‘หมูเด้ง’ ดังแล้ว ตอนนี้ขอดัน ‘หมูน้ำ’ หรือ 'พะยูน' ด้วยวิถีรักษ์โลก

‘หมูเด้ง’ ดังแล้ว ตอนนี้ขอดัน ‘หมูน้ำ’ หรือ 'พะยูน' ด้วยวิถีรักษ์โลก

'พะยูน' (Dudong) หรือ 'หมูน้ำ' เป็นหนึ่งในยี่สิบสัตว์ป่าสงวนของไทย และอยู่ในบัญชี 1 ของบัญชีไซเตส ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เมื่อไม่กี่วันมานี้ พะยูนตัวที่ 42 ของปีจากไป สองปีรวมกัน 82 ตัว เฉพาะเดือนธันวาคมตายไป 6 ตัว เฉลี่ย 2 วัน 1 ตัว

จากข้อมูลของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่อยากให้คนไทยช่วยกันอนุรักษ์พะยูน ช่วยกันปลูกหญ้าทะเล 

ไม่มีใครจับ พะยูน มากินเหมือนกินหูฉลาม แต่พะยูนก็ยังตายต่อเนื่องทุกปี บางปีมีรายงานพะยูนเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากพะยูนกินแค่ หญ้าทะเล เมื่อไม่มีอาหาร สูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย มลภาวะทางทะเล ปัญหาขยะพลาสติก ทำให้พะยูนลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

‘หมูเด้ง’ ดังแล้ว ตอนนี้ขอดัน ‘หมูน้ำ’ หรือ \'พะยูน\' ด้วยวิถีรักษ์โลก     พะยูน (Cr.Mcleroy on Pixabay)

ตัวเลขจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รายงานไว้เมื่อปี 2565 พบประชากรพะยูนราว 273 ตัว ดูมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทว่าในปีเดียวกันนี้เอง พบพะยูนเกยตื้นตาย 18 ตัว ภายในเวลาเพียง 1 ปี สาเหตุส่วนใหญ่จากป่วยและถูกกระแทกด้วยของแข็ง

เมื่อปี 2019 (2562) คนไทยสนใจ พะยูน มากขึ้น จากข่าว มาเรียมและยามีล ลูกพะยูนกำพร้าตายลง จากนั้นหลายฝ่ายช่วยกันอนุรักษ์พะยูน ไม่กี่ปีผ่านไป อัตราการตายของพะยูนยังไม่ลดลง

‘หมูเด้ง’ ดังแล้ว ตอนนี้ขอดัน ‘หมูน้ำ’ หรือ \'พะยูน\' ด้วยวิถีรักษ์โลก    (ภาพ: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

พะยูน มีอีกชื่อว่า หมูน้ำ / วัวทะเล (เพราะกินหญ้าทะเล) อยู่บนโลกเรามา 55 ล้านปีแล้ว เป็นสัตว์โตช้า ขยายพันธุ์ช้า อาจมีอายุยืนมากกว่า 70 ปี และเป็นมังสวิรัติ มีบทบาทในการรักษาสมดุลของทะเล พฤติกรรมการกินคือจะไถกินทั้งใบและลำต้นใต้ดิน จึงเป็นช่างสวนมืออาชีพ กินยังไงก็ยังเปิดโอกาสให้ลำต้นใต้ดินชุดใหม่สามารถแตกงอกออกมาทดแทน และเปิดพื้นที่ให้หญ้าชนิดต่าง ๆ เติบโตต่อได้ ทำให้เกิดความหลากหลายของหญ้าทะเล

‘หมูเด้ง’ ดังแล้ว ตอนนี้ขอดัน ‘หมูน้ำ’ หรือ \'พะยูน\' ด้วยวิถีรักษ์โลก     หญ้าทะเล (Cr.wwf.org.uk)

หญ้าทะเลเป็นแหล่งออกซิเจน แหล่งวางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำ ป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง เมื่อกินหญ้าทะเล แล้วพะยูนจะถ่ายออกมาเป็นปุ๋ย ในทุก ๆ 1 กรัมที่พะยูนถ่ายออกมาพบว่ามีเมล็ดหญ้าทะเล 2 เมล็ด และราว 1 ใน 10 ของเมล็ดก็พร้อมจะงอกเป็นต้นหญ้าใหม่

