หยุดความเชื่อ 'ครูไทยต้องเสียสละ' เพราะครูก็เป็นคน เหนื่อยเป็น เครียดเป็น

หยุดความเชื่อ 'ครูไทยต้องเสียสละ' เพราะครูก็เป็นคน เหนื่อยเป็น เครียดเป็น

"ครูไทย" ต้องเจอกับภาระงานนอกห้องเรียนที่ต้องแบกรับกว่า 84 วันต่อปี ทั้งงานเอกสาร ประเมิน และกิจกรรม จากความเชื่อ 'ครูต้องเสียสละ' สู่วิกฤติครูไม่มีเวลาสอน ส่งผลให้คะแนน PISA ต่ำสุดในรอบ 20 ปี เมื่อครูต้องแบกรับภาระหนักจนไฟในตัวริบหรี่

แม้ 16 มกราคม จะเป็น "วันครู" วันที่ครูควรจะได้พัก แต่ครูจำนวนมากยังคงต้องเข้าร่วมพิธีการในวันนี้ และมิหนำซ้ำบางคนยังนั่งเคลียร์งานที่คั่งค้าง ท่ามกลาง "คำขวัญวันครู ปี 2568" ที่ว่า "ครูจุดประกายความฝัน ผลักดันให้กล้าคิด สร้างโอกาสในชีวิตให้เด็กไทย"

คำถามสำคัญที่ต้องย้อนถามคือ ครูจะมีแรงจุดประกายความฝันให้ผู้อื่นได้อย่างไร? ในเมื่อไฟในตัวเองกำลังริบหรี่ลงจากแรงกดดันรอบด้าน

การสำรวจโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาในปี 2562 พบว่าเกือบร้อยละ 95 ของครูไทยต้องทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง และที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ ร้อยละ 58 ของครูต้องใช้เวลาไปกับงานที่ไม่เกี่ยวกับการสอนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับการสูญเสียเวลาสอนไปเกือบหนึ่งวันทำงานในแต่ละสัปดาห์

ในปี 2557 การสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบว่า ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมนอกห้องเรียนมากถึง 84 วันจาก 200 วันทำการ โดยเวลาเหล่านี้ถูกใช้ไปกับการประเมินต่างๆ มากถึง 43 วัน แบ่งเป็นการประเมินผลงานและคุณภาพ 31 วัน รวมถึงการประเมินคุณภาพสถานศึกษาภายนอก 9 วัน การประเมินเลื่อนวิทยฐานะ 2 วัน และการประเมินจากโครงการของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นๆ อีก 12 วัน นอกจากนี้ยังต้องสูญเสียเวลาไปกับการแข่งขันวิชาการ 29 วัน การฝึกอบรม 10 วัน และกิจกรรมอื่นๆ อีก 2 วัน

สถานการณ์ยิ่งวิกฤติในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดด้านบุคลากร นอกจากงานสอน ครูต้องรับผิดชอบงานเอกสารมากมาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้โดยตรง เช่น เอกสารงานวิชาการ เอกสารงานกิจการนักเรียน และงานเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน

"ต้องเป็นทั้งหัวหน้าวิชาการ หัวหน้ากลุ่มสาระ หัวหน้างานหลักสูตร และหัวหน้างานนิเทศ แต่ละงานก็มีงานย่อยลงไปอีก ทั้งงานนิเทศภายใน งานหลักสูตร งานจัดการเรียนการสอน ซึ่งต่างจากโรงเรียนใหญ่ที่มีคนช่วยกันทำ แต่โรงเรียนเล็กครูต้องทำคนเดียวหมด มีหัวหน้าไว้แค่ตำแหน่ง แต่ไม่มีลูกน้องในทีม ครูบางคนเจองานที่สร้างความกดดันอย่างมากๆ อย่างงานการเงินและพัสดุ ที่ครูไม่ได้จบมาทางนี้โดยตรง แต่ต้องรับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้าง ทำบัญชี และลงระบบต่างๆ อีก" ครูท่านหนึ่งเล่า

กรุงเทพธุรกิจ ได้สอบถามไปยังครูหลายคน พบว่า งานนอกเหนือจากการสอนมักกินเวลาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงต่อวัน หากเป็นวันที่มีประชุมอาจยาวถึง 3-4 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยแล้วจากคาบเรียน 8 คาบ ครูอาจได้สอนเพียง 4 คาบ ที่เหลือต้องทำงานเอกสาร งานอื่นที่กินเวลาเตรียมการสอน และบางงานกระทบถึงงานสอนในห้องเรียนโดยตรง  ซึ่งบางครั้งทำให้ต้องอยู่ที่โรงเรียนจนถึงเวลา 17.30 น. หรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะช่วงที่มีการประกวดแข่งขัน หรืองานเร่งด่วนที่มักมาแบบกะทันหัน ภาระงานครูจะยิ่งทวีคูณ

