาถูก ว่า เออจุดนี้ถ้าเรากัดฟันแทบตาย แล้ววิ่งไปในทางที่รถมันติดมากๆ ยังไงก็ไปไม่ถึง เพราะฉะนั้นคำพูดที่ว่า Luck is when preparation meets opportunity คือ ด้านหนึ่งคุณขับ คุณเตรียมตัวเต็มที่ คุณสู้ให้เต็มที่ รอโอกาส อันนี้คือแบบผู้ใหญ่

แต่พอโอกาสมา ให้คุณคิดแบบเด็ก คือคุณพร้อมนะที่จะเทิร์น ไม่ใช่แบบผู้ใหญ่ที่จะดื้อดึงไปต่อ มันต้องใช้ทั้งสองอย่างถ้ามีแค่อย่างเดียว มันจะไม่เกิด Luck เพราะถ้าคุณดื้อดึงจะไปต่อ คุณก็จะไปรถติด ขณะเดียวกันถ้าคุณเลี้ยวตลอดเวลา คุณก็วนเป็นสี่เหลี่ยมไม่ได้ไปไหน

ส่วนสุดท้ายคือสิ่งที่ผมเพิ่งค้นพบไม่นานมานี้คืออย่าลืม Slowdown ชีวิตตัวเองแต่ Slowdown ไม่ใช่ Slow Life นะ ไม่ได้แปลว่าชิล ผมเปรียบเทียบเหมือนการขับรถ พอเราขับไปถึงจุดหนึ่งแล้วอย่าลืมชะลอเพื่อหันมาดู หันมาสะท้อนตัวเอง ดูรอบๆ ตัวว่า เราขับมาถึงไหนแล้ว ดูกระจกหน้าหน่อยว่าหน้าเราเป็นยังไง เหนื่อยไหม ยังสุขภาพดีอยู่ไหม ดูคนในรถว่าคนที่อยู่รอบเราเป็นคนที่แคร์เราจริงหรือเปล่าหรือแค่เอาใจเรา

จะมีสักกี่คนที่กล้าพูดอะไรตรงๆ กับเรา เช็กพ้อยต์ตรงนี้ ทำบ่อยๆ ทำเป็นช่วงๆ เพราะถ้าไม่ได้เช็กเลยมันจะเกิดอาการที่ว่า เราอาจจะเหมือนสำเร็จ ชีวิตดี แต่ไม่มีความสุขเลย เพราะว่าตัวเราเปลี่ยนไป แล้วเราทำสิ่งที่มันไม่ใช่จุดประสงค์เราแล้ว

สุดท้ายมีหนังสือที่อ่านอยู่แล้วอยากแชร์ไหม

มีเล่มหนึ่งชื่อ Emotional เขาพูดเกี่ยวกับเรื่องบทบาทของอารมณ์ว่าทำไมคนเราถึงต้องมีอารมณ์ อารมณ์มีไว้ทำอะไร โดยปกติเราจะบอกว่าการตัดสินใจที่ดีคือเราพยายามต้องกดอารมณ์ให้มากที่สุด อย่าให้อารมณ์มีบทบาท จะได้คิดให้เคลียร์

แต่หนังสือเล่มนี้ชวนตั้งคำถามว่าจริงหรือเปล่า จริงๆ อารมณ์อาจจะต้องเข้ามามีบทบาทกับการตัดสินใจไหม จริงอยู่ที่มันอาจจะ Active เกินไป จนทำให้การตัดสินใจเราพร่ามัว แต่บางครั้งอารมณ์ก็เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราขับเคลื่อนอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน ทำให้เราฮึด ทำได้มากกว่าปกติ ทำให้เรากลัวในสิ่งที่ควรกลัว อะไรแบบนี้ มันมีบทบาทของมัน เราจะใช้ประโยชน์จากอารมณ์และเข้าใจมันได้ยังไง

ที่สนใจเรื่องนี้เพราะ ธีมที่กำลังสนใจอยู่ปัจจุบันคือเรื่องของการตัดสินใจเนื่องจากผมเชื่อว่า คุณภาพของผู้นำถูกวัดด้วยคุณภาพของการตัดสินใจและการตัดสินใจของผู้นำมาบวกรวมกันคือชีวิตของคนคนหนึ่ง

การตัดสินใจดีหรือไม่ดีประกอบขึ้นจากหลายอย่างทั้งความรู้และวิสัยทัศน์ของผู้นำแต่สุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือใจ ว่าเขาตัดสินใจด้วยใจที่นิ่งหรือเปล่าและฐานของใจที่มั่นคงไหม หรือเขาตัดสินใจด้วยอารมณ์หรือโจทย์บางอย่างเพื่อตัวเองที่เขาไม่รู้ตัว

มันทำให้ผมเข้าใจอย่างหนึ่งคือมันมีคลาสหนึ่งที่ฮาร์เวิร์ด เคนเนดี้สกูล ชื่อว่า Class Leadership เป็นคอร์สที่ดังมาก คนแย่งกันไปเรียน คนเข้าไปเรียนทีไรชอบร้องไห้ออกมา รูปแบบของการสอนคือจะเหมือน Group Therapy หรือการบำบัดหมู่

ตอนเด็กๆ ไม่เคยเข้าใจเลยว่าไปทำอะไรกันทำไมเรียนแบบนี้ จนตอนนี้ผมถึงเข้าใจว่าแล้วว่าการดึงปมตัวเองออกมา ดึงบาดแผลในจิตใจ (Traumas) ของตัวเองออกมาแล้วนำเรื่องที่มีประเด็นในใจออกมาให้เห็น วางบนโต๊ะ มันทำเพื่อให้ใจนิ่ง พอใจนิ่งแล้ว คุณภาพของการตัดสินใจมันจะดีขึ้น

ชีวิตที่ (เคย) หมดไฟกับ ตั๋วเที่ยวเดียวกลับไทย ที่จุดไฟขึ้นมาใหม่อีกครั้ง