เมื่อเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจาก'อุบัติเหตุ'บนถนนมากที่สุด ต้องแก้อย่างไร

เมื่อเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจาก'อุบัติเหตุ'บนถนนมากที่สุด ต้องแก้อย่างไร

ตามสถิติพบว่าเด็กและเยาวชน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด โดยเฉพาะช่วง 10 - 19 ปี จึงต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยอย่างไร

ทางคณะรัฐมนตรีกำหนดให้วันที่ 21 มกราคมของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เสนอ หลังการเสียชีวิตของพญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล-หมอกระต่าย จากการถูกรถบิ๊กไบค์ชนขณะกำลังข้ามทางม้าลาย

โดยมีเป้าหมายเพื่อหยุดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนและป้องกันเหตุการณ์รถชนคนข้ามทางม้าลายซ้ำอีก เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้ถนนและผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทมีจิตสำนึกการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

สถิติผู้เสียชีวิตอุบัติเหตุบนท้องถนน

การเจ็บและตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ยังคงเป็นความสูญเสียสำคัญของประเทศไทย แม้ข้อมูลระดับนานาชาติโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2566 ไทยจะหลุดท็อปเท็น ประเทศที่มีความสูญเสียบนท้องถนนมากที่สุดในโลกแล้วก็ตาม โดยลงมาอยู่ในอันดับ 18 ของโลก

โดยก่อนหน้านั้นในปี 2556 อยู่ในอันดับ 3 ของโลก และหนักสุดในปี 2558 ด้วยการขึ้นไปอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ก่อนที่ในปี 2561 จะลงมาอยู่ที่อันดับ 9 ของโลก แต่สถิติผู้เสียชีวิตเกือบสองหมื่นคนต่อปีก็สะท้อนภาพของปัญหาที่ไม่ได้ลดความรุนแรง 

เมื่อเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจาก\'อุบัติเหตุ\'บนถนนมากที่สุด ต้องแก้อย่างไร ข้อมูลจากรายงาน “สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน ประเทศไทย” โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า ปี 2561 – 2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 92,002 คน

  • ปี 2567 ประเทศไทยมีอุบัติเหตุสะสมรวม 867,620 ครั้ง เป็นผู้เสียชีวิตสะสม 14,024 คน  ผู้บาดเจ็บสะสม 853,424 คน  จำนวนผู้พิการสะสม 172 คน
  • กลุ่มอายุ 36-60 ปีคือกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด โดยเดือนธันวาคมคือเดือนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือระหว่าง 14.00-17.59 น. วันจันทร์คือวันที่มีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากที่สุด
  • หากพิจารณาสัดส่วนการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กและเยาวชนพบว่า การตายมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 19-24 ปี 

 

ความปลอดภัยบนท้องถนน

เพื่อร่วมกันลดความสูญเสียในกลุ่มเด็กและเยาวชนจากอุบัติเหตุทางถนน ทางกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรคภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยใช้ TSY Program: Thailand Safe Youth Program ขึ้น มีพิธีลงนามความร่วมมือกับ 13 ภาคีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเมื่อปี 2567

นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดี กรมควบคุมโรคกล่าวถึงปัญหาและแนวทางดำเนินงานว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด เฉลี่ยปีละ 2,693 คน โดยเฉพาะช่วงอายุ 10 - 19 ปี และคาดการณ์แนวโน้มว่าจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

"เราทำงานเพื่อร่วมกันสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ Thailand Safe Youth Program และโครงการจัดตั้งชมรมวัคซีนจราจรในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นระบบ”  

Thailand Safe Youth หรือ TSY Program คือ กระบวนการแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในระดับสถานศึกษา ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด

โครงการนี้พัฒนามาจากผลการวิจัยเรื่องโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหาการตายและบาดเจ็บสำหรับเด็กและเยาวชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีประสิทธิผลโดยการสอบสวนสาเหตุการบาดเจ็บและตายจากการใช้รถจักรยานยนต์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปี

และได้ทดลองในพื้นที่นำร่องโดยประยุกต์ใช้แนวคิด ‘Swiss Cheese Model’ ปิดชองว่างของปัญหาทั้งระดับนโยบาย ผู้กำกับดูแล มาตรการการแก้ไข และการส่งเสริมการเรียนรู้ทัศนคติความปลอดภัย (Road Safety Mindset)” ผ่าน 6 กระบวนการ   ประกอบด้วย

  • 1.วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ (Data and Information) ปัญหาการตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนภาพรวมทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
  • 2.พัฒนานโยบายและการขับเคลื่อนกลไกการทำงาน (Policy advocacy) ตั้งแต่ระดับสถานศึกษา อำเภอและจังหวัด
  • 3.สร้างพลังแห่งการทำงานเป็นทีม (Empowerment of teamwork) ร่วมคิด-ร่วมทำ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และบริหารจัดการบทบาทของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน
  • 4.สร้างมาตรการที่มีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง (Powerful Measures) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถ-ใช้ถนน โดยขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
  • 5.พัฒนาทักษะชีวิต ฉีดวัคซีนจราจร (Life skills and Traffic vaccinations) ให้ความรู้ใน 6 ด้าน
  • 6.การติดตามประเมินผล วิเคราะห์ข้อมูลสะท้อนกลับ (Evaluation and Feedback) เช่น การประเมินผลสัมฤทธิ์ของการจัดการเรียนรู้ มาตรการที่ดำเนินการ อัตราการสวมหมวกนิรภัย จำนวนเยาวชนที่มีใบอนุญาตขับขี่เพิ่มขึ้น จำนวนเด็กและเยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงหรือเพิ่มขึ้น รวมถึงประเมินความคุ้มค่าในกระบวนการทำงาน 

ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา โครงการขับเคลื่อนการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยใช้ TSY Program: Thailand Safe Youth Program ได้เริ่มก้าวที่หนึ่งโดยจัดอบรมการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพวิทยากรมืออาชีพเพื่อจัดการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน (Thailand Road Safety Team) รวม 4 ภาคเพื่อให้เกิดกลไกการดำเนินงานในระดับพื้นที่ขึ้น และมีวิทยากรที่มีประสิทธิภาพเพื่อไปจัดกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน 
 “เราร่วมกันจัดการความปลอดภัยของสถานศึกษาและการส่งเสริมพฤติกรรมความปลอดภัย ทั้งการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย การจัดการความปลอดภัยของรถรับ - ส่งนักเรียน การจัดการระบบจราจรบริเวณหน้าสถานศึกษาหรือบริเวณทางข้าม และการขับขี่รถจักรยานยนต์” พญ.สิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการ กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค  กล่าว

.............

อ้างอิง

  • https://ddc.moph.go.th/dip/journal_detail.php?publish=15876&deptcode=dip (สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน ประเทศไทย ปี 2567: กรมควบคุมโรค 12 ก.ค. 2567)
  • https://www.nso.go.th/public/e-book/NSOLetsRead/population.html (11 กรกฎาคม...วันประชากรโลก 2567: สำนักงานสถิติแห่งชาติ 11 ก.ค. 2567)
  • https://www.thaihealth.or.th/สร้างภูมิคุ้มกันขับขี่/ (สร้างภูมิคุ้มกันขับขี่ปลอดภัย ปลูกฝังวินัยด้วยวัคซีนจราจร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ-สสส. 28 มี.ค.2567)