พะยูน กินหญ้าทะเลวันละราว 35 กก. แต่กินแล้วถ่ายจึงเป็นชาวสวนที่ปลูกหญ้าทะเล เพิ่มปุ๋ยให้ด้วย เมื่อไม่มีพะยูน ทะเลจะขาดสมดุล สัตว์น้ำขาดแหล่งที่อยู่ เป็นวงจรชีวิตทางธรรมชาติเมื่อขาดสมดุล ผลกระทบเลวร้ายอื่น ๆ ก็ตามมา

‘หมูเด้ง’ ดังแล้ว ตอนนี้ขอดัน ‘หมูน้ำ’ หรือ \'พะยูน\' ด้วยวิถีรักษ์โลก     หญ้าทะเล สำคัญต่อระบบนิเวศ (Cr.wwf.org.uk)

พะยูนกับหญ้าทะเล อยู่อาศัยอย่างเกื้อกูลกัน หญ้าทะเล (Seagrass) สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าฝนถึง 35 เท่า และมีบทบาทสำคัญป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง หญ้าทะเลพื้นที่ 10,000 ตร.ม. เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลราว 8 หมื่นชนิด 

รายงานจาก กองทุนสัตว์ป่าโลก ประเทศอังกฤษ (wwf.org.uk) ระบุว่า ในรอบ 100 ปี ในอังกฤษสูญเสียหญ้าทะเลไปมากกว่า 92% เท่ากับว่าทุก 1 ชั่วโมง หญ้าทะเลตายไปราวพื้นที่ 2 สนามฟุตบอล สาเหตุจากมลภาวะ การพัฒนาชายฝั่ง การประมงและการทอดสมอของเรือต่าง ๆ 

ทั้งพะยูน หญ้าทะเล และสัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ ล้มหายตายจากไปจากท้องทะเลทั่วโลก จาก ภาวะโลกร้อน ที่สืบย้อนไปถึงการขาดสำนึกของมนุษย์ การใช้ทรัพยากรเกินลิมิต การทิ้งขยะ ฯลฯ

‘หมูเด้ง’ ดังแล้ว ตอนนี้ขอดัน ‘หมูน้ำ’ หรือ \'พะยูน\' ด้วยวิถีรักษ์โลก    ประชากรพะยูนในอินโดนีเซียลดลงเช่นกัน (Cr.iwmf.org)

ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้ชัดว่า สาเหตุหลักของการตายส่วนใหญ่ของพะยูน (ราวร้อยละ 90) เกิดจากการติดเครื่องมือประมง หรือบาดเจ็บจากการหลุดรอดจากเครื่องมือประมงมาเกยตื้น เครื่องมือประมงที่พะยูนมาติดและตายมากที่สุด ได้แก่ อวนลอยหรืออวนติดตาชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอวนปลาสีเสียด อวนลอยปลากะพง อวนสามชั้น อวนจมปู อวนปลากระเบน รองลงไป คือ โป๊ะ 

และไม่ควรลืมว่า การตายของมาเรียมพะยูนคือกินเศษพลาสติกเข้าไปจนเกิดการติดเชื้อตาย ขยะในกระเพาะของมาเรียมคือเศษถุงพลาสติกหูหิ้ว

เต่าทะเล พะยูน และปลาทะเล ล้วนตายจากพลาสติกที่มนุษย์ใช้แล้วทิ้ง จากผลสำรวจระบุว่า ขยะส่วนใหญ่ในทะเลมากถึง 80% มาจากทางบก

แม้มนุษย์จะพยายามหาทางออกด้วยลด ละ เลิก ใช้พลาสติก และลดขยะที่ไม่จำเป็นให้เหลือน้อยที่สุด และบริหารจัดการการคัดแยกขยะให้เป็นรูปธรรม แต่ก็ทำไม่ได้จริงจังเสียที ในวันข้างหน้าคงต้องถึงกับใช้กฎหมายบังคับ

‘หมูเด้ง’ ดังแล้ว ตอนนี้ขอดัน ‘หมูน้ำ’ หรือ \'พะยูน\' ด้วยวิถีรักษ์โลก     พะยูน ชี้วัดความสมดุลของระบบนิเวศ (Cr.PublicDomainImages from Pixabay)

ทำได้แค่ไหน ปีไหน แค่ปีนี้ยังไม่สิ้นปี มีรายงานจาก WMO (องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก) ว่า มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 71.6 พันล้านตัน มากกว่าปีที่แล้ว 1 พันล้านตัน

เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ...

ข้อมูล: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, wwf.org.uk