ภัยเที่ยว! ปลอมเพจที่พัก "ม่อนแจ่ม” โกงเงิน 100 ราย แนะ นทท. วิธีสังเกต
"ม่อนแจ่ม" เดือดร้อนหนัก ถูกมิจฉาชีพปลอมเพจเฟซบุ๊ก หลอกนักท่องเที่ยวโอนเงิน มาถึงที่พักถึงรู้ว่าโดนหลอก เพราะไม่มีชื่อในระบบ ยอดคนถูกหลอกมากกว่า 100 คน แนะ นทท. วิธีสังเกต
ผู้ประกอบการที่พักในพื้นที่ดอยม่อนแจ่มเดือดร้อนหนัก ถูกมิจฉาชีพปลอมแปลงเพจเฟซบุ๊กหลอกนักท่องเที่ยวโอนเงิน มาถึงที่พักถึงรู้ว่าโดนหลอกเพราะไม่มีชื่อในระบบ ยอดคนถูกหลอกมากกว่า 100 คน นายกเทศมนตรีเทศบาล ต.แม่แรม เผยเคยแจ้งความแต่คดีไม่คืบหน้า คาดทำเป็นขบวนการแนะนักท่องเที่ยวหากไม่มั่นใจให้โทรสอบถามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการที่พัก ที่ดอยม่อนแจ่ม ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 5-6 รายกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจาก เพจเฟซบุ๊กของที่พักหลายแห่งที่ดอยม่อนแจ่มถูกมิจฉาชีพปลอมแปลงเพจเป็นที่พัก หลอกให้นักท่องเที่ยวโอนเงินค่าจองที่พักไว้ล่วงหน้า แต่พอนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่พักเพื่อเข้าพักกลับไม่มีรายชื่อที่จองไว้ ทำให้รู้ว่าถูกมิจฉาชีพหลอก ยิ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมามีผู้เสียหายรวมกว่า 100 ราย ทำให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของม่อนแจ่มเป็นอย่างมาก
นายวิชิต เมธาอนันต์กุล นายกเทศมนตรีเทศบาล ตำบลแม่แรม เปิดเผยว่า ครั้งแรกที่รู้ว่ามีมิจฉาชีพทำการปลอมแปลงเพจเฟซบุ๊กที่พักในพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม เกิดจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาติดต่อเพื่อเข้าพัก แต่พบว่าไม่มีชื่อที่ทำการจองไว้ จึงได้ตรวจสอบว่าโอนเงินให้ใครและทำการพูดคุยจองที่พักจากช่องทางใด จากการตรวจสอบพบว่า ไม่ใช่เพจของที่พัก รวมถึงชื่อผู้รับเงินก็ไม่ใช่ของทางที่พักเช่นกัน
สำหรับมิจฉาชีพที่ทำการปลอมแปลงเพจคาดว่าจะทำเป็นขบวนการ เนื่องจากมีการสร้างเพจใส่ข้อมูลให้เหมือนกับเพจจริงมากที่สุด ได้มีการดูดรูปจากเพจจริงมาใช้ พร้อมทั้งมีการยิงโฆษณา เพื่อให้มีคนกดถูกใจและกดแชร์ ซึ่งมักจะมีผู้ใช้ที่เป็นหน้าม้ามาแสดงความคิดเห็น รีวิวในช่องแสดงความคิดเห็นเพื่อความสมจริง
นายวิชิต ยังบอกอีกว่า ข้อสังเกตมิจฉาชีพมักจะเลือกเพจที่ไม่ใหญ่มาก ระบบการจองห้องพักไม่ซับซ้อน แต่เป็นที่พักที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว แต่หากเป็นที่พักที่มีระบบการจองที่ค่อนข้างซับซ้อนหลายขั้นตอน เช่น การสั่งจองต้องมีการยืนยันด้วยอีเมลมีการตรวจสอบ เมื่อมาถึงที่พักต้องทำการแสดงเอกสารที่ทางที่พักออกให้ ซึ่งในขณะนี้ทางที่พักที่ถูกปลอมแปลงเพจมีอยู่ 5-6 แห่ง มีนักท่องเที่ยวที่ถูกหลอกมีมากกว่า 100 คน ความเสียหายคาดว่า 200,000-300,000 บาท
ทางผู้ประกอบการในพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม ได้ทำการแจ้งความที่ สภ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ คิดว่ามิจฉาชีพคงหยุดการกระทำ แต่กลับพบว่ามิจฉาชีพไม่หยุด ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆสำหรับคดีความก็ไม่คืบหน้า ทำให้ผู้ประกอบการที่พักรู้สึกไม่สบายใจ และรู้สึกสงสารลูกค้าที่ถูกหลอก เมื่อมีลูกค้าที่ถูกหลอกมายังที่พักที่ดอยม่อนแจ่มบางส่วนก็แจ้งความ แต่บางส่วนก็ปล่อยผ่านเพราะไม่อยากยุ่งยากในกระบวนการ
“วิธีการสังเกตเบื้องต้นแยกระหว่างเพจจริงกับเพจปลอม ให้นักท่องเที่ยวดูว่าหากเป็นเพจจริงนั้นจะมีผู้ติดตามหลักหมื่นขึ้นไป และให้สังเกตว่าหากมีการเร่งให้โอนเงิน ต้องโอนทันที อาจจะเป็นมิจฉาชีพ ในส่วนของชื่อของบัญชีผู้รับเงินส่วนใหญ่จะเป็นชาวม้ง นามสกุลมักจะลงท้ายด้วย แซ่ หรือมีนามสกุลที่ค่อนข้างยาว หรือหากมีข้อสงสัยสามารถ โทรสอบถามกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนม่อนเเจ่ม โทร 089-554-1860 ” นายวิชิตกล่าว