เติบโตมั่งคั่งแบบ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ แห่ง LVMH ‘ต้องทำงานให้ดีที่สุดเสมอ’
‘อย่าหวังผลระยะสั้น ต้องทุ่มเททำงานให้ดีที่สุดเสมอ’ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าพ่ออาณาจักร LVMH เผยเคล็ดลับความสำเร็จ รวมทั้งแชร์หลักคิดการทำงานและบริหารธุรกิจรูปแบบกงสีให้เติบโตอย่างมั่นคง
KEY
POINTS
- เปิดแนวคิดการทำงานของมหาเศรษฐี เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ผู้กุมบังเหียนอาณาจักร LVMH กลุ่มบริษัทสินค้าหรูหราที่ใหญ่ที่สุดในโลก หนึ่งในคำสำคัญที่เขามักแชร์บ่อยๆ ก็คือ กำไรเป็นเพียงผลพลอยได้ สิ่งสำคัญคือต้องทำงาน (ผลิตสินค้า) ให้ออกมาดีที่สุดเสมอ
- จิตวิญญาณของความเป็นผู้นำที่ดี นอกจากการมองภาพระยะยาวแล้ว ต้องมีแพสชันและความรักในตัวงานด้วย คนเป็นซีอีโอต้องผลักดัน เรียนรู้ พัฒนา และต่อสู้ไป
- การบริหารคนในองค์กรก็สำคัญไม่แพ้กัน อาร์โนลต์เป็นผู้นำที่ช่วยผลักดันทีมงานเบื้องหลังให้เติบโตไปด้วยกัน “ความสุขของผมคือการได้เป็นผู้นำที่พาทีมไปถึงจุดสูงสุดของอาชีพ”
ผู้นำระดับโลกที่คร่ำหวอดในวงการแฟชั่นชั้นสูงและถือเป็นไอดอลด้านธุรกิจแฟชั่นให้แก่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย คงหนีไม่พ้นมหาเศรษฐีเบอร์ต้นๆ ของโลกอย่าง เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) เจ้าพ่ออาณาจักร LVMH กลุ่มบริษัทสินค้าหรูหราที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาเขาได้สะท้อนตัวตนผ่านบทบาทการทำงานที่โดดเด่น และได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จระดับโลก
โดยเฉพาะเมื่อช่วงปลายปี 2024 ที่ผ่านมาเขาเพิ่งจะได้รับรางวัล “Malcolm S. Forbes Lifetime Achievement Award” ในงาน Forbes Global CEO Conference 2024 ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ รางวัลดังกล่าวเป็นการยกย่องความสำเร็จตลอดชีวิตการทำงาน และเป็นการเชิดชูความสำเร็จทางธุรกิจระดับโลกที่มอบให้แก่บุคคลที่เป็นตัวอย่าง และเป็นอุดมคติของการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Malcolm S. Forbes ตำนานแห่งผู้จัดพิมพ์นิตยสาร Forbes ผู้ล่วงลับ
ซีอีโอที่ดีต้องมองการณ์ไกล สร้างแรงผลักดัน เรียนรู้ พัฒนา และต่อสู้ไป
อาร์โนลต์ เล่าถึงความสำคัญและจิตวิญญาณของความเป็นผู้นำที่ดีผ่านเวทีการรับรางวัลข้างต้นไว้ว่า นอกเหนือจากการมองภาพระยะยาวแล้ว ซีอีโอต้องมีแพสชัน (Passion) และความรักในตัวงานด้วย คนเป็นซีอีโอต้องผลักดัน เรียนรู้ พัฒนา และต่อสู้ไป นี่คือสิ่งที่เขาทำในทุกวัน
“ด้วยความท้าทายต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ผมกับทีมงานต้องพยายามพัฒนาและปฏิวัติองค์กร โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็มีโอกาสแฝงอยู่ในนั้นด้วย ดั่งคำกล่าวของหลุยส์ ปาสเตอร์ นักเคมีและนักจุลชีววิทยาชื่อดังชาวฝรั่งเศสที่เคยกล่าวไว้ว่า โอกาสเกิดขึ้นได้สำหรับคนที่เตรียมตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราควรเตรียมตัวให้พร้อมรับโอกาสที่มาถึง”
ย้อนกลับไปในวัยหนุ่มอาร์โนลต์เคยช่วยงานธุรกิจครอบครัวซึ่งทำธุรกิจก่อสร้างมาก่อน ต่อมาเขาตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางอาชีพ โดยแบ่งเงินจำนวนหนึ่งจากธุรกิจก่อสร้างของครอบครัวในภาคเหนือของฝรั่งเศส มาสร้างอาณาจักรแฟชั่นระดับโลกที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 156,000 ล้านดอลลาร์ อาร์โนลต์จึงเป็นบุคคลที่รวยที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ตามข้อมูลเรียลไทม์ของนิตยสาร Forbes (ข้อมูลเมื่อ พ.ย. 2024)
