ผนึกพลัง - ระดมไอเดีย ร่วมสร้างระบบนิเวศทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

ผนึกพลัง - ระดมไอเดีย ร่วมสร้างระบบนิเวศทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

อุบัติเหตุทางถนน เป็น 1 ใน 3 สาเหตุหลักการเสียชีวิตของคนก่อนวัยอันควร จากฐานข้อมูลการตาย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงปี 2565 มีผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มอายุ 5-44 ปี มากถึง 9,009 คน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่เราต้องสูญเสียพวกเขาไปบนท้องถนนไม่ใช่น้อย

ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยจำเป็นต้องทบทวนกระบวนการ เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจาก อุบัติเหตุทางถนน หรือทำให้ทุกชีวิตของเด็กไทยสามารถปลอดภัยบนท้องถนน

นำมาสู่การจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 "สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย" Road Safety Stronger Together ที่จัดโดย กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน

ผนึกพลัง - ระดมไอเดีย ร่วมสร้างระบบนิเวศทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

เสนอมาตรการปลอดภัยเพื่อเด็ก ด้วยเสียงเด็ก

หนึ่งในประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม จึงเป็นการระดมไอเดียและสรรพกำลังทางความคิดเพื่อร่วมฝ่าวิกฤติหาทางออก ในเสวนาระบบนิเวศ ความปลอดภัยทางถนน สําหรับเด็กและเยาวชน (Road Safety Ecosystem for Youth) เวทีที่เปิดโอกาสทุกภาคส่วนสังคมร่วมขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกัน (Synergy) เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ถึงเป้าหมายในอนาคตอันใกล้ ซึ่งนอกจากการถ่ายทอดกรณีศึกษาที่น่าสนใจในระดับพื้นที่จากหลายภาคส่วน อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือการที่มีตัวแทนเด็กและเยาวชน มาร่วมประกาศข้อเสนอ เพื่อเรียกร้องผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางชีวิตเด็กและยาวชน

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย 3ก เด็กและเยาวชน ประกอบด้วย 

  • ข้อเสนอที่หนึ่ง กลไกเสริมสร้างความเข้มแข็ง การบูรณาการขับเคลื่อนความปลอดภัยในเด็กและเยาวชน เสนอให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเด็กและเยาวชนส่วนกลาง โดยกระบวนโดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานตาม 5 เสาหลัก เสริมสร้างการขับเคลื่อนงานใช้ข้อมูลสื่อ สื่อสารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความปลอดภัย 
  • ข้อเสนอที่สอง กองทุนเพื่อสนับสนุน จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนงบประมาณการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ในเด็กและเยาวชน หรือสปสช. สนับสนุนงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนงานด้าน ความปลอดภัยทางถนน ในเด็กและเยาวชน 
  • ข้อเสนอที่สาม การเรียนรู้ ขอเสนอให้เกิดการสนับสนุนการเรียนรู้ โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างเสริมระบบนิเวศที่ปลอดภัยเสนอให้เป็นพื้นที่การศึกษาใช้ข้อมูลจากระบบ ดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียน สนับสนุนการทํางานขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยในจังหวัด เสนอให้จัดการเรียนรู้และกิจกรรมเสริมเรื่องความปลอดภัยทางถนนในทุกช่วงวัยในสถานศึกษา กําหนดมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนและจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ด้านความปลอดภัย

ผนึกพลัง - ระดมไอเดีย ร่วมสร้างระบบนิเวศทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

จากข้อเสนอเด็ก สู่ความเห็นผู้ใหญ่ 

จากข้อเสนอดังกล่าว นำมาสู่การพูดคุยนานาทัศนะของผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายมุมมอง ที่ร่วมแชร์มุมมองบนเวทีเดียวกันนี้ 

นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ ให้ความเห็นว่า การบูรณาการกลไกเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนความปลอดภัยในเด็กและเยาวชน ซึ่งผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายมีบทบาทสําคัญอย่างมาก และนโยบายเหล่านี้ถูกนำไปปฏิบัติจริง จะเป็นปัจจัยความสําเร็จที่ทําให้เกิดการขับเคลื่อนและช่วยให้เกิดระบบนิเวศความปลอดภัยในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในหน่วยงาน ในโรงเรียน ในสถานประกอบการ ซึ่งการจะทำให้เกิดขึ้นได้จริง จำเป็นต้องมีกลไกในกลไกส่วนกลางที่จะทําให้เกิดขึ้น ควรตั้งให้มีคนทํางาน หรือผู้ขับเคลื่อนในส่วนกลางในการผลักดันนโยบายในเรื่องของเด็กและเยาวชน

"ทุกวันนี้เรามี ศปถ. อยู่แล้ว เรามีอนุกรรมการต่าง ๆ อีกหลายคณะ แต่สิ่งที่สําคัญมากทั้งในศูนย์กลางและก็ส่วนพื้นที่ส่วนจังหวัด คือการมีคณะอนุกรรรมการเด็กและเยาวชนด้วย เพราะจะมีส่วนสําคัญในการทําให้เกิดการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ในพื้นที่ในระดับจังหวัด"

ผนึกพลัง - ระดมไอเดีย ร่วมสร้างระบบนิเวศทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

ฐิติพัฒน์ ไทยจงรักษ์ ผู้อํานวยการสํานักสวัสดิสวัสดิภาพการขนส่งทางบก (สนภ.) เผยว่า ถ้าดูจากข้อเสนอทางนโยบายของเด็ก มองว่าข้อเสนอที่สองในเรื่องของการจัดตั้งกองทุนมีความสำคัญอย่างมาก อีกข้อเสนอหนึ่งคือเรื่องการเรียนรู้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยให้ได้ฐานองค์ความรู้ต่าง ๆ ในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดความรู้ต่าง ๆ ซึ่งการมีงบประมาณช่วยเหลือจะช่วยให้การดําเนินการคืบหน้า 

"ส่วนตัวผมอยากให้มีการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่ให้ความรู้อย่างเดียว แต่เป็นการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ให้ปลอดภัยรอบด้านด้วย เนื่องจากเขาคือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับกับประเด็นปัญหา ซึ่งควรดูแลอย่างใกล้ชิด"

ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สิ่งที่มองว่าสำคัญที่สุดในเวลานี้ คือการพัฒนากลไกสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดย สสส. จะทํางานคู่กันสนับสนุนร่วมกับกองทุนเลขสวย

จากการเห็นความสําเร็จจากหลายพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันระว่างท้องถิ่น บริษัท องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ เชื่อว่าถ้าหากสถานศึกษาโรงเรียนมีมาตรการที่ชัดเจนน่าจะช่วยอย่างมากในการทําให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้เรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา โดยฮอนด้าเองได้พยายามสร้าง ecosystem ในเรื่องของการการเรียนรู้ ผ่านศูนย์ฮอนด้าทั่วภูมิภาค เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละศูนย์จะมีครูฝึกช่วยในการอบรมเรื่อง safety ซึ่งได้รับการเทรนจากบริษัทฮอนด้าในประเทสญี่ปุ่น 

อีกข้อแนะนำที่น่าสนใจคือ การทํางานเกี่ยวกับเซฟตี้ ควรมีองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรง โดยยกตัวอย่างที่ญี่ปุ่นเมีองค์กรที่เรียกว่าเอนทาดา หรือในมาเลเซียก็มีเช่นกัน

"ต้องเป็นหน่วยงานที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลหรืออะไร หน่วยงานนี้จะรับผิดชอบอยู่ และมีการทํางานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสถิติ การบูรณา การมีหน่วยงานโดยตรงจะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องเซฟตี้ยั่งยืน เพราะมีคนที่เป็นเจ้าภาพทํางานเรื่องนี้ระยะยาว" เอกสิทธิ์ กล่าว

ผนึกพลัง - ระดมไอเดีย ร่วมสร้างระบบนิเวศทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