งานที่เยอะจนไม่มีเวลาทำสิ่งอื่น ผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวครู แต่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการสอน "ถ้าครูมีความสุขเราก็มีพลังที่จะสอนได้มากขึ้น แต่ถ้าไม่มีความสุข ไม่มีเวลาเตรียมการสอน ก็การสอนก็ไม่เต็มที่ สอนไม่สนุก และแทนที่จะมีเวลาให้นักเรียนหลังเลิกเรียน ไม่ว่าจะติวหนังสือ หรือรับฟังปัญหาของเด็กที่ต้องการปรึกษาครู ก็ไม่มีเวลาให้เด็กอีก เราก็ต้องรีบไปทำงานเอกสารแทน ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนี้เลย" ครูท่านหนึ่งสะท้อน

ความกดดันจากผู้บริหาร และระบบโครงสร้างยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนสภาพจิตใจครู ทั้งในแง่การประเมินผลงาน การตั้งเป้าหมายผลการเรียนที่สูงเกินไป การสื่อสารในแง่ลบ และการตำหนิในที่ประชุม "บางครั้งไม่อยากไปทำงาน กลัวว่าจะโดนอะไรอีก" ครูท่านหนึ่งเล่า ขณะที่อีกคนบอกว่า "เวลาโดนกดดันจากโรงเรียนเยอะๆ บางคนก็เอาอารมณ์ไประบายกับคนที่บ้าน บางคนไม่มีเวลาให้ครอบครัวเพราะต้องหอบงานกลับไปทำที่บ้านทุกวัน"

นอกจากนี้ ในหลายโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ครูยังถูกคาดหวังให้ต้องเสียสละทรัพย์สินส่วนตัว เช่น นำคอมพิวเตอร์ส่วนตัวมาใช้ในโรงเรียน หรือต้องร่วมบริจาคเงินผ่านการทำผ้าป่าเพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของระบบที่ต้องพึ่งพาการเสียสละส่วนบุคคลของครู

สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษา ดังที่ "ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์"  กรรมการและที่ปรึกษา 101 PUB ได้เปิดเผยในงานเสวนาของ The Active ร่วมกับ I AM KRU เมื่อสิ้นปี 2566 ว่า ผลคะแนน PISA ของนักเรียนไทยอายุ 15 ปี ในปี 2022 มีคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยพบว่านักเรียนในโรงเรียนที่มีครูไม่เพียงพอหรือครูไม่มีเวลาสอน มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าโรงเรียนที่ครูไม่ขาดแคลนถึง 42 คะแนน ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนครูกำลังทวีความรุนแรง โดยข้อมูลจาก 101 PUB พบว่าโรงเรียนประถมศึกษาขาดแคลนครูถึงร้อยละ 78.3 โรงเรียนมัธยมศึกษาขาดแคลนร้อยละ 47.5 และโรงเรียนประเภทขยายโอกาสขาดแคลนร้อยละ 48.6

"อยากให้หยุดเชื่อเรื่องการเสียสละ คำว่า "เสียสละ" ในสิ่งที่ระบบการศึกษาอยากให้มีนั่น มันสะท้อนว่าระบบไม่ปกติ ถึงต้องบีบให้ครูต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่างให้กับการศึกษา"

"เวลาพักก็ควรได้พักจริงๆ อย่ามองว่าใครไม่มาทำงานวันหยุดคือคนไม่เสียสละ ครูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบนอกเหนือจากงาน การทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้อะไรตอบแทน นอกจากจะเสียสุขภาพจิตแล้ว ยังกระทบต่อคนรอบข้างด้วย เราต้องการเวลาส่วนตัวที่เป็นส่วนตัวจริงๆ บ้าง อยากให้มองคุณค่าของสิ่งที่ทำ เป้าหมายคือนักเรียน มองคุณค่าเป็นคนมากกว่าผลงานที่เป็นเอกสาร" ครูท่านหนึ่งทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ครูหลายคนเสนอแนวทางแก้ไขที่น่าสนใจ ทั้งการพัฒนานโยบายการศึกษาที่ยั่งยืน การลดภาระงานเอกสาร โครงการ และงานที่ไม่จำเป็น การจัดให้มีระบบดูแลสุขภาพจิตครูอย่างสม่ำเสมอ การปรับปรุงระบบการประเมินให้สอดคล้องกับความแตกต่างของแต่ละบุคคล การสร้างระบบรับฟังและให้คำปรึกษาแก่ครู การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้แก่สถานศึกษาเพื่อลดการพึ่งพาการเสียสละส่วนตัวของครู และที่สำคัญคือการให้มีบุคลากรสายสนับสนุนโดยเฉพาะที่ไม่ได้มีหน้าที่สอน เช่น เจ้าหน้าที่การเงินและพัสดุ เพื่อให้ครูได้ทุ่มเทกับการสอนอย่างเต็มที่

เพราะหากผู้สร้างอนาคตของชาติยังต้องแบกรับภาระหนักเกินไป การจุดประกายความฝันให้เด็กๆ คงเป็นเพียงคำขวัญที่ห่างไกลความเป็นจริง และหากถามว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาเหล่านี้ คำตอบคือทุกภาคส่วนในระบบการศึกษาต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่ควรให้ครูต้องแบกรับเพียงลำพัง เพราะท้ายที่สุด ครูก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการความสมดุลในชีวิต เช่นเดียวกับทุกอาชีพในสังคม