อาร์โนลต์ก่อตั้งและบริหาร LVMH จนกลายเป็นกลุ่มบริษัทสินค้าหรูหราที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีแบรนด์สินค้าหรูหราในพอร์ตโฟลิโอมากกว่า 75 แบรนด์ รวมถึง Louis Vuitton และ Moet Hennessy เจ้าพ่อธุรกิจชาวฝรั่งเศสรายนี้เริ่มต้นด้วยการเข้าซื้อกิจการ Christian Dior ในปี 1984 และใช้เวลากว่าสี่ทศวรรษในการจัดทำข้อตกลงต่างๆ ภายใต้ LVMH ซึ่งข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดคือการซื้อกิจการ Tiffany & Co. ผู้ผลิตอัญมณีสัญชาติอเมริกันมูลค่า 15,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2021
อย่าหวังเติบโตระยะสั้น กำไรเป็นเพียงสิ่งที่ตามมา จุดสำคัญคือการทำงานให้ดีที่สุดเสมอ
LVMH ดำเนินกิจการร้านค้ามากกว่า 6,000 แห่งทั่วโลกและมีพนักงานมากกว่า 200,000 คน มีรายงานด้วยว่ากลุ่มบริษัทนี้ทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 8% เมื่อปี 2023 หรือประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้มีรายได้รวมแตะถึง 88,902 ล้านดอลลาร์ สะท้อนให้เห็นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของแผนกธุรกิจทั้งหมด รวมถึงน้ำหอมและเครื่องสำอาง
“เราไม่ได้มุ่งหวังการเติบโตในระยะสั้น เราพูดกันในบริษัทว่ากำไรเป็นเพียงผลลัพธ์ที่ตามมาจากจากการโฟกัสระยะยาว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การทำงานออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สวยที่สุดและมีคุณภาพสูงที่สุด” อาร์โนลต์ วัย 75 ปี กล่าวในการกล่าวสุนทรพจน์รับรางวัล
เขาบอกอีกว่า “หลายคนอาจประหลาดใจที่ได้ยินผมพูดแบบนี้ แต่ด้วยสินค้าของเราเป็นลักชัวรี เรามุ่งสร้างสิ่งใหม่ที่มีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์ เราเชื่อมั่นว่าผู้คนจะชอบสินค้าของเราด้วยตัวมันเอง เพราะมันมีนวัตกรรมและคุณภาพที่ดีที่สุด นี่คือหัวใจเลย”
อาร์โนลต์ขยายฐานลูกค้าทั่วโลกของ LVMH ไปยังจีนเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันภูมิภาคนี้ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท โดยคิดเป็นประมาณ 34% ของยอดขายกลุ่มในปี 2023 รองลงมาคือสหรัฐอเมริกาที่ 26% แต่กว่าจะมายืนที่จุดนี้ได้อาณาจักรแฟชั่นยิ่งใหญ่แห่งนี้ก็ต้องเผชิญอุปสรรคใหญ่หลวงมานับไม่ถ้วน ซึ่งหัวเรือใหญ่อย่างอาร์โนลต์ก็สามารถนำพาองค์กรอยู่รอดมาได้โดยยึดหลัก “เอาชีวิตรอด เติบโต เคารพอดีต”
“ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือธรรมชาติก็ตาม ล้วนต้องอยู่ในวัฒนธรรมเอาชีวิตรอดและเติบโต ต้องโอบรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมุ่งมั่นเรื่องคุณภาพเพื่อให้ลูกค้ามีความสุขมากที่สุด นี่ถือเป็นสินทรัพย์หลักของเรา อย่างไรก็ตามเรายังคงเคารพอดีต แต่ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีความสามารถในการยืดหยุ่น มีสปิริต และมีหัวใจของความเป็นผู้ประกอบการ”
บริหารธุรกิจแบบครอบครัว คือข้อได้เปรียบของ LVMH
ความน่าสนใจอีกอย่างในการบริหารธุรกิจของเขาคือ การใช้วิธีบริหารธุรกิจแบบกงสีหรือแบบครอบครัว โดยลูกทั้งห้าคนของ Arnault ทั้งหมดทำงานที่ LVMH สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของเขาที่ว่า ครอบครัวที่มีผู้ถือหุ้นอย่างแข็งขันถือเป็นสินทรัพย์อันล้ำค่าสำหรับบริษัท เนื่องจากให้เสถียรภาพ ความต่อเนื่องของทางเลือกเชิงกลยุทธ์ การควบคุมการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และการคาดการณ์ได้ในระยะยาว
“พันธกิจที่เก่าแก่ที่สุดของเรา คือการไปให้ไกลที่สุด เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาว เราต้องโฟกัสที่เสถียรภาพ โดยหนึ่งในข้อได้เปรียบของ ธุรกิจเครือ LVMH คือการเป็นบริษัทของครอบครัว ผมเชื่อมากๆ ในการให้ครอบครัวได้มีส่วนร่วมในบริษัท” อาร์โนลต์แชร์หลักบริหารธุรกิจแบบกงสี