5 กิโลโปรเจกต์ เพิ่มปลอดภัย ลดเสี่ยง

จากการสำรวจข้อสงสัยที่ว่า "ทำไมคนไทยไม่ใส่หมวกกันน็อก" ทำให้ อรดี อินทร์คง นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา และผู้รับผิดชอบโครงการ 5 km Project เกิดไอเดียการขับเคลื่อนมาสู่โครงการระดับพื้นที่

อรดี เอ่ยว่าเพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าไปใกล้ ๆ แค่นี้จึงมองไม่เห็นว่าเป็นอันตราย ซึ่งนั่นคือแนวความคิด หรือวิธีคิดผิด ๆ ที่ต้องได้รับการสื่อสารใหม่ให้ถูกต้อง เพราะจากสถิติผู้ที่ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บ มีถึง 73% ที่เกิดขึ้นใกล้ ๆ บ้าน จัดทำ Boxset 5 kilo Project ขึ้น ซึ่งภายในประกอบด้วยชุดความรู้และแนวปฏิบัติสำหรับชุมชนในการจัดการมาตรการความปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุ อาทิ การจัดการสภาพแวดล้อม ป้ายจราจร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมข้อมูลการจัดการมาตรการความปลอดภัยสำหรับภาคโรงงานอุตสาหกรรมหรือหน่วยงาน ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

สถานประกอบการยุคใหม่ ปลอดภัยต้องมาก่อน 

พุทธชาติ คามาก ตัวแทนจากบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นเอ็น ประเทศไทย จํากัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอซีบอร์ด เล่าประสบการณ์จากการขับเคลื่อนมาตรการความปลอดภัยทางถนน ที่บริษัทฯ ส่งเสริมว่า ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้แต่ละวันรถสัญจรค่อนข้างมากเฉลี่ยอาจถึงแสนกว่าคัน เพื่อพยายามลดการใช้รถจักรยานยนต์ บริษัทมีการจัดหารถตู้ให้พนักงานนั่งไปกลับที่ทำงานและบ้าน

"งานของเราคือการคิดว่าทำอย่างไร ถึงจะทําให้ระบบนิเวศตรงนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัย เรากําหนดไว้ในนโยบายและมาตรการองค์กรของเรา ซึ่งนอกจากเราจะดูแลความปลอดภัยของพนักงาน การดูแลในเรื่องของความปลอดภัยที่บ้านและบนท้องถนน เป็นนโยบายของเราที่ค่อนข้างชัดเจน"

จากการทํางานและการบาดเจ็บบนท้องถนน ทางบริษัทฯ ให้ความสำคัญทั้งที่เป็นพนักงาน รวมทั้งซัพพลายเชน คู่ค้าที่มาร่วมทําเพื่อพัฒนาระบบร่วมกัน มีการประเมิน การจัดทํา Route Safety Analysis หรือการประเมินเส้นทาง

"อย่างเช่นชั่วโมงเร่งด่วนที่เราได้ข้อมูลมาจากดับบลิวเอชเอว่า ถนนเส้นไหนบ้างที่มีปัญหาช่วงนี้ แล้วเราก็จะมีการกําหนดเส้นทางการเดินรถที่ค่อนข้างชัดเจน กําหนดนโยบายความปลอดภัย เพราะพนักงาน เขาก็เป็นผู้ใช้บริการ เขาก็ต้องมีความปลอดภัย สำหรับรถตู้รับส่งพนักงานจะผ่านหน้าโรงเรียน เราไปประเมินว่ามีจุดเสี่ยง ที่ต้องระมัดระวัง"

นโยบายที่ค่อนข้างชัดเจนเหล่านี้ เป็นผลจากผู้บริหาร จึงทำให้การขับเคลื่อนงานเกิดความสำเร็จตามเป้าหมาย ด้วยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทางบริษัทฯ ได้ประสบกับเหตุการณ์พนักงานคนหนึ่งเมาแล้วขับรถกลับบ้านหลังเลิกงานจนไปเจออุบัติเหตุเสียชีวิต