สำหรับลูกๆ ทั้ง 5 คนของอาร์โนลต์ล้วนแต่ทำงานในเครือ LVMH เริ่มจาก เดลฟีน ลูกสาวคนโตของอาร์โนลต์ วัย 49 ปี เป็นประธานและซีอีโอของ Christian Dior Couture ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของกลุ่มตามยอดขาย รองจากหลุยส์ วิตตอง อองตวน วัย 47 ปี รับผิดชอบด้านภาพลักษณ์และสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งกลุ่ม และยังเป็นรองประธานและซีอีโอของบริษัทโฮลดิ้ง Christian Dior SE ด้วย
ด้านลูกชายคนถัดมาอย่าง อเล็กซานเดอร์ วัย 32 ปี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Moet Hennessy หลังจากทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ Tiffany & Co ในนิวยอร์กมาเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้พลิกโฉมแบรนด์เครื่องประดับแห่งนี้ ขณะที่เฟรเดอริก วัย 29 ปี เป็นหัวหน้าบริษัทโฮลดิ้งหลักแห่งหนึ่งของครอบครัว ซึ่งก็คือ Financière Agache ที่ควบคุม LVMH ส่วนฌอง วัย 26 ปี บริหารแบรนด์นาฬิกาของ Louis Vuitton
ตามความเห็นของเขา ไม่มีโครงสร้างใดที่ดีกว่านี้อีกแล้วในการส่งมอบ “ความเป็นเจ้าของ” ให้กับ “ครอบครัว” ขณะเดียวกันมองว่าพนักงานที่มาร่วมงานกับเครือ LVMH นั้นเปรียบเสมือนสมาชิกครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับไหนก็ตาม
“การที่เราอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน ใต้ร่มเดียวกัน ทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นเจ้าของบริษัทจริงๆ นี่คือสิ่งที่เติบโตขึ้นในใจและทำให้เครือ LVMH ประสบความสำเร็จ”
อาร์โนลต์ ผู้นำที่ให้เครดิตทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเขาเสมอ
ไม่เพียงเท่านั้น หากย้อนกลับไปดูหลักการทำงานและแนวคิดการบริหารของ อาร์โนลต์ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาก็พบว่า ชายคนนี้มีแนวคิดการทำงานที่น่าสนใจในอีกหลากหลายแง่มุม ซึ่งเขาได้เคยแบ่งปันความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับความสำเร็จ ความเป็นผู้นำ และอำนาจผ่านสื่อต่างๆ มากมาย ทัศนคติของเขาสามารถใช้เป็นต้นแบบให้กับผู้ประกอบการที่ปรารถนาจะเดินตามรอยเท้าของเขาได้
ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดด้านการบริหารแบรนด์และบริหารองค์กรที่น่าสนใจ อาร์โนลต์บอกว่า “สิ่งเดียวที่ผมสนใจคือ การโปรโมตแบรนด์ของผม ไม่ใช่ตัวผมเอง เป้าหมายของการทำธุรกิจไม่ใช่การรักษาสถานะเริ่มต้นของธุรกิจเอาไว้ แต่คือการทำให้มันเติบโตและกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้นหากเป็นไปได้”
ไม่เพียงเท่านั้น ในแง่มุมของการบริหารคนในองค์กรก็สำคัญไม่แพ้กัน เขาเป็นผู้นำที่เชิดชูทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเสมอ “ความสุขของผมคือการได้เป็นผู้นำที่พาทีมไปถึงจุดสูงสุดของอาชีพ งานของผมคือการช่วยให้นักประดิษฐ์และนักออกแบบเข้าใจว่า ความสำเร็จของความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ ความคิดสร้างสรรค์นั้นใช่ แต่ต้องดำเนินการในลักษณะที่ผู้คนชื่นชอบและนำไปใช้ได้”
รวมถึงแนวคิดที่ได้รับการยอมรับในวงการธุรกิจแฟชั่นเสมอมา นั่นคือ “สิ่งที่ผมสนุกก็คือ การพยายามเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นความจริงในธุรกิจทั่วโลก การจะทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้ คุณต้องเชื่อมต่อกับนักสร้างสรรค์และนักออกแบบ ทำให้แนวคิดของพวกเขาสามารถนำไปใช้ได้จริงและเป็นรูปธรรม”
อ้างอิง: forbes.aus, SCMP, bangkokbiznews, forbes